มติ กพช.ให้เอกชนขยายท่อส่งน้ำมันทางท่อไปเหนือ-อีสาน เผยขยายจากสระบุรีต่อไปยังภาคเหนือสิ้นสุดที่ลำปาง ส่วนภาคอีสานสิ้นสุดที่ขอนแก่น เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี หวังประหยัดค่าขนส่ง พร้อมมอบ กบง.ดูค่าบริหารขนส่งน้ำมันทางท่อ ระวังอำนาจเหนือตลาด พร้อมยกเลิกสิทธิพิเศษขายน้ำมันของ ปตท.กับ กฟผ.ตั้งแต่ 10,000 ลิตรขึ้นไป ให้เกิดความโปร่งใส เผยที่ประชุมสั่งแจงความมั่นคงด้านพลังงานกับกลุ่มผู้คัดค้านโครงการรัฐ ดึงบุคคลที่ 3 ร่วมชี้แจง
วันนี้ (13 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (Energy Efficiency Plan; EEP 2015) ที่กำหนดเป้าหมายจะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity : EI) ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2579 จากแผนเดิมร้อยละ 25 เพิ่มเป็นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งเป็นการปรับแผนเดิมให้สอดรับกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปรับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งตามนโยบายรัฐบาล
ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงานให้เข้มข้นขึ้น ภายใต้ 3 กลยุทธ์ 10 มาตรการ 4 กลุ่มเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการบังคับกลุ่มโรงงานและอาคารรวมถึงอาคารภาครัฐด้วยพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นที่อาจจะนำค่าธรรมเนียมพิเศษในการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินมาตรฐานที่กระทรวงพลังงานกำหนดมาบังคับใช้ การกำหนดให้อาคารใหม่ที่จะก่อสร้างต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานต่อพื้นที่ และมาตรการร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงประชาชนในการลงทุนเพื่อลดใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ การเปลี่ยนหลอดไฟแสงสว่างเป็นหลอด LED การปรับปรุงบ้านหรืออาคาร โรงงานให้ลดการใช้พลังงานลง นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวด้วย รวมถึงเรื่องสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลคือการปรับโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และการรณรงค์สร้างจิตสำนึกสร้างวินัยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและประหยัด
“คาดว่าจะสามารถลดความต้องการใช้พลังงานของประเทศลง คิดเป็นมูลค่ากว่า 8.5 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานจะรายงานผลการดำเนินงานตามแผนฯ ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับด้านการขับเคลื่อนแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก กพช. ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยให้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี ในปริมาณกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 50 เมกะวัตต์ ด้วยวิธีแข่งขันด้านราคา (FiT Bidding) แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ได้แก่ แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย กะลาปาล์ม หญ้า หรือเศษวัสดุจากการเกษตรอื่นๆ กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 30-40 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ หรือก๊าซที่เกิดขึ้นจากการหมักย่อยสลายของน้ำเสีย ของเสียต่างๆ กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 10-20 เมกะวัตต์
ในส่วนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ กพช.ได้เห็นชอบในหลักการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบผสมกับน้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 23 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มชั่วโมงการเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่และให้พิจารณานำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนน้ำมันเตา ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรสวนปาล์มที่มีล้นตลาดอยู่ 200,000 ตัน โดยให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มปริมาณไม่เกิน 15,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ และมอบหมายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแลการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและผลกระทบต่อราคาไฟฟ้าเป็นสำคัญ
พร้อมทั้งได้พิจารณาเห็นชอบให้เลื่อนวันกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จากเดิมภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เป็นวันที่ 30 กันยายน 2559
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 ตามที่ กกพ. เสนอ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงานตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 เพื่อกำกับดูแลราคาให้มีความเหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และสร้างความเป็นธรรมกับผู้บริโภค เพื่อประกาศใช้ภายในปี 2558 และเมื่อ กพช.เห็นชอบนโยบายโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2559-2563 แล้วให้ กกพ.ทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าตามนโยบายดังกล่าว สำหรับประกาศใช้ภายในปี 2560 ต่อไป
รวมทั้งที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้ผู้ประกอบการรายเดิม หรือผู้ค้าน้ำมัน หรือเอกชนรายอื่น เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาโครงการฯ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี โดยให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนโครงการ และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลค่าบริการขนส่งน้ำทางท่อ การมีอำนาจเหนือตลาด ป้องกันการผูกขาด ให้ความคุ้มครองผู้ค้าน้ำมันและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและได้รับบริการที่เป็นธรรม จนกว่าจะมีการกำหนด ปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อในอนาคต
“ให้ผู้ประกอบการรายเดิม ผู้ค้าน้ำมัน และเอกชนรายอื่นดำเนินการพัฒนาโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อที่ปัจจุบันสิ้นสุดที่จังหวัดสระบุรี ขยายต่อไปยังภาคเหนือ สิ้นสุดที่จังหวัดลำปาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ช่วยให้ประหยัดค่าขนส่ง”
รวมทั้งยกเลิกสิทธิพิเศษในการจำหน่ายน้ำมันเชื่อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน ตั้งแต่ 10,000 ลิตรขึ้นไป ระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้ความคล่องตัวในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงของ กฟผ. โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขัน ความโปร่งใส เป็นธรรมของการค้า และสอดคล้องกับหลักการภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า โดยมอบหมายให้ สนพ.ไปประสานกับคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ เพื่อหาแนวทางในการยกเลิกสิทธิพิเศษสำหรับการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ตั้งแต่ 10,000 ลิตรขึ้นไป ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (SPA) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Shell Eastern Trading (PTE) LTD และ บริษัท BP Singapore PTE. Limited ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวในปริมาณรายละ 1 ล้านตันต่อปี (รวม 2 ล้านตันต่อปี) และการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในลักษณะสัญญาระยะยาวนี้จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและมีราคาที่ไม่ผันผวน โดนให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาซื้อขาย LNG ภายหลังจากร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว
มีรายงานว่า ที่ประชุมฯ รับทราบว่า การสร้างการรับรู้ในเรื่องการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการอธิบายชี้แจงถึงเหตุผล หลักการ ตลอดจนการดำเนินการที่โปร่งใสเป็นธรรมและให้มีการแข่งขันโดยเสรี อีกทั้งต้องมีการชี้แจงให้สังคมรับทราบด้วยหากดำเนินการไม่ได้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับผู้บริโภค ขณะเดียวกันให้ “ขอความร่วมมือกับบุคคลที่สาม” เข้ามาร่วมอธิบายชี้แจงให้ประชาชนและสังคมได้รับรู้และทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการในการที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเชื่อใจต่อการดำเนินดังกล่าว