xs
xsm
sm
md
lg

ผุดระบบเลือกตั้ง ส.ส.จัดสรรปันส่วนผสม” - ปชป.เตรียมส่งความเห็นถึง กรธ.สัปดาห์นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
กรธ. เสนอระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” นับทุกคะแนนเสียงมีความหมาย คำนวณแบ่งสัดส่วน ส.ส. พร้อมเปิดรับฟังทุกฝ่ายไม่ต้องรอ กรธ. ถาม พร้อมกำหนดรัฐต้องให้การศึกษาภาคบังคับกับทุกคนในประเทศ ด้านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สั่งยกร่างข้อเสนอพรรคส่งถึง กรธ. ปลายสัปดาห์นี้ ย้ำต้องยึดหลักหลักประชาธิปไตยแบบเสรี ตรวจสอบถ่วงดุล ขจัดซื้อเสียง ชี้ระบบเลือกตั้งควรให้ความสำคัญพรรคเทียบเท่าตัวบุคคล

วันนี้ (27 ต.ค.) นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า วิธีการคิดคะแนนเลือกตั้งด้วยการนำคะแนนแพ้ของ ส.ส. แบบแบ่งเขต เพื่อมาคิดหา ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้น แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของ กรธ. ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ โดยรูปแบบการเลือกตั้งแบบนี้ กรธ. คิดจากรูปแบบการเลือกตั้งจากทั่วโลกดูข้อดีข้อเสียและนำมารวมกัน เท่าที่ทราบไม่มีประเทศใดใช้ ส่วนชื่อเรียกระบบดังกล่าวมีหลายชื่อ อาทิ การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม หนึ่งเสียงหนึ่ง ส.ส. ทุกคะแนนได้ผู้แทนแน่ หนึ่งคะแนนหนึ่งผู้แทนของทุกคน ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้แต่ละภาคได้ ส.ส. กระจายครบทุกพรรค และส่งเสริมให้เกิดการปรองดอง ขณะที่สัดส่วนของ ส.ส. แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อยังไม่มีข้อยุติ แต่ส่วนใหญ่เสนอว่าควรเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 3 คือ แบบบัญชีรายชื่อ 1 ส่วน และแบบแบ่งเขต 3 ส่วน โดยผลของการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐบาลผสมแต่ก็ไม่เสมอไป ส่วนแนวทางที่จะกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องชนะคะแนนงดออกเสียง หรือโหวตโน นั้น ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ซึ่งส่วนตัวมองว่าในอนาคตอาจจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนนงดออกเสียง เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคะแนนงดออกเสียงชนะผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.

สำหรับกรณีที่ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาแสดงความกังวลว่า การกำหนดให้นำคะแนนของผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งมาคำนวณเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้น จะทำให้ตัดตอนพรรคการเมืองขนาดใหญ่และเกิดรัฐบาลผสมจนนำไปสู่การมีนายกรัฐมนตรีคนนอก ทาง กรธ. จะนำไปหารือ ซึ่งใน กรธ. ก็มีอดีต กกต. อยู่ถึง 2 คน ก็เชื่อว่าจะสามารถชี้ข้อดีและข้อเสียของการกำหนดหลักการดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายสามารถเสนอความคิดเห็นมาได้ ไม่ต้องรอให้ กรธ. สอบถาม กรธ. พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง หรือฝ่ายใดก็เสนอความเห็นมาได้ ส่วนจะมีการสำรวจความเห็นของประชาชน (โพล) เมื่อใด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบ

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเนื้อหาในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มีสาระสำคัญ คือ 1. ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการบริหารพรรคการเมืองต้องเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ และสมาชิกทั้งหมดของพรรคต้องมีส่วนร่วมในการจัดองค์กรและการบริหารจัดการพรรคการเมือง นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะกระทำมิได้.

ขณะที่หมวดหน้าที่ของรัฐได้มีการกำหนดให้รัฐมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณาภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย ความมั่นคงแห่งชาติ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน รวมทั้งมีการกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้บุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถได้รับการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึง และรัฐต้องจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนสำหรับประชาชนชาวไทยอย่างทั่วถึง

อีกด้านหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการส่งความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญของพรรคไปให้ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้ตนทำหน้าที่รวบรวมความเห็นของสมาชิกพรรค และยกร่างข้อเสนอ เพื่อให้หัวหน้าพรรคได้พิจารณาลงนามเป็นความเห็นของพรรค ส่งให้กับประธาน กรธ. โดยเป็นความเห็นอย่างไม่เป็นทางการ เพราะประชุมพรรคไม่ได้ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถส่งความเห็นได้ในปลายสัปดาห์นี้

สำหรับความเห็นที่พรรคจะส่งให้กับ กรธ. คงจะเป็นความเห็นในหลักการกว้าง ๆ ก่อน เพราะยังไม่สามารถจะให้ความเห็นในรายละเอียดได้ เนื่องจาก กรธ. ยังมีไม่ลงรายละเอียดชัดเจน ว่า มีทิศทางในประเด็นใดบ้าง อาทิ รัฐธรรมนูญ ควรมีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐธรรมนูญควรยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยแบบเสรี ที่ประชาชนควรมีส่วนร่วม มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีดุลยภาพและมีประสิทธิภาพ และควรมีมาตรการในเรื่องของการจัดการกับการซื้อเสียงและการทุจริตคอร์รัปชันที่มีรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งคงต้องรอดูทาง กรธ. ให้ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถพูดได้

ส่วนระบบเลือกตั้งที่ทาง กรธ. ได้วางกรอบไว้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า คิดว่ายังไม่มีความชัดเจน เพราะเท่าที่ติดตามข่าวก็ทราบว่าเป็นแต่เพียงการสนทนากันเบื้องต้นของ กรธ. เท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้มีรายละเอียดที่มีความชัดเจนกว่านี้ก่อน อย่างไรก็ตาม คิดว่า ระบบเลือกตั้งที่ออกมานั้นไม่ควรให้ความสำคัญกับตัวบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว ควรให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองควบคู่ไปด้วย ซึ่งหมายความว่า ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนนั้น ประชาชนควรมีโอกาสได้สะท้อนการตัดสินใจในการเลือกลงคะแนนที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดด้วย ไม่ใช่เลือกบุคคลอย่างเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น