อดีต ส.ส.ปชป.เผยประชาชนให้ข้อมูลทุจริตใน “อสมท” เหตุเมินเรียกร้องค่าผิดสัญญาจากทรูวิชั่น ทำหน่วยงานรัฐเสียประโยชน์ แฉบอร์ด อสมท ปล่อยปละ เตรียมหอบเอกสารส่ง ป.ป.ช.สอบละเว้นหน้าที่ เอกชนรู้เห็นต้องโดนด้วย ปูด “เมียแม้ว” โผล่เซ็นเป็นพยานในสัญญา
วันนี้ (23 ส.ค.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการทุจริตในองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) กรณีการทำสัญญาร่วมดำเนินการกิจการโทรทัศน์ระบบตอบรับการเป็นสมาชิกระหว่าง อสมท กับ บริษัท ทรูวิชั่น ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2557 โดยก่อนสิ้นสุดสัญญาคณะกรรมการผู้บริหาร อสมท ได้ทราบว่าทรูวิชั่นเคเบิลได้ทำผิดสัญญาและอาจจะกระทำผิดอาญาต่อ อสมท แต่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการเอาผิด และหรือเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่องค์กร หรือเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนน้อยกว่าความเป็นจริง เป็นเหตุให้ อสมท ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ การกระทำความผิดดังกล่าว ประกอบด้วย 1. การให้บริการทรู เอนนี่แวร์ โดยมิชอบ มีการนำช่องรายการตามสัญญาไปให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์ และทางเว็บไซต์ ทรูวิชั่น แอปพลิเคชันสำหรับแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน และจัดให้มีการโฆษณาในระหว่างรับชมและขายแพกเกจไม่ได้รับอนุญาต 2. การไม่นำส่งค่าโฆษณาของช่องรายการ TNN24 3. ส่วนแบ่งรายได้ที่ทรูนำส่งไม่ครบถ้วน 4. ทรัพย์สินที่ต้องมอบให้แก่ อสมท ตามสัญญา และ 5. การดำเนินการกิจการของทรูวิชั่น กรุ๊ป
นายวัชระ กล่าวว่า จากเอกสารหน้านับร้อยหน้า มีข้อพิจารณา คือ บอร์ด อสมท ได้ทราบเหตุข้อพิพาทดังกล่าวแล้ว และมีการจัดประชุมหลายครั้ง มีการตั้งประเด็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ข้อสัญญา และแนวทางเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว ทางฝ่ายบริหาร อสมท กลับมีการพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 8/2558 วันที่ 26 พ.ค. 2558 และบันทึกข้อตกลงระหว่าง อสมท กับทรูวิชั่น และทรูวิชั่น เคเบิล จำกัด ลงนามโดยนายศิวะพร พรมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ อสมท และนายธนชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เป็นพยาน โดยไม่มีการคำนึงถึงผลที่ควรได้ และต้องเสียไปของ อสมท ทั้งที่มีข้อบันทึกการตกลงระหว่าง บ.ทรูวิชั่น และทรู เคเบิลกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งทางแพ่งและอาญา รวมถึงค่าเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ ตามสัญญาเดิมโดยเฉพาะนายธนชัย และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการในบริษัท ทรูวิชั่น กลับปล่อยปละละเลยไม่ทำตามสัญญาที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทราบดีว่าบริษัท ทรูวิชั่นกำลังหมดสัญญากับ อสมท และมีพฤติกรรมทำผิดสัญญามาก่อนหน้านี้ กลับไม่มีมาตรการใดมารองรับให้ธุรกิจยังคงมีอยู่และเป็นของ อสมท อย่างน้อยแสดงออกถึงความตั้งใจเรียกร้องค่าเสียหายให้องค์กร โดยนายธนชัยยังลงนามเป็นพยานในบันทึกที่เห็นชัดเจนว่า อสมท เสียหายและไม่สามารถฟ้องร้องค้าเสียหายกับคู่สัญญาได้อีก
ดังนั้น วันที่ 25 ส.ค. ตนจะนำเอกสารทั้งหมดส่งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบผู้บริหารและพนักงาน อสมท ที่เกี่ยวข้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการความผิดพนักงานองค์กรของรัฐ และตามพ.ร.บ.ป.ป.ช.ต่อไป และหากเอกชนคู่สัญญามีส่วนรู้เห็นให้ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของผู้บริหาร อสมท ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในสัญญาเริ่มต้น ระหว่าง อสมท กับทรูวิชั่น มีลายเซ็นของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมเป็นพยานด้วย
โดยเนื้อหาที่นายวัชระ จะยื่นเรื่องแก่ ป.ป.ช. มีดังนี้
๑. กรณี การให้บริการ True Anywhere โดยมิชอบมีการนำช่องรายการตามสัญญาไปให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์ ทางเว็บไซต์ https://truevisions,tv , แอพพิลเคชั่นสำหรับแทบเลตและสมาร์ทโฟน และจัดให้มีการโฆษณาในระหว่างรับชม และขายแพ็กเกจ เริ่มให้บริการตั้งแต่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔ โดยมิได้รับอนุญาต (ผิดสัญญาข้อ ๑๑) มินำรายได้มารวมเป็นค่าตอบแทน (ผิดสัญญาข้อ ๒) และเป็นการแพร่ภาพไปยังผู้รับบริการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกตามสัญญา(ผิดสัญญาข้อ ๒.๒ เอกสารผนวกหมายเลข ๒) และไม่จ่ายค่าตอบแทนที่ได้รับการรับทำการโฆษณา ให้ บมจ.อสมท ตามสัญญาฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๓
พฤติการณ์ที่ต้องตรวจสอบ คือ ผู้บริหาร บมจ.อสมท มีการตั้งเป็นประเด็นเรื่องการกระทำที่มิชอบดังกล่าวไว้ แต่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง กลับเชื่อตามที่ บมจ.ทรูวิชั่น ได้รับรองความถูกต้องของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการตามสัญญา เชื่อว่ารายได้ที่แบ่งให้ บมจ.อสมท เป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งในงบการเงินของ บมจ.ทรู วิชั่นส์ และได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีแล้ว และไม่ทำการตรวจสอบกลับให้ชัดเจน อันเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
๒. กรณี การไม่นำส่งค่าโฆษณาของช่องรายการ TNN24 รายการ TNN24 ได้รับอนุญาตจาก บมจ.อสมท ให้แพร่ภาพออกอากาศเมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ แต่ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๕ บมจ.ทรู วิชั่น ได้เริ่มหยุดรายงานรายได้ค่าโฆษณาให้ บมจ.อสมท ทราบ และรายการ TNN ได้แยกไปตั้งเป็น บจก.ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค(ทีเอ็นเอ็น) จำกัด(ไทยนิวส์) อันมีเจตนาที่จะไม่จ่ายค่าตอบแทนที่ได้รับการรับทำการโฆษณา ให้ บมจ.อสมท ตามสัญญาฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๓
พฤติการณ์ที่ต้องตรวจสอบ คือ เมื่อผู้บริหาร บมจ.อสมท ได้เห็นชัดเจนแล้วว่า บมจ.ทรู วิชั่นส์ และ บมจ.ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล มีเจตนานำรายการที่เคยเป็นของตนและใช้ออกอากาศตามสัญญา ไปจดทะเบียนในนามนิติบุคคลใหม่ แต่ผู้บริหารชุดเดิม เห็นชัดว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงที่จะชำระค่าโฆษณาตามสัญญา และเป็นเวลานานนับแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๕ ถึง เดือนมกราคม ๒๕๕๖ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบทักท้วงในห้วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงออกถึงความไม่ใส่ใจ ดูแลรักษาผลประโยชน์ของ บมจ.อสมท ของผู้มีอำนาจหน้าที่ เมื่อภายหลังมีการเจรจากลับเรียกร้องค่าเสียหายเฉลี่ยที่เคยได้รับช่วง ตุลาคม ๒๕๕๒ ถึง มีนาคม ๒๕๕๕ ไม่ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าช่วงเวลาเกิดเหตุ มีรายได้จริงเท่าใด แต่กลับไปรับค่าเสียหายในช่วงเวลาอื่น ซึ่งผิดปกติวิสัยของการตรวจสอบ และเรียกร้องค่าเสียหายจริง และไม่มีมาตรการบังคับใดๆ ในการเข้าตรวจสอบให้ชัดเจน ทั้งที่มีตัวแทนของ บมจ.อสมท เป็นกรรมการอยู่ใน บมจ.ทรู วิชั่นส์ และ บมจ.ทรู วิชั่น เคเบิ้ล
๓. กรณี ส่วนแบ่งรายได้ที่ กลุ่มทรู วิชั่นส์ นำส่งไม่ครบถ้วน
ก. ค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการอาจไม่ถูกต้อง กล่าวคือ บมจ.ทรู วิชั่นส์ ไม่ชี้แจงข้อมูลรายได้บางประเภทให้ชัดแจ้ง และไม่นำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญา อาจผิดสัญญาฯ ข้อ ๒ ประกอบเอกสารผนวกหมายเลข ๓
ข. ดอกเบี้ยเงินประกันหรือเงินมัดจำอุปกรณ์ ไม่นำมารวมคำนวณส่วนแบ่งรายได้ ผิดสัญญาฯ ข้อ ๒ ประกอบเอกสารผนวกหมายเลข ๓ และประกอบมติคณะกรรมการ บมจ.อสมท ครั้งที่ ๕/๒๕๓๘ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘
พฤติการณ์ที่ต้องตรวจสอบ คือ สำหรับตามข้อ ก. ค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการอาจไม่ถูกต้อง ผู้บริหาร บมจ. อสมท ไม่มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง กลับเชื่อตามที่ บมจ.ทรูวิชั่น ได้รับรองความถูกต้องของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการตามสัญญา เชื่อว่ารายได้ที่แบ่งให้ บมจ.อสมท เป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งในงบการเงินของ บมจ.ทรู วิชั่นส์ และได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีแล้ว และไม่ทำการตรวจสอบกลับให้ชัดเจน อันเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
สำหรับตามข้อ ข. ผู้บริหาร บมจ.อสมท ไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีการรับเงินค่ามัดจำไว้เป็นเงินเท่าใดแน่ แต่กลับเจรจาแล้วยอมรับจาก บมจ.ทรู วิชั่นส์ เพียง ๖,๔๖๔,๐๐๐ บาท และ บมจ.ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล เพียง ๓,๙๓๓,๐๐๐ บาท โดยไม่ปรากฎว่าใช้ฐานคิดคำนวณอย่างไร
๔. กรณี ทรัพย์สินที่ต้องมอบให้ บมจ.อสมท ตามสัญญาฯ
มีการตรวจพบอุปกรณ์ภาคส่งที่ บมจ.ทรู วิชั่นส์ ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ได้บันทึกในบัญชีทรัพย์สินและมิได้ส่งมอบให้ บมจ.อสมท ผิดสัญญาฯ ข้อ ๑.๑ ประกอบเอกสารผนวกหมายเลข ๑ ข้อ ๑.๒ (ต้องดำเนินการส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ให้ บมจ.อสมท โดยต้องทำหนังสือแจ้งการส่งมอบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ วันทำการ นับแต่วันที่ได้มาหรือจัดทำขึ้น หากฝ่าฝืน ยินยอมให้ บมจ.อสมท ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ ๐.๒ ของราคาสิ่งของ) และ บมจ.ทรู วิชั่นส์ แจ้งว่า คงเหลืออุปกรณ์เครื่องรับจำนวน ๑,๕๕๑ เครื่อง ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญา ซึ่งสัญญาฯ ข้อ ๘ กำหนดให้ บมจ.ทรู วิชั่นส์ จะต้องส่งมอบอุปกรณ์เครื่องรับทั้งหมดให้แก่ บมจ.อสมท ภายใน ๖๐ วัน หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้วันละ ๒๐,๐๐๐ บาท หรือเป็นเงินร้อยละ ๐.๒ ของมูลค่าทรัพย์สินในส่วนที่ยังไม่ส่งมอบ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
พฤติการณ์ที่ต้องตรวจสอบ คือ ด้านอุปกรณ์ภาคส่ง ผู้บริหาร บมจ.อสมท มีมติขายอุปกรณ์เครื่องส่ง ตามที่ บมจ.อสมท ประเมินเอง โดยไม่ทำตามความเห็นของ บจก.กรุงไทย กฎหมาย ที่ให้ความเห็นว่าต้องแต่งตั้ง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประเมินราคาทรัพย์สินมาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และไม่มีการเรียกค่าใช้อุปกรณ์เครื่องส่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๗ ถึง มิถุนายน ๒๕๕๘ ทั้งที่ บมจ.ทรู วิชั่นส์ จะต้องส่งมอบอุปกรณ์เครื่องส่งให้ บมจ. อสมท ทันทีที่หมดสัญญา เพราะเป็นกรรมสิทธิ์ของ บมจ.อสมท ตามสัญญาแล้ว แต่เพียงแต่ บมจ.ทรู วิชั่นส์ ทำหนังสือโต้แย้งว่าเป็นความผิด บมจ.อสมท ที่ทาง บมจ.ทรู วิชั่นส์ ได้ทำหนังสือจะขอซื้อเครื่องส่งไว้เอง แต่ บมจ.อสมท พิจารณาล่าช้า เป็นเรื่องโต้แย้งที่ฟังไม่ได้เพราะเมื่อสัญญากำหนดไว้อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น หากแต่ฝ่ายผู้บริหาร บมจ.อสมท กลับเห็นว่าเป็นความผิดของฝ่าย บมจ.อสมท ที่พิจารณาล่าช้าเอง และยังได้มีความเห็นว่าไม่เก็บค่าที่ บมจ.ทรู วิชั่นส์ ใช้เครื่องส่ง ระหว่างรอการส่งมอบ ซึ่งเป็นข้อพิจารณาที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง
ด้านอุปกรณ์ภาครับ ผู้บริหาร บมจ.อสมท ไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใดแน่ กลับเชื่อที่ บมจ.ทรู วิชั่นส์ รายงานมาคือมีเพียง ๑,๕๕๑ เครื่อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน หากเปรียบเทียบกับรายรับของ บมจ.ทรู วิชั่นส์ หากแต่ความจริงแล้ว กลุ่มบริษัททรู ได้มีการจัดทำกิจการ ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป ไว้รองรับการสิ้นสัญญาร่วมดำเนินกิจการฯ และมีการโอนย้ายสมาชิกไปจาก บมจ.ทรู วิชั่นส์ ซึ่งมีอุปกรณ์ภาครับซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ บมจ.อสมท ตามสัญญา ถูกโอนย้ายไปด้วย ซึ่งหากเป็นกรณีที่อยู่ระหว่างอายุของสัญญาถือว่าเป็นกรณีที่ไม่แจ้งรายละเอียด และสถานที่ติดตั้งใช้ หรือสถานที่เก็บรักษาในระหว่างการดำเนินการตามแบบที่ บมจ.อสมท กำหนดภายในกำหนดเวลา ตั้งเสียค่าปรับเป็นรายวันในอัตราวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท อันเป็นการกระทำผิดสัญญาฯ เอกสารผนวกหมายเลข ๑ ข้อ ๒.๒.๒ แต่หากเป็นกรณีที่ดำเนินการหลังสิ้นสุดสัญญาและยังไม่มีข้อตกลงต่อกัน ซึ่งอุปกรณ์ภาครับดังกล่าวต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของ บมจ.อสมท ตามสัญญาฯ เอกสารผนวกหมายเลข ๑ ข้อ ๑ การนำไปใช้กับบริษัทอื่นเป็นการกระทำในลักษณะที่เบียดบังเอาทรัพย์สินคืออุปกรณ์ภาครับซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ บมจ.อสมท ไปเพื่อประโยชน์ของ บจก.ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป โดยทุจริต บมจ.ทรู วิชั่นส์ จึงอาจมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และ บจก.ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จึงอาจมีความผิดฐาน รับของโจร หรือหากมองในแง่การผิดสัญญา ก็ถือว่า บจก.ทรู วิชั่นส์ ไม่ทำการส่งมอบทรัพย์สินภายในกำหนด บมจ.อสมท จะต้องปรับ บจก.ทรู วิชั่นส์ เป็นรายวันในอัตราร้อยละ ๐.๒ (ศูนย์จุดสอง) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ ตามสัญญาฯ เอกสารผนวกหมายเลข ๑ ข้อ ๑.๓ ซึ่งผู้บริหาร บมจ.อสมท ไม่ใส่ใจที่จะตรวจสอบ รักษาผลประโยชน์ขององค์กร กลับยอมรับอุปกรณ์ภาครับดังกล่าวเพียง ๑,๕๕๑ เครื่อง ตามรายงาน ซึ่งวิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีว่าอุปกรณ์ภาครับมีมากกว่าที่รายงานหลายร้อยเท่าตัว จึงน่าจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้บริหาร บมจ.อสมท และพนักงาน บมจ.อสมท ที่เกี่ยวข้อง
๕. กรณี การดำเนินกิจการของ True Vision Group (ทรู วิชั่น กรุ๊ป)
มีการโอนย้ายสมาชิกจาก บมจ.ทรู วิชั่นส์ ไปยัง บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ฟ จำกัด โดยหลอกลวง ปกปิดข้อเท็จจริง ให้สมาชิกลงทะเบียนรับแพ็กเก็ตใหม่เพิ่มช่อง เมื่อลงทะเบียนจะถูกย้ายไปเป็นสมาชิกของ บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด โดยชุดช่องรายและและหมายเลขช่องรายการที่แพร่ภาพเป็นชุดช่องรายการเดียวกันและหมายเลขช่องเดียวกัน ทำให้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ ยอดรวมสมาชิกลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงหมดสัญญาร่วมดำเนินกิจการฯ ผิดสัญญาฯ เอกสารผนวกหมายเลข ๒ ข้อ ๒.๒ (ด้านการแพร่ภาพ) สัญญาฯ ข้อ ๑.๑ และสัญญาฯ เอกสารผนวกหมายเลข ๑ ข้อ ๒ (ด้านอุปกรณ์) และสัญญาฯ ข้อ ๒ และเอกสารผนวกหมายเลข ๒ ข้อ ๕ (ด้านสมาชิกและรายได้)
พฤติการณ์ที่ต้องตรวจสอบ คือ การกระทำของ กลุ่มบริษัททรู มีเจตนาชัดแจ้งในการที่จะผิดสัญญากับ บมจ.อสมท ดังนั้น การเรียกร้องค่าเสียหายอย่างน้อยจะต้องคำนึงถึงค่าตอบแทนของ บมจ.อสมท ตามสัญญา คือร้อยละ ๖.๕ โดยไม่ต้องคำนึงถึงส่วนที่ บจก.ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป ซึ่งมิใช่คู่สัญญากับ บมจ.อสมท จะต้องไปชำระให้ กสทช. ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน ประกอบกับการดำเนินกิจการ บจก.ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป ยังมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายถึงร้อยละ ๙๓.๕ การที่กลุ่มบริษัททรู ซึ่งได้ประกอบกิจการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ต้นทุนย่อมลดลง เพราะมีการลงทุนด้านอุปกรณ์ภาครับ ภาคส่ง ไประยะเวลาพอสมควรแล้ว และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอะไรในลักษณะสำคัญที่จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การโอนย้ายฐานลูกค้าไปจากกิจการที่ร่วมดำเนินการกับ บมจ.อสมท อยู่แล้วจึงแทบไม่ต้องมีการลงทุนอะไรเพิ่มเติมอีก การเรียกเงินร้อยละ ๖.๕ จึงเป็นยอดเงินฐานต่ำที่สุดของค่าเสียหายที่ บมจ. อสมท ควรจะได้ ซึ่งไม่รวมค่าเสียโอกาสอื่นๆ แต่ผู้บริหารกลับนำฐานคิดที่วิญญูชนทั่วไปย่อมทราบว่าเป็นหลักคิดที่มีเจตนาที่จะทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย และไม่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร
ข้อพิจารณา คณะกรรมการ และผู้บริหารของ บมจ.อสมท ได้ทราบเหตุดังกล่าวแล้ว โดยมีการจัดประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาหลายครั้ง โดยมีการตั้งประเด็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ข้อสัญญา และแนวทางเรียกร้องค่าเสียหายในการประชุมคราวดังกล่าวแล้ว ฝ่ายบริหารของ บมจ.อสมท กลับมีผลการพิจารณาในคราวประชุมคณะกรรมการ บมจ.อสมท ครั้งที่ ๘/๒๕๕๘ เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ และ บันทึกข้อตกลง ระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท ทรู วิชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัท ทรู วิชั่นส์ เคเบิ้ล จำกัด(มหาชน) ลง ...มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่ฝ่าย บมจ.อสมท ลงนามโดยนายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) และนายธนะชัย วงศ์ทองศรี ลงนามเป็นพยาน ในลักษณะที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ควรได้ และต้องเสียไป ของ บมจ.อสมท ทั้งมีปรากฎในบันทึกตกลงกับ บมจ.ทรู วิชั่น และ บมจ.ทรู วิชั่น เคเบิ้ล ว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งทางแพ่ง และทางอาญาต่อกันทั้งสิ้น และจะไม่เรียกร้องค่าตอบแทนและ/หรือปรับ ค่าเสียหาย ทรัพย์สินหรือเงินอื่นใด อันสืบเนื่องจากหรือเกี่ยวข้องกับกรณีต่างๆ ของสัญญาเดิมที่เกิดหรือมีก่อนวันทำบันทึกข้อตกลง บมจ.อสมท จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายๆ ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายธนะชัย วงศ์ทองศรี และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ซึ่งได้รับมอบหมายจาก บมจ.อสมท ให้เป็นกรรมการใน บมจ.ทรู วิชั่น กลับปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ที่รับมอบหมาย ทราบดีอยู่แล้วว่า บมจ.ทรู วิชั่น กำลังจะหมดสัญญาฯ กับ บมจ.อสมท และมีพฤติการณ์กระทำผิดสัญญาดังกล่าวมาแล้ว กลับไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อรองรับให้ธุรกิจยังคงมีอยู่และยังคงเป็นของ บมจ.อสมท หรืออย่างน้อยจะต้องแสดงออกถึงความตั้งใจในการเรียกร้องค่าเสียหายให้ บมจ.อสมท เมื่อพบปัญหายังเสนอแนวแก้ไขปัญหาให้องค์กรได้รับความเสียหาย และนายธนะชัย วงศ์ทองศรี ยังลงนามเป็นพยานในบันทึกตกลงที่เห็นชัดเจนว่าทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย และไม่สามารถฟ้องร้อง เรียกร้องค่าเสียหายที่ควรได้จากคู่สัญญาได้อีก
จึงเรียนขอความกรุณามายังท่านเพื่อโปรดตรวจสอบตามประเด็นที่ได้แจ้งแล้วข้างต้น โดยพิจารณาตามความผิดดังต่อไปนี้
๑. หากการตรวจพบว่า ผู้บริหาร บมจ.อสมท และพนักงาน บมจ.อสมท ที่เกี่ยวข้องและร่วมกันเห็นชอบ ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ขอให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และตามกฎหมาย ปปช.ที่เกี่ยวข้องต่อไป
๒. หากเอกชนคู่สัญญากับ บมจ.อสมท มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดด้วย ซึ่งถือว่าสนับสนุนการกระทำผิดความของ ผู้บริหาร และ พนักงาน บมจ.อสมท ขอให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖