“อภิสิทธิ์” ระบุร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีรูปธรรมชัดในการปฏิรูป แนะนำร่างเดิมที่มีอยู่มาแก้ไข ปรับแก้ประเด็นที่เป็นปัญหา จะได้ไม่ต้องใช้เวลานาน ขณะเดียวกัน กรรมการยกร่างฯใหม่ต้องใจกว้างฟังความเห็นคนนอก พร้อมแนะทุกฝ่ายลดวาทกรรม “เผด็จการ-ประชาธิปไตย” มุ่งที่สาระแทน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า หน้าที่ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ครธ. )จะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน ซึ่งคือเรื่องการนำประเทศไปสู่การปฏิรูปโดยไม่ทิ้งหลักประชาธิปไตย โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ สามารถที่จะดึงสิ่งที่ดีๆ ที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.)ไม่เห็นชอบ แม้กระทั่งบทบัญญัติในปี 40 -50 ที่ไม่มีปัญหามาใช้ได้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มเขียนใหม่หมดตั้งแต่บทบัญญัติในทุกหมวด เราก็ต้องเสียเวลามาก เพราะฉะนั้นเอาแต่จุดที่เป็นปัญหาแล้วให้เวลา โดยให้สังคมมีส่วนร่วมเป็นกระบวรการที่โปร่งใส ว่าน่าจะช่วยให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่สังคมต้องการ และจะผ่านได้อย่างราบรื่น
“เมื่อคสช.ประกาศที่จะปฏิรูป ฉะนั้นหากยึดในเรื่องการปฏิรูปจริงๆ ก็คงไม่น่ามีปัญหา เพียงแต่ว่า การที่พูดเรื่องการปฏิรูปเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว มันต้องมีความเป็นรูปธรรมในเนื้อหาสาระ ถ้าเราพูดเป็นหัวข้อหรือเฉพาะคำว่าปฏิรูป มันก็จะไม่มีความก้าวหน้าจะกลายเป็นการอ้างอิงลอยมากกว่า ผมเข้าใจเจตนาที่ต้องการแก้ปัญหา ทำให้สร้างกลไก คปป.ขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า คปป.จะใช้อำนาจกับอะไรกับสถานการณ์ที่ผ่านมา ผมยังเชื่อมั่นว่า ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถถูกตรวจสอบ มีกลไกที่ระงับยับยั้งไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ผิด หรือทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ อย่างเช่นที่ผ่านมา เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ผมก็ยังมองว่ามันก็จะไม่บานปลายรุนแรงขัดแย้งอย่างนั้น แต่ว่าถ้าเป็นการกระทำของกลุ่มคนที่จ้องทำให้เกิดผลกระทบทางด้านความมั่นคงตามจริงแล้วกฏหมายและกฏอัยการศึกก็นรุนแรงเพียงพอที่จะจัดการ”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กลไกที่จะมาช่วยกำกับดูแลรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ผิดนั้น จำเป็น แต่การเขียน หรือ การระบุกลไก วิธีการ หลักการ ประเด็นของการกำกับดูแลจะต้องมีความชัดเจน ปัญหาของคณะกรรมาการปฏิรูปปรองดองฯ(คปป.) ที่เขียนไว้คราวที่แล้วคือ ไม่ระบุถึงประเด็นรายละเอียดเลย แต่กลายเป็นการให้อำนาจลอยๆ ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ตนเข้าใจว่าเรื่องนี้เข้าในช่วงท้ายๆ แล้วของคณะกรรมาธิการฯ จึงไม่อาจทำให้นำมาพิจารณารายละเอียด
ทั้งนี้ตนเข้าใจในข้อห่วงใยว่า 1. ไม่ต้องการให้กลับไปสู่สภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในทางที่ผิด 2. เข้าใจความห่วงใยว่าหากเกิดความวุ่นวายในสังคมอีกและเกิดความขัดแย้ง เราไม่อยาก จะย้อนกลัมาที่จุดนี้ เพราะฉะนั้น ตัวความห่วงใยมีเหตุมีผล แต่การคิดแก้ปัญหาต้องละเอียดรอบคอบ และมีหลักการที่ชัดเจนกว่าคราวที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คสช.ควรรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายมากกว่านี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตัว กรธ. จะต้องเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ แล้วทำให้เกิดความหลากหลายมีความโปร่งใสทำให้คนมีส่วนร่วมก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในเรื่องของแรงกดดันก็คงจะมีอยู่แล้วและคงไม่มีใครอยากที่จะต้องมาทำร่างที่3กันอีก เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ดี และการที่บอกว่าจะต้องทำประชามติก็จะเป็นตัวบอก กรธ.ว่าต้องสามารถทำให้ประชาชนยอมรับร่างนี้ได้
สำหรับคุณสมบัติ ของคนที่จะมาเป็นกรธ.ควรเป็นอย่างไรนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ควรที่จะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหาที่ผ่านมาและมีใจที่จะปฏิรูป พร้อมรับฟังความคิดเห็นสามารถทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ถ้าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และพิสูจน์ได้ด้วยการทำงานว่าเขาพร้อมที่จะเปิดกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความเห็น แสดงเหตุ แสดงผล ในแต่ละเรื่องตนถึงได้พยายามเรียกร้องว่า ขณะนี้ลดการถกเถียงทางการเมืองได้หรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการหยิบยก เรื่องเงื่อนเวลา เอาปีโน้นปีนี้มา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดเวลานี้คือทำอย่างไรเราสร้างจุดร่วมของการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการปฏิรูป และต้องลดวาทกรรม ว่าจะทะเลาะกัน เรื่องนักการเมืองกับเผด็จการ มันไม่มีประโยชน์ เอา เรื่องเนื้อหาสาระของ บ้านเมืองมาว่ากันดีกว่าว้าปัญหาเดิมคืออะไร จะแก้อย่างไร ของดีที่ดีอยู่แล้วอย่าไปยุ่งกับมัน จะนี้ก็จะไปได้
เมื่อถามว่ากรธ.ที่ตั้งขึ้นเป็นแค่ผู้ปฏิบัติ เพราะคนที่กำหนดคือ คสช.ดังนั้น คสช.ควรที่จะกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร คนไทยจะได้รู้ ว่าทิศทางของประเทศจะไปทางไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าในเวลาที่เหลืออยู่ก็จะต้องทำให้ชัดเจนว่า เป้าหมายของการปฏิรูป วิธีการของการปฏิรูปคืออะไร เพราะอันนั้นจะเป็นตัวนำว่าการเขียนรัฐธรรมนูญที่จะมารองรับคืออะไร
“ตั้งโจทย์ให้ชัดไปเลย อย่างเรื่องการเมืองก็ว่าไปเลย เรื่องการซื้อเสียง พรรคการเมือง เป็นของใคร นายทุนหรือไม่อย่างไรก็ว่าไป เราจะได้มีคำตอบที่ชัดเจน แล้วจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ผมยืนยันมาตลอดว่าการปฏิรูปจะสำเร็จได้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้ามาเป็นเจ้าของ เพราะอย่างไรก็คงไม่เสร็จในระยะเวลาสั้นๆ ถ้ากระแสสังคม ประชาชนมีความห่วงแหน ประเด็นของการปฏิรูปที่ชัดเจนมันจะเกิดขึ้น การปฏิรูปในแต่ละด้าน ถ้าเขียนหลักการเป็นรูปธรรม อยู่ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญต้องไปผ่านประชามติ ก็จะเป็นวิธีการหนึ่งที่สร้างหลักประกันได้ ผมยกอย่างเสมออย่างเช่นเรื่องปฏิรูปตำรวจ ร่างแรกเขียนชัดเจนมากว่า จะกระจายอำนาจ จะเอาระบบคุณธรรมเข้ามา จะแยกระบบสอบสวน ผมมองว่าอย่างนี้มันชัด แต่ถ้าบอกว่าให้มีการปฏิรูปตำรวจ แต่ให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการฯที่จะมาบอกอีกทีว่า จะปฎิรูปอย่างไรตรงนี้เลยดูแล้วไม่มีหลักประกันอะไรเลย แต่ถ้าเขียนให้ชัดเจนอยู่ในตัวร่าง ประชาชนเห็นชอบผ่านประชามติรัฐบาลชุดต่อไปถ้าไม่ทำก็ถือว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมันก็เป็นหลักประกันในการปฏิรูปอยู่แล้ว