xs
xsm
sm
md
lg

“สุชน” มุ่งปฏิรูปปรองดองสานต่อล้างผิด ไม่ตอบปม พท.เคลื่อนไหว ปัดคุย “ปู-แม้ว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุชน ชาลีเครือ ขณะกำลังยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
อดีตสมาชิกเพื่อไทยเข้ารายงานตัวนั่ง สปท. ย้ำไขก๊อกพรรคเพื่อความอิสระ เล็งเร่งปฏิรูปปรองดอง สานต่อแนวทางนิรโทษกรรมของ สปช. รับความหลากหลายเรื่องดีช่วยกันพัฒนาชาติ เมินตอบ พท.เคลื่อนไหวปรองดองได้หรือไม่ ปัดถก “ปู-แม้ว”

วันนี้ (7 ต.ค.) นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา เข้ารายงานตัวเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลำดับที่ 24 พร้อมกับได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเพื่อให้การทำหน้าที่ สปท.เป็นไปอย่างอิสระ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม ส่วนบทบาทการทำงาน สปท.หลังจากนี้ นายสุชนกล่าวว่าจะยึดแนวทางตามกรอบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 39/2 ที่ต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภายใต้การปฏิรูป 18 ด้าน และต้องดำเนินการเป็นองค์คณะ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการเร่งปฏิรูปคือการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่อยากให้เดินหน้าเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นการขับเคลื่อนประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรมก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสานงานต่อจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช. ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยร่นระยะเวลาในการทำงานได้เร็วขึ้นแต่ก็ยังต้องมีการศึกษาใหม่ในบางเรื่องเช่นกัน ส่วนจะทำให้การปรองดองเป็นรูปธรรมได้อย่างไรนั้น คงต้องรอให้มีการหารือใน สปท.ก่อน พร้อมกันนี้นายสุชนยังมองว่าความหลากหลายของสมาชิก สปท.ถือเป็นเรื่องดีต่อการทำงาน เพราะแต่ละคนก็มีความรู้ความสามารถ และต่างเป็นดาวฤกษ์ที่มีศักยภาพในตัวเองซึ่งจะช่วยกันนำมาพัฒนาประเทศได้

ทั้งนี้ นายสุชนยังปฏิเสธตอบคำถามหากเกิดกรณีพรรเพื่อไทยมีการเคลื่อนไหวจะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่ โดยระบุเพียงว่าไม่ขอก้าวล่วง แต่ในฐานะสมาชิก สปท.พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกพรรคการเมือง แม้จะมีความเห็นต่าง ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการมารับตำแหน่ง สปท. แต่เชื่อว่ามีความเข้าใจ เพราะต่างก็ต้องการให้เกิดความปรองดองในประเทศ โดยเฉพาะนายทักษิณที่เคยพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนการปรองดองจะเดินหน้าได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายร่วมมือกันและให้มีโอกาสหันหน้าพูดคุยกัน ไม่ใช่ร่วมมือแค่ฝ่ายผู้ชนะ และฝ่ายผู้ถูกกระทำไม่ได้พูดคุยกันสักที


กำลังโหลดความคิดเห็น