xs
xsm
sm
md
lg

ตอบคำถามคาใจ น้ำมันมะพร้าวทำให้ปอดอักเสบ หรือ การสำลักทำให้ปอดอักเสบกันแน่ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ข้อมูลที่มีมากมายเกี่ยวกับสุขภาพในเวลานี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยและความสับสนมากเกี่ยวกับข้อมูลและองค์ความรู้ที่เคยได้รู้มาและความรู้ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นการจะหาข้อสรุปใดๆก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและรอบคอบเสียก่อนด้วย "ข้อมูล" และ "สติ" แล้วค่อยตัดสินใจ

ตัวอย่างข่าวต่อไปนี้คือข่าวที่พาดหัวหวือหวาให้ตื่นตระหนกว่า "เตือนภัย น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เสี่ยงโรคปอดอักเสบ"

มีแพทย์แผนปัจจุบันท่านหนึ่งเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงน้ำมันมะพร้าวว่า "ทางการแพทย์แล้วยังไม่ทราบประโยชน์ที่แท้จริง" และกล่าวต่อว่า "ทราบเพียงแต่ว่า ในคนอายุสูง คนที่มีโรคทางสมอง และมีปัญหาทางการกลืน มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบจากการสำลักน้ำมันมะพร้าว ที่อม กลั้วปาก และกลั้วคอ"

ในขณะที่แพทย์อีกคนหนึ่ง ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า "อย่าเชื่อตามคำบอกเล่า คำโฆษณา โดยเฉพาะข้อมูลน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่บอกถึงประโยชน์นานาประการ โดยไม่มีการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าจริงเท็จอย่างไร?"

ถ้าตามคำสัมภาษณ์เรื่องนี้เป็นจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะแหล่งที่รวบรวมงานวิจัยทางการแพทย์ ในห้องสมุดทางการแพทย์ ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในวงการแพทย์รู้จักในนาม "PubMed" ได้รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวแล้วรวมทั้งสิ้น 1,598 ชิ้น และยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับกรดลอริกซึ่งเป็นกรดไขมันหลักในน้ำมันมะพร้าวมีจำนวน 1,638 ชิ้น มีงานวิจัยเกี่ยวกับไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางที่มีมากในธรรมชาติเฉพาะในน้ำมันมะพร้าวอีก 2,884 ชิ้น งานวิจัยเกี่ยวกับโมโนลอรินซึ่งได้จากกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าว 138 ชิ้น ครอบคลุมไปถึงการวิจัยที่ระบุประโยชน์หลายด้าน เช่น การทำให้สมองทำงานดีขึ้น การป้องกันและกำจัดการติดเชื้อหลายชนิด การเพิ่มการทำงานของไทรอยด์ การสร้างภูมิคุ้มกัน การทำให้ตับสร้างสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น การป้องกันไขมันพอกตับ การช่วยเรื่องโรคเบาหวาน ปอ้งกันโรคหัวใจ มีประโยชน์การฆ่าเชื้อของการกลั้วปาก การลดอาการข้างเคียงของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังการได้รับคีโม ฯลฯ

แสดงว่าคุณหมอเหล่านี้นี้อาจไม่ได้อ่านงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีมากมายมหาศาลเหล่านี้เลย ใช่หรือไม่?

ตัวอย่างรายชิ้นหนึ่งที่บรรจุอยู่ในห้องสมุดสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา PubMed ตีพิมพ์ในวารสารความก้าวหน้าทางโภชนการ Advances in Nutrition โดย ประชาสังคมอเมริกันเพื่อการโภชนาการเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2556 หัวข้อ "Dietary Fats and Health : Dietary Recommendation in the Context of Scientific Evidence." ซึ่งเป็นรายงานหัวข้อว่าด้วยเรื่อง การบริโภคไขมันและสุขภาพ : คำแนะนำในบริบทของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เขียนโดย Glen D. Lawrence. ที่ได้อ้างอิงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไขมันที่เกี่ยวพันกันอย่างแน่นหนาถึง 133 ชิ้น และสรุปว่า ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนในเรื่องการห้ามการบริโภคไขมันอิ่มตัวใหม่หมด และเห็นว่าไขมันไม่อิ่มตัวกลับสร้างปัญหาให้กับมนุษย์อย่างมาก อีกทั้งยังกล่าวถึงน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นน้ำมันอิ่มตัวว่าการบริโภคน้ำมันมะพร้าวมากๆนั้นได้แสดงผลให้เห็นถึงการลดความเสี่ยงต่างๆในโรคหลอดเลือดแดงของหัวใจด้วย (Coronary artery diseae/CAD). (โดยการอ้างอิงงานวิจัยของ PubMed จาก Chattejee C, Sparks DL. Hepatic lipase, high density lipoproteins and hypertriglyceridemia. Am J Patho. 2011; 178:1429-33)

และข้อที่น่าสนใจสำหรับข่าวที่มีการระบุว่าการดื่มน้ำมันมะพร้าวทำให้ปอดอักเสบนั้น มีนายแพทย์ท่านหนึ่งเชื่อว่าเป็นไขมันจากน้ำมันมะพร้าวเพราะ 1. ปอดมีสีข่าวขุ่น 2. เสมหะมีไขมันขาวขุ่นปนลอยเหนือน้ำ 3. คนๆนั้นดื่มน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำ

จากการศึกษาผลงานวิจัยจากต่างประเทศมามากพอสมควร พบว่าการจะสรุปว่าไขมันที่ว่านั้นเป็นอะไรอยู่ในอวัยวะใดในร่างกายมนุษย์นั้นหากไม่มีการแยกโครงสร้างทางเคมีของกรดไขมันแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลย!!!

เพราะในชีวิตประจำวันเราบริโภคหรือสูดดมควันจากน้ำมันอยู่หลายชนิด ทำได้อย่างดีที่ทีสุดก็คือตรวจดูว่า องค์ประกอบของกรดไขมันนั้นมีชื่อว่าอะไร และสัดส่วนเท่าไหร่ จึงจะพอสรุปได้ว่ามี "โอกาส" จะเป็นไขมันที่ปนมานั้นได้จากอะไรได้บ้างและ กี่เปอร์เซ็นต์ ?

เพราะแม้แต่กรดลอริกที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว ก็ไม่ได้มีเฉพาะน้ำมันมะพร้าวอย่างเดียว แต่มีในน้ำมันแก่นปาล์ม น้ำมันปาล์ม เนยเหลว เพียงแต่มีอยู่ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน หรือแม้แต่กรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวก็มีอยู่ในน้ำมันแทบทุกชนิดเพียงแต่มีในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน

นี่คือเหตุผลว่าทำไมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ไขมันในร่างกาย รวมถึงไขมันตามหลอดเลือดจึงระบุเฉพาะจำนวนสัดส่วนของกรดไขมันมากกว่าที่จะระบุได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่ามันคือน้ำมันจาก "ชื่ออาหาร" ว่าอะไร? หรือ จากน้ำมันอะไร?

เพราะในความเป็นจริงแล้วเป็นที่ทราบกันดีว่า น้ำมันมะพร้าวจะมีสีขาวขุ่นหรือก่อรูปเป็นไขสีขาวขุ่นได้เมื่ออุณภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ในร่างกายมนุษย์มีอุณหภูมิสูงถึง 36-37 องศาเซลเซียส ไม่สามารถก่อรูปเป็นไขสีขาวขุ่นได้เลย

การสรุปว่าเป็นน้ำมันมะพร้าวในข่าวชิ้นนี้จึงอยู่ในระดับการ "สันนิษฐาน" ว่าเป็นน้ำมันมะพร้าว จากการสังเกตพฤติกรรมการดื่มน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำ โดยไม่ได้สนใจว่ามีการบริโภคอาหารผ่านน้ำมันอื่นด้วยหรือไม่ และถึงแม้สมมุติว่าจะอยู่ในระดับการสันนิษฐาน แต่ก็เห็นว่ามีประโยชน์ที่จะรับฟังและระมัดระวังไม่ให้เกิด "การสำลัก" โดยเฉพาะผู้สูงวัยและมีอาการทางสมองอยู่ดี

แต่การ "สำลัก" แม้ไม่ต้องเป็นน้ำมันมะพร้าว จากรายงานชิ้นนี้ก็ระบุเองว่า แม้แต่น้ำมันระหุ่งในอดีตก็ทำให้เกิดการสำลักและทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้

ก็หมายความว่าความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำมันมะพร้าวเลย น้ำมันที่บริโภคชนิดไหน ก็สามารถทำให้เกิดปอดอักเสบได้ถ้า "สำลัก"

และความจริงเสียยิ่งกว่านั้น หากมีปัญหาในการกลืนกิน และสำลักง่าย ไม่ต้องเฉพาะน้ำมันหรอก ต้องรวมไปถึงน้ำและอาหารทุกชนิดก็สามารถหลุดเข้าไปในปอด และทำให้ปอดอักเสบได้ทั้งสิ้น เพราะการสำลักในระหว่างการบริโภคอาหารทั่วไปก็ทำให้เสียชีวิตได้เฉียบพลันเช่นกัน

และอาจจะเกิดคำถามยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคนๆนั้นมีปัญหาทางสมอง และมีอาการสำลักหรือปัญหาการกลืนกิน จะสามารถรับประทานอาหารต่อไปได้หรือไม่ และสามารถรับประทานยาที่หมอจ่ายให้ได้ต่อไปหรือไม่?

และจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากถ้าจากผลของการสำลักเกิดขึ้นในผู้ป่วยทางสมอง แล้วจะห้ามคนมีอาการป่วยทางสมองบริโภคอาหารที่เป็นน้ำมัน!!!!

เพราะจากงานวิจัยพบว่าการบริโภคไขมันสูงๆ พร้อมๆกับการงด/ลดแป้งและน้ำตาลให้ต่ำสุดที่เรียกอาการกลุ่มนี้ว่า "คีโตเจนิค ไดเอ็ด" (Ketogenic Diet) นั้นสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองเสื่อมและเสียหายให้ดีขึ้นได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยสารอาหารที่ตับจะสังเคราะห์ "คีโตน"ให้เป็นอาหารแก่สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยเรื่อง โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน

ตัวอย่างงานวิจัยใน PubMed ตีพิมพ์ในวารสาร Behevioural pharmacology ในปี พ.ศ.2549 โดย Maciej Gasior และคณะ หัวข้อ Neuroprotective and disease-modifying effects of the ketogenic diet. ซึ่งศึกษาการบริโภคอาหารไขมันสูงโดยให้แป้ง-น้ำตาลต่ำที่เรียกว่า คีโตเจนิค ไดเอ็ด ป้องกันของระบบประสาทและโรคที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รวบรวมการอ้างอิงผลงานการวิจัย 114 ชิ้น พบว่า

"อาหารคีโตเจนิค ไดเอ็ด (อาหารไขมันและน้ำมันสูง) มีความสัมพันธ์ในการเพิ่มระดับของ "สารคีโตน" และทำให้เกิดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสมอง และรวมถึงการทำงานของไมโตคอนเดรียในสมอง"

ย้อนกลับไปในการศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 ในวารสาร Neurobio Aging ตีพิมพ์ในหัวข้อ "Effects of beta-hydroxybutyrate on congnition impaired adults" โดย Reger และคณะ พบว่า:

"กรดไขมันสายปานกลาง (ซึ่งมีมากในน้ำมันมะพร้าว) สามารถพัฒนาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นระดับของความจำพัฒนาขึ้นซึ่งสอดคล้องกับระดับของสารคีโตนในกระแสเลือด ซึ่งได้ถูกผลิตมาจากกระบวนการออกซิเดชั่นจาก "กรดไขมันสายปานกลาง" เมื่อสารคีโตนสามารถพัฒนาความทรงจำได้ อาหารคีโตเจนิคในกลุ่มกรดไขมันายปานกลางซึ่งสามารถเพิ่มระดับสารคีโตนได้ ย่อมส่งผลทำให้พัฒนาความทรงจำได้"

และรวมถึงงานงานวิจัย 10 ปีต่อมา ใน PubMed ในปี พ.ศ. 2557 ในหัวข้อ "Nutrition and preventation of Alzheimer's dementia" ซึ่งศึกษาว่าด้วยเรื่องการโภชนาการและการป้องกันของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดย Arun Swaminathan และ Gregory A. Jicha ได้ศึกษาและอ้างอิงงานวิจัยกว่า 88 ชิ้น ได้กล่าวถึง ไตรกลีเซอร์ไรด์สายปานกลาง หรือกรดไขมันสายปานกลาง ซึ่งมีมากในน้ำมันมะพร้าว พบว่า

"อาหารที่เป็นน้ำมันเหล่านี้สามารถเป็นพลังงานทางเลือกให้กับสมอง และแนะนำให้กับกลุ่มที่เป็นโรคสมองเสื่อมและภาวะเบาหวานชนิดที่สองที่จะนำไปสู่การเป็นโรคอัลไซเมอร์"

ดังนั้นถ้าคิดว่า "การสำลัก" เป็นปัญหาสำหรับกลุ่มมีความผิดปกติทางสมอง และพาร์กินสัน ก็ต้องแก้ที่การป้องกันการสำลักมากกว่าการห้ามดื่มน้ำมันมะพร้าวจริงไหม? เช่น การดื่มทีละน้อย หรือการดื่มน้ำตาม หรือรับประทานผ่านแคปซูล หรือไม่ก็ต้องรับประทานผ่านอาหารอย่างอื่น ฯลฯ วิธีเหล่านี้ดูจะเป็นคำตอบได้ชัดเจนกว่าห้ามดื่ม เพราะถ้าดื่มไม่ได้ หรือรับประทานผ่านแคปซูลไม่ได้ ก็ต้องตั้งคำถามว่าหมอจะจ่ายยาแก้สมองเสื่อมได้อย่างไร? และโรงพยาบาลจะให้อาหารคนไข้ได้อย่างไรจริงไหม?

แต่สำหรับคนที่มีปัญหาปอดมากขึ้นนั้น ความจริงแล้วเกิดจากอะไร อาจจะต้องหาสาเหตุที่แท้จริงยิ่งกว่านั้น เพราะรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งแต่เดือนมกราคม -มิถุนายน พ.ศ. 2558 รายงานพบว่ามีฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยในปี 2557 มีค่าเกินมาตรฐานเฉลี่ย 32% แต่ 6 เดือนแรกปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 42% ซึ่งเป็นมลพิษที่อันตราย (มาจาก การเผาไหม้น้ำมันที่ใช้ในการขนส่ง, การเผาไหม้ในโรงงาน ควันน้ำมันปรุงอาหารตามร้านอาหาร, ฝุ่นจากการก่อสร้าง ฯลฯ) ฝุ่นเหล่านี้มีมากขึ้นเกินมาตรฐานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำปาง ระยอง สมุทรสาคร และสงขลา ที่สามารถทำให้คนเป็นโรคปอดได้จริงมากขึ้น โรคหัวใจมากขึ้น มะเร็งที่ตับ ไต ถุงน้ำดี รวมถึงมะเร็งที่ปอดมากขึ้นด้วย ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาสำคัญยิ่งกว่าน้ำมันมะพร้าวเสียอีก

ส่วนคุณหมอทั้งหลายที่คิดว่าคนที่สนับสนุนน้ำมันมะพร้าวนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลนั้น ลองกลับไปอ่านงานวิจัยเสียหน่อยก็คงจะดี


กำลังโหลดความคิดเห็น