xs
xsm
sm
md
lg

มีชัยยืนยันโมเดลเลือกตั้ง "มาร์ค"ชี้เกิดนอมินี-ยิ่งซื้อเสียงหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (29 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงทำความเข้าใจประเด็นระบบเลือกตั้ง แบบใหม่ ที่จะนำคะแนนของผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้งส.ส.ในระบบเขต มาคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการดูตัวเลขครั้งที่ผ่านๆ มา ที่ทุกฝ่ายต้องการให้ทุกคะแนนมีความหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า คะแนนหายไป กรธ.จึงหาหนทางให้ทุกคนที่ลงคะแนนได้รับการยอมรับ และเกิดความเป็นธรรมให้สมกับที่พูดกันว่า การเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงประชาชน ซึ่งทั่วโลกก็คิดแบบนี้ และจัดระบบการเลือกตั้งให้มีทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ เชื่อว่าแต่ละพรรคต้องคัดคนดีมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะประชาชนคนเลือกจะดูว่า พรรคให้เกียรติคนเลือกมากแค่ไหน จะได้ไม่มีคำพูดว่า ส่งเสาโทรเลขลงไปก็ชนะ
นายมีชัย กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งดังกล่าว จะไม่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่จะยิ่งทำให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะทั้งพรรคกับคน ต้องไปด้วยกัน ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นที่ แต่ละภาคเป็นของพรรคนั้นพรรคนี้ ก็จะไม่เป็นเช่นนั้นอีก จะไม่เกิดการแบ่งแยก และจะไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งระบบนี้ กรธ.นึกถึงประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ได้คำนึงว่า พรรคใดได้เปรียบเสียเปรียบ โดยพรรคต้องพยายามทำให้เกิดความนิยมเอง บรรดาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จากเดิมที่อยู่เฉยๆ ก็ต้องลงไปช่วยหาเสียง ทำให้ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการประตุ้นให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ เพราะที่ ผ่านมา คนเคยคิดว่า เขตนี้พรรคที่ชอบสู้ไม่ได้ ก็ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ แต่ระบบใหม่ทุกคะแนนมีความหมาย ทำให้คนอยากออกไปใช้สิทธิ์
ส่วนที่กลัวว่าระบบนี้จะไม่เป็นสากลนั้น เราเป็นประเทศเอกราช มีสิทธิคิดอะไรได้เองเหมือนกัน โดยอาจจะเหมือน หรือไม่เหมือนสากลก็ได้ ทั้งนี้หวังว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้ จะช่วยให้การทุจริตน้อยลง รวมถึง กรธ. จะสร้างกลไกอื่นเพื่อควบคุมการทุจริตเลือกตั้งควบคู่ไปด้วย และประชาชนต้องช่วยกันดู ไม่ให้คะแนนเสียงมีค่าน้อยลง หรือเพิ่มขึ้นแบบผิดปกติ

** ถูกบิดเบือนคนแพ้โหวตโนถูกตัดสิทธิ

นายมีชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการพูดว่า คนแพ้โหวตโน จะลงสมัครเลือกตั้งไม่ได้ตลอดชีวิตว่า เป็นการบิดเบือน หลอกลวงประชาชน ทำให้ดูร้ายแรง กรธ.ไม่ได้คิดเช่นนั้น การที่ประชาชนลงคะแนนโหวตโน แปลว่า เขาเห็นว่าคนที่มาลงสมัครไม่ได้เรื่องสักคน ซึ่งเป็นการบอกให้พรรครู้ว่าประชาชนไม่ถูกใจ ต้องหาคนใหม่ กรธ.เพียงแต่คิดว่า เมื่อไม่มีใครได้รับเลือกตั้งในครั้งนั้น การจัดเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครเดิมจะยังควรมีสิทธิ์ลงสมัครในครั้งนั้นหรือไม่ หรือควรกำหนดให้พรรคต้องส่งคนใหม่ลง ส่วนคนเดิมไปลงสมัครครั้งต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่สรุปแน่นอน แต่ กรธ.ไม่มีแนวคิดตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตของคนที่แพ้โหวตโน ซึ่งแตกต่างกับคนทุจริต ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่า ควรที่จะใช้คุณสมบัติเดียวกันกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งอีกต่อไป ส่วนกรณีที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น กรธ.กำลังพิจารณาว่า จะตัดสิทธิ์ขนาดไหน นอกจากนี้แนวโน้มของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เบื้องต้น กรธ. เห็นว่ายังต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน ลดการซื้อขายเสียงในสภา ส่วนที่กังวลว่า พรรคเล็กอาจเสียเปรียบ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าพรรคเล็กส่งไม่ครบทุกเขตก็ต้องได้คะแนนตามที่เขาส่ง แต่ถ้าจะ ให้ได้คะแนนเสียงในเขตที่ไม่ได้ส่ง ก็จะไม่เป็นธรรมกับพรรคใหญ่ ทั้งนี้ ภายใน 1–2 สัปดาห์ น่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง
ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างด้านนิติบัญญัติ กล่าวว่า เราได้ศึกษาและวิเคราะห์ระบบเลือกตั้งจากทั่วโลกใช้กันอยู่ พบว่าแนวคิดของเรา เป็นระบบเลือกตั้งแบบผสมคู่ขนานประเภทหนึ่ง ที่เข้ากับวิถีคนไทยที่ใช้กันมา ไม่ขัดหลักสากล ซึ่ง ส.ส.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน วิธีการไม่ซับซ้อน กาบัตรเพียงใบเดียว และพยายามให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่สูญเปล่า นอกจากนี้ ยังทำให้คนที่ลงสมัครส.ส.เขต ต้องปรับตัวจากเดิม ที่เคยนำเสนอแต่ตัวเอง ก็ต้องนำเสนอนโยบายพรรคด้วย กรณีที่ตัวเองไม่ได้เป็นส.ส.เขต แต่พรรคก็ยังได้คะแนน ทั้งนี้ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่า จะมีรัฐบาลเดี่ยว หรือรัฐบาลผสม แต่ไม่มีระบบการเลือกตั้งไหนที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งระบบที่ กรธ.นำเสนอเป็นแนวคิดหนึ่ง หากใครมีแนวคิดที่ดีก็ส่งมา กรธ.พร้อมรับฟัง และนำไปปรับแก้ให้ดีขึ้น

** "มาร์ค"ชี้เกิดพรรคนอมินี ซื้อเสียงหนัก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่กรธ. วางแนวทางระบบเลือกตั้งด้วยการ ตั้งโจทย์ 3 ข้อคือ ทำให้การเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่โยนคะแนนทิ้ง 2. เป็นการเลือกตั้งที่จะหาทางในการที่จะช่วยลดการทุจริตการซื้อเสียง 3. เป็นการเลือกตั้งที่ไม่นำไปสู่ความแตกแยกจนเกินไป ถือเป็นหลักการที่ดี เพียงแต่ยังมองว่า ระบบที่ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่ออกมานั้นหากจะให้ตอบโจทย์ดังกล่าว กรธ. อาจจะต้องมาทบทวนปรับแก้หรือไม่ เช่น การไม่โยนคะแนนทิ้ง ตนมองว่า หากเทียบกับที่เคยมีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบเยอรมัน ตนว่า ระบบเยอรมัน มีความชัดเจนกว่า ในแง่ของการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะระบบเลือกตั้งก็คือ การหากลไกมาค้นหาเจตนารมณ์ของประชาชน การบอกว่า เอาคะแนนของคนแพ้ ไม่เอาคะแนนของคนชนะมานับนั้น ทำให้เกิดการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน เช่นกัน และอาจจะสร้างปัญหาได้ เช่น พรรค ก.ชนะทุกเขตเลือกตั้ง ก็แปลว่า จะไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้แต่คนเดียว เพราะว่าได้แบบเขตไปแล้วหรือไม่
" เขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองได้รับความนิยมสูง เช่น เพื่อไทยในอีสาน ประชาธิปัตย์ในภาคใต้ คนชนะ อาจจะได้ 7–8 หมื่นคะแนน คนที่แพ้ หมื่นคะแนน หรือ สองหมื่น รวมกันแล้วในเขตนั้นคะแนน 8 หมื่นถูกทิ้งไปเลยในการจะใช้เกี่ยวกับระบบบัญชีรายชื่อ คำถามคือ ทำไม มันอาจจะมีแนวโน้มการทำพรรคพันธมิตร พรรคสาขา พรรคอะไรเพิ่มขึ้นมา สมมติว่าคนที่ชนะมี 8 หมื่น ถ้าเขาไม่ทำอย่างนี้ 8 หมื่นของเขาคะแนนมันเสียไป มันได้ ส.ส. คนเดียว แต่ถ้าเขาบอกว่า เขตนี้อย่างไรเขาชนะอยู่แล้ว เขาไปหาพรรคสาขา พรรคพันธมิตร 2 คน เรียกว่าสู้กันเต็ม ที่ตกลงกันไม่ได้ ได้คนละ 4 หมื่น เขาได้ ส.ส. เขตด้วย และยังได้อีก 4 หมื่นคะแนน ไปคำนวณบัญชีรายชื่อของฝ่ายเขา ผมเห็นว่าระบบยังไม่รัดกุมพอ ผมไม่ขัดข้องกับตัวหลักการ แต่ลองเทียบดูว่า ระหว่างการบอกไม่เอาคะแนนคนชนะไปรวมเลย กับเอาระบบเยอรมัน อะไรมันจะสะท้อนเจตนารมณ์กว่ากัน"
ส่วนที่อยากให้ประชาชนกาบัตรใบเดียว แต่ความจริงการกา 2 ใบมันไม่ได้ซับซ้อน และประชาชนก็ชินมาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่สำคัญ คือเวลากาใบเดียวนั้น การค้นหาเจตนารมณ์ประชาชน มันยากขึ้น เพราะประชาชนเลือกผู้สมัครเขต ก็ไม่ได้หมายความว่าเลือกพรรคด้วย แต่หากเป็นระบบแบบเยอรมัน หากเลือกพรรคคะแนนก็จะไปกำหนดสัดส่วนในสภา ถือเป็นเจตนารมณ์ประชาชนที่ชัดเจน
ส่วนการแกปัญหาการซื้อเสียงที่รุนแรงมากนั้นมักจะซื้อเสียงผ่านระบบเขต ส่วนระบบบัญชี ค่อนข้างยาก ปัญหาคือ หากให้มีการเลือกตั้งใบเดียว พอคะแนนผู้ชนะถูกทิ้งไปด้วย ก็จะทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง กรธ. ก็ต้องคิดว่าจะต้องปรับอย่างไร
"การตั้งโจทย์ของกรรมการนั้นดีแล้ว ระบบที่ออกมาก็ไม่ได้ถือว่ารับไม่ได้เสียทีเดียว แต่ว่ามันน่าจะต้องปรับแก้ในรายละเอียด ทบทวนให้ดีว่า ให้ลงคะแนนเพียงหนึ่งใบ ดีจริงหรือไม่ คะแนนที่จะนับ ควรจะนับคะแนนคนชนะด้วยหรือไม่ และจะป้องกันการซื้อเสียง การมีพรรคนอมินีอะไรอย่างไร การทำงานของกรธ. ถือว่าดีแล้ว มีการเสนอหลักการมาก่อน แล้วมาถกเถียงกันด้วยเหตุผล เพื่อหาจุดที่ดีที่สุด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** ตั้งชื่อเลือกตั้ง“ระบบจัดสรรปันส่วนผสม”
รายงานข่าวจาก กรธ. แจ้งว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงกระบวนการ และระบบเลือกตั้ง เกี่ยวกับหลักการนับคะแนนที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าให้นำคะแนนของผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.ในระบบเขต ไปคำนวณให้กับส.ส.แบบบัญชี ซึ่งจะทำให้ทุกคะแนนที่ประชาชนลงคะแนนไปนั้นไม่สูญเปล่า โดยที่ประชุมเห็นว่า เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย และไม่ถูกนำตีความหมายให้ผิดเพี้ยน จึงได้มีความเห็นร่วมกันให้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” mixed member apportionment (mma) หรือภาษาชาวบ้านว่า “นับทุกคะแนนเพื่อผู้แทนของทุกคน” ซึ่งหมายถึงรวมทุกคะแนนที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์ โดยรวมถึงคะแนนโหวตโนด้วย ถือว่าชื่อดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กรธ.ต้องการทำให้เสียงของประชาชนเป็นใหญ่ และคะแนนเสียงทุกเสียงมีความหมาย

** เปิด 7 ช่องทางรับความเห็นปชช.

วานนี้ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ. แถลงความคืบหน้าการประชุมกรธ.เพื่อพิจารณาหลักการสำคัญ เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นพิจารณาในประเด็นที่มา องค์ประกอบ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีการนำรายงานเกี่ยวกับความคุ้มค่าขององค์กรอิสระต่างๆ และ ข้อดีหากมีการควบ รวมองค์กรกันมาร่วมพิจารณาด้วย แต่ทั้งนี้ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด
นอกจานี้ คณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความเห็นที่มีผู้เสนอแนะในกรธ.ได้เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น ต่อร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ช่องทาง คือ ตู้ปณ 9 ปณฝ.รัฐสภา 10305 เว็บไซต์ กรธ. เฟซบุ๊ก และไลน์ ชื่อ “รัฐธรรมนูญใหม่ของเรา”อีเมล์ ourcons59@paliament.go.th และ กล่องรับฟังความเห็น ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ หรือยื่นตรงต่อ กรธ.ที่รัฐสภา โดยหวังว่าประชาชน จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นตามช่องทางดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น