xs
xsm
sm
md
lg

งดขายเหล้า-เบียร์ กฎหมายที่ต้องรื้อสร้าง

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ด้านหนึ่งบรรยากาศการเลือกตั้งเป็นไปอย่างซบเซา ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงจากกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะเดียวกัน ตามร้านสะดวกซื้อทั่วราชอาณาจักร แม้กระทั่งย่านแหล่งท่องเที่ยวละแวกออฟฟิศ อย่างถนนข้าวสาร ต่างพร้อมใจกันติดประกาศงดจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด พร้อมนำฟิวเจอร์บอร์ดปิดทับตู้แช่ของร้าน

ข้อปฏิบัติห้ามจำหน่ายสุราในวันเลือกตั้งเกิดขึ้นมานานแล้ว นับตั้งแต่ที่ยังไม่มีองค์กรอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้งเฉกเช่นปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเคยมีนักการเมืองหรือหัวคะแนนนำสุราซึ่งเป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง และเป็นสินค้าราคาแพง มาแจกจ่ายเพื่อซื้อเสียงเลือกตั้ง นอกจากการให้ในรูปแบบเงินสด ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการห้ามจัดเลี้ยง และการจัดมหรสพต่างๆ

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และะการได้มาซึ่ง ส.ว. ปี 2550 มาตรา 155 ระบุว่า ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เท่ากับว่า สมมติว่าวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ เราจะสามารถซื้อสุราได้ถึงหกโมงเย็นของวันเสาร์ ซึ่งปกติเราจะซื้อสุราได้ตั้งแต่ 11 โมงเช้าถึงบ่ายสองโมง และซื้อได้อีกทีห้าโมงเย็นถึงเที่ยงคืน หากไปซื้อในช่วงเย็นก็มีเวลาเพียงชั่วโมงเดียว วันอาทิตย์ขายเหล้าไม่ได้ทั้งวันอยู่แล้ว จะกลับมาซื้อได้อีกทีก็ 11 โมงเช้าของวันจันทร์เป็นต้นไป

แม้การห้ามจำหน่ายสุราในวันเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันอย่างทั่วถึง แต่สิ่งที่น่าตลกก็คือ หากเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แม้จะห้ามจำหน่ายสุราในช่วงเวลาที่กำหนด แต่ก็ไม่ได้ห้ามให้บริโภคสุรา เพราะฉะนั้นก็ยังมีนักดื่มที่อุตส่าห์ขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อมาจากตำบลอื่นที่อยู่ติดกันเพื่อมานั่งดื่มกัน หรือหากมีการเลือกตั้งทั้งจังหวัด นอกจากจะกักตุนไว้ล่วงหน้าแล้ว ยังลงทุนซื้อจากจังหวัดที่อยู่ติดกัน หรือไปดื่มกันที่สถานบันเทิงแบบข้ามจังหวัดก็มี

ในชีวิตประจำวันเราคงทราบกันดีว่าเรามีเวลาซื้อสุราได้ 2 ช่วงเวลา คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. รวม 10 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้นการซื้อสุราตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป เฉกเช่นร้านค้าส่ง หรือที่ห้างสรรพสินค้าแม็คโคร สามารถซื้อได้ตลอดเวลา แต่ต้องพกพาใบอนุญาตขนสุราซึ่งทางห้างฯ จะเป็นผู้ออกให้ ไม่เช่นนั้นจะถูกสรรพสามิตจับกุม

ที่น่าแปลกก็คือ การกำหนดเวลาจำหน่ายสุรานั้น เรากลับไปอาศัยกฎหมายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ในช่วงยุคเผด็จการทหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ในปัจจุบัน แต่เมื่อถูกสังคมโลกสวยเห็นดีเห็นงามด้วยจึงถูกปล่อยผ่านมากว่า 40 ปี

ในระยะหลังๆ เรากลับเห็นกฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมาอีกมากมาย โดยอ้างว่าเป็นการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบ และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ไล่ตั้งแต่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ไล่ตั้งแต่ห้ามขาย ห้ามดื่มในวัด สถานพยาบาล ร้านขายยา สถานที่ราชการ สถานศึกษา ปั๊มน้ำมัน ร้านค้าในปั๊มน้ำมัน (รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น) และสวนสาธารณะของทางราชการ

ขณะเดียวกัน ยังห้ามขายสุราให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ ห้ามเร่ขาย ชิงโชค ห้ามลดราคาเพื่อส่งเสริมการขาย แลก แจก แถม ห้ามกำหนดเงื่อนไขบังคับซื้อ เช่น ขายพ่วง รวมทั้งยังห้ามโฆษณามีภาพผลิตภัณฑ์ ห้ามโฆษณาอวดอ้าง จูงใจให้ดื่ม โดยมีบทลงโทษทั้งจำคุกและปรับ

จากกฎหมายฉบับนี้มีเรื่องลักลั่นย้อนแย้งประการหนึ่ง แม้ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ร้านขายของชำตามหมู่บ้าน หลายร้านสามารถหาซื้อสุรา และเบียร์ทั้งแบบขวดและกระป๋องได้โดยไม่จำกัดเวลา ซึ่งเป็นความสมัครใจระหว่างผู้ดื่มกับผู้ขาย ส่วนการห้ามจำหน่ายในปั้มน้ำมัน หรือร้านค้าในปั้มน้ำมันก็ไม่ได้มีผล เพราะยังสามารถหาซื้อสุราได้ตามร้านสะดวกซื้อในเขตชุมชน หรือร้านสะดวกซื้อริมถนนที่ไม่ได้อยู่ในปั้มน้ำมัน

ต่อมายังมีกฎหมายอีกฉบับ ได้แก่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2552 โดยห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา ตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ได้แก่ วันมาฆบูชา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์, วันวิสาขบูชา ในช่วงเดือนมิถุนายน, วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ในช่วงเดือนกรกฎาคม ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

แม้หากมองกันเพียงผิวเผิน การห้ามจำหน่ายสุราในวันสำคัญทางศาสนาจะเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในช่วงวันเข้าพรรษาที่ชาวพุทธส่วนหนึ่งหันมางดดื่มสุราเป็นระยะเวลา 3 เดือนจนถึงวันออกพรรษา ตามกระแสการรณรงค์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

แต่ก็เป็นที่กังขาว่า เรื่องการงดดื่มสุราในช่วงวันสำคัญทางศาสนา ควรจะเป็นความสมัครใจของผู้ที่ปฏิบัติตามศาสนา และการดื่มสุราควรเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของผู้ดื่ม มากกว่าจะเป็นการที่ประชาชนทุกคนถูกบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจจะไม่เป็นธรรมกับผู้ที่นับถือศาสนาอื่น

เฉกเช่นครั้งหนึ่งพระสงฆ์จำนวนหนึ่งมีความพยายามที่จะผลักดันให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติบรรจุลงในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งขัดต่อการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่นับว่ายังโชคดีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้บัญญัติคำนี้ หากแต่ในมาตรา 79 ระบุว่า "รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนา ที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน" ซึ่งอาจจะไม่เป็นธรรมกับศาสนาอื่นมากนัก

นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังเป็นดาบสองคม เนื่องจากแม้จะห้ามจำหน่ายสุรา แต่ผู้ที่ต้องการดื่มสามารถซื้อสุรากักตุนไว้ล่วงหน้าได้อยู่แล้ว ส่วนคนที่ไม่ต้องการดื่มเพื่อรักษาศีล ต่อให้ไม่มีกฎหมายบังคับก็จะไม่ดื่มอยู่แล้ว คงเป็นการแก้ปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คัน ในต่างประเทศก็เคยออกกฎหมายในลักษณะคล้ายกัน แต่ได้ถูกยกเลิกเพราะในทางกลับกันมีการตั้งโรงเหล้าเถื่อนแทนที่เหล้าแบบถูกกฎหมาย และพลเมืองกลับไม่สนใจกฎหมาย

ที่เห็นได้ชัดเจน คือ กฎหมายห้ามดื่มสุราส่งผลเสียหายให้ธุรกิจการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ ย่อมขาดรายได้เพราะจำเป็นต้องปิดร้าน นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกขาดความพึงพอใจ ส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างซบเซา แต่อีกด้านหนึ่งร้านอาหารบางร้านกลับใช้วิธีการบริโภคสุราแบบปกปิด เช่น การหาอะไรมาปิดที่ขวดเบียร์ กระป๋องเบียร์ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

ครั้งหนึ่งผู้เขียนใช้สิทธิ์ลางานไปเที่ยวเชียงใหม่ บังเอิญว่าไปช่วงวันวิสาขบูชาพอดี สถานบันเทิงที่นั่นจึงปิดให้บริการ บรรยากาศการท่องเที่ยวที่นั่นจึงซบเซา ยังเหลือเพียงร้านอาหารแบบนั่งกินดื่ม แต่ที่น่าแปลกที่ร้านอาหารบางแห่งลูกค้ายังสั่งเบียร์มาดื่มได้เหมือนเช่นปกติ

เคยได้ยินเสียงผู้ประกอบการบ่นให้ฟังทางทวิตเตอร์ ทำนองว่า การปิดสถานบันเทิงตามกฎหมายควบคุมการจำหน่ายสุรา ทำให้ในวันนั้นผู้ประกอบการก็ขาดรายได้ แต่ก็ต้องยอมรับเพราะกฎหมายบังคับมาแบบนั้น และทราบมาว่าก่อนหน้านี้ก็มีผู้ที่ฝ่าฝืนเปิดสถานบันเทิงในวันนั้น แล้วถูกดำเนินคดีในชั้นศาลมาแล้ว จึงไม่มีใครกล้าทำแบบนั้นอีก แต่บางร้านก็เห็นด้วย เพราะคิดว่าลีมิตการดื่มแต่ละบุคคลต่างกัน แต่สงสารเด็กในร้าน เลยต้องเปิดให้ทำงาน ทำบิ๊กคลีนนิ่งเดย์

ส่วนอีกเสียงหนึ่งบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ เพราะสุดท้ายการบังคับใช้กฏหมายไม่ทั่วถึง ร้านอาหารลูกค้าหิ้วเหล้ามากินเอง ร้านไวน์บางร้านยังขายไวน์ ร้านขายของชำก็ขายปกติ

สอดคล้องกับผลสำรวจการจำหน่ายสุราในสถานที่ห้ามขาย เช่นปั้มน้ำมันและสวนสาธารณะ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่ามีผู้กระทำผิดร้อยละ 3 และเป็นผู้ที่รู้กฎหมายสูงถึงร้อยละ 76 แต่ให้เหตุผลว่า ต้องการมีรายได้ และกลัวเสียลูกค้าประจำ อีกด้านหนึ่งร้านค้าเล็กๆ ข้างปั๊ม รวมทั้งร้านค้าที่อยู่ข้างถนน คาดว่าน่าจะมีการขายเหล้าเนื่องจากมีตู้แช่ และมีกล่องเบียร์กล่องเหล้าวางอยู่ อ้างว่าตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันแต่มีเลขที่บ้านคนละเลขที่

กฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่วนตัวเห็นว่าควรที่จะมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย การออกกฎหมายอย่างเข้มงวด แต่หย่อนยานในทางปฏิบัติ ทำนองว่าคนจะดื่มก็หาเรื่องให้ได้ดื่ม ไม่ได้ช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ดีขึ้น เพราะจะมีผู้ฝ่าฝืนโดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย และการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจที่รับสินบนจากสถานบันเทิง เกิดขึ้นอีกมาก ผลที่สุดก็ไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้นมาได้

สิ่งสำคัญ คือการสร้างความตระหนักให้เกิดความรับผิดชอบในหมู่นักดื่ม หากการกระทำความผิดเป็นผลจากฤทธิ์สุรา เช่น การเกิดอุบัติเหตุ หรือการคุกคามทางเพศ ควรที่จะเพิ่มบทลงโทษเพิ่มขึ้นกว่าปกติ และหากถูกจับกุมควรส่งฟ้องศาลโดยห้ามประกันตัว เช่นเดียวกับยาเสพติด เพื่อไม่ให้เป็นที่เยี่ยงอย่าง และให้นักดื่มทุกคนรู้จักที่จะรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ว่าหากนักดื่มยอมรับที่จะเมาสุรา ก็ต้องยอมรับที่จะถูกดำเนินคดีตามมาอีกด้วย

คนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ถ้าจะเสนอชื่อยื่นกฎหมายแบบนั้น อาจจะมีเสียงสะท้อนคัดค้านจากพวกโลกสวย พวกมือถือสากปากถือศีลตามมาอยู่บ้าง ทำนองว่าเป็นการชี้นำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ ทั้งๆ ที่การดื่มสุรากลายเป็นเรื่องที่น้อยคนมากจะละเว้น หากแต่ลีมิตในการดื่มแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนดื่มมาก บางคนดื่มเพราะรู้สึกอยาก หรือดื่มเพื่อให้ผ่อนคลาย

แต่หากในที่สุด เราหาจุดลงตัวที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล เราคงจะไม่เกิดปัญหาสังคมจากการที่มีกฎหมายแล้วถูกใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายแบบนี้ เสมือนกับว่าบ้านนี้เมืองนี้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์มากพอที่จะปฏิบัติโดยทั่วกัน ประเทศที่พลเมืองของเขาขึ้นชื่อว่าดื่มเบียร์ต่างน้ำได้ ทำไมถึงไม่ได้มีปัญหาใหญ่โตเหมือนกับบ้านเรา เพราะสังคมของเขารู้จักความรับผิดชอบ ต่างจากสังคมไทยที่มักจะชอบพูดกันว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้”

ผู้เขียนไม่ใช่คอสุราเหมือนคนอื่น ดื่มเหล้าไม่เก่ง ถนัดแต่แอลกอฮอล์รสชาติหวาน แต่เห็นการใช้กฎหมายที่ลักลั่นย้อนแย้งแบบนี้ ก็ขอใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารออกมา คุณผู้อ่านอาจจะไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ผู้เขียนคิดก็ได้ แต่ลองมองย้อนตามความเป็นจริงว่า ทำไมคนที่ดื่มสุรายังคงดื่ม ทำไมค่านิยมการดื่มสุราจึงไม่หมดไปจากเยาวชนโดยเฉพาะนักดื่มหน้าใหม่

และการออกกฎหมายแบบนั้นนักดื่มจะรู้สึกว่า ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งอยากรู้อยากลองหรือไม่ โปรดพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น