อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมโชคดีได้มีโอกาสไปฟังการสัมมนา SEC Working Forum ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เมื่อสักสองเดือนก่อน ในที่ประชุมได้พูดคุยกันถึงแนวทางในการนำความรู้เรื่องการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) มาใช้ในการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ผมเองได้เรียนวิชาในแนวดังกล่าวมาบ้างเลยเข้าไปร่วมฟัง และได้ลุกขึ้นกล่าวแสดงความกังวลในปัญหา trigger fund ที่กำลังเป็นที่นิยมกันแพร่หลายอยู่ ผมจึงดีใจเมื่อเห็นทาง กลต. ออกมาชี้แจงประชาชน ใน ทริกเกอร์ฟันด์…รู้ให้จริง ก่อนลงทุน โดยปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ posttoday.com/article/385633/6000 และคุณทิพย์สุดา สุนทรเวช ถาวรามร รองเลขาธิการ กลต ได้ขอให้ผมช่วยเขียนเรื่องดังกล่าวเผยแพร่อีกแรงเพื่อให้นักลงทุนได้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมจึงขอนำเสนอข้อคิดข้อวิจารณ์ที่ผมมีต่อ trigger fund ให้ทุกท่านได้รู้กันครับ
Trigger fund นั้นอาจจะเป็นการขายฝันที่ไม่มีวันบรรลุ เพราะ trigger fund เป็นกองทุนรวมที่โฆษณาว่าหากทำกำไรได้ผลตอบแทนเท่ากับกี่เปอร์เซ็นต์แล้วจะเลิกกองทุนภายในกี่เดือน ส่วนใหญ่ตัวเลข % ผลตอบแทนนั้นมักจะสูงมากเช่น 8% หรือ 10% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมากมาย ทำให้คนจำนวนมากหลงคิดว่าตัวเองจะต้องได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งมากมายและดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ไม่เสี่ยงเลย
ในความเป็นจริง บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ออก trigger fund มานั้นก็เพื่อบอกว่านี่คือผลตอบแทนสูงสุดที่นักลงทุนมีสิทธิ์จะได้ แต่ไม่รับรองว่าจะได้เท่านั้นแน่นอน รู้แต่ว่าหากบังเอิญโชคดี ได้กำไรเท่านั้นเท่านั้น กองทุน trigger fund ดังกล่าวจะเลิกกองทุนไป trigger fund ไม่ได้รับรองว่านักลงทุนจะไม่ขาดทุน พูดง่าย trigger fund ให้นักลงทุนได้กำไรสูงสุดเท่ากับ % ที่ได้ระบุไว้ แต่ไม่ได้รับรองว่าท่านจะได้กำไร หรือท่านจะไม่ขาดทุน trigger fund นั้นอาจจะขาดทุนย่อยยับก็ได้ หากมองในแง่ร้าย บริษัทหลักทรัพย์อาจจะเลือกเฉพาะหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงๆ เช่น มีค่าเบต้า ตามทฤษฎี Capital Asset Pricing Model สูงๆ มาสร้างพอร์ตฟอลิโอ เพื่อให้กองทุน trigger fund นั้นบรรลุฝันเร็วๆ ก็ได้ กลายเป็นว่านักลงทุนที่คิดว่าจะอาศัยประสบการณ์ความรู้ความสามารถของบริษัทหลักทรัพย์กลับกลายมาเป็นเหยื่อไต่คลื่นความเสี่ยงของตลาดตามที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการ trigger fund มาให้ ก็เป็นได้ และอันที่จริงหากไปลองศึกษาดูจะพบว่า trigger fund ส่วนใหญ่ไม่สามารถจะ trigger ได้อย่างโฆษณา และหากพ้นกำหนดระยะเวลาไปแล้วก็มักจะกลายสภาพเป็นกองทุนเปิดให้พี่เม่าน้อยติดดอยสูงกันต่อไปอีกยาวๆ
อันที่จริงถ้าหากว่ากองทุนได้ผลตอบแทนที่ดี เราควรถือไว้ต่างหาก หากดีจริงก็เป็นการลงทุนระยะยาวและจัดว่าเป็นการลงทุนแบบมีคุณค่า (Value investment) ไปเสียด้วยซ้ำ ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องอาศัยใครมาช่วย trigger ให้เราแต่อย่างใด ตาม Prospect theory ซึ่งคิดค้นโดย Amos Tversky และ Daniel Kahneman ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากผลงานเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Economics) อันลือชื่อได้เสนอว่าฟังก์ชั่นอรรถประโยชน์ (Utility Function) มีลักษณะเป็นเส้นโค้งดังรูปข้างล่างนี้
ในเวลาที่เราได้เงิน (Gains) เส้นโค้งจะไม่ชันนัก เราจะพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Aversion) ในทำนองได้น้อยดีกว่าไม่ได้อะไรเลยหรือสำนวนไทยว่ากำขี้ดีกว่ากำตด นักลงทุนมักจะขายออกไปก่อนเวลา กลัวว่าจะขายช้า และทำให้ได้กำไรค่อนข้างน้อย แต่ในเวลาที่เราเสียเงิน (Losses) เรากำลังกล้าเสี่ยง (Risk Taking) เพราะว่าเราจะถือว่าไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว (Nothing to lose) และเส้นโค้งอรรถประโยชน์จะชันมาก ดังนั้นความเจ็บปวดจากการเสียเงินในจำนวนที่เท่ากันจึงมีขนาดแสนสาหัสเมื่อเทียบกับความสุขที่ได้มาจากเงินเท่าๆ กันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้นักลงทุนไม่กล้าจะตัดการสูญเสีย (Cut loss) ยิ่งทำให้มีโอกาสบาดเจ็บสาหัสหนักหนากว่า
ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว Trigger fund น่าจะ trigger เวลาที่เราเสีย ว่าป้องกันไม่ให้เราเสียเงินมากเกินกว่าเพียงใด จะเป็นการช่วยนักลงทุนมากกว่า เพราะการ cut loss นั้นเจ็บปวดและอาจจะต้องใช้มืออาชีพเข้ามาช่วยเพราะคนเราใจไม่เด็ดขาดเพียงพอนั่นเอง แต่ trigger fund ทำในเชิงกลับกันคือป้องกันไม่ให้เราได้มากกว่าที่เราควรจะได้ หาก trigger fund ตัวนั้นดีจริงเราก็ควรจะถือต่อ ในลักษณะของ Value investor
เมื่อผมพูดเช่นนี้ในที่ประชุม SEC working forum ก็มีคนลุกขึ้นมาอภิปรายว่าเราคงห้ามไม่ให้มี trigger fund ไม่ได้ เพราะตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกต่างก็มี product ชนิดนี้ ผมเองก็เข้าใจเหตุผล แต่ผมเองดีใจมากที่ทาง กลต. ได้ออกมาให้ข้อมูลนักลงทุนในเรื่องนี้ ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยกำกับตลาดและดูแลนักลงทุนรายย่อยอย่างใส่ใจยิ่ง