xs
xsm
sm
md
lg

ทหารเขมรประชิด“พระวิหาร”-แฉเล่ห์ "ฮุนเซน"สมคบเพื่อไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ฝ่ายค้านดักทาง รัฐบาลเพื่อไทยสมคบเขมรล่วงหน้า เร่งตั้งกลไกสองประเทศ ทั้งที่ศาลโลกยังไม่มีคำพิพากษาคดีปราสาทเข้าพระวิหาร “ปู” ขอประชาชนสบายใจรอฟังศาลโลก เตรียมถก“เหล่าทัพ -บัวแก้ว”จันทร์นี้ ส่วน “มทภ.2” ย้ำกำลังพลอย่างตื่นตระหนก เน้นประสานงานพูดคุย แฉเล่ห์เขมร เคลื่อนพลประชิด“พระวิหาร”แล้ว

วานนี้(17ต.ค.56) หลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) นัดฟังคำตัดสินคดีตีความคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 วันที่ 11พ.ย.นี้นั้นแหล่งข่าวระดับสูงกองทัพ เปิดเผยว่า วันที่ 21 ตุลาคมนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในฐานะฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วยกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าประชุมหารือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ทั้งนี้ ในวันที่ 21 ต.ค.นี้จะมีการสรุปแนวโน้มของคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก)

“หลังจากที่คณะทีมกฎหมายของไทยได้ไปแถลงข้อมูลในคดีพระวิหารเมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศด้วยการเดินทางไปชี้แจง ประชาสัมพันธ์ มีการ์ตูนอนิเมชั่น หนังสือแจง บทความข่าว เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมในการรับรู้ข้อมูล ส่วนหน่วยงานมั่นคงได้ติดต่อกับทางกัมพูชาตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีในวันนี้สถานการณ์ชายแดนมีความสงบเรียบร้อยมา 1 ปีเศษ ประชาชนสามารถค้าขาย เปิดด่านให้ทั้งคนไทย-กัมพูชาเดินทางไปมาได้ด้วยความเรียบร้อย ดังนั้น เราทำได้ดีในการชี้แจงต่อศาลโลกแล้ว วันนี้ต้องรอฟังคำตัดสินของศาลโลก” แหล่งข่าว ระบุ

รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาคที่ 2 ได้สั่งการให้กองกำลังสุรนารีกำชับกำลังพลที่ดูแลตามบริเวณแนวชายแดนอย่าได้ตื่นตระหนกในช่วงจะมีคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) พร้อมเน้นย้ำให้ทำตามแผนที่ได้ฝึกกันมา และอย่าสร้างเนื่องไข ทั้งนี้ หากมีปัญหาเกิดขึ้นให้เน้นการพูดคุยประสานงานระหว่าง ผบ.หน่วยกับ ผบ.หน่วยกัมพูชา นอกจากนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 วันที่ผ่านมา หน่วยทหารกัมพูชาที่เคยดูแลพื้นที่ปราสาทพระวิหารที่ได้ถอยออกไปเมื่อช่วงต้นปี2556 ได้นำกำลังมารักษาพื้นที่แนวพระวิหารเพื่อดูแลตามแนวชายแดนกัมพูชาเช่นเดิม

**ปลัดกห.ชี้ปูไม่จำเป็นต้องไปกรุงเฮก

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะคณะทำงานต่อสู้คดีประสาทพระวิหาร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.กลาโหม ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปฟังคำตัดสินด้วยตนเอง เพราะเป็นการรับฟังคำตัดสินเท่านั้น ต่างจากในสมัยที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม ที่จะต้องไปกับคณะเนื่องจากในช่วงนั้นเป็นการแถลงด้วยวาจาของฝ่ายไทย จึงต้องไปติดตามใกล้ชิด สำหรับการดูแลความเรียบร้อยตามแนวชายแดนระหว่างจะมีคำตัดสินที่หลายฝ่ายวิตกว่าอาจเกิดเหตุการณ์ขึ้นนั้นจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

**ปูขอประชาชนสบายใจรอฟังศาลโลก

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน ส่วนได้มีการประสานทางการกัมพูชา ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ทางกัมพูชาแสดงเจตนารมณ์มาตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า อยากเห็นพื้นที่บริเวณชายแดนมีความสงบ เราเองก็อยากเห็นเช่นเดียวกัน เชื่อว่าจะพยายามพูดคุยกันบนหลักความเข้าใจและสันติในการแก้ไขปัญหา อยากให้พี่น้องประชาชนสบายใจ ส่วนผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร กระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจตามคำสั่งศาลโลก ทุกเหตุผลที่ออกรัฐบาลต้องรักษาสันติในการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนบ้านให้ได้ การพัฒนาในภูมิภาคอาเซียนเป็นส่วนสำคัญ การสร้างเศรษฐกิจรัฐบาลทั้งสองประเทศก็ต้องพยายามทำร่วมกันทำอย่างดีที่สุด ขอความร่วมมือในการหลีกเลี่ยงการพูดจาไม่ให้กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน

**ปึ้งบอก21พย.เตรียมตั้งทีมเจรจากัมพูชา

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเสนอจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้งชุดสู้คดีปราสาทพระวิหาร และชุดเพื่อที่จะไปพูดคุยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าหากผลการตัดสินของศาลโลกออกมาเป็นอย่างไรทั้ง 2 ประเทศจะต้องพูดคุยกันให้ละเอียดว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะจะต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายว่าไม่ว่าผลออกมาเป็นอย่างไรความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับไทยก็ต้องเดินหน้าต่อไป โดยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นปัญหาระหว่างกัน สิ่งใดที่สามารถพูดคุยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือบริเวณชายแดน จะต้องมีการตกลงพูดคุยกัน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดคุยกันมาตลอด ส่วนรูปแบบของคณะทำงานจะมีความชัดเจนหลังจากที่มีการประชุม และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะมีการประสานไปยังรัฐบาลของกัมพูชา เพื่อแจ้งรายละเอียดและเตรียมนัดคณะทำงานของทั้ง 2 ประเทศ มาพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อนที่ศาลโลกจะมีคำตัดสินออกมา

**ปชป.ดักคอสมคบเขมรล่วงหน้า

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศออกมาบอกว่าจะเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้า แต่หลังจากนั้นเพียงวันเดียวก็มีกำหนดวันตัดสินคดีเร็วขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์และการเตรียมการรองรับของรัฐบาลชุดนี้ การที่นายกฯจะตั้งคณะทำงานในวันจันทร์นี้ ขณะที่คำพิพากษาจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า ทั้ง ๆ ที่มีคณะกรรมการอยู่แล้ว

“ผมคิดว่าการตั้งกรรมการร่วมระหว่างสองประเทศในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนในคำพิพากษาก็ไม่มีประโยชน์อะไร จึงควรตัดสินภายในประเทศก่อน เพราะถ้าไม่เป็นคุณกับประเทศไทยก็จะเสียเปรียบ แต่คงไม่ขัดมาตรา 190 เพราะกระทรวงการต่างประเทศคงอ้างว่าเป็นแค่กลไกการเจรจา แต่ผมเห็นว่ารัฐบาลอาจมีธงบริหารพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรร่วมกับกัมพูชา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าจะกระทบต่อดินแดนไทยหรือไม่ แต่กลับทำให้ประเทศไปอยู่ในกลไกร่วมระหว่างสองประเทศเพื่อผลักดันให้ไทยต้องตกอยู่ในผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องการอยู่แล้วใช่หรือไม่” นายชวนนท์ กล่าว

ทั้งนี้ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณาว่าเข้าข่ายปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐหรือทำให้กระทบต่อการถ่วงดุลอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยก็ต้องมีการนำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 68

**"ปชป." เล็งยื่นตีความ ลงมติแก้รธน.190

อีกเรื่องภายหลังที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สรุปได้ว่าต่อไปนี้ข้อตกลงทางเศรษฐกิจ เรื่องพลังงาน ทรัพยากร จะไม่นำเข้าสภาฯ แล้ว และในมาตรา 190 เหลือแค่เรื่องข้อตกลงทางการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่เมื่อเจรจาเสร็จจะขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยที่รัฐสภาไม่รู้ว่ามีการเจรจาอะไรบ้างและบทบัญญัติกับการเยียวยา การรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชนก็ถูกตัดออกหมด ส่วนเขตการเจรจาการค้าเสรีก็ไม่เหมือนเดิม เพราะจะไม่มีการแจ้งต่อรัฐสภาว่ากรอบการเจรจามีเรื่องอะไรบ้าง

" ยืนยันว่าการที่ทุ่มเทแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลนั้น ลิดรอนอำนาจประชาชน ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตย แต่กลับบอกว่าประชาชนอย่ายุ่ง อย่างไรก็ตามวิปฝ่ายค้านและฝ่ายกฎหมายจะพิจารณากระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ โดยเฉพาะการลงมติมิชอบว่าเข้าเงื่อนไขส่งให้ศาลตีความหรือไม่"นายอภิสิทธิ์ กล่าว.

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถือว่ามีส่วนได้เสียเยอะมาก โดยมีข้อสังเกตในหลายประเด็นคือ ที่โดยปกติแล้วจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อกำหนดกรอบการเจรจา แล้วมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน จากนั้นเมื่อมีการคุยกับประเทศคู่สัญญาแล้วก็จะต้องให้ที่ประชุมรัฐสภารับรองก่อน แต่กลับมีการตัดขั้นตอนการกำหนดกรอบการเจรจาและการรับฟังความเห็นประชาชนออกไป โดยให้เป็นไปตามกฎหมายลูกกำหนด ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้ดำเนินการเรื่องข้อตกลงกับต่างประเทศได้ และสามารถดำเนินการประชุมในทางลับกับประเทศคู่สัญญา แล้วนำเข้าให้รัฐสภาเห็นชอบโดยไม่ต้องกำหนดกรอบการเจรจาและฟังความเห็นประชาชน หากไม่มีการออกกฎหมายลูก จึงทำให้รัฐสภาจะเป็นต้องลงมติโดยที่ไม่สามารถปรับแก้ได้

นอกจากนี้อาจมีการเปิดช่องโหว่เพื่อหาผลประโยชน์ด้านพลังงาน อย่างเช่นที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีคอร์รัปชั่น เคยยอมรับว่ามีธุรกิจด้านพลังงานในรายการช่อง Voice TV ซึ่งจะมีการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย โดยการตั้งบริษัทเอกชนขึ้นมาขอสัมปทานขุดน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อน โดยไม่ต้องเข้าข่ายตามมาตรา190 เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชน และเป็นข้อตกลงเรื่องการขุดเจาะน้ำมัน ไม่ได้เป็นเรื่องการเปลี่ยนเขตแดนทางทะเล

** แฉคลิป'แม้ว'ทำธุรกิจพลังงาน

นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กตอบโต้และชี้แจงกรณีนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่คิดทำธุรกิจด้านพลังงาน โดยนำคลิปเสียงของพ.ต.ท.ทักษิณมาแสดงในเฟซบุ๊ค ทั้งนี้หากไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ คงไม่มีใครสนใจว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะไปลงทุนอะไร เพราะเป็นสิทธิของเขา และ มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองเรื่องนี้เอาไว้คือให้อำนาจรัฐสภาอนุมัติแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน จึงไม่มีความกังวลว่าจะเอื้อผลประโยชน์ให้ใครและก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาหลักฐาน แต่หลังจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข ม.190 ผ่านวาระ 2 อำนาจการอนุมัติจะเป็นของคณะรัฐมนตรี แน่นอนว่าจะต้องช่วยกันจับตามองกันอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น