xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คว่ำ รธน. เข้าเนื้อ คสช.ปรับโรดแมปวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลด้านกฎหมายของรัฐบาล
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ภายหลังจากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน วันถัดมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลด้านกฎหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนได้ทันทีถึงการบริหารเวลาหลังจากนั้น

นายวิษณุได้กล่าวถึงสูตร 6-4,6-4 หลังจากการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) 21 คน และการตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) 200 คนแล้วเสร็จ นั่นก็คือ กรธ.ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน หากประชามติผ่านก็ใช้เวลาทำกฎหมายลูกและให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 6 เดือน ต่อจากนั้นอีก 4 เดือนสำหรับการเลือกตั้ง รวมแล้ว 20 เดือน

ตามกำหนดเวลาในโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เดิมนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมาธิการยกร่างฯ ผ่าน สปช.และผ่านความเห็นชอบจากประชาชนในการลงประชามติ คาดการณ์กันว่า การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2559

แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญโดน สปช.ลงมติคว่ำอย่างผิดความคาดหมาย ด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 ก็เท่ากับว่าการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป หากเป็นไปตามสูตร 6-4,6-4 ของนายวิษณุ ก็จะทำให้การเลือกตั้งมีขึ้นในราวเดือนมิถุนายน 2560 ช้ากว่ากำหนดเดิมประมาณ 9 เดือน

วันต่อมา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ขาประจำที่คอยจิกตอดรัฐบาลมาตลอด ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับระยะเวลา 20 เดือนดังกล่าว โดยอ้างว่าจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ความมั่นใจของทั้งในประเทศและต่างประเทศจะยิ่งหดหาย พร้อมเรียกร้องให้มีการนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาแก้ไขปรับใช้ เพื่อเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งนายวิษณุ ได้ชี้แจงว่า ระยะเวลานั้นทำให้สั้นได้ แต่ที่พูดไว้ 20 เดือน เป็นการพูดให้ยาวเข้าไว้

นายวิษณุอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ที่พูดถึง 6-4,6-4 ให้ยืดเอา 6 เดือนเป็นหลัก เพราะสมมติว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.เมื่อวันที่ 6 กันยายน ก็จะใช้สูตร 4-6-4 อยู่ดี ที่งอกเพิ่มมาคือ 6 ตัวแรกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการยืดอายุ คสช.ไป 20 เดือน เพราะส่วนต่างคือ 6 เดือนเท่านั้น

นั่นเท่ากับว่า หากยึดตามโรดแมปก็ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ระยะเวลาที่ยืดออกไป เป็นกรณีที่เกิดจากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช.ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แต่เดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเสียงค่อนแคะต่อการที่ คสช.ต้องอยู่ในอำนาจต่อหลังจากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ยอมรับว่า ในการประชุมร่วม คสช.คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 15 กันยายน หลังจากนายวิษณุ ได้อธิบายกรอบระยะเวลา 20 เดือนให้ที่ประชุมได้รับทราบ นายกฯ ได้กำชับว่าหากลดขั้นตอนใดได้ให้ไวขึ้นก็ควรทำ และขอให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศและสากล พร้อมแสดงเจตนารมณ์การปฏิรูปด้วย

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.วันที่ 15 กันยายน ว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายวิษณุ ชี้แจงเกี่ยวกับโรดแมปของการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปในฐานะของ ครม.และ คสช. ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเข้าร่วมประชุมในวันนี้รับทราบด้วย โดยขณะนี้อยู่ในโรดแมป ช่วงที่ 2 คือ การบริหารราชการโดยรัฐบาลชุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจนถึงปัจจุบัน และจะขยายต่อไปจนถึงวันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะให้ขยายเวลาดังกล่าว แต่เป็นไปตามหลักการข้อกฎหมายและตามโรดแมป โดยมีการยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม รัฐบาลไม่มีความประสงค์ที่จะขยายระยะเวลาออกไปแต่อย่างใด แต่ดำเนินการด้วยความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาและทำทุกอย่างให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดบนพื้นฐานของความเรียบร้อย ปราศจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ขณะที่ช่วงที่ 3 คือ ระยะที่มีการเลือกตั้งใหม่ในวันข้างหน้าเรียบร้อยแล้วเป็นต้นไป เพราะฉะนั้นขณะนี้จึงอยู่ในช่วงที่ 2 ตามโรดแมปที่ได้กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแรงกดดันจากภายนอก เรื่องระยะเวลาการอยู่ในอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 15 กันยายน ซึ่งเป็นวันประชาธิปไตยสากลของสหประชาชาติ นายมาร์ก เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางบล็อกของสถานทูตฯ ระบุว่า หลังการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว อังกฤษและสมาชิกอื่นๆ ในประชาคมนานาชาติ รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ถึงบัดนี้ประชาธิปไตยกลับดูห่างไกลออกไปกว่าเดิม ประชาธิปไตยมีข้อดีอย่างไร เราไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยเพราะต้องการบังคับใช้ระบบการเมืองแบบตะวันตกกับใคร แต่เราสนับสนุนประชาธิปไตยเพราะระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนำมาซึ่งประโยชน์มากมายต่างหาก

วันเดียวกัน นายแพทริก เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เรายังมีความกังวลถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพพลเมืองไทย รวมไปถึงเสรีภาพการแสดงออกและการรวมตัวกันอย่างสันติ

ต่อมา วันที่ 16 กันยายน นายวิษณุ พยายามลดกระแส โดยบอกว่า สูตร 6-4, 6-4 สามารถลดเวลาลงมาได้ โดยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เร็วขึ้นจาก 6 เดือน เหลือ 5 เดือน โดยรีบเขียนและรีบทำความเห็น แต่ 4 เดือนในการรับฟังความคิดเห็นคงลดเวลาลงมาไม่ได้มากนัก เพราะต้องแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ทั่วถึง อย่างมากลดลงมาได้ครึ่งเดือนเท่านั้น ส่วน 6 เดือนในการทำกฎหมายลูก แบ่งเป็นใช้เวลายกร่างกฎหมายลูก 2 เดือน เข้า สนช. 3 เดือน และส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจ 1 เดือน ขั้นตอนนี้อาจเหลือ 5 เดือนได้ ถ้าเริ่มร่างกฎหมายลูกรอไว้บ้าง แล้วค่อยมาเติมเอา โดยเอาคน สนช.มาช่วยร่าง ขณะที่ 4 เดือนสุดท้ายไม่มีทางลดได้เลย เพราะต้องนำกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ 1 เดือน อีก 3 เดือนขยับไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น 20 เดือน อาจเหลือ 18-19 เดือน

ส่วนกรณีที่นายมาร์ค เคนท์ วิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่าประชาธิปไตยของไทยดูห่างไกลออกไปกว่าเดิม นายวิษณุกล่าวว่า เป็นการแสดงความเห็นกลางๆ ตามภาษาของคนที่เป็นห่วงเรา รัฐบาลก็จะพยายามส่งสัญญาณต่อไปว่าขอขอบคุณในความเป็นห่วง ซึ่งไทยก็มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นกัน และเราจะพยายามทำให้ดีที่สุด พร้อมกับบอกว่า ในการไปชี้แจงกับทูตประเทศต่างๆ ตามวงรอบปกติ ก็จะชี้แจงเรื่องสูตร 6-4-6-4 เพื่อไม้่ให้ต่างชาติตีความว่าเป็นการยืดเวลา

เมื่อถึงเวลานี้ จึงน่าจะพอสรุปได้แล้วว่า การที่ สปช.ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญและทำให้คสช.ต้องอยู่ในอำนาจต่ออีกระยะนั้น แทนที่ คสช.จะได้ กลับทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า วางแผนเพื่อให้ตนเองได้อยู่ในอำนาจต่อ ถูกเหน็บแนมว่า “เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า” ถูกต่างชาติเพิ่มแรงกดดัน และต้องเหนื่อยไปชี้แจงกับประเทศต่างๆ รวมทั้งต้องเร่งรีบเพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ายื้อเวลาเพื่ออยู่ในอำนาจต่ออีก เรียกได้ว่า “เข้าเนื้อ”ไปเต็มๆ

หากไม่ใช่เป็นเพราะการวางแผนที่จะอยู่ในอำนาจต่อตามที่ถูกกล่าวหา ก็ต้องเรียกว่า นี่เป็นความผิดพลาดของ คสช.เอง ที่ไม่ทำให้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นอย่างหลากหลายและทั่วถึง จึงได้ร่างรัฐธรรมนูญที่แม้จะมีส่วนดีอยู่จำนวนมาก แต่ก็มีจุดโหว่ให้ถูกโจมตีได้หลายจุด และเมื่อถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักเข้า ก็ต้องตัดสินใจคว่ำร่างในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น