xs
xsm
sm
md
lg

ตัด9.6แสนรายเลิกใช้ไฟฟรี ลงทุนท่อน้ำมันเหนือ-อีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กพช. ไฟเขียวโครงสร้างค่าไฟใหม่ (ปี58-60) สร้างความเป็นธรรมในการใช้ไฟฟ้าให้ประชาชน พร้อมปรับเกณฑ์คุมเข้มใช้ไฟฟรีไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนให้ผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริง ตัดสิทธิ์ 2 กลุ่มหลักรวม 9.6 แสนราย คิดเป็นเงินประหยัดได้ 1,500 ล้านบาทต่อปี สั่งปลดแอก กฟผ. ไม่ต้องซื้อน้ำมันเตาจาก ปตท. รายเดียวอีกต่อไป อนุมัติลงทุนท่อน้ำมันไปเหนือ-อีสาน 3 เส้นทางวงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วานนี้ (13 ส.ค.) ว่า กพช.ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 ใหม่ที่จะใช้ตั้งแต่ปี 2558-60 ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอ เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและสร้างความเป็นธรรมในการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะมีการทบทวนหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนใหม่ เพื่อให้มาตรการนี้เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี

***ตัดสิทธิ9.6แสนรายเลิกใช้ไฟฟรี

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ. ได้พิจารณาทบทวนเกณฑ์การใช้ไฟฟรีใหม่เพื่อให้มีความรัดกุมมากขึ้นใน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มนิติบุคคลที่เป็นหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ไม่มีการใช้ไฟจริงแต่อย่างใด จึงตัดสิทธิ์กลุ่มนี้ประมาณ 2 แสนราย คิดเป็นเงินที่ประหยัด 110 ล้านบาทต่อปี และ 2.กลุ่มผู้ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนไม่ติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีบ้านหลังที่ 2 อีก 9.4 แสนรายคิดเป็นเงินที่ประหยัด 1,400 ล้านบาทต่อปี โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มใช้ตั้งแต่ม.ค.2559

โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ไฟฟรีไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน 4.1 ล้านราย คิดเป็นเงินที่รัฐอุดหนุน 3,500-3,600ล้านบาทต่อปี

***ไม่เลิกเก็บค่าบริการ38บาทต่อบิล

นายวีระพลกล่าวว่า สำหรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนต.ค.2558 และมีผลในบิลค่าไฟฟ้าพ.ย.2558 โดยหลักการจะเป็นการประกาศโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานที่มีการรีเซ็ทการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ไว้รวมกับค่าไฟฐาน ซึ่งแนวโน้มค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.27 บาทต่อหน่วยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ค่า Ft จะต้องรอการพิจารณางวดก.ย.-ธ.ค.58 นี้ ก่อนว่าจะเป็นอย่างไรซึ่งยอมรับว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างมากจะมีผลกระทบค่อนข้างสูง แต่ภาพรวมค่าไฟฟ้าคงไม่ขึ้น แต่จะลดได้หรือไม่ต้องรอพิจารณาอีกครั้ง

"กรณีการลดค่าบริการที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟนั้น ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งยอมรับว่าคงจะไม่ลดลงจากปัจจุบันที่เก็บ 38 บาทต่อบิล เพราะทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายยืนยันต้นทุนจริงสูงถึง 43 บาทต่อบิล ส่วนกรณีจ่ายค่าบริการผ่านเคาท์เตอร์เซอร์วิสต้องจ่ายเพิ่มอีก 10 บาทต่อบิล ก็ดูอยู่ว่าจะให้ทางการไฟฟ้ารับภาระนี้ได้หรือไม่"นายวีระพลกล่าว

***ปลดแอก"กฟผ."ซื้อน้ำมันเตาจากปตท.

นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กพช. ได้เห็นชอบยกเลิกสิทธิพิเศษในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวนตั้งแต่ 10,000 ลิตรขึ้นไประหว่างบมจ.ปตท. และ กฟผ. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดหาเชื้อเพลิงของ กฟผ. และสอดคล้องกับหลักการภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
โดยก่อนหน้านี้ มติครม.ปี 2545กำหนดให้ กฟผ. ต้องซื้อน้ำมันเตาจาก ปตท. 80% ที่เหลือจึงจะซื้อจากรายอื่นได้ ขณะเดียวกันได้มอบให้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประสานกับคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อหาแนวทางยกเลิกสิทธิพิเศษการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นเดียวกันนี้ในส่วนของราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ

***อนุมัติลงทุนท่อน้ำมันไปเหนือ-อีสาน6.47หมื่นล.

นายคุรุจิตกล่าวว่า กพช. ยังเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (SPA) ระหว่าง บมจ.ปตท.กับบริษัท เชลล์อีสเทิร์นเทรดดิ้ง (PTE) และบริษัท บีพี สิงคโปร์ PTE ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวปริมาณรายละ 1 ล้านตันต่อปี (รวม2ล้านตันต่อปี) และการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปตท.จะเริ่มซื้อล็อตแรกเม.ย.2559

พร้อมกันนี้ ยังเห็นชอบแนวทางการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.สระบุรี-ลำปาง 2.สระบุรี-ขอนแก่น 3.ระยอง -สระบุรี รวมเงินลงทุน 64,768 ล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบการรายเดิม หรือผู้ค้าน้ำมันหรือเอกชนรายอื่นเป็นผู้พัฒนาโครงการซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งน้ำมันทางรถ

*** ซื้อไฟ3จ.ชายแดนใต้4อ.สงขลา50เมกะวัตต์

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า กพช.ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงานพ.ศ. 2558-79 (EEP 2015) ที่กำหนดเป้าหมายจะลดความเข้มข้นการใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2579 จากเดิม 25% เป็น 30% เมื่อเทียบกับปี 2553 ส่วนแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก กพช. เห็นชอบมาตรการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ4อำเภอใน จ.สงขลา ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอ ได้แก่ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี กำลังผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ด้วยวิธีแข่งขันราคา (FiT Bidding) เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น