คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ พบติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ “ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ” แพทย์ตัดทิ้งแล้ว-ขอทรงงดพระกรณียกิจชั่วคราว!
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.2557 เพื่อทรงรับการตรวจรักษาพระอาการประชวรพระอามาสัย (กระเพาะอาหาร) อักเสบ และตับอ่อนอักเสบ ซึ่งสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ให้ทราบแล้วนั้น บัดนี้ ทรงมีพระอาการประชวรพระนาภี ร่วมกับพระอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นระยะ แต่ไม่ทรงงดการปฏิบัติพระกรณียกิจแต่ประการใด
คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจพระโลหิต ซึ่งพบค่าสารบ่งชี้โอกาสเกิดโรคมะเร็ง (Carcinoembryonic Antigen : CEA) ค่อนข้างสูงกว่าระดับปกติ และถวายการส่องกล้องพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2558 ซึ่งผลการตรวจส่องกล้องพบติ่งเนื้องอก (Polyps) 7 ติ่ง จึงได้ตัดติ่งเนื้องอกออกทั้งหมดเพื่อตรวจวินิจฉัย และพบว่าเป็นเซลล์ชนิดที่อาจจะสามารถพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งในอนาคตได้ ดังนั้น คณะแพทย์จึงวางแผนถวายการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง อาจจะรวมถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ PET scan (PET : Position Emission Tomography) และการตรวจส่องกล้องพระอันตะซ้ำในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หลังทรงเข้ารับการตรวจรักษาครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระอาการอ่อนเพลียมาก คณะแพทย์พยาบาลต้องถวายการรักษาพยาบาลโดยใกล้ชิด จึงยังจำเป็นต้องประทับ ณ โรงพยาบาลต่อไป เพื่อทรงรับการถวายพระโอสถและสารละลายทางหลอดพระโลหิตอีกระยะหนึ่ง คณะแพทย์จึงมีความเห็นร่วมกันว่า สมควรที่จะขอพระราชทานกราบทูลให้ทรงงดการปฏิบัติพระกรณียกิจชั่วคราว จนกว่าจะทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงเพียงพอ
ต่อมา วันที่ 6 พ.ย. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระอาการดีขึ้นในระดับหนึ่ง และพระอาการทั่วไปมีความปลอดภัยเพียงพอ คณะแพทย์จึงมีความเห็นร่วมกันให้สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาลได้ โดยขอพระราชทานพระอนุญาตติดตามพระอาการอย่างต่อเนื่อง
2.กรธ. ยอมถอย นำคะแนนผู้ชนะแบบเขตรวมผู้แพ้หาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รอเคาะวิธีคำนวณ แต่ยังยืนยันเลือกตั้งบัตรใบเดียว!
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีแนวคิดนำระบบเลือกตั้งใหม่มาใช้ เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่ให้ประชาชนเลือกตั้ง ส.ส.ในบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบในระบบแบ่งเขต หากผู้สมัครคนใดชนะ ก็ได้เป็น ส.ส. ส่วนคะแนนของผู้แพ้จะนำมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค โดยให้เหตุผลที่จะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้ว่า เพื่อให้ทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกมีความหมาย ไม่ถูกทิ้งไป อย่างไรก็ตาม ระบบเลือกตั้งดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากพรรคการเมืองทั้งใหญ่และเล็ก รวมทั้งนักวิชาการ ที่มองว่า การนำคะแนนของผู้แพ้ในระบบแบ่งเขตมาเป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเลือกแยกกันระหว่าง ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ยังมองว่า การทิ้งคะแนนของผู้ชนะในระบบแบ่งเขต โดยไม่นำมานับเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่แก้ปัญหาเรื่องซื้อเสียง และยังจะทำให้เกิดพรรคนอมินีขึ้นมาด้วย ขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบ เพราะหากต้องการได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ต้องพยายามส่งผู้สมัครให้ครบทุกเขต
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ได้มีปฏิกิริยาจากพรรคเล็กที่ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งใหม่ของ กรธ. โดยนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านระบบเลือกตั้งดังกล่าวต่อ กรธ. โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตครบทั้ง 375 เขตได้ จึงทำให้โอกาสในการได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง จึงเสนอให้ กรธ.ใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิม คือ ให้ประชาชนเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ
ด้านพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์คัดค้านระบบเลือกตั้งดังกล่าว โดยชี้ว่า เมื่อ กรธ.กำหนดให้มี ส.ส.2 ประเภท ก็ควรให้ประชาชนได้แสดงเจตนาในการเลือกตั้งตามประเภทของ ส.ส.และวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งแต่ละประเภท การใช้บัตรเดียว ไม่สามารถทราบได้ว่าคะแนนที่ประชาชนลงไปนั้นต้องการเลือกผู้สมัครหรือพรรค เพราะในทางปฏิบัติ ประชาชนอาจไม่ชอบผู้สมัคร แต่ชอบพรรค หรืออาจชอบผู้สมัคร แต่ไม่ชอบพรรคก็ได้ และว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสมไม่ช่วยแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงให้น้อยลงแต่อย่างใด การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวยิ่งจะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงทำได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่เป็นสากล
ขณะเดียวกันก็มีท่าทีจากนักวิชาการ เช่น นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว และนำคะแนนของผู้แพ้ในระบบเขตมาคิดเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเกิดปัญหาไม่เป็นธรรม และไม่ได้กระทบพรรคใหญ่ แต่กระทบพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะหากอยากได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ต้องส่ง ส.ส.ระบบเขตให้มากที่สุด จะเกิดปัญหาต้องไปหาผู้สมัครมาลงมากๆ จะกลายเป็นผู้สมัครแบบเก๊ๆ หรือว่าจ้างมาลงสมัคร ควรใช้ระบบสัดส่วนผสม และว่า ถ้า กรธ.นำระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้จริง จะกลายเป็นจุดอ่อนในร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญอาจไม่ผ่านเพราะเรื่องนี้
ทั้งนี้ เสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย ส่งผลให้ กรธ.เริ่มคล้อยตาม โดยมีแนวคิดจะนำคะแนนของผู้ชนะในระบบเขตมาคิดรวมกับผู้แพ้เพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. แถลงหลังประชุม กรธ.เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ว่า กรธ.ได้ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อท้วงติงแล้วมีเหตุผล จึงได้มีการหารือเพื่อหาทางแก้ไข โดยยังเห็นว่า การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยบัตร 1 ใบ เป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้คนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง พิจารณาทั้งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้พรรคมีความเข้มแข็งในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนวิธีการนำคะแนนเหล่านั้นมาคำนวณเพื่อหาสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีหลายวิธี กำลังพิจารณาว่า จะทำอย่างไรจึงจะนำคะแนนทั้งหมดมาคำนวณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงคะแนน ให้เกิดความเป็นธรรมและดีที่สุด อยู่กันอย่างสงบสุข แต่สำหรับจำนวน ส.ส.นั้น ได้ข้อสรุปแล้วว่า จะให้มี ส.ส.500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยบัญชีรายชื่อจะเป็นบัญชีเดียว และมีเงื่อนไขว่าต้องมีคนมาจากทุกภาค
3.โปรดเกล้าฯ “พล.ต.อ.ประวุฒิ” พ้นตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ10) แล้ว ด้าน “ศรีวราห์” ปัดข่าวทหาร 40-50 นายพัวพันคดีหมิ่นเบื้องสูง!
ความคืบหน้าคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ที่มีผู้ต้องหา 3 คน คือ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง ,นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขาฯ หมอหยอง และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หรือสารวัตรเอี๊ยด ซึ่งผูกคอตายในเรือนจำไปแล้ว ต่อมา มีกระแสจับตาว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ที่ปรึกษา (สบ10) เกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่า พ.ต.ต.ปรากรม มีความสนิทสนมกับ พล.ต.อ.ประวุฒิ ประกอบกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้เปลี่ยนตัวโฆษกและทีมโฆษก ตร.ชุดใหม่ แทน พล.ต.อ.ประวุฒิ โฆษก ตร.คนเดิม นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประวุฒิ ยังลาราชการไปพักผ่อนต่างประเทศระหว่างวันที่ 25 ต.ค.-1 พ.ย. ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ จะเดินทางกลับประเทศหรือไม่ หรือจะไปแล้วไปเลย ท่ามกลางข่าวแพร่สะพัดว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ จะลาออกจากราชการนั้น
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. พล.ต.อ.จักรทิพย์ เผยว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ ได้โทรศัพท์ติดต่อมาเมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา แจ้งว่าเดินทางกลับมาถึงไทยแล้ว โดยมีการพูดคุยกันแต่ไม่ขอเปิดเผย และไม่ได้คุยกันเรื่องลาออกจากราชการแต่อย่างใด และว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ ยังไม่ได้มาทำงาน แต่หากขาดงานเกิน 15 วัน สามารถสั่งให้ออกจากราชการได้เช่นเดียวกับตำรวจคนอื่นๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า 2 วันต่อมา(4 พ.ย.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกมายอมรับว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการแล้วผ่านกองทะเบียนพล สำนักงานกำลังพล ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนได้ลงนามอนุมัติแล้ว พร้อมส่งเรื่องกลับไปให้กองทะเบียนพล ก่อนส่งเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยังออกตัวด้วยว่า จำเหตุผลที่ พล.ต.อ.ประวุฒิ ขอลาออกไม่ได้ เป็นรายละเอียดในเอกสาร “การลาออกจากราชการเป็นเรื่องส่วนบุคคล ผมมีอำนาจยับยั้งได้ภายใน 30 วัน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์กับทางราชการ อย่างกรณีนี้เจ้าตัวตั้งใจจะลาออก จะเออร์ลี่รีไทร์อยู่แล้ว ก็คงต้องว่าไปตามนั้น ต้องขอโทษสื่อมวลชนด้วย ผมก็เพิ่งทราบเรื่อง ยอมรับว่าขั้นตอนต้องผ่านผม แต่วันหนึ่งต้องเซ็นเอกสารประมาณ 30 แฟ้ม ทำให้จำไม่ได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่า พล.ต.อ.ประวุฒิออกแน่นอน ผมเซ็นไปแล้ว”
ทั้งนี้ วันต่อมา(5 พ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สำหรับความคืบหน้าในส่วนของคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูงนั้น มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รักษาราชการแทนรอง ผบ.ตร. เผยว่า “ในสำนวนที่ผมรับผิดชอบอยู่ มีการให้การพาดพิงว่ามีนายทหาร ทั้งยศ พล.ต.และ พ.อ.มาเกี่ยวข้องพัวพัน 40-50 นาย เป็นการซัดทอดกันไปมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะสามารถออกหมายจับทหารคนใดได้ ยืนยันว่า หากพบใครกระทำผิด จะต้องดำเนินการทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ศรีวราห์ ได้ออกมาปฏิเสธในภายหลังว่า ไม่เคยให้ข่าวในลักษณะดังกล่าว โดยตนบอกกับผู้สื่อข่าวแค่ว่า มีข้าราชการหลายสิบคนเพราะสิบกว่าสำนวน ไม่เคยระบุว่าจะจับทหารตั้งหลายคน ยังงงว่าสื่อลงข่าวกันได้อย่างไร ทำให้กองทัพเสียหาย
4.ศาลอาญา พิพากษาจำคุกการ์ด นปช. 43 ปี คดียิงเอ็ม 79 ใส่กลุ่ม กปปส. ที่หน้าตึกชินวัตร 3 !
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายณรงค์ศักดิ์หรือตุ้ย พลายอร่าม การ์ดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และนายพีรพงษ์ สินธุสนธิชาติ ผู้จัดหาอาวุธ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, กระทำการให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลฯ, ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 นายณรงค์ศักดิ์กับพวกยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่หน้าอาคารชินวัตร 3 เขตจตุจักร แต่ระเบิดไปถูกเสาอาคารและต้นไม้ประดับของอาคารชินวัตร 3 ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 2 หมื่นบาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานเบิกความว่า นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และให้รายละเอียดในชั้นสอบสวนว่า เป็นผู้ไปรับระเบิดและเครื่องยิงระเบิดชนิดเอ็ม 79 ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียลลาดพร้าว รวมถึงเส้นทางขับรถยนต์ จุดที่ขับรถพานายยงยุทธ บุญดี หรือชินจัง ไปยิงระเบิด และเส้นทางขับรถยนต์กลับ ขณะที่พยานบุคคล พยานเอกสาร รวมถึงพยานวัตถุ ก็สอดคล้องกับคำเบิกความของนายณรงค์ศักดิ์
ส่วนนายพีรพงษ์ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่า เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งให้นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที 1 ไปรับอาวุธ เพื่อนำไปใช้ก่อเหตุ ศาลจึงพิพากษาจำคุกนายณรงค์ศักดิ์ และนายพีรพงษ์ ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ฯ คนละ 12 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะฯ จำคุก 3 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้จำคุกตลอดชีวิต แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 43 ปี 4 เดือน
5.ศาลฎีกา พิพากษาจำคุก 2 ปี “จงอาชว์” อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่ากับพวก 7 คน คดีทุจริตจัดซื้อเรือขุด!
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า, ร.ต.สัญชัย กุลปรีชา อดีตรองอธิบดีกรมเจ้าท่าฝ่ายปฏิบัติการ, ร.ต.ประเวช รักแผน นักวิชาการขนส่ง 9 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเดินเรือ กรมเจ้าท่า, นายอิทธิพล กาญจนกิจ นิติกร 8 สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่า, นายดนัย ศรีพิทักษ์ นายช่างขุดลอก ฝ่ายแผนงานบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล กรมเจ้าท่า, ร.ต.วิเชฎฐ์ พงษ์ทองเจริญ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 กรมเจ้าท่า และนายปัญญา ส่งเจริญ เจ้าพนักงานตรวจเรือ 7 ฝ่ายตรวจเรือ สำนักงานเจ้าท่าที่ 2 กรมเจ้าท่า เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับรองเอกสารได้รับรองเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 162
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2540 ร.ท.วิทย์ วรคุปต์ อธิบดีกรมเจ้าท่าในขณะนั้น ได้จัดทำสัญญาซื้อเรือขุดแบบหัวสว่าน จำนวน 3 ลำ พร้อมเรือพี่เลี้ยง ราคา 49,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท จากบริษัท เอลลิคอตต์ กำหนดส่งมอบงานภายใน 540 วัน นับจากวันทำสัญญา โดยครบกำหนดสัญญาวันที่ 24 มี.ค.2542 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขณะเป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2-7 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง และระหว่างวันที่ 30 ก.ย. 2541-6 ส.ค. 2542 จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันกระทำผิดโดยการตรวจรับเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 3 เครื่อง ทั้งที่ไม่ใช่เครื่องจักรหลักตามข้อกำหนดทางเทคนิคและเงื่อนไขสัญญา นอกจากนี้ พวกจำเลยยังร่วมกันรับรองบันทึกรายงานผลการตรวจรับงาน ลงวันที่ 30 ก.ย.2541 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 6,679,817 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้กรมเจ้าท่าได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2544 พวกจำเลยยังร่วมกับบริษัทเอลลิคอตต์แก้ไขสัญญาเงื่อนไขและการชำระเงินจากเดิม ให้ชำระร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 9 รวม 3 งวด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2549 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ต่อมา พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ยื่นอุทธรณ์
ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 157 ให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2,3,6,7 มีความผิดตามมาตรา 157 และ 162 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 157 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 4-5 ซึ่งต่อมา จำเลยที่ 1,2,3,6 และ 7 ได้ยื่นฎีกาสู้คดี ขณะที่โจทก์ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 และ 5
ด้านศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 7 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาการอนุมัติจ่ายเงินงวดที่ 5 ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้สั่งการให้จำเลยที่ 2-7 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการจัดซื้อเรือขุด ซึ่งในสัญญาโครงการจัดซื้อเรือขุด ระบุแบ่งการส่งมอบออกเป็น 5 งวด โดยงวดที่ 5 เป็นขั้นตอนที่กำหนดให้บริษัทจัดส่งเรือขุดจากสหรัฐฯ มายังประเทศไทย จึงจะได้รับเงินจำนวน 20% ของมูลค่างาน ย่อมแปลได้ว่างานในงวดที่ 5 เป็นงานที่บริษัทผู้ขายจะต้องดำเนินการสงมอบเรือจำนวน 3 ลำ พร้อมส่งเรือพี่เลี้ยงไปให้กรมเจ้าท่าตามสัญญา ซึ่งงานในงวดที่ 5 มีความสำคัญ จำเลยทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ดำเนินการให้บริษัทผู้ค้าดำเนินสัญญาให้ถูกต้องครบถ้วนและเคร่งครัด แต่จำเลยที่ 2-7 ได้ตรวจรับงานจากบริษัทผู้ค้าทั้งที่ทราบดีว่า บริษัทไม่สามารถจัดส่งเรือขุดได้ตามกำหนดสัญญา เนื่องจากบริษัทต่อเรือที่สหรัฐฯ แจ้งว่าคนงานจะหยุดต่อเรือในช่วงก่อนที่จะครบกำหนดสัญญาส่งมอบเรือวันที่ 24 มี.ค.2542
แม้จำเลยจะต่อสู้อ้างว่าไม่มีอำนาจแก้ไขสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2-7 พิจารณางานงวดที่ 5 ถือว่าจำเลยที่ 2-7 มีหน้าที่ในการเสนอความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งสำนักนิติกรรม กรมเจ้าท่าเองก็ได้ระบุว่า จำเลยที่ 2-7 มีความเห็นเสนอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสัญญาการจ่ายเงินในงวดที่ 5 ให้บริษัทผู้ค้าจำนวน 20% โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวดย่อย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2-7 ตรวจรับงานและเสนอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสัญญา จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ค้าและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนนายจงอาชว์ จำเลยที่ 1 ก็ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาการจ่ายเงินงวดที่ 5 ให้แก่บริษัทผู้ค้า จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ค้า ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และแม้บริษัทผู้ค้าจะส่งท่อทุ่นและอุปกรณ์เครื่องจักรอื่นมาให้ก็ไม่เป็นไปตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 6 เบิกความยอมรับว่า ท่อทุ่นไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตามสัญญา ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ค้าด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
อย่างไรก็ตาม ที่จำเลยยื่นฎีกาต่อสู้คดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฟังขึ้นบางส่วน มีเหตุให้ปรานีแก้โทษให้เบาลง เห็นควรแก้ไขโทษให้เหมาะสม จึงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-7 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบเพียง 1 กระทง จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
6.ศาลฎีกา พิพากษาแก้จำคุก “เสี่ยขาว” 3 ปี ไม่รอลงอาญา คดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ!
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 และญาติผู้เสียชีวิต กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรวม 57 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือเสี่ยขาว กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1, นายธวัชชัย ศรีทุมมา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ จำเลยที่ 2, นายพงษ์เทพ จินดา ผู้จัดการฝ่ายบันเทิง จำเลยที่ 3, นายวุฒิพงศ์ ไวลย์ลิกรี ผู้จัดการฝ่ายการตลาด จำเลยที่ 4, นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟ จำเลยที่ 5, บริษัท โฟกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ในซานติก้าผับ จำเลยที่ 6 และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ในความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้ผู้อื่น ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และเป็นอันตรายกับชีวิตผู้อื่น, กระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, กระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300, 390 และกระทำผิด พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 ฐานเป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ มาตรา 291
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2551 ต่อเนื่องวันที่ 1 ม.ค. 2552 พวกจำเลยได้กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จัดให้มีงานรื่นเริง ให้บริการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่ม การแสดงดนตรี แสงสีเสียงในโอกาสฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ภายในตัวอาคารซานติก้าผับ ย่านเอกมัย โดยอาคารสามารถจุคนได้ไม่เกินจำนวน 500 คน แต่ขณะเกิดเหตุมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน โดยจำเลยที่ 5 ได้จุดพลุไฟที่บริเวณหน้าเวที ซึ่งมีความสูงประมาณ 5 เมตร จนเกิดลูกไฟขึ้นไปชนเพดานเวที ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้น เป็นเหตุให้ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการในอาคารถึงแก่ความตาย 67 คน บาดเจ็บสาหัส 32 คน บาดเจ็บอีก 71 คน ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2554 ว่า จำเลยที่ 1, 6 และ 7 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 291 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุกนายวิสุข หรือเสี่ยขาว จำเลยที่ 1 และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โฟกัสไลท์ฯ ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ในซานติก้าผับ จำเลยที่ 7 คนละ 3 ปี และปรับบริษัท โฟกัสไลท์ ฯ จำเลยที่ 6 รวม 20,000 บาท โดยให้บริษัท โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 และนายบุญชู จำเลยที่ 7 ร่วมกันชดใช้โจทก์ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 8.7 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2-5 ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 1, 6-7 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ขณะที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ในส่วนของนายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้อง ส่วนโจทก์ร่วมได้ยื่นอุทธรณ์ในส่วนของค่าเสียหาย
โดยศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2556 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องนายวิสุข หรือเสี่ยขาว จำเลยที่ 1 ทุกข้อหา เนื่องจากไม่ใช่ผู้ที่กระทำประมาทโดยตรงที่จะทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ ส่วนประเด็นที่ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าไปในสถานบันเทิงเกิน 500 คนก็ฟังไม่ได้ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 จะมีพฤติการณ์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องของการไม่ได้ติดแบบแปลนแผนผังของอาคาร ป้ายบอกทางหนีไฟ และติดไฟฉุกเฉินให้เพียงพอ ที่เป็นข้อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นนั้น สืบเนื่องจากการจุดเอฟเฟกต์ด้วยไฟฟ้าที่หน้าเวทีที่จำเลยที่ 6-7 ดูแล
สำหรับจำเลยที่ 5 นายสราวุธ นักร้องวงเบิร์น ศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานโจทก์ยังมีความขัดแย้งกันว่า จำเลยที่ 5 ได้ถือกระบอกพลุและจุดตามคำเบิกความของพยานโจทก์หรือไม่ นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ยังพิพากษายืนจำคุกนายบุญชู จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 3 ปี และปรับบริษัท โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 จำนวน 20,000 บาท และให้บริษัท โฟกัสไลท์ จำเลยที่ 6 กับนายบุญชู จำเลยที่ 7 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 4-8 รวม 5 ราย เป็นเงิน 8.7 ล้านบาท ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกาขอให้พิพากษาลงโทษนายวิสุข หรือเสี่ยขาว จำเลยที่ 1 ส่วน บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 และนายบุญชู กรรมการ บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ด้านศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากดอกไม้เพลิงของนายบุญชู จำเลยที่ 7 ส่วน บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น เมื่อนายบุญชู จำเลยที่ 7 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 ในการรับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 ด้วย จึงต้องรับโทษเช่นกัน ฎีกาของจำเลยที่ 6-7 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับนายวิสุข หรือเสี่ยขาว จำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ที่เป็นเจ้าของร้าน แต่เป็นผู้บริหารร้านเกิดเหตุ และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดให้มีไฟฉุกเฉินของทางหนีไฟ ขณะที่ประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าร้าน ซึ่งเป็นประตูหลักเพียงประตูเดียว มีความกว้างเพียง 2 เมตร 30 เซนติเมตร ซึ่งไม่พอที่จะระบายคนเกือบ 1,000 คนให้ทันต่อเหตุการณ์ เมื่อมีผู้ถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้ จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่ากระทำโดยประมาทด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้ ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ส่วนนายบุญชู กรรมการ บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญาเช่นกัน และปรับ บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 เป็นเงิน 20,000 บาท และให้บริษัท จำเลยที่ 6 กับนายบุญชู จำเลยที่ 7 ร่วมกันชดใช้โจทก์ร่วมที่ 4-8 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 5,120,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2-5 โจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกา ทำให้คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2-5