ประชุม สปช.เปิดเสนอแนะ รธน. “วันชัย” ชงโกงเลือกตั้งตลอดชีพ “เสรี” เสนอเลือกตั้งคราวละ 2 ปีแก้ซื้อเสียง “คำนูณ” เปรียบร่าง รธน.เป็นสูติบัตรพาพ้นขัดแย้ง แนะตั้งกลไกพิเศษเปลี่ยนแปลงชาติ “วิทยา” ขอปรับสัดส่วน ส.ส.เขตเป็น 400 คืนอำนาจ มท.จัดเลือก กกต.สอบทุจริตก่อนส่งศาล “นิกร” แจง ชทพ.ขออย่ากำกับนโยบายพรรค ติงองค์กรอิสระให้โทษมากกว่าคุณ แนะปรับวาระเหลือ 6 ปี สมาชิกบ่นไร้เงา
วันนี้ (10 พ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 เป็นประธานในการประชุมซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิก สปท.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ.
ทั้งนี้ นายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท.เสนอให้นายมีชัยเข้าร่วมรับฟังความเห็นของ สปท. พร้อมกับนำเสนอบทวิเคราะห์ต่อมุมมองปัญหาของบ้านเมืองที่ผ่านมา เพื่อให้สมาชิก สปท.ได้เข้าใจต่อทิศทางและแนวทางที่จะนำไปสู่การทำเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่พบว่าทาง กรธ.ไม่มีการส่งตัวแทนคนใดเข้าร่วมรับฟังในที่ประชุม รวมทั้งนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท.เรียกร้องให้ กรธ.เข้าร่วมรับฟังการอภิปรายของ สปท.ด้วย
จากนั้นนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.กล่าวว่า ขอเสนอให้ กรธ.กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.คือ 1. ผู้ที่เคยทุจริต ศาลตัดสินว่าเป็นผู้ที่คอร์รัปชัน และผู้เคยถูกลงโทษ เพราะบุคคลดังกล่าวถือว่ามีตำหนิไม่ว่าจะกระทำการในอดีตหรือปัจจุบัน 2. บุคคลที่ถูกศาลตัดสิทธิการลงเลือกตั้ง รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยถูกสภาถอดถอน 3. ข้าราชการที่ถูกปลดออก ไล่ออก หรือถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิด แม้จะเป็นการรอลงโทษทางอาญาในคดีที่ไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์ หรือเรื่องสุจริต เช่น การยักยอกทรัพย์ ลักทรัพย์ ฉ้อโกงบุคคลอื่น 4. บุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการตรวจสอบประวัติทาการเมือง และการเสียภาษีย้อนหลัง เพื่อเป็นมาตรฐานการตรวจสอบ ร่อนตระแกรงคนดี ไม่ให้นักการเมืองคนโกง คนค้ายาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็น ส.ส. เหมือนกับรอบที่ผ่านมาที่พบว่ามีมือปืนอยู่เต็มสภา นอกจากนั้นตนขอเสนอกระบวนการระหว่างลงสมัครรับเลือกตั้งให้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดข้อความให้ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดการตีความ คือการหาเสียงเลือกตั้งต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม กำหนดประเด็นหาเสียงที่ทำได้ และทำไม่ได้ โดยงดการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม เช่น โครงการที่นำเงินไปแจกประชาชนหัวละ 2,000 บาท
“กรณีของผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งต้องถูกลงโทษที่รุนแรงจำคุกตั้งแต่ 20 ปีจนถึงตลอดชีวิต เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ที่ทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่การตรวจสอบต้องทำให้รวดเร็วภายในเวลา 1 ปี ขณะที่ผู้ที่ซื้อสิทธิขายเสียง หรือที่เกี่ยวกับการทุจริตต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และห้ามลูก เมีย พ่อ แม่ของผู้ที่ทำทุจริตเลือกตั้งดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจต้องลงโทษด้วยการยุบพรรค ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งต้องเน้นการทำงานเชิงรุก” นายวันชัยกล่าว
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปท. อภิปรายว่า สิ่งที่ กรธ.เสนอต่อสื่อมวลชนเหมือนเป็นสูตรสำเร็จของแนวทางการเขียนแก้ปัญหาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ผลที่ออกมาไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาประเทศได้เลย เพราะเวลาเขียนรัฐธรรมนูญจะคิดอะไรใหม่ๆตลอด ระบบการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่มีหลักการที่แน่นอน บ้านเราจึงไม่มีการพัฒนาทางการเมืองที่ก้าวหน้า กลายเป็นการเมืองที่ถอยหลัง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศพม่า เขาเป็นการพัฒนาทางการเมืองที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ของเราพยายามคิดสูตรสำเร็จตลอด จึงได้แต่เรื่องใหม่ๆ แต่ละครั้งที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน อยากฝากไปยัง กรธ.ว่า ต้องร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่นำความขัดแย้งไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าใส่แล้วเกิดปัญหาอย่าใส่ เราต้องแยกเนื้อหากับการแก้ปัญหาไว้คนละส่วนกัน โดยเขียนเฉพาะหลักการเช่นจะมี ส.ส.500 คน ส.ส.บัญรายชื่อ 150 คน ส.ส.เขต 350 คนเท่านั้น ส่วนรายละเอียดควรกำหนดไว้ในกฎหมายลูก เพื่อจะได้แก้ไขในรายละเอียดได้ง่าย ส่วนบทบัญญัติของการเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหาประเทศก็ควรนำไปเขียนในบทเฉพาะกาลเพื่อประเมินผล เช่น การบริหารราชการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามสูตรใหม่ ควรกำหนดให้มีวาระ 2 ปี เพื่อประเมินผลการเลือกตั้ง ว่าสุจริตเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ สามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้จริงหรือไม่
“รวมถึงการประเมินว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในกรอบบริหาราชการประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยผมเชื่อว่าหากใช้การเลือกตั้ง 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี จะลดการซื้อเสียงได้แน่นอน รวมถึงที่มาของนายกฯ ในบทเฉพาะกาลควรกำหนดให้มาจากผู้ที่เป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ได้ ขณะที่การกำหนดวันเลือกตั้งไม่ควรเขียนผูกมัดไว้ แต่ควรให้เป็นดุลพินิจของ ครม.ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ของบ้านเมืองภายใต้โรดแมปของ คสช. ขณะที่ ส.ว.ในหลักการควรมาจากการเลือกตั้ง แต่เพื่อแก้ปัญหาก็เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง” นายเสรีกล่าว
ทางด้านนายจินดา วงศ์สวัสดิ์ สมาชิก สปท.กล่าวว่า สนับสนุนระบบเลือกตั้งของ กรธ. แต่ควรปรับวิธีการกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ สำหรับการลงคะแนนประชาชน 1 คนมีสิทธิกาคะแนน ส.ส.เขตได้ 2 คน ทั้งนี้เพื่อเฉลี่ยคะแนนเลือกตั้ง และลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ ประชาชน 1 คน มีสิทธิลงคะแนน 10 เสียง เพื่อให้เกิดการกระจายคะแนน ส่วนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคส่งผู้สมัครเขตละ 1 คน แต่ให้สิทธิสมาชิกพรรคที่ไม่ได้รับเลือกให้ลงแข่งขันเลือกตั้ง ส่งตนเองลงสมัครในเขตเลือกตั้งในนามอิสระได้ โดยไม่ต้องลาออกจากสมาชิกพรรค ระบบบัญชีรายชื่อต้องไม่มีการหาเสียงให้กับพรรคการเมืองขณะที่ประชาชนต้องมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างอิสระ
ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน สปท. อภิปรายว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีในไทย เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกกำหนดธงไว้ล่วงหน้าตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 ไม่ว่าใครจะมาร่างก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่ต้องร่างให้มีกรอบ กลไกตามที่กำหนดไว้ คือรัฐธรรมนูญต้องให้กำเนิดประเทศไทยใหม่ เป็นสูติบัตรของประเทศที่จะพาประเทศไทยออกจากล่มของความขัดแย้ง ออกจากล่มของวิกฤต ที่มีมายาวนานเกือบ 10 ปี ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับสี พรรคการเมือง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นอาการของโรคที่ปรากฏ เป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมา แต่ฐานของภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำที่สะสมมายาวนาน ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวยกระจุกจนกระจาย ถ้าไทยจะหลุดออกจากความขัดแย้งไม่ใช่ต้องนำคู่ขัดแย้งมาเจรจากัน แต่การแก้ปัญหาคือเปลี่ยนแปลงประเทศขจัดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด คือการปฏิรูประเทศ เพราะฉะนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยอมรับความจริง ต้องมีกลไกพิเศษเดินหน้าขับเคลื่อนในการปฏิรูป และการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างต่อเนื่องคู่ขนานไปกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตามปกติ ไม่ใช่ครอบงำหรือสืบทอดอำนาจ รวมทั้งความปรองดองไว้กับกลไกพิเศษด้วย ขณะเดียวกันเนื้อหาในการปฏิรูปประเทศก็ต้องบัญญัติกรอบไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้สูญเปล่า
ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปท. อภิปรายว่า ตนเชื่อมั่นว่าการทำงานของกรธ.จะสามารถดำเนินการต่างๆได้ครอบคลุม แต่เมื่อให้เสนอข้อคิดเห็น ก็ขอเสนอ 5 ประเด็น คือ 1.การบัญญัติเรื่องหลักนิติธรรม ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้ทุกองค์กรยึดหลักนิติธรรม การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่พูดไว้เพียงสั้นๆเท่านั้น จึงอยากเห็นการขยายหลักนิติธรรมให้กว้างขวางขึ้น 2.การดำเนินการปฏิรูป ต่อจากนี้อีก ประมาณ 18 เดือน เมื่อมีสภาใหม่ ตนคิดว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยังมีความสำคัญ เพราะประเทศไทยเหมือนคนป่วย ป่วนตั้งแต่ศีรษะ จะทำการรักษาเพียงปี 2 ปี ไม่ได้ ควรจะให้มีการปฏิรูปประเทศที่ต่อเนื่อง โดยให้ตั้งองค์องค์กรขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลการปฏิรูป และให้อำนาจองค์กรนั้นๆตามความเหมาะสม 3.ให้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลถึงการทำงานหรือการทำหน้าที่ของสปท. ว่าจะต้องมีอายุอยู่ไปถึงการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งน่าจะอยู่ไปอีก 18-19 เดือน
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวงต่อว่า 4.เรามีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอยู่ 5-6 องค์กร แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการหมุนเวียนของบุคคลากร ลาออกจากตรงนั้นไปสมัครตรงนี้อยู่ตลอด ตนคิดว่าน่าจะมีบทบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อาทิ กกต. ป.ป.ช. สตง. จะเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆในองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถท่านอื่นๆเข้ามาทำหน้าที่ และ 5.การป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดและผู้ประพฤติมิชอบเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง จึงขอเสนอให้กรธ.บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยให้กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ เคยถูกไล่ออก ปลดออก เพราะต้องคำพิพากษาว่าทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลว่าร่ำรวยผิดปกติ ทำการเลือกตั้งไม่สุจริต นอกจากนี้ ให้กำหนดการลงโทษการตัดสิทธิทางการเมืองจากเดิม 5 ปี เป็นตลอดไป และให้กำหนดในบทเฉพาะกาล เพิ่มลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครการเมืองท้องถิ่นแยกออกมาก เนื่องจากผู้สมัครท้องถิ่นมีจำนวนมาก
ต่อมาเวลา 12.45 น. นายวิทยา แก้วภารดัย สมาชิกสปท. ตัวแทนจากกลุ่มกปปส. กล่าวว่า การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ตนไม่ขัดข้องกับการลงคะแนนบัตรเดียว แล้วนำไปคิดหา ส.ส.ทั้ง 2 แบบ แต่ตนไม่เห็นด้วยกับระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะประสบการณ์เลือกตั้งที่ผ่านมา หำให้เห็นนายทุน คนมีเงิน ไปลง ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด แล้วก็ไปเป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้จ่ายเงินให้มีการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง และหากกรธ.ยังหาข้อยุติที่จะทำให้การเลือกตั้งเลิกทุจริตได้ ก็จะมีปัญหา ทั้งนี้มองว่า กรธ.อาจปล่อยให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้บ้าง แต่ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนที่กรธ.เคาะให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน เนื่องจากมีส.ส.บัญชีรายชื่อมากเกินไป จึงอยากต่อรองกรธ.ว่า ควรมีส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อเพียง 50 คน ก็พอ
นายวิทยา กล่าวว่า เลือกตั้งจะแบบไหนก็ได้ แต่ต้องกำจัดการซื้อเสียงให้ได้ อยากเสนอให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตเลือกตั้งคือ โอนการจัดการเลือกตั้งไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดงบประมาณการใช้กำลังคน แล้ว กกต. มาทำหน้าที่กำกับการเลือกตั้ง สืบหาข้อมูลการทุจริต ร่วมกับทหาร ตำรวจ และประชาชน ก่อนทำสำนวนส่งฟ้องศาล ที่จะต้องแยกเป็นแผนกคดีการเลือกตั้งทุกจังหวัด พิจารณาให้แล้วเสร็จ 30 วัน รูปแบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสมากขึ้น ฝาก กกต. ช่วยหาวิธีให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ขึ้นกับนายทุน
ด้าน นายนิกร จำนง สมาชิกสปท. ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนขอพูดในนามพรรคชาติไทยพัฒนา โดยเห็นว่า การกำกับนโยบายพรรคการเมือง คือสิ่งที่เรากังวลมาก เพราะพรรคการเมืองคือสถาบัน ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งผ่านความต้องการของประชาชนกับรัฐบาล แล้วการชูนโยบายจะเป็นตัวช่วยลดการซื้อเสียง ทั้งนี้ตนไม่ขัดข้องหากจะมีการตรวจสอบว่านโยบายเหล่านั้นเป็นประชานิยมหรือไม่ ดังนั้น กรธ.จึงไม่อาจกำหนดมาตราควบคุมพรรคการเมืองต่อการเสนอนโยบายได้ เพราะมันเท่ากับสกัดพัฒนาการทางประชาธิปไตย และขอย้ำว่า ส.ส.จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่ควรมีกลุ่มการเมืองแบบร่างฉบับที่แล้วอีก
นายนิกร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้ มีส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ขณะที่ ส.ว. จะให้มีที่มาจากไหน ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจ หากจะให้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้มีศักดิ์เท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วอาจต้องถูกถอดถอน แต่หากให้มีเฉพาะอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย ก็ให้มาจากการสรรหาได้ สำหรับองค์กรอิสระพบว่า ไม่ควรอยู่นาน วาระบางองค์กรนานถึง 9 ปี ทางพรรคเรามองว่า ควรมีสัก 6 ปี เพราะเรามองว่า องค์กรเหล่านี้ให้โทษมากกว่าให้คุณ หากอยู่นานจะยิ่งมีศัตรูเยอะ ส่วนที่มา ก็ต้องมีความหลากหลาย เพราะตามแบบเดิมมักมีที่มาจากฝ่ายศาลเป็นส่วนใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปราย ยังมีสมาชิกสปท.บางราย เช่นนายวิทยา รู้สึกข้องใจกับแนวทางการหารือเพื่อเป็นข้อคิดเห็นต่อ กรธ. ว่า ทำไมไม่มีตัวแทนจากกรธ.ร่วมรับฟังด้วย เพื่อจะได้นำประเด็นที่สปท.หารือกันไปปรับใช้ ทำให้ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานสปท.คนที่สอง ในฐานะประธานการประชุม ต้องชี้แจงว่า จะมีการถอดเทปการอภิปรายแล้วไปประมวลคิดวิเคราะห์ ก่อนนำเสนอจัดทำเป็นรายงานที่เหมาะสมต่อการพิจารณาของกรธ.