xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ชงเพิ่มโทษโกงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วานนี้ (10พ.ย.) ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรธ.
ทั้งนี้ นายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. เสนอให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้าร่วมรับฟังความเห็นของสปท. พร้อมกับนำเสนอบทวิเคราะห์ต่อมุมมองปัญหาของบ้านเมืองที่ผ่านมา เพื่อให้สมาชิก สปท. ได้เข้าใจต่อทิศทาง และแนวทางที่จะนำไปสู่การทำเนื้อหาร่างรธน. แต่พบว่าทางกรธ.ไม่มีการส่งตัวแทนคนใดเข้าร่วมรับฟังเลย
นายวันชัย สอนศิริ สปท. กล่าวว่า ขอเสนอให้กรธ.กำหนดคุณสมบัติต้องห้าม ของผู้ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. คือ 1. ผู้ที่เคยทุจริต ศาลตัดสินว่าเป็นผู้ที่คอร์รัปชัน และผู้เคยถูกลงโทษ 2. บุคคลที่ถูกศาลตัดสิทธิการลงเลือกตั้ง รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เคยถูกสภาถอดถอน 3. ข้าราชการที่ถูกปลดออก ไล่ออก หรือถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิด แม้จะเป็นการรอลงโทษทางอาญาในคดีที่ไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์ หรือเรื่องสุจริต เช่น การยักยอกทรัพย์ ลักทรัพย์ ฉ้อโกงบุคคลอื่น 4. บุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องได้รับการตรวจสอบประวัติทาการเมือง และการเสียภาษีย้อนหลัง เพื่อเป็นมาตรฐานการตรวจสอบ ร่อนตระแกรงคนดี ไม่ให้นักการเมืองคนโกง คนค้ายาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็นส.ส. เหมือนกับรอบที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ขอเสนอกระบวนการระหว่างลงสมัครรับเลือกตั้ง ให้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดข้อความให้ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดการตีความ คือ การหาเสียงเลือกตั้งต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม กำหนดประเด็นหาเสียงที่ทำได้ และทำไม่ได้ โดยงดการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม เช่น โครงการที่นำเงินไปแจกประชาชน หัวละ 2,000 บาท
กรณีของผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้ง ต้องถูกลงโทษที่รุนแรงจำคุกตั้งแต่ 20 ปี จนถึงตลอดชีวิต เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ที่ทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่การตรวจสอบต้องทำให้รวดเร็วภายในเวลา 1 ปี ส่วนผู้ที่ซื้อสิทธิ ขายเสียง หรือที่เกี่ยวกับการทุจริตต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และห้ามลูก เมีย พ่อ แม่ ของผู้ที่ทำทุจริตเลือกตั้งดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจต้องลงโทษด้วยการยุบพรรค ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้ง ต้องเน้นการทำงานเชิงรุก
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปท. อภิปรายว่า อยากฝากไปยัง กรธ.ว่า ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่นำความขัดแย้งไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าใส่แล้วเกิดปัญหา อย่าใส่ เราต้องแยกเนื้อหากับการแก้ปัญหาไว้คนละส่วนกัน โดยเขียนเฉพาะหลักการ เช่น จะมีส.ส.500 คน ส.ส.บัญรายชื่อ 150 คน ส.ส.เขต 350 คนเท่านั้น ส่วนรายละเอียดควรกำหนดไว้ในกฎหมายลูก เพื่อจะได้แก้ไขในรายละเอียดได้ง่าย
ส่วนบทบัญญัติของการเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหาประเทศก็ควรนำไปเขียนในบทเฉพาะกาล เพื่อประเมินผล เช่น การบริหารราชการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามสูตรใหม่ ควรกำหนดให้มีวาระ 2 ปี เพื่อประเมินผลการเลือกตั้งว่าสุจริตเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ สามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้จริงหรือไม่
"รวมถึง การประเมินว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในกรอบบริหาราชการประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยผมเชื่อว่า หากใช้การเลือกตั้ง 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี จะลดการซื้อเสียงได้แน่นอน รวมถึงที่มาของ นายกฯ ในบทเฉพาะกาล ควรกำหนดให้มาจากผู้ที่เป็นส.ส. หรือ ไม่เป็นส.ส. ก็ได้ ขณะที่การกำหนดวันเลือกตั้งไม่ควรเขียนผูกมัดไว้ แต่ควรให้เป็นดุลยพินิจของครม.ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ของบ้านเมืองภายใต้โรดแมปของ คสช. ขณะที่ ส.ว.ในหลักการควรมาจากการเลือกตั้ง แต่เพื่อแก้ปัญหาก็เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง" นายเสรี กล่าว
นายคำนูณ สิทธิสมาน สปท. อภิปรายว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความแตกต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีในไทย เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกกำหนดธงไว้ล่วงหน้าตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 ไม่ว่าใครจะมาร่าง ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่ต้องร่างให้มีกรอบ กลไกตามที่กำหนดไว้ คือ รัฐธรรมนูญต้องให้กำเนิดประเทศไทยใหม่ เป็นสูติบัตรของประเทศที่จะพาประเทศไทยออกจากหล่มของความขัดแย้ง ออกจากหล่มของวิกฤต ที่มีมายาวนานเกือบ 10 ปี ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับสี พรรคการเมือง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่วิกฤตที่เกิดขึ้น เป็นอาการของโรคที่ปรากฏ เป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมา แต่ฐานของภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำที่สะสมมายาวนาน ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวยกระจุก จนกระจาย ถ้าไทยจะหลุดออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่ต้องนำคู่ขัดแย้งมาเจรจากัน แต่การแก้ปัญหาคือ เปลี่ยนแปลงประเทศ ขจัดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด คือการปฏิรูประเทศ เพราะฉะนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องยอมรับความจริง ต้องมีกลไกพิเศษเดินหน้าขับเคลื่อนในการปฏิรูป และการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างต่อเนื่อง คู่ขนานไปกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตามปกติ ไม่ใช่ครอบงำ หรือสืบทอดอำนาจ รวมทั้งความปรองดองไว้กับกลไกพิเศษด้วย ขณะเดียวกันเนื้อหาในการปฏิรูปประเทศก็ต้องบัญญัติกรอบไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้สูญเปล่า
นายวิทยา แก้วภารดัย สมาชิก สปท. ตัวแทนจากกลุ่ม กปปส. กล่าวว่า การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ตนไม่ขัดข้องกับการลงคะแนนบัตรเดียว แล้วนำไปคิดหาส.ส.ทั้ง 2 แบบ แต่ตนไม่เห็นด้วยกับระบบส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะประสบการณ์เลือกตั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นนายทุน คนมีเงินไปลง ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด แล้วก็ไปเป็นรัฐมนตรี บริหารประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้จ่ายเงินให้มีการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง และหาก กรธ.ยังหาข้อยุติที่จะทำให้การเลือกตั้งเลิกทุจริตได้ ก็จะมีปัญหา ทั้งนี้มองว่า กรธ.อาจปล่อยให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้บ้าง แต่ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนที่กรธ.เคาะให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน จึงอยากต่อรองว่า ควรมีส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อเพียง 50 คน ก็พอ
สำหรับการเลือกตั้งจะแบบไหนก็ได้ แต่ต้องกำจัดการซื้อเสียงให้ได้ อยากเสนอให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง คือ โอนการจัดการเลือกตั้งไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดงบประมาณการใช้กำลังคน แล้ว กกต. มาทำหน้าที่กำกับการเลือกตั้ง สืบหาข้อมูลการทุจริต ร่วมกับทหาร ตำรวจ และประชาชน ก่อนทำสำนวนส่งฟ้องศาล ที่จะต้องแยกเป็นแผนกคดีการเลือกตั้งทุกจังหวัด พิจารณาให้แล้วเสร็จ 30 วัน รูปแบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสมากขึ้น ฝาก กกต. ช่วยหาวิธีให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ขึ้นกับนายทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น