xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"ยังลังเล เป็นที่ปรึกษา กรธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มีชัย"เผย "บวรศักดิ์" ยังลังเลที่จะมานั่งเป็นที่ปรึกษา กรธ. หลังเคยลั่นวาจาไว้ ยันยึดกรอบเวลาเดิมเป็นหลักในการร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ชัดคง คปป. ไว้หรือไม่ "วิษณุ"ยันให้อิสระในการทำงานเต็มที่ ไม่มีสั่งการ แย้มอาจมีแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 รองรับกรณีไม่ผ่านประชามติ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวการเชิญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาเป็นที่ปรึกษาในการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ว่า ขณะนี้นายบวรศักดิ์ ยังลังเลอยู่ เนื่องจากเคยลั่นวาจาไว้แล้วว่าจะไม่กลับมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญอีก

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาของ กรธ. ไม่จำเป็นต้องมีทั้ง 9 คน ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ระบุไว้ แต่ที่ปรึกษาจะมีความเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ซึ่งจะนำเอาสิ่งที่ทุกฉบับเห็นพ้องต้องกันว่าดีมาต่อยอด เขียนลงในการร่างรัฐธรรมนูญ

"ขณะนี้เป็นแค่การพูดคุยตามหลักการในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะหลักการจำนวน 5 ข้อ ของทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ในมาตรา 35 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง จึงจะสามารถขัดเกลาหลักการเหล่านี้ และลงรายละเอียดเป็นรายมาตราได้ ซึ่งช่วงที่มีการขัดเกลานี้ คาดว่าจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปรับฟังได้ และยอมรับว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยากกว่าฉบับที่ 2534 และฉบับที่ 2540 เนื่องจากต้องร่างให้แก้ปัญหาของบ้านเมืองในเวลานี้ได้"นายมีชัยกล่าว

** ยังกั๊กแก้รธน.57ขยายเวลาร่างรธน.

ส่วนการวางกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่าเพียงพอหรือไม่ นายมีชัย ย้อนกลับว่า แล้วการทุจริตนั้นหมดหรือยัง ถ้ายังไม่หมดก็ต้องไปคิดต่อ และต้องอาศัยความคิดเห็นของส่วนอื่นนอกเหนือจาก กรธ. ทั้ง 21 คนด้วย ซึ่งต้องขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาเสนอว่า จะเข้ามากำกับการดำเนินงานภาครัฐอย่างไร ระบบจึงจะไม่รวนเร และไม่ขาดความรับผิดชอบ โดยการเปิดรับฟังความเห็นแบบเปิดกว้างนั้น จะทำให้ผู้ที่มีความถนัด และสนใจด้านใดก็ส่งข้อเสนอของตนในด้านนั้นมา ซึ่งจะดีกว่าไปจำกัดวงของการเสนอความเห็นว่าต้องเป็นในแต่ละด้าน

สำหรับเรื่องกรอบเวลา ตอนนี้แน่นอน และเปรียบเหมือนกำหนดให้ 4 ทุ่มต้องส่งตัวเจ้าบ่าว ยังไงก็ต้องส่งตัว ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อขยายเวลาการร่างรัฐธรรมนูญออกไปจาก 180 วันนั้น ตอนนี้อย่าเพิ่งไปคิดเลย เพราะจะทำให้ชะล่าใจได้ เอาไว้ใกล้ๆ กำหนดเวลา แล้วค่อยว่ากันอีกทีหนึ่งดีกว่า

ส่วนเรื่องที่มีการกำหนดกรอบการศึกษารัฐธรรมนูญที่ย้อนไปถึงปี 2518 นั้น เหตุก็เป็นเพราะว่า รัฐธรรมนูญปี 2518 ในทางวิชาการ ถือว่าเป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่ขณะนี้ยังตีกรอบถึงรูปแบบโครงสร้างการปกครองที่เหมาะสมกับสังคมไทยไม่ได้ ต้องรอให้เห็นร่างทั้งฉบับกันก่อน แต่ขอยืนยันว่า การร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องคำนึงถึงสภาพของสังคมไทยเป็นหลัก ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นโอกาสที่ดี เพราะทุกคนจะมีโอกาสได้ช่วยกันเสนอความเห็น

***ยังไม่ชัดใส่ คปป. ลงไปในร่างใหม่

เมื่อถามว่า จะมีการใส่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ลงไปในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่รู้เรื่องนี้ เพราะยังไม่ได้หารือไปถึงตรงนั้น

***เผย กรธ.มีอิสระในการทำงานเต็มที่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ระบุว่า มีเวลาร่างรัฐธรรมนูญ 120 วัน ว่า 120 วัน หมายถึงเวลาทำการที่หักวันหยุดไปแล้ว ซึ่งอยู่ที่การบริหารเวลา เพราะวันหยุดก็สามารถประชุมได้ ซึ่งตอนนี้ ก็ดู กรธ. มีความแข็งขันดี และยืนยันว่าในการร่างฯ กรธ. จะมีอิสระอย่างเต็มที่ แต่หากมีปัญหาอะไร ก็สามารถปรึกษาหารือกันได้อย่างไม่เป็นทางการ ไม่ใช่การสั่งการ หรือพิมพ์เขียวอะไร

สำหรับการประชุมกรธ. ยังไม่ให้สื่อมวลชนเข้าฟังนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะตัวกรรมการ ก็ยังไม่คุ้นกันเอง และก็ยังไม่คุ้นกับสื่อด้วย

***คาดอาจมีแก้รธน.หากประชามติไม่ผ่าน

เมื่อถามว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อทำให้ประเด็นการทำประชามติชัดเจนขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าทำประเด็นนั้น ประเด็นเดียวไม่แก้ แต่เมื่อจำเป็นต้องแก้อย่างอื่น ก็จะแก้ประเด็นนี้ไปด้วย ซึ่งอย่างอื่นที่ว่า คือ หากร่างของนายมีชัย ประชามติไม่ผ่าน ต้องร่างใหม่ จะร่างอย่างไร ใครเป็นคนร่าง กี่คน แล้วจะต้องประชามติ อีกหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีคำตอบ จึงอาจต้องแก้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการแก้รัฐธรรมนูญสมัยนี้ สามารถทำให้เบ็ดเสร็จได้ใน 1 เดือน นึกออกเมื่อไร ก็ทำในจังหวะที่จำเป็นได้ และไม่ต้องตกใจ หากมีข่าวจะแก้ จะป่าวร้องตั้งแต่ไก่โห่ แต่ก็นึกๆ อยู่ถ้าผ่าน อาจไม่ต้องแก้ก็เป็นได้ ซึ่งตรงนี้อาจจะแก้อย่างอื่นด้วยก็ได้ หากบ้านเมืองมีความจำเป็นต้องแก้

เมื่อถามว่า การที่นายมีชัย มาเป็นประธาน กรธ. มั่นใจว่าจะผ่านประชามติหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบ ชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างฯ มาตนก็มั่นใจ

** มีคปป.หรือไม่ขึ้นอยู่กับ 21 กรธ.

เมื่อถามว่า มีความกังวลว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีองค์กรมาคอยควบคุมรัฐบาล นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ อยู่ที่ กรธ.ทั้ง 21 คน ที่จะคิดขึ้นมา เมื่อมีการส่งร่างมาให้รัฐบาลพิจารณา จะเสนอความเห็นไปตอนนั้น ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว จะต้องมีการส่งร่างอย่างเป็นทางการให้องค์กรต่างๆ พิจารณา แล้วให้ส่งความเห็นกลับไปยัง กรธ. เพื่อให้แก้ไข และไม่ว่าจะแก้ตามหรือไม่ต้องมีการชี้แจงต่อเจ้าของความเห็น ซึ่งกรธ. ก็มีความชัดเจนว่า จะเริ่มฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันนี้ มีการตั้งอนุกรรมการฯ รับฟังความคิดเห็นขึ้นมาแล้ว และเมื่อร่างแรกเสร็จก็จะส่งให้องค์กรต่างๆ วิจารณ์อีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นทางการ

** "บิ๊กป้อม"ไม่ให้ราคากลุ่มต้าน"มีชัย"

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ภายหลังมี กรธ. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า ต้องให้เวลา กรธ. ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ และ สปท.ก็อาจจะนำแนวคิดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เดิมในเรื่องการปฎิรูปทั้ง 11 ด้านว่าจะดำเนินการสานต่ออย่างไรบ้าง

ส่วนที่มองว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไข มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สามารถเดินหน้าต่อไปนั้น ขณะนี้ก็กำลังดูอยู่ ทั้งนี้ ตนคิดว่า ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2557 จริง ก็มีเพียงเรื่องเดียวที่ควรจะแก้ไข คือ เรื่องที่ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งตนคิดว่า ทางฝ่ายกฎหมายจะต้องไปดำเนินการต่อ รวมถึงการแก้ไขเรื่องผู้มีสิทธิ์ ลงประชามติ และผู้มาใช้สิทธิ์ลงประชามติด้วยที่ฝ่ายกฎหมายต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีบางกลุ่มออกมาแสดงความเคลื่อนไหวต่อต้านนายมีชัยนั้น ตนไม่รู้สึกกังวล เพราะเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนชอบ และไม่ชอบ อีกทั้งจะให้หาคนที่ถูกใจทุกคน เป็นไปไม่ได้ แต่ตนเชื่อว่า นายมีชัย ทำเพื่อประเทศชาติ

เมื่อถามว่า ยังมีจำเป็นต้องมี คปป. อยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ใช่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ ต้องดูว่า กรธ. มีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่า กรธ.จะร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุดตามหลักสากล ถ้าจะถามเรื่องนี้ ต้องถามนายมีชัย ที่อาจจะทราบ ดังนั้น อย่ามาถามตน เพราะตนไม่ใช่นักร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งหน้าที่ของตน คือ ดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อย

**ย้ำชัดต้องติดคุกก่อนจึงจะมีนิรโทษ

เมื่อถามถึงกรณีที่สมาชิก สปท. บางคนเสนอแนวคิดความปรองดองผ่านการนิรโทษกรรม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องการนิรโทษกรรม เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน จะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ ก็ว่ากันภายหลัง ไม่ว่าจะนิรโทษกรรม หรืออภัยโทษกรรม ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะให้นิรโทษกรรมเลย ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนและทำตามกฎหมาย

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ด้วยตนเอง มีจะมีผลดี และผลเสียอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้กระบวนการในการทำงานสั้นลง อีกทั้งพล.อ.ธีรชัย ก็เป็นผู้อาวุโสในตำแหน่งมากที่สุดในกองทัพ สามารถสั่งการได้โดยตรง ตนขอให้เชื่อว่า ถึงอย่างไรแล้วมันก็ต้องดี

** ชี้ 2 อดีตกกต.ร่วมกรธ. เป็นผลดี

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีมีอดีต กกต. 2 ราย ร่วมเป็น กรธ. ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทั้ง 2 คน คงใช้ประสบการณ์ในการแนะนำให้ความคิดความเห็นที่เหมาะสม เกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้ง และออกแบบกลไกคัดกรอง คนเข้าสู่การเมือง ที่จะต้องส่งเสริมคนดีให้เข้าสู่การเมือง และขจัดการทุจริตการเลือกตั้ง โดยในส่วนของ กกต. พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของ กรธ.ในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลต่างๆ ในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งจำเป็นต้องมีการเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ กรธ.

"คิดว่าการที่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วไม่ผ่าน น่าจะเป็นบทเรียนให้กับ กรธ. ชุดนี้ ได้เอาไปพิจารณาว่าการจะยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมองรากฐานปัญหาของประเทศให้ออกว่าคืออะไร ไม่ใช่ไปเอารูปแบบจากต่างประเทศมา แล้วมาคิดว่าจะสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ เพราะถ้าลอกมา ก็คงไม่เหมาะสม อย่างปัญหาการเลือกตั้ง นักการเมืองไม่เพียงมุ่งใช้เงินซื้อเสียงเพื่อเข้าสู่การเมือง แต่จะทำทุกรูปแบบเพื่อให้ตนเองเข้าสู่การเมืองได้ ซึ่งรูปแบบนี้ในต่างประเทศคงไม่มี นอกจากนี้ ในเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำเหมือนให้เสร็จๆ ไป คือฟังแล้วแต่ไม่ได้นำไปพิจารณา กลับยกร่างตามความคิดเห็นตนเอง แต่ครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น น่าจะมีการนำความคิดเห็นที่มีไปสังเคราะห์เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาที่แท้จริงด้วย" นายสมชัย กล่าว

***กกต.พร้อมทำประชามติ

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองเป็นผู้เล่น การให้เขาอยู่วงนอก รอดูผลการออกแบบน่าจะดีกว่า แต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็น และยึดหลักเหตุผล

ส่วนการที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วไม่ผ่าน จะเป็นการกดดัน กรธ. ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ต้องผ่านหรือไม่ นายสมชัย เห็นว่า เมื่อ กรธ.ทุกคนรับที่จะมาทำงานแล้ว ก็ต้องพิจารณาทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับสังคม เพราะสังคมเองก็คาดหวังว่า เมื่อยกร่างเสร็จแล้ว มีการทำประชามติ ก็จะได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง และร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จแล้ว ก็ต้องเป็นร่างที่ดี แม้จะไม่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็ดีมากแล้ว

สำหรับการทำประชามตินั้น กกต.ก็พร้อมดำเนินการหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ โดยเราสามารถดำเนินการได้โดยใช้เวลาในการทำประชามติ 45 วัน และการจัดพิมพ์เอกสารเพื่อเผยแพร่ ประมาณ 2-3 เดือน รวมระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อออกเสียงประชามติคาดว่าจะไม่เกิน 3 เดือนครึ่งถึง 4 เดือน

***กรธ.เล็งใช้โพลสำรวจปมร้อน

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมนัดแรก ยังไม่ได้หารือลงลึกในรายละเอียดมาก แต่ กรธ. ได้คุยกันเบื้องต้นว่า จะนำประเด็นร้อน หรือประเด็นที่ถูกสังคมพูดถึงกันมาก จากร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มี นายบวรศักดิ์ เป็นประธานยกร่าง อาทิ ประเด็นที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. และคปป. ไปจับกลุ่มคุยกับผู้นำทางความคิด และแกนนำกลุ่มการเมืองว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดเห็นอย่างไร แล้วนำความเห็นมากลั่นกรอง และอาจจะใช้สำนักโพลจากสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ นิด้าโพล สวนดุสิตโพล มาช่วยสำรวจให้ครอบคลุมความเห็นประชาชนมากที่สุด ส่วนช่องทางในการรับฟังความเห็นอื่น จะมีเพิ่มเติมหรือไม่ กำลังหารือ แต่ กรธ.จะพยายามรับฟังความคิดเห็นให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญที่คนไทยรับได้ และไม่อายต่างชาติ

**เตรียมผลิตสื่อดิจิตอลเผยแพร่ รธน.

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ 2.คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร โดยคณะทำงานทั้งสองชุด จะประกอบด้วยประธาน และคณะอนุกรรมการ ที่เป็นตัวแทนจาก กรธ. เพื่อทำหน้าที่ศึกษาข้อดี ข้อเสีย และทางเลือกระบบการเมืองในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับให้สอดคล้องกับสังคมไทย ซึ่งเชื่อว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนต.ค. เพื่อส่งให้ กรธ.พิจารณาต่อไป และ 3.คณะอนุผลิตสื่อที่จะเชิญบุคคลภายนอกมาผลิตสื่อดิจิตอล ทำหน้าที่แปลงข้อมูลกฎหมายที่ยากให้เป็นภาษาที่ง่าย เพื่อเผยแพร่ทำความเข้าใจให้แก่พี่น้องประชาชนทุกวัย ผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย และไลน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายมีชัย ยังกำหนดให้หลักการในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน และเสรีภาพของพลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้คงหลักการเช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ เป็นประธาน โดยจะไม่มีการไปแตะต้องหรือตัดออก แต่ไม่ได้ลอกเลียนแบบ แต่จะเป็นการยกร่างด้วยภาษากฎหมายโดยเขียนใหม่ อาทิ เรื่องประชาชนจะมีอำนาจถอดถอนนักการเมือง และมีส่วนร่วมทางการเมืองเช่นเดิม ที่ยังคงไว้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การประชุมกรธ.นัดแรก เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเลือก นายมีชัย เป็นประธาน นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคนที่ 1, นายอภิชาต สุขคานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 2, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการคนที่ 1, นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เลขานุการคนที่ 2, นายอมร และนายนรชิต สิงหเสนี เป็นโฆษก และได้มีการวางกรอบการทำงาน โดยจะมีการประชุมทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ซึ่งคำนวณแล้ว กรธ. มีเวลาทำงานจริงๆ ประมาณ 120 วัน แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาที่งวดขึ้น อาจจะเพิ่มวันประชุมวันเสาร์ และวันอาทิตย์ด้วย เพื่อให้เสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด คาดว่าร่างแรกจะเสร็จเกือบสมบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.2559 และการทำงาน กรธ. จะสิ้นสุดในเดือนเม.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น