ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โธมัส อัลวา เอดิสัน นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ในระดับโลก ได้เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2446 ว่า
“หมอแห่งอนาคตจะไม่จ่ายยา แต่จะสนใจในคนไข้ของเขาในกรอบการดูแลของมนุษย์ ทั้งในด้านอาหาร ในด้านสาเหตุ และในด้านการป้องกันโรค”
การพยากรณ์ของโธมัส อัลวา เอดิสัน ดูจะมีเค้าโครงความจริงมากขึ้น เพราะการที่หมอจะไม่ต้องจ่ายยา แต่ดูแลด้านอาหาร หาสาเหตุในด้านป้องกันโรคนั้นมีความเป็นไปได้สูงขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่การที่โลกมีอินเตอร์เน็ทที่กว้างขวางมากขึ้น และยิ่งเร็วขึ้น และยิ่งเป็นไปได้มากขึ้นเมื่อโลกสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างไร้ขอบเขตด้วย ยูทูป กูเกิ้ล และโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟสบุ๊ค และไลน์
การที่คนมีข้อมูลมากขึ้น ทำให้เราเริ่มหาเหตุผลการเกิดโรคมากขึ้น และการยับยั้งที่ต้นเหตุได้มากขึ้น วิวัฒนาการที่มีการแบ่งปันข้อมูลได้มากขึ้น ทำให้มนุษย์ในยุคนี้กำลังพึ่งพาข้อมูลอย่างไร้ขีดจำกัด และนั่นหมายถึงมนุษย์จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น พึ่งพายาและหมอน้อยลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
และปรากฏการณ์ “แพทย์แผนอนาคต” กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกวันโดยที่เราไม่รู้ตัว และคนทุกคนก็สามารถเป็นแพทย์แผนอนาคตได้ด้วย เพราะการกิน การอยู่ และพฤติกรรมนั้น ตัวเรานั่นแหละที่รู้ดีที่สุดว่าเราเป็นอย่างไร? และเราต้องการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและโรคอะไรสำหรับตัวเราเอง
แต่ก็ต้องตระหนักเอาไว้ว่า การพึ่งพาข้อมูลที่หลั่งไหลมาอย่างมหาศาลนั้น ก็มีโอกาสที่จะถูก และมีโอกาสที่จะผิดได้ โดยเฉพาะการใช้การบอกเล่า หรือ การใช้ความเห็นของบุคคลต่างๆ ดังนั้นในยุคสมัยนี้ สิ่งที่ควรทำมากที่สุดก็คือ อย่าเชื่อใครง่ายๆ แม้แต่ หมอ เภสัช หรือบุคคลที่เราคิดว่าเขาเชี่ยวชาญ จนกว่าเราจะทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลหลายๆด้านด้วยตัวเอง
ข้อแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นในการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเองในสิ่งแรกๆก็คือ อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือค้นหางานโต้แย้งสิ่งที่เรากำลังสงสัยนั้นก่อน ว่าเป็น “ความเห็น” หรือจากการค้นคว้าและวิจัยที่พิสูจน์ทดลองในทางวิทยาศาสตร์แล้วหรือยัง? แล้วเราได้อ่านงานวิจัยนั้นด้วยตัวเองแล้วหรือยัง?
แต่งานวิจัยก็ในยุคปัจจุบันก็ไม่แน่ว่าจะเชื่อถือได้ ก็ต้องดูว่ามีการได้รับเงินสนับสนุนจากใคร องค์กรใด และมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่?
ถึงแม้จะตรวจสอบดังที่ว่านั้นแล้วก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อทั้งหมด เพราะการศึกษาวิจัยในยุคหนึ่งอาจจะไม่มีวิทยาการที่ตรวจสอบได้อย่างครบถ้วนถูกต้องก็ได้ แต่ต่อมาเราอาจจะเข้าใจจากผลงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ชัดเจนกว่าเดิมก็ได้
หรือบางเรื่องได้ผลดีมากในระยะเวลาอันสั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะยาวขึ้น กลับส่งผลเสียอย่างรุนแรง และอันตรายยิ่งกว่าก็ได้ (ซึ่งเราอาจไม่รู้ได้ในวันนี้)
นั่นหมายถึงว่าถ้าจะเลือกแพทย์แผนอนาคต จะต้องทำใจเปิดกว้าง รับฟังความเห็นแย้ง และหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความเห็นแย้งนั้น และข้อสำคัญที่สุด ต้องพร้อมที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงหากความเชื่อเดิมนั้นไม่ถูกต้อง
เพราะชีวิตคนไม่ใช่เรื่องล้อเล่น !!!
ด้วยข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและทรงพลังยิ่งกว่าเดิมมาก สงครามระหว่างแพทย์แผนปัจจุบัน กับ แพทย์ทางเลือก นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แพทย์แผนปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน กลับเริ่มถูกสงสัยถึงผลข้างเคียงในการรักษาที่ทำให้เกิดโรคลูกโซ่จากการกินยามาก และไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของหลายโรค
แพทย์ทางเลือก จำนวนไม่น้อยที่พยายามแก้ไขที่ต้นเหตุ ก็กลับถูกสงสัยว่าไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะไม่ได้มีงานวิจัยและพัฒนาที่ยาวนานเท่ากับแพทย์แผนปัจจุบัน
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญในแพทย์แผนไทยที่เก่งแล้ว จะสามารถนวดคนที่มีความดันโลหิตสูงให้มีความดันลดลงได้ แต่ก็เกิดเหตุว่าการนวดในแพทย์แผนไทยกำลังถูกเพ่งเล็งโดยแพทย์แผนปัจจุบันว่าเคยเกิดกรณีที่ทำให้เส้นโลหิตแตกในผู้ป่วยโรความดันโลหิตสูง จึงควรห้ามนวดคนที่มีความดันโลหิตสูง ในขณะที่ยาลดความดันโลหิตของแพทย์แผนปัจจุบันบางชนิด ก็กลับทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายประการ เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ ฯลฯ
หรือการสวนล้างทวารลำไส้ ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีการรับฟังความเห็นมาแล้ว วิธีคิดก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะแพทย์แผนปัจจุบันมีความหนักใจเรื่องความเสี่ยงการสวนทวารล้างในผู้ที่มีความเสี่ยงความดันโลหิตสูงที่อาจเพิ่มความดันจนอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกกลับมองว่าความดันโลหิตจะลดลงทันทีเมื่อมีการขับถ่ายภายหลังจากการสวนล้างลำไส้แล้ว จึงมีวิธีบริหารจัดการได้ ไม่จำเป็นต้องกินยาให้เกิดผลข้างเคียง
แพทย์ทางเลือกจำนวนไม่น้อยเป็นมิตรกับการขับพิษ เน้นการขับถ่ายให้มาก แต่แพทย์แผนปัจจุบันก็มีเหตุผลที่น่าเป็นห่วงว่าหากเกิดการขับถ่ายจนสูญเสียเกลือแร่และน้ำมาก ก็อันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
อีกตัวอย่างหนึ่งคือการล้างพิษตับ ที่แพทย์แผนปัจจุบันเป็นห่วงว่าจะเกิดนิ่วในถุงน้ำดีอุดตันท่อน้ำดี จึงจะพยายามจะตั้งมาตรฐานว่าควรจะห้ามคนที่มีนิ่วในถุงน้ำดีเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 0.5 เซนติเมตรแล้วใช้การผ่าตัดแทน เพราะท่อน้ำดีมีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตรเท่านั้น แต่กลับปรากฏมีข้อโต้แย้งกลับมาว่าผู้ที่เข้าหลักสูตรล้างพิษตับจำนวนไม่น้อยมีนิ่วในถุงน้ำดีขนาดใหญ่ถึงกว่า 2-3 เซนติเมตรละลายออกมาโดยไม่ต้องมีการผ่าตัดแต่ประการใด จะให้เสียเงินไปผ่าตัดทำไม?
ถึงแม้จะมีบทพิสูจน์เรื่องการล้างพิษตับว่าช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดีได้ หรือแม้แต่ทำให้ไขมันพอกตับลดลง ลดไวรัสตับอักเสบบีได้ ตลอดจนอาจจะขับสารพิษที่ละลายในไขมันและขับออกมาจากน้ำดีได้ ฯลฯ แต่ก็ต้องมีความรู้รอบในมิติอื่นๆ ด้วย เช่น น้ำดีเป็นมีองค์ประกอบหลักคือคอเลสเตอรอล แต่การล้างพิษตับที่เร่งขับน้ำดีออกมากๆ เช่น การดื่มน้ำมันมะกอกหลายๆแก้วต่อเนื่องกันเพื่อล่อน้ำดีแล้วขับทิ้งด้วยการขับถ่ายมากๆนั้น เมื่อร่างกายสังเคราะห์คอเลสเตอรอลลดลงไปมากๆอาจจะเป็นข่าวร้ายก็ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป เพราะจากสถิติในการศึกษาฟรามิงแฮมกลับพบว่าคนที่คอเลสเตอรอลที่ลดลงหลังอายุ 50 ปี มีแนวโน้มใกล้จะป่วยและเสียชีวิตมากขึ้น ตัวอย่างที่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ อังเดร มอริสต์ ผู้ทรงอิทธิพลในการล้างพิษตับระดับโลก เป็นผู้ที่น่าจะผ่านการล้างพิษตับมากที่สุดในโลก กลับมีอายุขัยเพียง 52 ปีเท่านั้น (เกินสถิติ 50 ปี มาแค่ 2 ปีจากการศึกษาของฟรามิงแฮม) ซึ่งยังไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริงจนถึงทุกวันนี้
บางอย่างถึงแม้คิดว่าดี แต่ถ้ามากเกินพอดี ก็ให้ผลร้ายได้!!!
หรือแม้กระทั่งอาหารฤทธิ์เย็น ถ้าใช้ในคนกลุ่มหนึ่งอาจเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเย็นเกินก็เป็นโทษอย่างมหาศาล หรือแม้แต่อาหารฤทธิ์ร้อนก็เช่นกันอาจจะมีประโยชน์มากกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็อาจจะเป็นโทษกับคนที่ร้อนเกินแล้วก็ได้
ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลทั้งสิ้น และสามารถบริหารจัดการได้หากมีความระมัดระวัง แต่ความสำคัญยิ่งกว่าในการเลือกหนทางเหล่านั้น จะต้องคำนึงถึง “ความเสี่ยงในเรื่องอันตราย” ให้รอบด้าน เพราะรายละเอียดของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นความสำคัญที่สุดของผู้ที่จะแนะนำในแพทย์ทางเลือกก็คือ “ความไม่อันตราย ต้องมาก่อน”
แพทย์แผนอนาคตจึงต้องมีการวิจัยและพัฒนา และหากที่พบข้ออันตราย ก็ต้องรีบพัฒนาการคัดกรองและตรวจทานข้อจำกัดของแต่ละคนด้วยความรับผิดชอบ การแพทย์ทางเลือกจึงจะสามารถพัฒนาต่อไปได้
และเพราะคนแต่ละคนมีความไม่เหมือนกัน ถึงแม้เราจะมีผลการศึกษา งานวิจัย และการทดลองได้ผลดีในคนแล้ว แต่รายละเอียดที่จะเหมาะสมของคนแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน จึงต้องใส่ใจและพัฒนาบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละคนด้วย
สุดท้ายแล้วยังคงยืนยันในทิศทางของแพทย์แผนอนาคตว่า “หมอที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง”