ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เห็นการตั้งท่าเอาจริงของ “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ไล่บี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร ให้เร่งรัดทำสำนวนคดีฟ้องร้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร และพวก รวม 4 คน ในข้อหารับของโจรและข้อหาฟอกเงิน ซึ่งดีเอสไอก็เด้งรับลูกทันควันฟันฉับอีกไม่เกินหนึ่งเดือน “โอ๊คแอนด์เดอะก๊วน” เจอแจ้งข้อกล่าวหาแน่ ก็ต้องบอกว่า กรรมเริ่มติดจรวด ถึงจะซุกคดีไว้ในซอกหลืบผ่านมือมาหลายอธิบดีสุดท้ายก็ไม่รอดพ้นบ่วงกรรม
หากงานนี้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งใจจะโชว์ผลงานการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังดังที่ชอบโชว์ประกอบเพลงออกทีวีคืนความสุขทุกสัปดาห์ ต้องแบ็กอัพเต็มที่ โดยรีบสั่งการขยายผลจากคำพิพากษาคดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ให้เร่งรัดลากคอ “บิ๊กบอส” จอมบงการ และลูกเต้าเหล่าบริวารที่ “รับของโจร” และ “ฟอกเงิน” มารับโทษทัณฑ์โดยเร็ว
ในเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ในคดีดังกล่าว ตัดสินลงโทษสำหรับกลุ่มผู้กระทำความผิดที่เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่แบงก์ถึงขั้นสูงสุด เป็นการป้องปรามอย่างหนักหน่วงแล้ว หากจอมบงการที่เป็นนักการเมืองกับวงศ์วานว่านเครือถูกปล่อยให้ลอยนวล เผลอๆ บางข้อหาสุ่มเสี่ยงต่อการจะหมดอายุความ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างแรง
เว้นเสียแต่ว่าหัวหน้า คสช.จะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับแผนการปล่อยให้คดียืดเยื้อและขาดอายุความ ซึ่งเป็นบทเรียนขั้นเทพบทสุดท้ายที่สอนให้ก๊วนลูกโอ๊ค รู้แจ้งแทงตลอดถึงการกระทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดโดยใช้อำนาจเงินตราและบารมีจัดหาบรรดา “ตัวช่วย” ในกระบวนการยุติธรรม ช่วยเป่าคดีให้ได้เรียบร้อยโรงเรียนแม้ว ซึ่งถ้าถามใจ คสช. คงไม่ต้องการให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ชนรุ่นหลังอย่างแน่แท้ และผู้คนในสังคมย่อมไม่ต้องการเช่นนั้นเหมือนกัน
ควันคุกรุ่นหลังคำพิพากษาศาลฎีกาฯ มีการถามไถ่กันให้แซ่ดว่า ก๊วน 4 คน ในที่นี้ ซึ่งประกอบด้วย นายพานทองแท้ ชินวัตร นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ขณะนั้น) นายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนภา และนายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้กระทั่งถูกตั้งข้อหารับของโจรและฟอกเงินได้อย่างไร และทำไมคดีของก๊วนลูกโอ๊ค จึงไม่ได้ถูกส่งฟ้องศาลฎีกาฯ แล้วหน่วยงานที่รับไม้ต่อจาก คตส. คือ ดีเอสไอ เหตุไฉนจึงดองคดีไม่รีบส่งฟ้องและลากยาวมาจนถึงบัดนี้
จากการพลิกแฟ้มสำนวนคดีแบงก์กรุงไทยฯ ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) พบว่า มติของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 28/2551 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ได้มีมติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนายพานทองแท้ ว่า “ส่วนผู้ที่ได้รับเงินจากการกระทำความผิด คตส. เห็นว่า ให้ดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ฐานรับของโจร เป็นจำนวน 4 ราย แม้บุคคลเหล่านั้นไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับบุคคล 27 รายข้างต้น แต่ได้รับเงินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานยักยอก และช่วยปิดบังซ่อนเร้นอันทำให้ยากต่อการติดตาม และบุคคลทั้งสี่นี้ให้แยกสำนวนไปดำเนินคดีในศาลอาญาต่อไป”
ย้ำอีกครั้งว่า สำนวนคดีของ คตส.ซึ่งส่งต้นฉบับและสำเนา จำนวน 262 แฟ้ม รวม 50,378 แผ่น พร้อมชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาอื่น รวม 31 ราย ให้กับอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 เพื่อดำเนินการพิจารณาสำนวน และมีความเห็นสั่งคดีตามที่กฎหมายกำหนด ปรากฏชื่อของนายพานทองแท้และพวก 4 คน รวมอยู่ด้วยชัดเจน โดยระบุความผิดนายพานทองแท้และพวกรวม 4 คน ตามกฎหมายอาญา มาตรา 357 “ฐานรับของโจร” และให้แยกสำนวนไปดำเนินคดีในศาลอาญาต่อไป
สำหรับหลักฐานที่ทำให้ คตส. มีความเห็นให้ดำเนินคดีนายพานทองแท้และพวกว่ารับของโจร เพราะมีเส้นทางเงินตีเช็คสั่งจ่ายเข้าบัญชีนายพานทองแท้ และพวก
ในชั้นไต่สวนของ คตส. นั้น นายพานทองแท้ แก้ต่างว่า เงินที่โอนมาจากนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ลูกชายนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหาร บมจ.กฤษดามหานคร ในรูปของเช็คสั่งจ่าย จำนวน 26 ล้านบาทนั้น เป็นเงินที่โอนมาเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจกัน แต่ต่อมาธุรกิจที่นายพานทองแท้ จะลงทุนยังไม่ได้ดำเนินการอะไร จึงส่งเงินกลับคืนไปให้เจ้าของเดิม ส่วนจะมีเงินโอนส่วนใดเข้ามาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายพานทองแท้ บอกว่าไม่ทราบ จำรายละเอียดไม่ได้ เนื่องจากนายรัชฎา มีธุรกิจที่มาร่วมลงทุนกันหลายอย่าง
ในการชี้แจงต่อ คตส. ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ก็ยืนยันว่านายพานทองแท้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด เงินที่ถูกระบุว่าได้รับการโอนมาเข้าบัญชีก็เป็นเงินโอนมาเพื่อร่วมลงทุนด้วยกันเท่านั้น
ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ยังต้องรอติดตามกันต่อไปเมื่อคดีของนายพานทองแท้ ถูกส่งฟ้อง แต่สำหรับนายรัชฎานั้น คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ออกมาชัดเจนแล้วว่า นายรัชฎา จำเลยที่ 26 ในคดีนี้มีความผิด ต้องติดคุกนานถึง 12 ปี และต้องร่วมกันชดใช้ค่าความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทยหมื่นกว่าล้านบาท
นายรัชฎา มีความผิดชัดเจนแล้ว สำหรับนายพานทองแท้ ที่มีเช็คจากนายรัชฎาโอนเข้าบัญชีจะรอดไหม?
คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีของคตส. ได้ส่งผลการตรวจสอบเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเฉพาะกรณีที่มีบุคคลต่างๆ นำเงินกู้ที่บริษัทโกลเด้นฯ ได้รับจากธนาคารกรุงไทย ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทกฤษดามหานคร และหุ้นอุปการคุณ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รวมถึงหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2551 เรียบร้อยแล้ว
สำหรับพฤติการณ์ “รับของโจร” และ "ฟอกเงิน" ตามข้อกล่าวหาของ คตส. และพฤติกรรมของ “บิ๊กบอส” ที่ยังลอยนวลนั้น ตามไปดูการเขียนบทความเรื่อง คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ภาค 2 ของนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส. อธิบายความเชื่อมโยงกัน ดังนี้
"คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทยที่กลุ่มผู้บริหารธนาคารกับผู้บริหารบริษัทอสังหาฯบริษัทหนึ่ง รวม 19 คน ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองให้ลงโทษคนละ 12 - 18 ปี นั้น ยังมีความเห็นคุกรุ่นกันอยู่ว่าทำไมศาลถึงลงโทษหนักอย่างนี้ ดูข่าวแล้วก็นึกกันว่าเมื่อใดฝ่ายนักการเมืองจอมบงการจึงจะถูกลงโทษบ้าง ในฐานะที่ได้เคยร่วมตรวจสอบคดีนี้มาเมื่อครั้งเป็น คตส. ผมก็ขอสังเคราะห์ข้อมูลมาเสนอคำตอบ โดยสังเขปดังนี้ .....
“ถาม แล้วเรื่องมันไปพันถึงคุณทักษิณได้อย่างไร ? “ตอบ ตรงนี้เป็นฝีมือตรวจสอบของ คตส. ที่เชื่อว่างานนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่ธนาคารเขาไม่ได้สินบนเงินทองอะไร มันต้องมีอำนาจขนาดใหญ่มาบงการพวกเขาแน่ๆ ก็เลยระดมสรรพกำลังขอตำรวจเศรษฐกิจและเจ้าหน้าที่ธนาคารชาติ มาตรวจสอบเส้นทางการเงิน จนพบว่าเงินกู้ก้อนนี้มีไหลไปอยู่ในชื่อบริวารนายกฯและคุณหญิง 105 ล้าน แถมยังมีจ่ายเป็นเช็ค 17 ล้านเข้าบัญชีลูกชายนายกฯด้วย (เช็คนี้เขียนสั่งจ่ายแล้วก็ขีดฆ่าภายหลัง)
“ครั้นสอบปากคำบรรดากรรมการโดยละเอียด ก็ได้ปากคำเพิ่มเติมว่างานนี้ประธานบอกกับที่ประชุมว่า “บอส” สั่ง จึงขอให้ยอมๆ อนุมัติกันไปหลักฐานทั้งปากคำและการส่งเงินทั้งหมดนี้มันแวดล้อมให้เราเชื่อได้ว่า “บอส” คนนั้น คือคุณทักษิณ เราจึงมีมติให้ฟ้องคุณทักษิณเป็นจำเลยที่ 1 ด้วย คดีนี้ก็เลยขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง แต่นักการเมืองก็หนีไปทิ้งให้บรรดากรรมการและเจ้าหน้าที่ตาดำๆ ติดคุกไป เช่นทุกวันนี้
“ถาม แล้วทำไมจึงไม่ฟ้องลูกชายนายกฯและบริวารอีก 3 คนที่มีชื่อรับส่วนแบ่งจากเงินกู้ทุจริตก้อนนี้ด้วยเป็นจำนวน 105 ล้านบาท เห็นว่าตอนแรกๆ คตส.ก็กล่าวหาว่า 4 คนนี้เป็นผู้สนับสนุนไม่ใช่หรือ
“ตอบ ครับ..แต่ในชั้นลงมติส่งฟ้องนั้น คตส.เราเถียงกันหนักว่าคดีมันไม่มีหลักฐานพอฟังได้ว่า 4 คนนี้รู้เห็นปรึกษาทุจริตกับคุณทักษิณ เขาอาจจะถูกใช้ชื่อเปิดบัญชีรับส่วนแบ่งแทนบอส ภายหลังความผิดสำเร็จแล้วเท่านั้นก็ได้ ดังนั้นถ้าเรารวมพวกนี้ไปฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง โอกาสที่ศาลท่านจะไม่รับฟ้องจนหลุดเงื้อมมือกฎหมายไปเลยน่าจะสูงมาก แต่ถ้าแบ่งสำนวนไปฟ้องศาลอาญาธรรมดาว่าคนพวกนี้ช่วยรับซุกซ่อนทรัพย์สิน จากการทุจริต..เป็นผิดฐานรับของโจร ดังนี้ก็น่าจะถูกต้องกว่า ในที่สุดเราจึงมีมติเห็นควรให้ตัดสำนวนของ 4 คนนี้ ไปให้ ดีเอสไอ รับไปทำคดีขึ้นศาลอาญาฐานรับของโจรในที่สุด และผมก็เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ สตง. ในฐานะธุรการของ คตส.เขาก็คงส่งสำนวนพร้อมมติของ คตส.ไปให้ ดีเอสไอ แล้วด้วย
“ถาม ฟังแล้ว..เรื่องฟ้อง ลูกและบริวาร 4 คนของนักการเมืองนี้ เราก็ต้องไปจี้ไปถามที่ ดีเอสไอหรือท่านรัฐมนตรีไพบูลย์ (คุ้มฉายา) ที่ดูแลดีเอสไอ ให้เดินหน้าสอบสวนตั้งข้อหา ขึ้นศาลฐานรับของโจร ต่อไป ใช่ไหมครับ
“ตอบ ครับ..ลูกบอลมันอยู่ตรงนั้น คตส.เตะส่งไป 8 ปีแล้ว
ถาม ในภายหน้า..ถ้าคุณทักษิณกลับมาขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองในคดีกรุงไทยนี้ หลักฐานมันจะอ่อนไหมในเมื่อไม่มีลูกและบริวาร 4 คนที่รับเงิน ร่วมเป็นจำเลยด้วย
ตอบ ถ้าเกิดคดีจริงๆ ศาลท่านก็เรียก 4 คนนี้มาให้ความจริงได้อยู่ดีครับว่า ไปมีชื่อรับเงิน 105 ล้าน ที่มาจากเงินกู้ทุจริตเป็นหมื่นล้านนี้ได้อย่างไร..ผมว่าไม่มีปัญหาครับ และทุกวันนี้ ดีเอสไอกับอัยการก็น่าจะเดินหน้าฟ้อง 4 คนนี้ไปก่อนได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ฟ้องคุณทักษิณ
อดีต คตส. ยังแนะนำสำนักอัยการสูงสุดควรใช้คดีกรุงไทยนี้ขอให้ทุกชาติในโลกช่วยส่งทักษิณกลับไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนคดีทุจริตได้ทุกประเทศเลยนี่คืองานหลักที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องทำเพราะกฎหมายทุกประเทศก็มีฐานความผิดทุจริตต่อหน้าที่เหมือนๆ กัน ส่งผู้ร้ายทุจริตให้กันได้อยู่แล้ว จะหยุดอยู่แค่การลงโทษอย่างรุนแรงกับกรรมการและเจ้าหน้าที่ธนาคารตาดำๆ เท่านั้นไม่ได้ มันไม่ถูก
และเมื่อศาลวางโทษหนักเพื่อป้องปรามบรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่ายอมเป็นเครื่องมือของ “วิสาหกิจทุจริตทางการเมือง” คือการแปลงระบบผู้แทนไทยทั้งระบบ ให้เป็นการลงทุนซื้ออำนาจ แล้วใช้อำนาจโดยทุจริตจนได้กำไรมากมาย ทำกันจนคอร์รัปชั่นกระจายไปทุกระดับเริ่มต้นตั้งแต่การขายเสียงเลือกตั้งของประชาชนเป็นต้นไป เมื่อการทุจริตรุนแรงศาลลงโทษหนักเหลือแต่ฝ่ายบริหารที่ต้องสานต่อขยายผล
“รัฐบาลต้องสั่งการให้อัยการและดีเอสไอทำหน้าที่ตามกฎหมาย ลากจอมบงการและลูกพร้อมบริวารมาขึ้นศาลให้ได้ ทั้งหมดนี้ นี่คือลูกบอลที่คาเท้าท่านอยู่ชัดๆ ท่านต้องสั่งการให้พวกเขาทำงาน..อย่ามัวไปฝอยประกอบเพลงทางทีวีว่าจะคืนความสุขให้ชาวบ้าน โดยชูปึกกระดาษในมือที่เรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญอยู่เลยนะครับท่าน” อดีต คตส. จบบทความในรูปแบบของสนทนาแบบเหน็บแหนม “ลุงตู่” เล็กๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมมีความคลางแคลงใจกันมากหลังศาลฎีกาฯ ตัดสินคดี นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจราชการอัยการ อดีตเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ได้ออกมาแถลงข่าวพร้อมกับนายโกศลวัฒน์ อินทุจรรยงค์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 จากที่มีการตั้งข้อสงสัยกันมากว่าแล้วคดีกรุงไทยฯ ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ และพวก
นายวินัย บอกว่า หลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวนจาก คตส. ที่ขอให้ดำเนินคดีกับพ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 27 คนแล้ว คตส.ยังขอให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้และพวกรวม 4 คน ในความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 แต่นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุด ขณะนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า 1) ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องแยกฟ้องต่อศาลอาญาที่มีเขตอำนาจต่อไป 2) ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมิได้เป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด จึงไม่อาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ดังนั้น คตส.ซึ่งอาศัยอำนาจของ ป.ป.ช.มาทำหน้าที่ จึงไม่มีอำนาจไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่และไม่อาจมีความเห็นในความผิดฐานรับของโจร 3) หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ จะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา แยกออกไปจากคดีที่ฟ้องจำเลย 27 คนต่อศาลฎีกาฯ
สรุปง่ายๆ ก็คือ อัยการสูงสุด เห็นว่า คตส.และป.ป.ช. ไม่มีอำนาจรองรับในการทำคดีนายพานทองแท้และพวก จะส่งสำนวนมาให้อัยการส่งฟ้องศาลอาญาไม่ได้ คดีนี้ต้องให้พนักงานสอบสวน เป็นผู้ดำเนินคดี รอจนพนักงานสอบสวนคดีสรุปสำนวนจะส่งฟ้องศาลอาญานั่นแหละ จึงค่อยมาใช้บริการของอัยการเป็นผู้ส่งฟ้องต่อศาลให้
ในวันแถลงข่าว นายวินัย ยังบอกว่า คดีในส่วนนี้ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า ผู้เสียหายได้ไปร้องให้ดำเนินการสอบสวนนายพานทองแท้กับพวก 2 ข้อหา คือ ข้อหารับของโจรและข้อหาฟอกเงิน โดยคดีรับของโจรนั้นมีอายุความ10 ปี และอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี ส่วนข้อหาฟอกเงินมีอายุความ 15 ปี ส่วนอัตราโทษไม่เกิน 10 ปี
แล้วข้อหาทั้ง 2 นี้ อายุความเริ่มนับตั้งแต่ตอนไหน นายวินัย ตอบว่า นับอายุความตั้งแต่เวลาที่การกระทำความผิด เกิดขึ้น คือปี 2547 ถามว่า คดีรับของโจรนั้นหมดอายุความไปแล้วใช่หรือไม่ นายวินัย ตอบว่า ไม่แน่ใจว่าหมดอายุความไปหรือยัง ต้องดูเหตุที่เกิดอาจจะมีความต่อเนื่องก็ได้ ต้องไปถามดีเอสไอเพราะทางอัยการไม่มีหน้าที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษแต่อย่างใด
เป็นการโยนเผือกร้อนชิ่งหนีแบบเนียนๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดใจแต่อย่างใดเพราะหากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่า อัยการสูงสุดนั้น เล่นเกมนี้มาก่อนหน้าตั้งแต่คราวที่รับสำนวนคดีมาจาก คตส.แล้ว
กล่าวคือ เมื่ออัยการสูงสุด รับสำนวนคดีมาจากคตส.เมื่อปี 2551 อัยการสูงสุดก็มีความเห็นว่าสำนวนคดียังไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับป.ป.ช. เพื่อดูสำนวนคดีใหม่ ช่วงนั้นยื้อยุดกันอยู่เป็นเวลา 5 ปี กระทั่งมาได้ฤกษ์ฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ กับพวก รวม 27 คน ต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ท่ามกลางความประหลาดใจแก่สังคมไม่น้อยเพราะยื้อนานจนคาดว่าป.ป.ช.คงต้องฟ้องคดีเอง
ช่วงนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการยื่นฟ้องเพื่อกลบกระแสสังคมที่เคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดในขณะนั้น คือ นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ ในหลายกรณี ทั้งกรณีที่สำนักงานอัยการไม่รับเรื่องที่มีกลุ่มบุคคลยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุด พิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนั้นว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
ทั้งเรื่องความเห็นของอัยการสูงสุด ที่สั่งยุติคดีไม่อุทธรณ์คดีที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร ในคดีเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัทชินวัตรฯ ทั้งที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้เอาผิดคุณหญิงพจมาน เป็นต้น
อัยการสูงสุด ดองคดียื้อตั้งคณะทำงานร่วมป.ป.ช.กว่าจะฟ้องร้องต่อศาลฎีกาฯ ได้ใช้เวลาถึงห้าปี นั่นว่าหนักหนาแล้ว แต่ดีเอสไอ แช่แข็งคดีนายพานทองแท้ แบบว่าให้โลกลืมไปเลย และทำท่าว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขาดอายุความ หนักหน่วงเสียยิ่งกว่า
สำนักข่าวอิศรา ไล่เรียงวันเวลาการดำเนินคดีดังกล่าวในข้อเขียน “ขยายปม อสส.ไม่ฟ้อง“พานทองแท้-พวก”รับของโจรคดีกรุงไทย ใครรับผิดชอบ?” เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ว่า อัยการสูงสุด (อสส.) รับคดีนี้เมื่อปี 2551 ซึ่งขณะนั้นมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (ยศขณะนั้น) เป็นอธิบดีฯ (11 เม.ย. 2551-29 ก.ย. 2552) และผ่านมากว่า 7 ปี (2551-2558) มีการเปลี่ยนเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอมาแล้วถึง 3 ครั้ง ได้แก่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ (29 ก.ย. 2552-24 พ.ค. 2557) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ (รักษาการ 24 พ.ค. 2557-27 มิ.ย. 2557 ดำรงตำแหน่งเต็ม 27 มิ.ย. 2557-30 ก.ย. 2557) ล่าสุดคือนางสุวณา สุวรรณจูฑะ (รักษาการ 15 ต.ค. 2557- 17 พ.ย. 2557 17 พ.ย. 2557-ปัจจุบัน และขณะนี้ได้ก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว)
แต่คดีนี้ดีเอสไอไม่เคยแถลงถึงความคืบหน้าแต่อย่างใด ?
คำถามคาใจที่ว่าใครจะรับผิดชอบ เพราะข้อหารับของโจรนั้น มีอายุความ 10 ปี ซึ่งเวลาที่พบการกระทำความผิดคือ เมื่อปี 2547 ตอนนี้ก็ล่วงเข้าไป 2558 แล้ว หมายความว่า หมดอายุความแล้วใช่หรือไม่ หรือมีเหตุต่อเนื่องทำให้ยังไม่ขาดอายุความ?
เจอดอกนี้เข้าไป พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.กระทรวงยุติธรรม ถึงกับลมออกหู เรียกนางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มารายงานความคืบหน้าโดยด่วน และได้ความว่า ดีเอสไอรับสอบสวนคดีดังกล่าวตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ตั้งแต่ปี 2550 โดย คตส.เป็นผู้ยื่นให้ดีเอสไอสอบสวน ก่อนมีการเสนอรับเป็นคดีพิเศษ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของดีเอสไอ กคพ.มีมติให้รับเป็นคดีพิเศษเฉพาะข้อหาฟอกเงิน ไม่มีข้อหารับของโจรตามที่อัยการสูงสุดระบุว่าดีเอสไอรับผิดชอบสอบสวนคดีดังกล่าวอยู่ด้วย
ขณะนี้ดีเอสไอ อยู่ระหว่างขอคัดสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดีฟอกเงิน โดยจะมีการเชื่อมโยงและขยายผลถึงผู้ที่นำเงินจากการปล่อยกู้ไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ จะมีการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวในวันที่ 7 กันยายนนี้ คาดว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิดได้ภายใน 1 เดือน
กรรมกำลังทำงานชนิดติดจรวด ตามสนอง “ลูกโอ๊ค” ที่มีวันนี้เพราะ "พ่อแม่รังแกฉัน"
งานนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา “บิ๊กต๊อก” จะโชว์ฝีมือเคี่ยวดีเอสไอไม่ให้ทำ “สำนวนอ่อน” ปล่อย “ลูกโอ๊ค” หลุดคดีใน 2 ข้อหาสำคัญทั้งรับของโจรและฟอกเงิน ทั้งยังต้องจับให้มั่นคั้นให้ตายเพื่อเอาคนผิดมารับโทษทัณฑ์ให้ได้