xs
xsm
sm
md
lg

1ปีสนช.ออกกม.108ฉบับถลุง300ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เปิดเผยรายงานจับตาการทำงาน 1 ปีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบใช้งบประมาณเกือบ 300 ล้านบาท พิจารณากฎหมาย 130 ฉบับ ผ่าน 108 ฉบับ ไม่ผ่าน 0 ขณะที่มีการแต่งตั้ง 28 ตำแหน่ง ถอดถอน และตัดสิทธิทางการเมือง 4 ตำแหน่ง การพิจารณากฎหมายเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีเสียงค้านน้อย ขณะที่การถอดถอนนักการเมืองพบว่า ความเห็นในสภายังมีหลากหลาย
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ติดตามการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อันเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เปิดเผยรายงานสรุปผลการทำงานของ สนช. โดยไอลอว์ ติดตามเก็บข้อมูลการพิจารณากฎหมายและการแต่งตั้ง ถอดถอนบุคคลสำคัญ มาตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2558 เป็นเวลาครบ 1 ปี พอดี
การทำหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายที่ผ่านมาสนช. พิจารณากฎหมายไปทั้งสิ้น 130 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบเรียบกร้อยแล้ว 108 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. อีก 22 ฉบับ และหากแบ่งการร่างกฎหมาย 130 ฉบับ ตามผู้เสนอ จะเห็นว่า คณะรัฐมนตรีเสนอมากที่สุดคือ 105 ฉบับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 21 ฉบับ สมาชิกสนช. เป็นผู้เสนอ 3 ฉบับ และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ (ป.ป.ช.) 1 ฉบับ
ขณะที่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาแล้วจำนวน 108 ฉบับ ถูกเสนอโดย 23 หน่วยงาน กระทรวงการคลัง เสนอมากที่สุดอย่างน้อย 18 ฉบับ รองลงมาคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างน้อย 9 ฉบับ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงคมนาคม เสนอกฎหมายไปอย่างน้อย 7 ฉบับ
เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการออกฎหมายของ สนช. พบว่าตลอด 12 เดือนที่ผ่าน สนช.ออกกฎหมาย 108 ฉบับ เฉลี่ยแล้ว สนช. ออกกฎหมายเดือนละ 9 ฉบับ โดยที่ไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดที่เมื่อสนช.รับหลักการใน วาระที่ 1 แล้วต่อมาถูกโหวตให้ตกไปเลยแม้แต่ฉบับเดียว อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายที่เข้า สนช. ทุกฉบับไม่เคยมีฉบับใดไม่ผ่าน ร่างกฎหมายที่พิจารณานานที่สุด คือ ร่าง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ ใช้เวลาไป 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน ส่วนร่างกฎหมายที่พิจารณา 3 วาระรวด ภายใน 1 วัน มีจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่ม
เติมมาตรา 63), ร่าง พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน และ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม ( องค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการยุติธรรม)
กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาแล้วมีมากกว่า 10 ฉบับ ที่ยังมีข้อถกเถียงกันในสังคม เช่น พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องการอุทธรณ์ฎีกา, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือกฎหมายอุ้มบุญ เป็นต้น
ส่วนร่างกฎหมายที่ประชาชนเคยเข้าชื่อกันเสนอ 10,000 ชื่อ สนช.หยิบมาพิจารณาประกาศใช้ไปแล้ว 4 ฉบับ ขณะที่ยังมีข้อคาใจจากกลุ่มที่เสนอกฎหมายอยู่ทุกฉบับ

**เฉลี่ยใช้งบออกกม.ฉบับละ2.5ล้าน

ด้านงบประมาณที่ใช้ในการทำงานของ สนช. ตั้งแต่ส.ค.57–ก.ค.58 คิดคำนวณจากเงินเดือนประจำของประธาน รองประธาน และสมาชิกสนช.รวมเป็นเงิน 274,887,140 บาท เมื่อนำมารวมกับค่าเบี้ยประชุมกรรมาธิการ ที่ถูกแต่งตั้งให้พิจารณากฎหมายอีก 16,702,500 บาท จะได้ค่าประมาณของเงินงบประมาณแผ่นดินที่ถูกใช้ไปแล้ว เท่ากับ 291,589,640 บาท ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมเบี้ยประชุมของอนุกรรมาธิการ ค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างจังหวัด ฯลฯ
เมื่อนำเงินเดือนของสนช. ที่ประเมินไว้ข้างต้น (274,887,140 บาท) มาหารด้วยจำนวนกฎหมายที่ สนช.ให้ความเห็นชอบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (108 ฉบับ) จะได้ว่ากฎหมาย 1 ฉบับ ใช้เงินเฉลี่ย 2,545,251 บาท

**หนึ่งปีแต่งตั้ง 28 ถอดถอน 4
ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา สนช.พิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 28 คน ใน 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.) กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (กอ.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) อัยการสูงสุด และคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบประวัติฯ
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในจำนวน 28 คน ที่ได้รับความเห็นชอบ อย่างน้อย 6 คน เป็นสมาชิก สนช. สปช. หรือผู้ช่วย สนช. อาทิ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร รองอัยการสูงสุด และ สมาชิก สนช. เป็นอัยการสูงสุด , สมพล เกียรติไพบูลย์ สมาชิกสนช. เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), ศ.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช. ของ ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ฯลฯ
ทั้งนี้จากการพิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ มีเพียง 1 ครั้ง ที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบคือ กรณีไม่เห็นชอบให้ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับม.ล.ฤทธิเทพ เป็นอดีตผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย ในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ด้านการถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมืองในรอบ 1 ที่ผ่านมา มีจำนวน 4 คน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอีก 3 คน ซึ่งถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่มีกลุ่มอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 38 คน และประธานสภาอีก 2 คน ไม่ถูกถอดถอน ในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ประเด็นที่มา ส.ว. ยังเหลือคดีของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อีก 248 คน ประเด็นการการแก้ไขที่มา ส.ว. ที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น