xs
xsm
sm
md
lg

“ปฏิรูปตำรวจ” แค่รายงานส่งครู! “พะจุณณ์” อายไม่เห็นใจคนจน - 125 สปช.ตามน้ำโหวตผ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ 125 เสียง ผ่านรายงานการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ แค่ปรับโครงสร้าง ก.ตร.- ก.ต.ช. อ้างปลอดแทรกแซงการเมือง “พะจุณณ์” จวกยับผิดหวังทำเหมือนรายงานส่งครูประจำชั้น ซัดพวกใส่สูทไม่เห็นใจคนจน ไร้เงาแยกการสอบสวนออกจาก สตช. บอกไม่ต้องเอาออกไป อายประชาชน โถ! “นวยนิ่ม” แก้ตัวงานสืบสวนบกพร่อง เพราะไม่เป็นตัวของตัวเอง “วสิษฐ” แนะตั้งคณะกรรมการอิสระร้องทุกข์ตำรวจ

วันนี้ (11 ส.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณารายงานการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ ตามที่คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปตำรวจ ที่มี นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สปช. เป็นประธาน ได้เสนอมา โดยมีสาระสำคัญ คือ การแก้ปัญหาการแทรกแซงกิจการตำรวจจนกระทบต่อการบริหารงานในองค์กร และทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขาดความเป็นอิสระ อยู่ในการครอบงำของฝ่ายการเมือง จึงเสนอให้ปฏิรูปองค์กรตำรวจที่สำคัญ อาทิ 1. การปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีจำนวน 16 คน เพื่อให้การบริหารงานของ ก.ตร. มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง มีการกำหนดอำนาจเพิ่มเติมให้ ก.ตร. มีหน้าที่พิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยตำแหน่งประธาน ก.ตร. ให้คัดเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบ.ตร. หรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยการลงคะแนนเลือกจากตำรวจระดับยศ พ.ต.อ. ขึ้นไป มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี และอยู่ในตำแหน่งติดกันไม่เกิน 2 วาระ 2. การปฏิรูปคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มี 11 คน มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งฝ่ายการเมือง กระบวนการยุติธรรม ภาคประชาชน ร่วมเป็นกรรมการ มีหน้าที่เฉพาะการกำหนดนโยบายการทำงานในองค์กร ไม่มีอำนาจแต่งตั้ง ผบ.ตร. เพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง

3. การปฏิรูปการแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยให้ดำเนินการโดย ก.ตร. เพียงองค์กรเดียว ด้วยการคัดเลือกจากข้าราชการตำรวจในตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. หรือเทียบเท่า (ยศ พล.ต.อ.) จำนวน 3 คน แล้วให้ข้าราชการตำรวจระดับ พ.ต.อ. ขึ้นไปลงคะแนนเลือกเหลือ 1 คน เพื่อเสนอ ก.ตร. พิจารณานำเสนอนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป เพื่อให้คนเป็น ผบ.ตร. ต้องสั่งสมผลงานมาเป็นระยะยาว เป็นผู้ประพฤติดีมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่วิ่งเต้นรับใช้นักการเมืองอย่างเดียว และให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการเลือกผู้บังคับบัญชา 4. การวางมาตรฐานแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ให้พิจารณาโดยยึดความอาวุโส ประกอบความรู้ความสามารถ และ 5. การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของตำรวจ ให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรงรับไปดูแล อาทิ การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยงานจราจรไปให้ กทม. เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล การตรวจคนเข้าเมืองให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงต่างประเทศดูแล

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. อภิปรายว่า รายงานฉบับนี้เป็นการรายงานปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นกับตำรวจทั้งระบบ ซึ่งในรายงานส่วนใหญ่นั้นตนเห็นด้วยและอยากให้ปฏิรูปอย่างจริงจัง แต่ไม่เห็นด้วยในบางส่วน อาทิ การแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดย ก.ตร. ที่ให้จเรตำรวจ และรอง ผบ.ตร. มีส่วนร่วม เพราะอาจเกิดปัญหาเนื่องจากจะเกิดการวิ่งเต้น และมีระบบอุปถัมภ์เกิดขึ้น ส่วนเรื่องการแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นั้น ตนมองว่าไม่ควรแยก เพราะจะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่ควรแก้ปัญหาในเรื่องของจิตวิญญาณของตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการหาผลประโยชน์ รีดไถ ที่จะต้องเลิกให้ได้ โดย ผบ.ตร. ที่จะเข้ามารับตำแหน่งใหม่นั้นต้องประกาศให้ชัดเจน รวมถึงมีบทลงโทษที่รุนแรงและจริงจังด้วย อีกทั้งต้องให้ประชาชนมีโอกาสประเมินการทำหน้าที่ของตำรวจในทุกปี

ด้าน พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปช. อภิปรายว่า ตนรู้สึกผิดหวังกับรายงานฉบับนี้ที่ทำเหมือนรายงานส่งครูประจำชั้น เพราะไม่ใช่การปฏิรูป หรือเป็นเพราะว่าพวกท่านใส่สูท ใส่รองเท้าหนังต่างประเทศ จึงไม่เห็นใจคนจนว่าเขาจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ลำบากยากเย็นอะไร โดยเฉพาะการแยกการสอบสวนออกจาก สตช. นั้น ต่างประเทศเขาทำกันมานานแล้ว ทั้งนี้ การแยกการสอบสวนนั้นเด็ก ๆ ที่ดูหนังต่างประเทศก็ยังรู้เลยว่าสามารถทำได้ ในต่างประเทศ เขาก็ทำกันและมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น ถ้ารายงานออกมาแบบนี้ก็ไม่ต้องปฏิรูปจะดีกว่า

“รายงานแบบนี้ไม่ต้องเอาออกไป อายประชาชน ให้ลืมไปเลยว่ามีการปฏิรูป เพราะรายงานนี้ผิดเพี้ยนมาตั้งแต่เริ่มตั้งคณะกรรมการแล้ว รายงานนี้ไม่มีเจตนาที่จะช่วยประชาชนที่ยากไร้ ประชาชนที่ด้อยโอกาส เราไม่ได้ให้ปฏิรูปตำรวจเพื่อให้ตำรวจเจริญก้าวหน้า หรือมีอะไรดี ๆ มากมาย แต่อยากให้ปฏิรูปเพื่อประชาชน ถ้าทำไม่ได้ สักวันจะให้พวกเขาลุกขึ้นมาเอง วันนั้นพวกเขาก็คงจะทำได้” พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว

นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล สปช. อภิปรายว่า อาชีพอื่นก็มีศักดิ์ศรีของเขาเหมือนกัน แต่ทำไมอาชีพเหล่านั้นจึงไม่ถูกมองว่ามีการรีดไถ ตรงนี้อาจจะต้องดูในเรื่องของสวัสดิการและรายได้เสริมด้วย ขณะที่ระบบการถ่ายโอนภารกิจนั้น ก็ถือว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร ยังไม่ได้มองภาพรวมว่าการชำแหละ สตช. นั้นก็เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลในอนาคต

นายณรงค์ พุทธิชีวิน สปช. อภิปรายว่า ตนอาจจะตั้งความหวังไว้มากเกินไป เพราะเท่าที่ฟังมีเพียงเรื่องเดียว คือ การถ่ายโอนอำนาจ นอกนั้นไม่เห็นว่าจะเป็นการปฏิรูปตรงไหน อย่างไร ทั้งนี้ เรื่องของความเป็นอิสระที่พูดกันว่าต้องปลอดจากการเมืองนั้น ตนมองว่า ควรให้มีตัวแทนของประชาชน ซึ่งก็คือนักการเมืองที่ดีได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ไม่ควรที่จะปฏิเสธไปเลย สำหรับเรื่องการประเมินและการพัฒนาตำรวจนั้น วันนี้ควรจะมีกลไกที่เรียกว่าสำนักประเมินและพัฒนาตำรวจขึ้นมาประเมินและรายงานผลทุกปี เชื่อว่า ตำรวจจะดีขึ้น ระมัดระวัง และวิ่งหาสิ่งที่เรียกว่าความดีงามมากขึ้น ที่สำคัญคือ ตำรวจที่ไม่ดีต้องถูกซักฟอก ขณะที่ตำรวจที่เลวจะต้องเอาออกไป ไม่ให้มีที่ยืน ไม่ใช่แค่ถูกโยกย้ายเท่านั้น

ขณะที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ในฐานะกรรมการชี้แจงว่า หากย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความพยายามทำให้ตำรวจอ่อนแอ ต้องแทรกแซง และต้องตั้งรัฐตำรวจ จนมีคำพูดว่าตรงเป็นเครื่องมือนักการเมือง ไม่รับใช้จะไม่โต จนมีบางคำว่า มีวันนี้ได้เพราะอะไร ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ หากเอาตำรวจออกมาจากการเมืองอย่างแท้จริง ตำรวจก็จะกลับไปเป็นตำรวจของพระมหากษัตริย์เหมือนตามเจตนารมณ์ของรัชกาลที่ 4 อีกครั้ง ตนยืนยันว่ารูปแบบที่เสนอดีที่สุดแล้ว

พล.ต.อ.อำนวย กล่าวว่า ตนรับราชการมาถึงวันนี้เหลือ 49 วัน จะเห็นว่า งานการสืบสวน มันคือเหรียญเดียวกัน แต่อยู่คนละด้าน ทำให้มีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง เราจึงทำให้อยู่เหรียญเดียวกัน อยู่ในหลังคาเดียวกัน แต่ไม่ขึ้นต่อกัน ต่อไปนี้ผู้กำกับโรงพักไม่ยิงเขามาจะมาสั่งพนักงาน หรือลูกน้องไม่ได้แล้ว ใครที่ระแวงเรื่องนี้ว่าไม่มีอิสระ มันเริ่มจากตำรวจไม่เป็นตัวของตัวเอง จึงต้องทำตรงนี้ก่อน ส่วนเรื่องภายใน นิสัย ศีลธรรมจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติ

พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร กรรมการ ชี้แจงเสริมว่า การแบ่งแยกอำนาจ เพราะที่ผ่านมาปัญหาคือกระจายคำสั่งแต่ไม่กระจายการพิจารณา ก.ตร. มีการล็อกตั้งแต่หัวลงมาไปอยู่กับการเมือง ได้ทุกอย่างจบ กก. จึงเสนอว่า ผบ.ตร. ต้องมีความมั่นคงในตำแหน่งพอสมควร และมีที่มาสง่างาม ไม่เหมือนทุกวันนี้แต่ละคนพยายามหาทางเติบโต แล้วไปหาอำนาจเพื่อเข้ามาเป็น ผบ.ตร. ความผูกพันกับหน่วยงานน้อยลง ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ และกลุ่มพวก

ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า เรื่องงานสอบสวนที่บอกว่าในต่างประเทศมีหลายประเทศที่แยกงานสอบสวนออกมานั้น แต่ก็ยังมีต่างประเทศอีกจำนวนมากที่ไม่ได้แยกงานสอบสวนออกมาเช่นกัน ทั้งนี้ หากเราไม่สร้างพนักงานสอบสวนให้เติบโตในสายงานของเขา และไม่ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจแทรกแซงการทำงานแล้ว เราก็อาจจะได้กรมตำรวจใหม่ขึ้นมาที่มีปัญหาเหมือนกับกรมตำรวจเดิมก็เป็นได้ ขณะที่คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของตำรวจนั้น ถือเป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศเช่นกัน ตรงนี้จะยังความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้จริง ๆ เพราะปัจจุบันเวลาที่มีการกล่าวโทษร้องทุกข์ตำรวจนั้น ตำรวจจะเป็นผู้ที่พิจารณาความผิดของตำรวจด้วยกันเอง โอกาสที่จะเกิดการลูบหน้าปะจมูกขึ้นจึงมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าหากมีหน่วยงานอิสระที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับ สตช. ขึ้นมา ประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังหวังว่า เรื่องนี้จะผ่านที่ประชุม สปช. ไปสู่ ครม. เพื่อที่เราจะได้เห็นเงาของการปฏิรูปตำรวจบ้างในที่สุด

จากนั้นประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปตำรวจด้วยคะแนน 125 เสียง ไม่เห็นด้วย 28 เสียง และงดออกเสียง 31 เสียง พร้อมทั้งส่งให้ ครม. พิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น