xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาความจริง “เขาว่า” น้ำมันมะพร้าวทำให้เป็นไขมันพอกตับเพิ่มขึ้น จริงหรือเปล่า?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันดีคืนดีก็มีข้อความส่งกันตามไลน์ต่อๆกันมาเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวอีกเป็นระยะๆ เพราะสงครามความเชื่อในการบอกต่อแบบใช้ “ความเห็น”มากกว่าผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก

เพราะแม้แต่คอเลสเตอรอลที่เป็นผู้ร้ายมากว่าครึ่งศตวรรษ ก็กลับกลายเป็นตรงกันข้ามว่าถ้าอายุมากกว่า 50 ปี แล้วคอเลสเตอรอลลดลงเป็นดัชนีชี้วัดว่าเรากำลังจะอายุสั้นลง ใกล้เข้าสู่ความตายมากขึ้น (เพราะคอเลสเตอรอลเป็นแหล่งวัตถุดิบในการสังเคราะห์ ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนต้านความเครียด ฮอร์โมนต้านการอักเสบ เยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มสมอง น้ำดี วิตามินดี ฉนวนหุ้มปลายประสาท) จนที่ปรึกษาในการกำหนดทิศทางอาหารของสหรัฐอเมริกายังต้องออกมาประกาศว่าคอเลสเตอรอลไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอีกต่อไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ที่เกิดขึ้นได้เพราะในยุคนี้เรามีข้อมูลในอินเตอร์เน็ทที่จะค้นหางานวิจัยจำนวนมากมายมหาศาลที่เราไม่เคยได้รู้มากก่อน ได้ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบแล้วถูกนำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย ทำให้การเปลี่ยนแปลงในเรื่อง “ความจริง” กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะทัดทานได้ แม้แต่ประเทศมหาอำนาจที่อยู่ภายใต้กลุ่มทุนอาหารและยาก็ยังไม่สามารถกระแสความจริงเหล่านั้นได้เช่นกัน

เรื่อง “น้ำมันมะพร้าว” ก็เช่นเดียวกัน เราถูกหลอกมาหลายทศวรรษ ให้เปลี่ยนจากน้ำมันอิ่มตัวอย่างน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันหมู ให้มาใช้ไขมันไม่อิ่มตัวมาผัดทอดอาหาร ทั้งน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ฯลฯ โดยเราไม่เข้าใจว่าความไม่อิ่มตัวนี่แหละทำให้น้ำมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้พร้อมจะกลายสภาพถูกอนุมูลอิสระโจมตีได้ และเป็นผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและโรคไขมันพอกตับตามมาอีกมากมาย

และเราคงต้องทำสงครามข่าวสารกันอีกนานหลายยกเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และทำให้สิ้นกระแสสงสัยในทุกประเด็นเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอย่างแท้จริง

เพราะถ้าไขมันไม่อิ่มตัวดีจริง ทำไมประเทศที่เปลี่ยนจากไขมันอิ่มตัวมาผัดทอดอาหาร แล้วหันมาใช้ไขมันไม่อิ่มตัวกลับมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดแทบทุกประเทศ ในขณะที่ประเทศใดที่ใช้น้ำมันอิ่มตัวมากกลับมีอัตราการเกิดโรคหัวใจอยู่ในระดับต่ำมาก!!!?

ในที่สุดดูเหมือนในช่วงหลังเริ่มจะมีการยอมรับมากขึ้นว่าไขมันอิ่มตัวโดนความร้อนดีกว่าไขมันไม่อิ่มตัว แต่ก็ยังไม่วายที่มีการกล่าวโจมตีน้ำมันมะพร้าวว่ามีจุดอ่อนเพราะมีไตรกลีเซอไรด์ “สายปานกลาง” อยู่เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ไขมันอย่างอื่นทั่วโลกล้วนแล้วแต่มีไตรกลีเซอไรด์ “สายยาว” อยู่เป็นส่วนใหญ่

ความจริงแล้วไตรกลีเซอร์ไรด์สายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือมีโมเลกุลสั้นกว่าไขมันอย่างอื่น ทำให้ย่อยง่าย เกิดการเผาผลาญเป็นพลังงานแก่ตับได้อย่างรวดเร็วและไม่ตกค้าง ในขณะที่ไขมันสายยาวๆนั้นต้องการอาศัยการย่อยที่มากกว่า และการใช้เป็นพลังงานช้ากว่าไขมันจากน้ำมันมะพร้าวนั่นเอง

แต่ก็มีการกล่าวต่อๆกันมาว่า น้ำมันมะพร้าวซึ่งมีไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางนั้นเหมาะในการเป็นอาหารให้กับคนป่วย เพราะในยามที่ร่างกายปกติ ร่างกายจะดึงเอาไตรกลีเซอไรด์สายยาวเข้าไปใช้ได้ง่ายโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า L-Carnitine แต่เมื่อร่างกายเจ็บป่วย L-Carnitine จะลดลงทำให้ดูดซึมไตรกลีเซอไรด์สายยาวไม่ได้ แต่หากเราใช้น้ำมันมะพร้าวจะสามารถดูดซึมได้ทันทีแม้ไม่มี L-Carnitine

แต่การส่งข้อมูลดังกล่าวก็กลับมีการโจมตีไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางน้ำมันมะพร้าวว่า หากนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในปริมาณมากๆในคนปกติ ไขมันที่เป็นไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางนี้ก็จะเข้าสู่เซลล์ปริมาณมากอย่างไม่มีเบรก อาจทำให้เราได้รับไขมันมากเกินไป โดยอ้างลอยๆว่ามีการพบความสัมพันธ์ระหว่างไขมันจับในตับกับการใช้ไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางมากเกินไปด้วย

แม้ว่าทุกวันนี้จะมีข้อดีที่ข้อมูลหลั่งไหลมากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายจากโซเชียลมีเดีย แต่ในขณะดียวกันหากไม่ตรวจสอบให้ดีก็อาจตกเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นวิธีการดีที่สุดก็คือ “อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริง”

ตัวอย่างไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง ซึ่งมีมากในน้ำมันมะพร้าวนั้นจะทำให้เกิดไขมันพอกตับได้จริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่บทความนี้จะแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อทำให้สิ้นกระแสสงสัย เกี่ยวกับโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ Non-alcoholic fatty liver disease: (NAFLD) ที่จะนำไปสู่โรคตับอักเสบได้ โดยการทดลองในหนูที่ใช้ไขมันต่างกัน ระหว่างไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง กับ ไตรกลีเซอไรด์สายยาว

เริ่มต้นงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ในการเผยแพร่ของห้องสมุดทางการแพทย์ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า US National Library of Medicine National Institutes of Health หรือที่มักเรียกในวงการสั้นๆว่า PubMed ได้เผยแพร่วารสารการทดลองทางการแพทย์และชีววิทยา (Experimental Biology and Medicine: Maywood) ฉบับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ Medium chain triglycerides dose-dependently prevent pathology in a rat model of non-alcoholic fatty Liver disease. โดย Ronis และคณะ ซึ่งว่าด้วยเรื่องการใช้ไตรกลีเซอรไรด์สายปานกลางในการป้องกันหนูในกลุ่มที่เป็นโรคไขมันพอกตับ

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการทดลองในหนูด้วยการเปลี่ยนจาก “น้ำมันข้าวโพด” ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวและเป็นไตรกลีเซอไรด์สายยาว ให้แทนด้วย “ไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง” ที่มีคาร์บอนต่อกันประมาณ 8-10 ตัว ว่าจะมีผลต่างกันอย่างไร

การทดลองนี้ใช้หนูทดลองที่เลี้ยงด้วยแอลกอฮอล์ เพื่อดูความสามารถของไขมันที่แตกต่างกันจะสามารถป้องกันโรคตับอักเสบและตับที่เสียหายจากแอลกอฮอล์ได้หรือไม่?

กลุ่มหนูตัวผู้ได้รับอาหารให้พลังงานจากน้ำมันข้าวโพดตามสัดส่วนที่แตกต่างกัน แล้วแยกกลุ่มหนูมาแทนด้วย “ไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง” ในสัดส่วนที่แตกต่างกันเป็นเวลา 21 วัน ผลปรากฏว่ากลุ่มหนูที่ทดแทนด้วย “ไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง” จะทำให้ไขมันที่ตับลดลง และทำให้เนื้อเยื่อบริเวณตับที่จะถูกอนุมูลอิสระโจมตีน้อยลงด้วย ฯลฯ

และจากข้อมูลการทดลองที่ค้นพบนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่าการทดแทนไขมันไม่อิ่มตัวอย่างเช่นน้ำมันข้าวโพดด้วยน้ำมันที่เป็น “ไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง” นั้นจะสามารถเป็นประโยชน์และมีศักยภาพในการบำบัดโรคไขมันพอกตับได้

ดังนั้น จากผลการทดลองนี้จึงแสดงให้เห็นว่าไขมันไม่อิ่มตัวและเป็นกรดไขมันสายยาวนั้นก่อให้เกิดอนุมูลอิสระได้ แต่กรดไขมันอิ่มตัวในรูปของ“ไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง” ซึ่งพบมากตามธรรมชาติในน้ำมันมะพร้าว ไม่เพียงแต่จะไม่ทำให้เกิดไขมันพอกตัวเท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันโรคไขมันพอกตับได้ด้วย

งานวิจัยดังกล่าวข้างต้นก็สอดคล้องกับงานวิจัยที่เผยแพร่ในห้องสมุดทางการแพทย์ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (PubMed) ในวารสาร Nutrition & Metabolism เมื่อปี พ.ศ. 2550 ในหัวข้อ Long term highly saturated fat diet dose not induce NASH in Wistar rats. โดย Caroline และคณะ ทำการศึกษาระยะยาวเพื่อดูการให้ไขมันอิ่มตัวสูงมากๆในหนูทดลองว่าจะกระตุ้นการเกิดโรคไขมันพอกตับได้หรือไม่?

การทดลองนี้ได้นำหนูอายุ 21 วัน แล้วเลี้ยงด้วยไขมันสูงมากๆเป็นเวลา 14 สัปดาห์ โดยเลี้ยงด้วยน้ำมันมะพร้าวที่มีไขมันอิ่มตัวสูงถึง 86% แล้วเลี้ยงด้วยการให้กินน้ำมันมะพร้าวจนมีปริมาณแคลอรี่เพิ่มสูงขึ้น 143% เทียบกับหนูปกติ และทดลองเลี้ยงด้วยเนยที่มีไขมันอิ่มตัวสูง 50% จนมีปริมาณแคลอรี่สูงขึ้น 30% เมื่อเทียบกับหนูปกติ และเทียบกับหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันพอกตับสูงขึ้นด้วยการให้อาหารที่ขาดเมไธโอนีน(Methionine) และโคลีน (Choline) ผลปรากฏข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

1. เมื่อจบงานการศึกษาวิจัยชิ้นนี้พบปริมาณพลังงานจากไขมันที่หนูกินเข้าไปจะสูงกว่ากลุ่มหนูมาตรฐาน โดย กลุ่มหนูที่กินน้ำมันมะพร้าวได้รับพลังงานจากไขมันสูงกว่า 45% ในขณะที่กลุ่มหนูที่กินเนยได้รับพลังงานจากไขมันสูงกว่า 42% ในขณะที่หนูกลุ่มมาตรฐานได้รับพลังงานจากไขมัน 7%

2.น้ำหนักตัวของหนูมาตรฐาน ไม่ได้แตกต่างจากหนูที่กินไขมันมากเมื่อจบงานวิจัยชิ้นนี้

3.พบว่ามีปริมาณไขมันตามเนื้อเยื่อสีน้ำตาลของกลุ่มหนูที่กินน้ำมันมะพร้าว และกลุ่มที่กินเนยมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่กลับไม่มีไตรกลีเซอไรด์ที่ตับ ไม่มีไขมันสะสมบริเวณตับ เมื่อเทียบกับหนูมาตรฐานปกติโดยเฉพาะกลุ่มหนูที่กินน้ำมันมะพร้าว และเนื่องจากกลุ่มหนูเหล่านี้กินไขมันอิ่มตัวสูงจึงไม่พบความสัมพันธ์ในการเกิดอนุมูลอิสระบริเวณตับด้วยเช่นกัน

งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปว่าหลังจากการให้กินไขมันอื่มตัวสูงมากๆ “แบบผิดปกติ” ทั้งจากเนยและน้ำมันมะพร้าว สามารถเพิ่มขนาดการสะสมในเนื้อเยื่อไขมันได้โดยไม่ได้เพิ่มน้ำหนัก แต่ไม่พบว่าจะเกิดกระตุ้นทำให้เกิดไขมันพอกตับเพิ่มขึ้นได้แต่ประการใด

คำถามต่อมาคือแล้วอาหารกลุ่มไขมันไม่อิ่มตัวจะทำให้ไขมันพอกตับเพิ่มมากขึ้นได้ไหม?

ปรากฏว่ามีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้เผยแพร่ห้องสมุดทางการแพทย์ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (PubMed) ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal Physiol Gastrointest Liver Physiol เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ในหัวข้อ A new model for nonalcoholic stetohepatitis in the rat utilizing total enteral nutrition to overfeed a high-polyunsaturated fat diet. โดย Baumgardener และคณะ ได้ทดลองหนูกินไขมันที่ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในปริมาณมากๆ (ซึ่งไขมันเหล่านี้พบมากใน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว) ผลสรุปง่ายวิจัยชิ้นนี้พบว่า

หนูที่กินไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งมากๆในระดับเกินกว่าร้อยละ 17 ของปริมาณแคลอรรี่รวมกลับมีไขมันพอกตับคล้ายคลึงกับโรคไขมันพอกตับทางการแพทย์ได้

จะเห็นได้ว่างานวิจัยชิ้นหนึ่งที่กลุ่มหนูกินไขมันอิ่มตัวสูงมากๆโดยเฉพาะน้ำมันมะพร้าวแบบผิดปกติกลับไม่เกิดไขมันพอกตับ แต่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งกลุ่มหนูที่กินไขมันไม่อิ่มตัวมากกลับเป็นโรคไขมันพอกตับได้

เพราะฉะนั้นการโจมตีน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นทั้งไขมันอิ่มตัวและมีไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางเป็นส่วนใหญ่ว่าทำให้ไขมันพอกตับสูงขึ้นนั้น จึงเป็นการส่งต่อกันตามเฟสบุ๊คและไลน์โดยที่ไม่เป็นความจริงตามงานวิจัยแต่ประการใด

ในทางตรงกันข้ามกลับไตรกลีเซอไรด์สายยาวและไขมันไม่อิ่มตัว (ซึ่งได้มากจากน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว) ต่างหากที่ยิ่งกินมากกลับเกิดโรคไขมันพอกตับได้มาก


กำลังโหลดความคิดเห็น