ศาลสั่งจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา “พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ” อดีต ผกก.สภ.ต.โพธิ์แก้ว เสนอสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคไทยรักไทย ปี 49 อ้างติดหนี้บุญคุณ “หญิงอ้อ” ศาลชี้คดีมีประจักษ์พยานชัดเจน
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (24 ธ.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3559/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อดีต ผกก.สภ.ต.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นจำเลยในความผิดฐานผู้ใดขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการที่มิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และผู้ใดขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานตำแหน่งตุลาการ อัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการที่มิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167
ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2556 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 16-22 ต.ค. 2549 จำเลยได้ไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ห้องทำงานที่ศาลฎีกา แล้วรับว่าจะให้เงินจำนวน 15 ล้านบาทกับ ม.ล.ไกรฤกษ์ เพื่อให้ช่วยเหลือในการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง เหตุเกิดที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี อ้างเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ ม.ล.ไกรฤกษ์ การไปพบก็เพื่อส่งหนังสือเชิญร่วมงานเลี้ยงรุ่น และการกล่าวถึงสินบนก็เพียงพูดคุยหยอกล้อในฐานะเพื่อนเท่านั้น
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว โจทก์มี ม.ล.ไกรฤกษ์เป็นประจักษ์พยาน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2549 จำเลย ได้ไปพบที่ห้องทำงานศาลฎีกา พร้อมพูดถึงการเสนอเงินตอบแทน พิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทยที่พยานได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และมอบนามบัตรจำเลยให้ แต่พยานปฏิเสธไปโดยสิ้นเชิง โดยจำเลยยังได้พยายามไปพบพยานอีกครั้งที่บ้านพัก ขณะที่ยังมีรองเลขานุการศาลฎีกาซึ่งเป็นเลขานุการของพยานด้วยเบิกความสนับสนุนว่า ม.ล.ไกรฤกษ์ได้บอกกล่าวเรื่องที่จำเลยมาพบ และยังได้บอกให้พยานช่วยจดบันทึกเหตุการณ์ พร้อมทำบันทึกส่งประธานศาลฎีกาขณะนั้นด้วย
โดยภายหลังยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า เมื่อจำเลยมาพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ที่ห้องทำงานศาลฎีกาแล้ว ม.ล.ไกรฤกษ์ ยังได้เล่าเรื่องให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ตุลาการที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.), ตุลาการรัฐธรรมนูญบางส่วน และ รมว.ยุติธรรมรับทราบ กระทั่งมีการร้องทุกข์ให้มีการติดตามดำเนินคดี ซึ่งตามคำเบิกความของ ม.ล.ไกรฤกษ์ ประจักษ์พยาน และพยานบอกเล่า สอดคล้องกันว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 49 จำเลยได้ขอเข้าพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ ที่ห้องทำงานศาลฎีกา หลังจากได้รับการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ พร้อมพูดขอให้ช่วยเหลือการพิจารณาคดียุบพรรค เพราะจำเลยเป็นหนี้บุญคุณคุณหญิงอ้อ ซึ่งจะมีเงินให้ 15 ล้านบาท โดยจำเลยจะขอส่วนแบ่ง 5% แต่เมื่อ ม.ล.ไกรฤกษ์ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ในวันที่ 22 ต.ค. 2549 จำเลยยังได้ไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ที่บ้านพัก และพยายามพูดถึงการช่วยเหลือการพิจารณาคดียุบพรรคอีก โดยเสนอเพิ่มเงินอีกเป็น 30 ล้านบาท โดยพูดว่า ถ้าผมเป็นหม่อม ผมเอา ขณะที่คำพูดจำเลยว่า เป็นหนี้บุญคุณคุณหญิงอ้อ ทั่วไปก็รับทราบอยู่แล้วว่าคุณหญิงอ้อคือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
การที่จำเลยพยายามไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ และพูดคุยเรื่องการเสนอจะให้เงินถึง 2 ครั้งนั้น การกระทำย่อมเป็นเหมือนกรรมที่เป็นเครื่องชี้เจตนาว่าจำเลยอ้างพูดหยอกล้อในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น แต่ถ้า ม.ล.ไกรกฤษ์ปฏิเสธและแสดงความไม่พอใจในการพูดคุยแล้ว จำเลยก็ควรจะหยุด ไม่ใช่การพยายามไปพบและพูดคุยเรื่องเดิมอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจำเลยก็เป็นอดีตนายตำรวจระดับผู้กำกับการ ย่อมจะต้องรู้จักกาลเทศะว่าสิ่งใดควรพูดไม่ควรพูด สิ่งใดควรทำไม่ควรทำ
นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า แม้จำเลยอ้างไปพบพูดคุยหยอกล้อในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น ม.ล.ไกรฤกษ์ แต่นับตั้งแต่ที่ ม.ล.ไกรฤกษ์ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารของศาล ทั้งตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยก็ไม่เคยโทรศัพท์มาแสดงความยินดีหรือมาพบกับ ม.ล.ไกรฤกษ์ คงพบเจอกันเฉพาะในงานเลี้ยงรุ่นนิติศาสตร์เท่านั้น และถือเป็นครั้งเดียวที่จำเลยมาพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทยแล้ว ส่วนที่จำเลย อ้างว่าได้พูดหยอกล้อเรื่องสินบนเพราะมีการเผยแพร่ทางข่าวมาก่อนแล้วนั้น ปรากฏตามข้อเท็จจริงพบมีการเผยแพร่การสัมภาษณ์เกี่ยวกับข่าววิ่งเต้นคดีผ่านสื่อมวลชนในช่วงเดือน มิ.ย. 2550 ภายหลังที่มีการตัดสินคดียุบพรรคแล้วในวันที่ 30 พ.ค. 2550 ดังนั้นในช่วงเวลาที่จำเลยไปพบ ม.ล.ไกรกฤษ์ จึงยังไม่มีทั้งข่าวสื่อมวลชนและข่าวลือ การกล่าวอ้างของจำเลยจึงขัดต่อข้อเท็จจริง
จากพยานหลักฐานที่นำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยได้เข้าพบ ม.ล.ไกรกฤษ์จริงและมีการพูดเสนอเงินช่วยเหลือพิจารณาคดียุบพรรค โดยพยานโจทก์ก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ซึ่งแม้จะมีการเสนอเงินให้แต่ ม.ล.ไกรกฤษ์ ก็ถือว่าความผิดของจำเลยสำเร็จแล้ว ขณะที่การกระทำของจำเลย ถือเป็นการเห็นแก่ตัว ทำลายความเชื่อถือและศรัทธาของระบบศาลและตุลาการซึ่งถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จึงพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167 ให้จำคุก 3 ปี
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว พ.ต.อ.ชาญชัย จำเลยซึ่งสวมแจ็กเกตสีกรมท่าที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาเพียงลำพัง มีสีหน้าเรียบเฉย
ขณะที่ญาติได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 3 แสนบาทขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ต่อมาศาลอาญาได้พิเคราะห์คำร้องแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 3 แสนบาท