xs
xsm
sm
md
lg

"สุชน"ลั่นปรองดองต้องนิรโทษ "คำนูณ”ชี้ไม่อยู่ในอำนาจสปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการรายงานตัวของ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในช่วงเช้าวานนี้ (7ต.ค.) ซึ่งเป็นวันที่สอง ที่บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ก็ยังคงมีสมาชิก สปท. ทยอยเดินทางเข้ามารายงานตัว ตั้งแต่เวลา 07.00 น. โดยมี นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เดินทางเข้ามารายงานตัวเป็นลำดับแรก รวมถึง ดร.ถวิลวดี บุรีกุล อดีตกมธ.ยกร่างฯ ที่มาเป็นลำดับที่สอง พร้อมกับยังได้เปิดเผยถึงการเข้ารับทำหน้าที่สปท. โดยระบุว่า ขอบคุณที่ให้โอกาสกลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งงานที่ทำอยู่ เป็นงานวิชาการ ก็หวังว่าจะได้ใช้ประโยชน์ในงานปฏิรูป และสานต่องาน ปฏิรูปที่ สปช. ดำเนินการไว้
ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่จะทำคือ การสร้างเศรษฐกิจฐานราก การลดความเหลื่อมล้ำและความเสมอภาค ส่วนเรื่องการปฏิรูป ที่ต้องการเข้ามาผลักดันเป็นพิเศษ ก็คงเป็นการสานต่องานปฏิรูปที่เคยทำไว้ อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกทยอยเดินทางมารายงานตัวอีก อาทิ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกทม. นายวรรณธรรม กาญจนสุวรรณ อดีต รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง สมัยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

**"จิระ"ชี้ยุทธศกดิ์เหมาะนั่งประธาน สปท.

พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ สมาชิกสปท. กล่าวถึง กระแสข่าวที่เสนอให้ตนเป็นประธาน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รวมถึงประธาน สปท. ว่าตนไม่มีความสามารถพอที่จะรับตำแหน่งประธาน กรธ. กระแสข่าวที่ออกไป เป็นการบิดเบือน ซึ่งตนไม่ได้โปรโมตตัวเอง ส่วนตำแหน่งประธาน สปท. นั้น เห็นว่าหลายท่านมีความเหมาะสมมากกว่าไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา , นายชัย ชิดชอบ, นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ และ นายวิรัช ชินวินิจกุล เรื่องนี้ขอปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประธานจำเป็นต้องเป็นทหารหรือไม่ พล.อ.จิระ กล่าวว่า ไม่ว่าจะพลเรือน หรือทหาร เป็นได้หมดไม่มีสิ่งใดๆมาระบุเลยว่า จะต้องเป็นทหาร เมื่อถามย้ำเรื่องประธาน สปท. พล.อ.จิระ กล่าวว่า เอาคนอื่นก่อนดีกว่า ตนยังไม่พร้อมที่จะเป็น ถ้าเป็นพล.อ.ยุทธศักดิ์ ซึ่งตนเคารพรักมาก และคร่ำหวอดในวงการเมืองมามากกว่า น่าจะเหมาะสม ไม่ทราบเลยทำไมกระแสข่าวถึงออกมาเป็นชื่อตน
** "สุชน" หวังผลักดันนิรโทษกรรม
นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ก็เข้ารายงานตัวเป็นสปท. พร้อมชี้แจงถึงการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อให้การทำหน้าที่ สปท. เป็นไปอย่างอิสระ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. ส่วนบทบาทการทำงาน สปท.หลังจากนี้ จะยึดแนวทางตามกรอบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 39/2 ที่ต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภายใต้การปฏิรูป18 ด้าน และต้องดำเนินการเป็นองค์คณะ
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องเร่งปฏิรูป คือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่อยากให้เดินหน้าเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นการขับเคลื่อนประเทศ ก็เดินหน้าไม่ได้ ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรม ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสานงานต่อจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของ สปช. ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยร่นระยะเวลาในการทำงานได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาใหม่ในบางเรื่องเช่นกัน ส่วนจะทำให้การปรองดองเป็นรูปธรรมได้อย่างไรนั้น คงต้องรอให้มีการหารือในสปท. ก่อน พร้อมกันนี้ นายสุชน ยังมองว่า ความหลาก หลายของสมาชิกสปท. ถือเป็นเรื่องดีต่อการทำงาน เพราะแต่ละคนก็มีความรู้ความสามารถ และต่างเป็นดาวฤกษ์ ที่มีศักยภาพในตัวเองซึ่งจะช่วยกันนำมาพัฒนาประเทศได้
อย่างไรก็ตาม นายสุชน ปฏิเสธตอบคำถามที่ว่า หากเกิดกรณีพรรเพื่อไทย มีการเคลื่อนไหว จะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่ ซึ่งระบุเพียงว่า ไม่ขอก้าวล่วง แต่ในฐานะสปท. พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกพรรค แม้จะมีความเห็นต่าง ขณะเดียวกันยืนยันว่ายังไม่ได้มีการหารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายทักษิณ ชินวัตร ในการมารับตำแหน่ง สปท.ครั้งนี้ แต่เชื่อว่าทั้งสองจะเข้าใจ เพราะต่างก็ต้องการให้เกิดความปรองดองในประเทศ โดยเฉพาะนายทักษิณ ที่เคยพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนการปรองดองจะเดินหน้าได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายร่วมมือกัน และให้ มีโอกาสหันหน้าพูดคุยกัน ไม่ใช่ร่วมมือแค่ฝ่ายผู้ชนะ และฝ่ายผู้ถูกกระทำ ไม่ได้พูดคุยกันสักที
** สปท.ไม่มีอำนาจทำเรื่องนิรโทษกรรม

นายคํานูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิก สปช. และ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เดินทางมารายงานตัว เป็น สปท. โดยให้สัมภาษณ์หลังรายงานตัว ว่า ยินดีที่ได้เข้าร่วมรับใช้บ้านเมืองอีกครั้ง ในสถานการณ์ที่หัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งต้องดำรงตำแหน่งนี้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรืออีก 20 เดือนตามโรดแมป ที่นายวิษณุ เครืองาน ได้ระบุไว้ ส่วนงานของสปท. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุชัดเจนว่า แตกต่างจาก สปช. คือ ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และนำแผนแม่บทของสปช. ที่ส่งให้ครม.มาพิจารณาเรื่องที่สำคัญแล้วส่งให้สนช.หรือครม.ดำเนินการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมที่มีสมาชิกสปท.ที่มาจากพรรคการเมืองเสนอนั้น สปท.ไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ แต่อดีต สปช.ได้ศึกษาไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคือ การปฏิรูปการปรองดองและนิรโทษกรรม ซึ่งที่ประชุมสปท.อาจนำเรื่องนี้มาพิจารณาอีกครั้งในระยะแรก

** "ปานเทพ"ปัดถูกทาบนั่ง ปธ.สปท.

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ สมาชิก สปท. อดีตประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นสปท.ว่า มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามเป้าหมาย การทำหน้าที่ สปท. คือการขับเคลื่อนการปฏิรูป ต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่กำหนดไว้ 11 ด้าน ด้วยเวลาไม่มาก จะทำทุกเรื่องไม่พอ อะไรที่เป็นระยะสั้นต้องทำให้เสร็จ ระยะกลางและระยะยาว ต้องวางรากฐาน และด้วยสมาชิกที่มาจากหลากหลายฝ่ายการทำงาน จึงต้องมีความร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้สอดคล้องกันทั้งหมด ทั้งรัฐบาลที่ได้รับแผนปฏิรูปไปแล้ว รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ทั้งนี้ การทุจริต คอร์รัปชัน เป็นปัญหาสำคัญและเป็นฐานของทุกเรื่อง ต้องทำเป็นเรื่องหลักในการปฏิรูป จากนั้นก็ต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย การทำงานทุกภาคส่วน ในส่วนกฎหมาย ป.ป.ช. อยู่ในระหว่างการยกร่าง ที่ต้องประสานงานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อไป เพื่อเสนอแนะ เพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการทุจริต ซึ่งหลายเรื่องได้เสนอแล้ว ทั้งในเรื่องอายุความ การอายัดทรัพย์
ผู้สื่อข่าวถามความคิดเห็นต่อประเด็นการสร้างความปรองดอง นายปานเทพ กล่าวว่า เรื่องการปรองดองเป็นเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ในการปฏิรูป 11 ด้าน อยู่แล้ว ต้องทำควบคู่กันหลายส่วนให้เกิดความเป็นธรรม จะนิรโทษกรรม ก็ต้องดูให้ดี
เมื่อถามว่า ได้รับการทาบทามให้เป็นประธาน สปท. หรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่มี เป็นไปตามขั้นตอน หากได้รับตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นเกียรติ

**ไม่เคืองสมาชิกพท.ร่วมเป็น สปท.

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สมาชิก และแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยหลายรายได้รับการแต่งตั้งเป็น สปท. ว่า ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่พรรคยังยืนยันหลักการเดิมว่า จะไม่ส่งตัวแทนพรรคไปเป็น สปท. และต้องขอบคุณผู้ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อไม่ให้กระทบต่อจุดยืนของพรรค ที่ต้องชัดเจนว่าเป็นสถาบันทางการเมือง ที่ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งทางพรรคไม่ได้โกรธเคืองสมาชิกเหล่านั้นเลย พรรคเพื่อไทยในขณะนี้ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆไม่ได้ แต่ก็เป็น ช่วงเวลาที่เราต้องติดตามความเป็นไปของประเทศ และการแก้ปัญหาให้ประชาชนตามที่กฎหมาย เปิดโอกาสให้กระทำได้ ในขณะนี้และหวังว่าเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ พรรคจะได้ทำหน้าที่สถาบันการเมืองอย่างเต็มภาคภูมิต่อไป

**ไม่เชื่อน้ำยา"นวยนิ่ม"จะปฏิรูปตร.

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน สปท. ประกาศปฏิรูปตำรวจว่า โดยส่วนตัวรู้จักกันดี แต่ไม่เชื่อว่า เป้าหมายที่จะปฏิรูปตำรวจนั้น จะสอดคล้องกับความต้องการของพนักงานสอบสวน และประชาชนทั่วประเทศ เพราะเท่าที่เคยฟัง เคยพูด ก็ไม่ใช่แนวทางการปฏิรูปตำรวจตามแนวที่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สปช. เคยสรุปไว้ ตามความต้องการของประชาชนแต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องยากที่จะเห็น สปท. มีมติให้แยกอำนาจการสอบสวนให้เป็นอิสระ ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช. ) เพราะตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ยังคงต้องการอำนาจการชี้นำ การสั่งคดี การเป่าคดี และการครอบงำอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศให้คงอยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งนั่นก็คือศาลเตี้ย นั้นเอง ประชาชนธรรมดา คนยากจนที่ไม่มีเส้นไม่มีสาย ก็ยากจะเข้าถึงความยุติธรรมได้
"การปฏิรูปตำรวจให้ดีขึ้นในยุคนี้ ก็ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร เพราะขนาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยกธงขาวชัดเจนแล้วว่า ไม่มีการปฏิรูปตำรวจในยุคนี้ และสั่งให้รอรัฐบาลหน้า ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย"
นายวัชระ ยังกล่าวถึงรายชื่อ สปท.ที่ประกาศ ก็แจ่มชัดในตัวเองอยู่แล้ว เพราะคนที่มีแนวคิดปฏิรูปตำรวจที่ชัดเจนอย่าง นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.ปชป. ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งรายชื่อให้คสช. กลับถูกกาชื่อทิ้ง ได้เพียง นายกษิต ภิรมย์ คนเดียว แต่เครือข่ายใกล้ชิด นายทักษิณ ชินวัตร กลับมีมากไม่ต่ำกว่า 7 คน แค่แต่งตั้งก็ดูพิลึกพิลั่นแล้ว จะไปหวังว่าเป็นสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปใดๆ ก็ดูลางเลือนเหลือเกิน และตนเชื่อว่า สปท. นี้มีอายุไม่ครบ 5 ปี ตามที่คสช.กำหนดไว้อย่างแน่นอน เพราะมีตัวอย่างแล้วจาก สปช. ที่หมดอายุอย่างกระทันหัน
กำลังโหลดความคิดเห็น