ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีเลี่ยงใช้เส้นทางปกติออกจากทำเนียบรัฐบาล หนีการชุมนุมของกลุ่มปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกระทรวงพลังงาน ร่อนเอกสารข่าวในทางเดียวกัน ตะแบงทำแล้วไม่กระทบ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว “ไพศาล พืชมงคล” น้ำลายเชลแล็ก วอนกลุ่มต้านฟังรัฐบาลตัดสินใจ
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยเลี่ยงใช้เส้นทางปกติที่เคยออกทางประตู 2 ผ่านสะพานชมัยมรุเชฐ เปลี่ยนไปออกทางประตู 5 ตรงข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน เพื่อเลี่ยงกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่เคลื่อนไหวมาประชิดรั้วหน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ทั้งนี้ โดยปกติเมื่อนายกรัฐมนตรีจะเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ขบวนรถจะมาจดรอที่หน้าทางเข้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะลงมาขึ้นรถ แต่วันนี้นายกรัฐมนตรีได้มายืนรอเพื่อขึ้นรถออกไปทันที ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด
ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แจกจ่ายเอกสารข่าวไปยังสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ระบุหัวข้อ “กฟผ. แจงความจำเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ พร้อมสร้างระบบส่งหนุนพลังงานทดแทน” โดยนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ.ชี้แจงว่า กฟผ.พร้อมสร้างความเข้าใจและรับฟังข้อวิตกกังวลต่างๆ และยินดีรับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานโครงการ เนื่องจากการผลิตพลังงานทุกชนิดย่อมมีทั้งข้อดี และข้อจำกัด แต่เทคโนโลยีทันสมัยและระบบจัดการตามมาตรฐานสากล สามารถควบคุมมลภาวะได้ดีกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหลายเท่าตัว ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ และชุมชน สามารถตรวจสอบได้ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีความจำเป็นในการเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป กำลังผลิตไฟฟ้าที่พึ่งได้ ในพื้นที่ภาคใต้จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า หากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการควบคุมมลภาวะ และยังมีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเพียง 2.70 บาท ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในระยะยาวไม่สูงเกินไป
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในปี 2555 กฟผ.ได้นำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากชุมชนมาศึกษาทุกกลุ่มเพิ่มเติม ทั้งกลุ่มประมง และท่องเที่ยว ประกอบการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เช่น เรื่องการสร้างท่าเรือ การขนส่งถ่านหินที่เป็นผลจากการร่วมปรึกษาหารือกับชุมชน สำหรับเส้นทางการขนส่งถ่านหินจะใช้เส้นทางเดียวกับเรือขนส่งปัจจุบัน รวมทั้งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันเตาซึ่งใช้มาจริงตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อจุดดำน้ำ แหล่งปะการัง และหญ้าทะเลใดๆ นอกจากนี้ โครงการยังได้ออกแบบติดตั้งระบบดักจับไอปรอทเพิ่มเติม เพื่อลดความวิตกกังวลเรื่องสารโลหะหนัก และกำหนดค่าควบคุมมลภาวะทุกตัว เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละอองและโลหะหนัก ดีกว่ามาตรฐานทางกฎหมายถึง 3 เท่าตัว
สำหรับความวิตกกังวลเรื่องผลกระทบต่อการท่องเที่ยวนั้น ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ของ กฟผ.ได้คำนึงถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ที่มุ่งสู่การเป็นเมืองสีเขียว (Krabi go green) การออกแบบของโรงไฟฟ้าและมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กฟผ.ได้กำหนดนโยบายพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยของจังหวัด ที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศและเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต่างๆ ของโลก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้การท่องเที่ยวลดลง
ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซนต์นั้น ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.มีแผนระยะสั้นและระยะยาวในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเตรียมพัฒนาระบบส่งรองรับทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จเพื่อให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ รวมทั้งการรับซื้อน้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่เพื่อช่วยพยุงราคา ซึ่งหากใช้ราคาประกัน ต้นทุนไฟฟ้าจะประมาณ 5.80 บาท เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่ง คือการพัฒนาพลังงานทดแทนจะไม่สามารถพัฒนาให้ทันกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก จะต้องพัฒนาพร้อมๆ กันจำนวนมาก โรงไฟฟ้าหลักยังจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งทุกประเทศที่สนับสนุนพลังงานทดแทนก็จะต้องมีโรงไฟฟ้าหลักอย่างเพียงพอควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม ประชาชนคงต้องยอมรับด้วยว่า จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเช่นกัน เช่น ค่าไฟฟ้าของเยอรมนี หน่วยละ 12 บาท ซึ่งผลมาจากการอุดหนุนพลังงานทดแทน
ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวในท้ายที่สุดว่า จากเหตุผลที่กล่าวมา โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จึงมีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้าทั้งในภาพรวมและพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปตามแผน PDP 2015 โดยจะนำปัจจัยต่างๆ และข้อวิตกกังวลมาพิจารณาอย่างรอบด้าน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ มาดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าได้อย่างเกื้อกูลกัน
อีกด้านหนึ่ง กระทรวงพลังงานได้ส่งเอกสารข่าวผ่านทางสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่ง เช่นกัน ระบุหัวข้อ “ก.พลังงาน ย้ำความจำเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด คือทางออก สร้างความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ และรักษาระดับค่าไฟฟ้าของคนทั่วประเทศไม่ให้สูงขึ้น แจงที่ผ่านมาได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยระบุว่า นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานขอชี้แจงถึงกรณีที่มีกลุ่มคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2. เสนอให้เลื่อนการเปิดประมูลโครงการฯ ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ออกไปไม่มีมีกำหนด 3. การตั้งคณะกรรมการร่วมกันก่อนมีการพิจารณาใดๆ นั้น
กระทรวงพลังงานขอน้อมรับฟังความคิดเห็นพร้อมยืนยันว่า การเตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ที่ จ.กระบี่ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ครบถ้วนตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และได้มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของทั้ง 2 โครงการควบคู่กันมาต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงพลังงานขอให้ประชาชนในพื้นที่ มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ความจำเป็นของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ที่ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ ของ กฟผ.อยู่แล้วนั้น ก็เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอในอนาคตและเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีแนวโน้มของการใช้ไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงเกือบร้อยละ 70 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ที่สำคัญต้นทุนของเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ช่วยให้เศรษฐกิจของไทยก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคงและแข่งขันได้ในเวทีโลก เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ที่ราคาแพงกว่า
นอกจากนี้ หากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ (LNG) เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาค่าไฟฟ้าที่จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิง กระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคมไทย รวมถึงการท่องเที่ยวและการพาณิชย์บริการด้วย และยังจะกระทบต่อคนไทยส่วนใหญ่ที่อาจต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น หากโครงการโรงไฟฟ้าฯ ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดตามข้อเรียกร้อง” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวเสริมท้าย
ส่วนนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความลงยังเฟซบุ๊กส่วนตัว “Paisal Puechmongkol” ระบุว่า “ทำไมถึงเลือกฝั่งทะเลกระบี่ที่อุดมและสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นเลิศของโลกเป็นที่ตั้งโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 1. อยู่ฝั่งทะเลอันดามันขนถ่านหินราคาถูกจากต่างประเทศได้ 2. ตั้งโรงงานที่นี่มีกำไรสูงเพราะขนถ่านหินเข้ามาได้มาก สะดวก ต้นทุนถูก 3. การเลือกพื้นที่นี้จะทำลายสภาพแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนตลอดฝั่งทะเลอันดามัน กระทบแหล่งท่องเที่ยวมาก
4. ถ่านหินสะอาดไม่มีในโลก เพราะถ่านหินทุกชนิดมีมลภาวะที่เป็นพิษทั้งสิ้น บทเรียนที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยชัดเจนแล้ว 5. สามารถเพิ่มการผลิตไฟฟ้าโดยวิธีอื่นได้หลายวิธี ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่เท่านั้น กรณีจึงน่าที่จะปรึกษาหารือทำความเข้าใจกันได้ ไม่พึงดึงดันไปทางใดทางหนึ่งโดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องของคนในพื้นที่ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนเลย และ 6. ถ้าตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่ทั้งพื้นที่ตลอดฝั่งทะเลสิ้นทางหากิน คนรวยมีคนเดียวคือเจ้าของโรงงานถ่านหิน เคารพประชาชน ฟังเสียงประชาชน ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่คือหัวใจประชาธิปไตย พี่น้องประชาชนก็ใจเย็นๆ ขั้นตอนยังมีอีกยาว รอฟังรัฐบาลท่านตัดสินใจทางออกย่อมมีที่ดีเสมอ”