xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง Trigger fund นั้นแค่ Trick or Treat

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/


ผมได้เคยเขียนบทความชื่อ Trigger fund อาจจะแค่ขายฝันที่ไม่วันบรรลุ ลงใน www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000101492 เมื่อหลายเดือนก่อน และเมื่ออาทิตย์ก่อนได้มีโอกาสไปร่วมฟังสัมมนา SEC working papers forum ในวันพุธที่ 18 พ.ย. 2558 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ Morningstar Research ได้มีโอกาสรับฟังผลงานวิจัยของคุณพลพัฒน์ วินัยบดี และคุณฉัตรชัย ทิศาดิลก ซึ่งทำงานที่แผนกวิจัยของ กลต เรื่อง “Trigger fund: Trick or Treat” ทำให้ผมได้เปิดหูเปิดตามากมาย ทำให้มั่นใจมากขึ้นมาอีกว่า นักลงทุนอาจจะได้ไม่คุ้มเสียในการลงทุนใน trigger fund ที่กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากในช่วงนี้

Trigger fund นั้นโฆษณาว่านักลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นกี่ % ในช่วงเวลาหนึ่งแล้วจะเลิกกองทุนนั้น คำถามคือ ตกลงมีกี่ trigger fund ที่ได้ผลกำไรเป็น % มากๆ เช่น มากกว่า 5% (ซึ่งมักเป็นอัตราผลตอบแทนต่ำสุดที่โฆษณาให้นักลงทุนไทยตาโต เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเตี้ยเรี่ยดินในปัจจุบัน)

ลองดูรูปข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของ Trigger fund ที่มีการลงทุนในตราสารทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แกนนอนเป็นระยะเวลาที่ได้ตั้งกองทุน trigger fund มา ส่วนแกนตั้งเป็นอัตราผลตอบแทน หากอัตราผลตอบแทนต่ำกว่า 0% คือติดลบแปลว่านักลงทุนขาดทุนหรือติดดอยอยู่ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ทราบว่า หนึ่งในสามของ trigger fund ที่มีการลงทุนในตราสารทุนทั้งในและต่างประเทศนั้น ครึ่งหนึ่งทำกำไรมากกว่า 5% ในเวลาหนึ่งปีแล้วปิดกองไป แต่อีกหนึ่งในสามนั้นปิดกองไปทั้งๆ ที่ยังขาดทุนหรือยังปิดกองทุนไม่ได้ บางกองเปิดมาสามปีแล้วก็ยังไม่โผล่พ้นน้ำและยังไม่ได้ปิดกองไป รูปสามเหลี่ยมในรูปคือกองทุนที่ยังไม่ได้ปิดกอง ส่วนจุดกลมสีดำ แทนกองทุนที่ปิดกองไปแล้ว (ทั้งๆ ที่ยังขาดทุนก็มีเยอะ) ทั้งหมดในขณะนี้ประมาณร้อยละ 35 ยังขาดทุนอยู่ การคิดอัตราผลตอบแทนนี้ยังไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของเงินตามระยะเวลาแต่อย่างใด หากคำนึงถึงกองทุนที่ต้องถือยาวๆ กว่าจะ trigger จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่านี้มาก

สำหรับกองทุน Trigger fund ที่ลงทุนเฉพาะตราสารทุนของไทยนั้นก็ไม่ได้มีอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุน Trigger fund ที่ลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศแต่อย่างใด ดังรูปข้างล่างนี้

และมีเพียงแค่หนึ่งในสามของ Trigger fund ทั้งหมดที่ให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าอัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยเฉลี่ย ดังนั้นจึงฟันธงได้เลยว่า การลงทุนใน Trigger fund ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนใน SET100 นักลงทุนควรไปซื้อกองทุน SET100 หรือกองทุนรวมอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนพอๆ กันกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะอย่างไรเสียก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

แม้ว่า Trigger fund ส่วนใหญ่จะมีอัตราผลตอบแทนที่ย่ำแย่ เสี่ยงต่อการขาดทุน แต่ผู้นำเสนองานวิจัยมองว่ามีสาเหตุสามอย่างที่ทำให้ Trigger fund เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่นักลงทุนไทย

ประการแรก คือ นักลงทุนไทยเป็นพวกกลัวการสูญเสีย (Loss aversion) พอมีการโฆษณาว่าได้ผลตอบแทน เป็นเปอร์เซ็นต์สูงๆ กว่าตลาดภายในกี่เดือน เลยทำให้พยายามหนีการสูญเสีย และคิดว่า Trigger fund เป็นทางออกที่ดีในการหนีให้พ้นจากการขาดทุน ทั้งที่ความเป็นจริงผู้บริหาร Trigger fund อาจจะนำท่านมาไต่คลื่นด้วยการเลือกหุ้นที่เสี่ยงสูงๆ เข้ามาให้ได้เร็วเสียเร็วจะได้ Trigger เร็วๆ และตัวเองได้เงินค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนเร็วๆ ก็ได้

ประการที่สอง คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ออก Trigger fund เลือกที่จะนำเสนอแต่กองทุนที่ได้ผลตอบแทนดีๆ Trigger ไวๆ แต่ไมได้เสนอภาพรวมของ Trigger fund ทั้งหมดที่ตนเองบริหารหมด เรียกว่าเป็นอคติในการนำเสนอข้อมูล (Representation bias) พูดแบบชาวบ้านคือไม่เสนอความจริงทั้งหมด นำเสนอแต่ trigger fund ที่ผลงานดีแต่ที่แย่ๆ ไม่ได้นำเสนอ

ประการที่สาม อคติจากกรอบหรือรูปแบบในการนำเสนอ (Framing bias) การที่ผู้ออก Trigger fund นำเสนอว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไร่ แล้วจะปิดกอง ในเวลาจำกัด สอดคล้องกับนิสัยคนที่อยากเห็นอะไรในด้านบวก ได้ผลตอบแทนเร็ว รวยเร็ว คนเราติดบ่วงในรูปแบบการนำเสนอเสียแล้ว สอดคล้องกับความโลภที่ตนเองมีอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้ชอบมากและตัดสินใจลงทุนใน Trigger fund เรื่อง framing bias นี้หากนำเสนอในด้านลบคนก็จะไม่ซื้อเลย เรียกว่ามองแต่ทางได้ ไม่มองทางเสีย

นานๆ มีงานวิจัยดีๆ ที่มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ มาฟันธงให้เห็นกันชัดๆ นักลงทุนก็คงต้องไปคิดกันให้ชัดๆ ว่าจะซื้อ Trigger fund ตามอารมณ์ความรู้สึก หรือจะดูหลักฐานและเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ ก็คงต้องฝากให้ไปคิดกันเอาเอง เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน! ขอให้ทุกท่านมีสติ มีปัญญา ค้นคว้าหาข้อมูลได้ และโชคดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น