xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จัดจารีต “สสส.-TPBS” “อุ๋ย” จ้องทำจริงไม่อิงนิยาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่มีมูลฝอย หมาไม่ขี้ ถ้าไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่มีที่มาที่ไป คงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ดีๆ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนการจัดเก็บภาษีและการจัดสรรเงินภาษี

ทั้งนี้ เนื่องเพราะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรย่อมรู้อยู่เต็มอกว่า การจัดจารีตและการจัดระเบียบโดยแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะกระทบกับ 3 องค์กรที่ใช้เงินจาก “ภาษีบาป” หรือภาษีบุหรี่และภาษีเหล้าโดยตรงอย่าง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

มีหลักฐานยืนยันชัดเจนจากจดหมายของหม่อมอุ๋ยที่ส่งตรงไปถึง “นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อขอเสนอปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ 5 ประเด็น โดยอ้างว่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในด้านการคลังและงบประมาณมากขึ้น

คำถามมีอยู่ว่า ทำไม ม.ร.ว.ปรีดิยาธรถึงจ้องจัดระเบียบทั้ง 3 องค์กร ทั้ง 3 องค์กรมีพฤติกรรมอันน่าชวนให้ต้องแก้ไขกฎหมายเช่นนั้นหรือ

คงไม่ใช่ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเข้าใจผิดใน “ระบบการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax)” ตามที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.อธิบาย เพราะถ้าเข้าใจผิดก็ย่อมแสดงว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรหน้าแหกชนิดหมอไม่รับเย็บและไม่สมควรเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไปแม้จะมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การสนับสนุนก็ตาม

กล่าวสำหรับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)นั้น กฎหมายของ สสส. มาตรา 11 ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบในอัตราร้อยละสอง

ส่วนไทยพีบีเอส กฎหมายกำหนดให้มีรายได้จากภาษีบาป 1.5 เปอร์เซ็นต์แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการปรับเพิ่มรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุก 3 ปี เพื่อให้องค์การมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมาประกอบกับขอบเขตการดำเนินงานขององค์การ

ขณะที่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ที่ สนช.เพิ่งผ่านกฎหมายให้จัดตั้งขึ้น มีรายได้จากภาษีบาป 2 เปอร์เซ็นต์

แน่นอน องค์กรที่สังคมเฝ้าจับตามองมากที่สุดก็คือ สสส. รองลงมาคือ ไทยพีบีเอส โดยทั้ง 2 องค์กรนั้น ต้องยอมรับว่า ถูกตั้งข้อสงสัยในแง่ “ความคุ้มค่าในการทำงาน” ว่าเหมาะสมกับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกภาครัฐจัดสรรไปให้ทำงานหรือไม่

โดยเฉพาะ สสส.นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ได้รับงบประมาณ จากภาษีบาปเหล้าและบุหรี่ถึงเฉลี่ยปีละ 4,000 ล้านบาทเลยทีเดียว เฉกเช่นเดียวกับไทยพีบีเอสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้มีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ในขณะนี้ ซึ่งก็ต้องถือเป็นมูลเหตุสำคัญอันเป็นที่มาที่ไปของเรื่องนี้

สื่อทุกสำนักลงข้อมูลตรงกันถึงเหตุผลที่ต้องการแก้ไขกฎหมายว่า เป็นเพราะ หน่วยงานเหล่านี้ออกกฎหมายแบ่งรายได้ไปใช้โดยตรง ดังนั้น ต่อไปภายหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ การใช้จ่าย การก่อหนี้และภาระผูกพันของ 3 องค์กรจะกระทำโดยพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ หรือต้องนำเสนอและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แตกต่างจากเดิมที่หน่วยงานดังกล่าวใช้งบประมาณอย่างอิสระโดยไร้การตรวจสอบจากตัวแทนประชาชน

“ทราบมาว่า เบื้องหลังมีอีกหลายแห่งที่อยากจะขอใช้กองทุนจาก Earmarked Tax แบบนี้ โดยการจัดสรรพิเศษจากส่วนหนึ่งของภาษีอะไรก็แล้วแต่ เขาก็เลยกลัวว่า ระบบการคลังจะเป็นปัญหา จึงขอให้ยกเลิกเด็ดขาด ซึ่งจะส่งผลให้ สสส.กับไทยพีบีเอสจะถูกยุบไปด้วย ซึ่งผมว่ามันเพี้ยน เพราะ Earmarked Tax มันไม่ผู้ร้ายนะ และมีการใช้มายาวนานและไม่ได้ใช้เฉพาะในประเทศไทย”ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักเศรษฐศาสตร์การคลัง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์วิพากษ์วิจารณ์

อย่างไรก็ตาม ทำไปทำมาเรื่องทำท่าว่าจะโอละพ่อ เพราะกลายเป็นว่า ไม่ได้ศึกษากฎหมายให้แตกฉานจนทำให้มีช่องว่างช่องโหว่ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนไปไม่เป็นเลยทีเดียว กระทั่งสุดท้ายจำต้องมีการทบทวน เพราะเงินที่องค์กรเหล่านี้ได้รับไม่ใช่เงินก้อนเดียวกับเงินภาษีที่รัฐได้รับปกติ หากแต่เป็นเงินพิเศษที่เก็บเพิ่ม

ดังเช่นที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. อธิบายเอาไว้ว่า เรื่องนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดในระบบการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ และประชาชนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าภาษีที่เก็บจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ 100% นั้น จัดสรรให้ สสส.นำไปใช้ 2% และไทยพีบีเอสอีก 1.5% แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเป็นการเก็บพิเศษเพิ่มจากภาษีปกติที่ต้องจ่าย

ดังนั้น การดึงเงินกลับไปสู่ระบบงบประมาณที่ต้องผ่านรัฐสภา ก็จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะธุรกิจดังกล่าวไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนพิเศษตรงนี้เพิ่ม แต่รัฐบาลกลับต้องนำภาษีปกติมาจัดสรรให้ สสส. ไทยพีบีเอส และองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯ แทน

สำหรับเรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่มองว่า ไม่ยึดโยงและไม่ถูกตรวจสอบจากตัวแทนของประชาชนนั้น พบว่า ในความเป็นจริงแล้ว หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคือกระทรวงการคลัง รวมถึงถูกตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ สสส. คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

เรื่องของเรื่องจึงกลายเป็นความเข้าใจผิดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

เพราะต่อมานายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ออกมายอมรับว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจผิดและจำต้องยอมถอย

“จะเห็นได้ว่า จากกฎหมายของทั้ง 2 องค์กร เงิน 2% และ 1.5% ที่เขาได้ไป ไม่ได้มาจากการหักออกจากภาษีที่บริษัทเหล้า บุหรี่ เสียให้รัฐแต่เป็นการเก็บเพิ่ม ถ้าห้าม รัฐก็ได้เท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัดเงินลง เพราะไม่ต้องเสียอีก 2 % และ 1.5%” โฆษกกมธ.ยกร่างฯ ระบุ

และในวันเดียวกันนั้นเองคือวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดว่ามิได้เป็นไปอย่างที่สังคมเข้าใจ ประมาณว่าไม่ได้ห้ามมีกองทุนอย่าง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สสส. หรือกองทุนกีฬาฯ เลยเพียงแต่ว่าถ้ามีต้องมีกฎหมายเฉพาะ

ถ้าเป็นไปตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรอธิบาย งานนี้มีความเป็นไปได้ว่า เรื่องนี้มีการขยายความจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ใช่หรือไม่ เพราะในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ซึ่งเครือข่ายองค์กรภาคีด้านสุขภาพ จำนวน 579 องค์กรได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขกฎหมายต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวมีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น เพราะ กมธ.หลายคนมีความห่วงใยในการใช้เงินของ 3 องค์กรดังกล่าว ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะได้มีการคุยกันในที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ ในวันที่ 10-11 สิงหาคมนี้ โดยจะนำข้อเสนอของเครือข่ายฯ นำไปประกอบการพิจารณาต่อไป

ทว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มิได้มีแค่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเท่านั้นที่ต้องการเข้าไปจัดจารีต สสส.และไทยพีบีเอส หากยังมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้มีความเห็นที่สอดคล้องกัน

ยกตัวอย่างเช่น นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เห็นด้วย โดยระบุชัดว่า “หากมีการยกเลิกแนวทางการจัดสรรรายได้รัฐโดยตรงเข้าหน่วยงานที่ออกกฎหมายมา ต่อไปก็จะไม่มีใครกล้าขอ ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้มีอีกหลายหน่วยงานกำลังขอใช้งบแบบนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะขัดกับกฎหมายการเงินการคลังของประเทศ”

เช่นเดียวกับนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิตที่เห็นสอดรับกัน

หรือแม้กระทั่ง นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ไทยพีบีเอส) ก็ให้สัมภาษณ์ในรายการชั่วโมงที่ 26 โดยระบุว่า “มีการพูดคุยเรื่องนี้มา 3-4 เดือนก่อน ซึ่งเข้าใจที่รัฐบาลต้องบริหารงานประเทศภายใต้งบประมาณที่จำกัด โดยต้องการดึงงบประมาณทั้งหมดไปไว้ก่อน แล้วจะจ่ายให้ทางไทยพีบีเอสเป็นรายเดือน จึงขอไปว่า ให้จ่ายเงินไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท เหมือนกับงบเดิมที่เคยได้รับเพื่อไม่ให้กระทบการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทีวีสาธารณะ”

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบท่าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็จะพบว่ามีความเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน โดยในที่ประชุม ครม.วันที่ 4 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้หยิบยกกรณีเงินสนับสนุนให้กับทีวีสาธารณะขึ้นพูดที่ประชุม โดยมองว่าบ้านเมืองในขณะนี้ไม่ปกติ และมีปัญหาหลายรูปแบบ ข่าวที่ออกมาถูกขยายความไปยังต่างประเทศ ทำให้กระทบความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ซึ่งอยากให้สื่อใช้ดุลพินิจในการนำเสนอในเรื่องที่ดีงาม

พล.อ.ประยุทธ์บอกด้วยว่า ไม่ได้ห้ามนำเสนอในแง่ที่เลวร้าย แต่ควรนำเสนอโดยอธิบายในเรื่องนั้นๆว่าได้มีการปรับปรุงแก้ไขด้วย เข้าใจว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณให้สื่อสาธารณะ แต่สื่อต้องคิดถึงผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่แต่เสนอแต่แง่ร้ายของประเทศ แล้วอย่างนี้ประเทศไทยจะทัดเทียมกับประเทศอื่นได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ควรทบทวนที่จะให้สตางค์ทำงานต่อไปหรือไม่

นี่ถือเป็นท่าทีที่ชัดเจนยิ่งว่ารัฐบาลต้องการเข้าไปบริหารงบประมาณขององค์กรเหล่านี้จริงๆ เพียงแต่ต้องไปปรับกระบวนท่าเสียใหม่ เพราะพลาดท่าไม่ได้ศึกษารายละเอียดของกฎหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้


กำลังโหลดความคิดเห็น