xs
xsm
sm
md
lg

แฉลอบบี้คว่ำรธน.แลกขนม200ชิ้น เตือนจุดชนวนนองเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (4ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังการประชุม ครม.ถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศว่า ต้องไปดูความหมายของคำว่า ปฏิรูป ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงแก้ไขให้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งเราต้องปฏิรูปหมดทุกเรื่อง เพราะบ้านเมืองมีปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินช่วงที่ผ่านมา ตนไม่อยากบอกว่าใครผิด ใครถูก แต่รัฐบาลนี้เอามาดูแล้วต้องปฏิรูปทั้งหมด ซึ่งตอนนี้อยู่ในระยะแรก คือ ปฏิรูปในห้วงเวลาปัจจุบัน ตั้งแต่ 22 พ.ค.57 จนถึงวันนี้ โดยเวลาที่มีอยู่ จะทำได้ในสิ่งที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่ และเพิ่มประสิทธิภาพของทุกกระทรวง เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฉะนั้น การปฏิรูปต้องทำอย่างต่อเนื่อง หลายคนอาจไม่เข้าใจ และมองว่า ทำไมตนไม่ปฏิรูปให้เสร็จ โดยคำว่า เสร็จ นั้น การปฏิรูปนั้นไม่ใช่เสร็จแล้วเลิก มันต้องรักษาให้ได้แบบเดิมต่อไปเรื่อยๆ และพัฒนาไปในทางที่ดี โดยการปฏิรูปนั้นไม่มีวันจบสิ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฉะนั้นการปฏิรูปต้องมีการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยแผนการปฏิรูปที่ สปช. กำลังร่างออกมานั้น คือการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง ในเรื่องใหญ่ๆ แต่ตนเอาส่วนหนึ่งมาทำก่อน ส่วนโครงสร้างใหญ่ที่เหลือก็ไปวางแผนในแผนการปฏิรูป ดังนั้น ต้องกำหนดห้วงเวลาที่ต้องปฏิบัติ และส่งต่อไปที่รัฐบาลหน้า และมีกลไกให้รัฐบาลหน้าเดินตามนั้น โดยที่ไม่ทาบทับซ้อนในอำนาจการบริหาร ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าตนไม่ทำอะไรเลย หรือไปทาบทับอำนาจบริหารของรัฐบาลใหม่ หรือสืบทอดอำนาจ มันไม่ใช่แบบนั้น เราทำทุกอย่างเพื่อให้สังคมดีขึ้น ตนยกตัวอย่างมาหลายครั้งแล้วว่า ประเทศจีนใช้เวลากว่า 30 ปี ในการขึ้นเป็นอันดับสอง ด้านเศรษฐกิจของโลก และยังไม่เลิกการปฏิรูป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เราต้องคิดใหม่ ว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร ปัญหาของประเทศนั้นมีอยู่ไม่กี่อย่าง สิ่งสำคัญคือ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศเดินหน้าไปไม่ได้ เราต้องแก้ปัญหาคนจนให้หมดไปได้โดยเร็ว ถ้าเราแก้ไขให้ได้ ก็ไม่มีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นในวันหน้า และไม่เป็นเครื่องมือของใครในการเอามาเป็นตัวประกัน รัฐบาลพยายามทำตรงนี้
"ขอให้ช่วยกันหน่อย ไอ้คนที่ทำดีให้ตาย เขาไม่เห็นความดีของผมก็ไม่อยากไปต่อสู้อีกแล้ว ประชาชนก็เลือกบริโภคว่า จะเชื่อในสิ่งไหนเพราะผมก็ทำให้เห็นอยู่ทุกวัน วันนี้ก็ทำหลายๆอย่าง และคนที่มาพบกับผม เขาก็ให้กำลังใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว แต่ทำไมคนบางคนทำอย่างนี้ไม่ได้ จ้องแต่จะจิกตีทุกเรื่อง แล้วประเทศไทยจะเดินไปทางไหนกัน มันไปไม่รอดหรอก ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผมจะมายังไง หรือใครจะเป็นรัฐบาล ก็คงจะโดนทั้งหมด แล้วประเทศไทยจะไปยืนตรงไหน ทำไมเราไม่ใช้เวลาตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิรูป ทั้งระยะที่ 1 และการเตรียมการให้กับรัฐบาลหน้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่คิดแต่ว่า คนนี้จะเข้ามา คนนั้นจ้องแต่จะล้มรัฐบาล ไอ้นี่เตรียมจะอยู่ต่อ ผมไม่เคยพูดสักคำ แต่ผมก็จะไม่ไปตอบโต้อะไรอีกแล้ว เว้นแต่บางวันที่ทนไม่ไหว " นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณี นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และคณะกรรมการมูลนิธิ กปปส.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การทำรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. เพื่อต้องการอำนาจในการบริหาร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิเสธทันทีว่า "ไม่เอา ผมไม่ตอบโต้ ปล่อยเขาสิ เขาอยากจะถามเรื่องอะไรก็ปล่อยเขา เขาพูดมา ก็ถือว่าเขาเป็นคนคุ้นเคย เคยรู้จักกันอยู่แล้ว ผมก็รู้จักทุกรัฐบาลนั่นแหละ วันนี้ถ้าพูดกันไปมา แล้วผมไปตามอยู่อย่างนั้นก็หงุดหงิด ไม่ต้องไปทำอะไรกันแล้ว ใครอยากจะพูดก็พูดไปเถอะ"

**ลั่นทำดีที่สุดแล้วขอให้ช่วยกันเชียร์

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ต้องมีความละเอียดรอบคอบ มีหลายอย่างที่ต้องแก้ไข ขอยืนยันว่า ตนไม่เคยต้องการประโยชน์อะไรสักอย่าง รวมทั้งได้สั่งการให้ทุกคนระมัดระวัง ขณะนี้ยังมีข่าวในโลกโซเชียลต่างๆ นานา ยืนยันว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ถ้าใครมีข้อมูลข้อเท็จจริง ให้บอกกับตนมาตรงๆ จะดำเนินการสอบสวนให้ ถ้าไปเขียนหรือวิจารณ์กันไปมาก็คงไม่เหลือใครดี อีกทั้ง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ก็ผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็ขอให้ไปดูกันว่ามีระเบียบกติกาอย่างไร
" ถ้าบอกว่ารัฐบาลผมไม่ดี ก็คงไม่เหลือใครดีแล้ว เพราะผมพยายามเลือกคนดี คนมีคุณธรรม เข้ามาทำงานให้พิสูจน์ฝีมือให้เห็นว่า การทำหน้าที่ดีๆ ทำอย่างไร ผมให้โอกาสกับทุกคน ไม่ได้ไปรังเกียจใคร ฝ่ายการเมืองผมก็จำเป็น เพราะผมเข้ามาอย่างนี้ ถ้าผมจะเอาฝ่ายการเมืองเก่าๆ มาทำงานกับผม มันก็คงไปกันไม่ได้ หลายคนก็เลยยังไม่เข้าใจผม ออกมาว่าผมทุกวัน เพราะเขามีอำนาจอยู่แล้ว ผมไปเอาอำนาจเขามา แต่ยืนยันว่า ผมเอามาทำในสิ่งที่ดีกว่าในระยะยาว แต่ระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็น ทั้งเรื่องการลงทุนทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงโครงสร้างต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งถึง
เวลานั้น ผมคงไม่อยู่แล้ว ก็ต้องให้รัฐบาลใหม่มาทำ ซึ่งถ้าเขาไม่ทำ ก็ล้มเหลวอีก แล้ววันหน้าก็กลับมาด่าผม ว่าผมไม่ได้ทำอะไร ทั้งๆ ที่ผมเริ่มให้แล้ว ทุกอย่างก็จะไปอยู่ในรัฐธรรมนูญว่า จะทำอะไรกันต่อไป "
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนรัฐธรรมนูญ อย่าเอาตนไปเกี่ยวข้องอะไรมากนัก เพราะการที่ตนตั้งขึ้นมา ก็เพื่อให้รับฟังความคิดเห็นของคน และหาข้อสรุปออกมา ถ้าผ่านความเห็นชอบ ก็ไปทำประชามติ แล้วก็ไปเลือกตั้ง ตนไม่มีหน้าที่ที่จะไปสั่งให้ผ่าน หรือไม่ผ่าน
เมื่อถามว่า นายกฯ ทำใจแล้วหรือยังว่าหาก ร่าง รธน. ไม่ผ่าน จะต้องอยู่ทำงานต่อไปอีก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้อย่างไร ถ้าไม่ผ่าน ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เท่านั้นเอง และถ้าต้องอยู่ต่อ ก็เป็นเพราะด้วยความจำเป็น ไม่เช่นนั้นใครจะเข้ามาเป็น
" ผมก็อยากทำหน้าที่ให้มันเสร็จ และให้เริ่มต้นด้วยดี ให้มีอนาคต ทุกคนเห็นร่วมกัน แต่ก็ยอมรับว่าจะให้คนทั้ง 70 ล้านคนเห็นพ้องต้องกัน เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเอาคนที่หวังดี คนที่มุ่งหวังว่าจะทำประเทศให้เป็นอย่างไร ก็มีอยู่มาก ซึ่งวันนี้ต้องออกมาช่วยผม ว่าสิ่งที่ผมทำ มันมีอนาคต บางคนบอกว่า สิ่งที่ผมทำนั้นดี แต่ไม่ออกมาช่วยผมพูด ก็ขอร้องว่าให้เอาตัวออกมาช่วยด้วยแล้วกัน เพราะอีกฝ่ายที่เขาไม่ชอบ เขาก็จะออกมาต่อต้านผมทุกเรื่อง แต่ถ้าผมไปตอบโต้โดยตรง ผมก็จะเสียกิริยาอีก และผมก็เป็นนายกฯ ที่สุภาพเรียบร้อยด้วย ความจริงผมก็เป็นคนเรียบร้อย "

**"ทิดเทือก"ช่วยบ้านเมือง ไม่ใช่คสช.

เมื่อถามว่า แต่วันนี้กลุ่มของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส. ออกมาสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาไม่ได้มาช่วยตน นายสุเทพ จะช่วยบ้านเมืองในนามของมูลนิธิ กปปส. ก็ว่าไป อย่าลืมว่ารัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลที่อยู่ในสภาวะพิเศษ ตั้งขึ้นมาในสถานการณ์พิเศษ ก็ต้องบริหารงานและปฏิรูปในระยะที่ 1 เตรียมส่งต่อในระยะที่ 2 และเตรียมการเลือกตั้งให้ได้อย่างเรียบร้อย ให้เป็นไปตามกติกา เพราะฉะนั้น ใครจะออกมาทำอะไร ก็ขอให้อยู่ภายใต้กติกาของกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่า วันนี้ทำอะไรได้ หรือไม่ได้บ้าง
" ถึงท่านจะพูดสนับสนุนอย่างไรก็แล้วแต่ ผมก็ขอขอบคุณเป็นการส่วนตัว เพราะรู้จักกันมาเก่า แต่ก็ขอร้องว่าอย่าให้เกิดความขัดแย้งกันอีกเลย วันนี้ในเมื่อผมเป็นกรรมการออกมาแล้ว ผมก็ต้องเป็นกรรมการที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนช่วยกันทำให้เกิดความสงบ ช่วยกันไตร่ตรองศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะแก้ไข หรือทำอะไร ถ้าเป็นความเห็นชอบร่วมกัน มันไปได้หมด ผมเองก็จะไปแก้ปัญหาที่คาราคาซังที่มีอยู่มากมายเพราะตอนนี้ยังไม่จบสักอันเดียวแล้วจะมากล่าวหาว่าผมเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วยังทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง ก็ต้องยอมรับว่าจะให้จบได้อย่างไร เพราะแรงต่อต้าน
มีมาก ถ้าผมใช้อำนาจแก้ไขปัญหา ก็จะถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจ แล้วจะให้ผมทำอย่างไร ยืนยันว่า ตอนนี้พยายามทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ " นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า

** ลอบบี้คว่ำรธน.แลกนั่งสภาขับเคลื่อน

นายสิระ เจนจาคะ สปช.ด้านสังคม ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่รัฐสภาได้มี สปช.ท่านหนึ่งที่เป็นพลเรือนกึ่งนักการเมือง มาขอร้องให้ตนลงชื่อสนับสนุนการคว่ำ รธน. เพื่อแลกกับการเข้าไปนั่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจำนวน 200 คน โดยขณะนี้รับทราบว่ามี สปช.จำนวนร้อยกว่าคน ร่วมลงชื่อสนับสนุนไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตนได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวไปแล้ว เพราะต้องการเห็นร่างรัฐธรรนูญที่ชัดเจนก่อน ว่าดีหรือไม่ดี ก่อนจะตัดสินใจลงมติ เพราะเรื่องดังกล่าวถือมีความสำคัญมาก จะมาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้
"ไม่ทราบว่าขนม 200 ชิ้น ทำไมถึงหอมหวลอะไรหนักหนา เพราะก่อนหน้านี้ก็มีมาต่อรองในเรื่องสนับสนุนกาสิโน เพื่อนำเงินมาตั้งพรรคการเมือง 1 หมื่นล้านบาท วันนี้ก็มีข่าวนำมาต่อรองกับสปช. โดยให้มีการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งไม่ทราบว่า ตอนนี้มีคนหลงเชื่อและ ลงชื่อเกิน 200 คนแล้วหรือไม่ ดังนั้นหากเป็นเช่นนั้นจริง คนที่เกินจำนวน คสช.จะนำไปอยู่ในตำแหน่งไหน"

** เตือนจุดชนวนสู่การนองเลือด

นายสิระกล่าว และว่า เรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ตนเห็นว่าควรจะสนับสนุน เพราะหากถูกคว่ำไป คสช. และ สปช. จะต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะเสียทั้งเวลา และงบประมาณกว่าพันล้านบาท เพื่อจัดทำกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ คสช.และสปช. ที่ได้รับเงินเดือนประมาณเดือนละแสนกว่าบาท พร้อมสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์มากมาย ร่วมกันแชร์ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ให้กลับคืนประเทศชาติ เพื่อไปช่วยเหลือประชาชนจะดีกว่า
"หากคิดจะสืบทอดอำนาจ ไม่ควรใช้วิธีการคว่ำรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะใช้วิธีอื่น ที่สังคมยอมรับ เช่นการทำประชามติให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปพร้อมการโหวตรัฐธรรมนูญของประชาชน ยังดูดีกว่าอีก เมื่อวาน (3ส.ค.) ผมได้รับโทรศัพท์จาก อดีตรัฐมนตรีจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เตือนว่าหากมีการเล่นปาหี่ เพื่อหวังสืบทอดอำนาจ เชื่อว่าประเทศชาติจะต้องนองเลือดแน่นอน" สปช.ด้านสังคม ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ในการประชุมนอกรอบของ สปช. ในวันที่ 24 มิ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ “สานใจปฏิรูป สปช.” นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ได้เปิดใจโดยหวังว่า สปช. จะเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าขนม 200 ชิ้น ซึ่งหมายถึง การเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จำนวน 200 คน โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ปรากฏว่า มีความเคลื่อนไหวของ สปช.จังหวัด และ สปช.กลุ่มหนึ่ง ได้วิ่งประสานงานผ่านนายทหารที่มีความใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกสภาขับ เคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง สปช.คาดหวังที่กลับเข้ามาอีก หากรัฐบาลและคสช. ต้องการจะให้คว่ำ หรือรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม

** ทุกกลุ่มแจงปฏิรูปได้ แต่ต้องสร้างสรรค์

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณี มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูป มอบหมายให้ นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ เดินสายชี้แจงเรื่องการปฏิรูปกับประเทศต่างๆว่า ใครจะพูดอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะประชาชน หรือใครที่มีความรู้สึก และมั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็สามารถชี้แจงได้ ทั้งเอ็นจีโอ สื่อมวลชน รวมทั้งนิสิตนักศึกษา สามารถออกมาชี้แจงแทนรัฐบาลได้ รัฐบาลไม่ได้จำกัด ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นใคร แต่ขอให้พูดในทางสร้างสรรค์ โดยการไปพูดในลักษณะนี้ ไม่ถือว่าเป็นทางการ และเชื่อว่าต่างประเทศสามารถแยกออกว่าเป็นการ พูดในนามรัฐบาล หรือของฝ่ายใด
"คนที่รับรู้เรื่องราวของบ้านเมืองได้อย่างชัดเจน และมีความรู้สึกในทางที่สร้างสรรค์ในการนำไปถ่ายทอดให้กลุ่มอื่น หรือที่อื่นได้รับรู้ เขาทำได้อยู่แล้ว ไม่มีอะไรขัดข้อง ที่ผ่านมารัฐบาลมีการชี้แจงมาโดยตลอด แต่ไม่ได้นำมาประชาสัมพันธ์เท่านั้น" นายดอน กล่าว และว่า ต่างชาติเห็นความสงบของประเทศไทย และเข้าใจในประเทศเรามากขึ้น เพราะไม่มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารใดที่ทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีเสถียรภาพความมั่นคงได้เท่ารัฐบาลนี้
เมื่อถามกรณีที่มีสมาชิก สปช. บางคน และมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ เสนอให้มีการปฏิรูปโดยไม่จำกัดเวลา ก่อนการเลือกตั้ง นายดอน กล่าวว่า เป็นความเห็นของคนบางกลุ่ม แต่รัฐบาลยึดตามโรดแมป มีการปฏิรูปเป็นหัวใจสำคัญ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ แต่วางพื้นฐานและหาทางให้รัฐบาลต่อไปที่จะเข้ามาต้องดำเนินการตามพันธะทางกฎหมาย ยืนยันว่ารัฐบาลมีความชัดเจนในกรอบเวลาการทำงาน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าสปช. จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อผ่านการทำประชามติ จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง อยากให้ประชาชนรับรู้ว่า การปฏิรูป คือหัวใจสำคัญของ ประเทศ
ต่อข้อถามว่าการเคลื่อนไหวของมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ และ สปช. บางส่วนที่สนับสนุนให้รัฐบาลอยู่ต่อ เหมือนทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน นายดอน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับใครจะไปตีความ แต่รัฐบาลมีโรดแมปที่ชัดเจน

**เนื้อหาร่าง รธน.ส่วนใหญ่มาจาก สปช.

พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กระแสข่าวที่ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีแนวโน้มจะลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิของสปช. ซึ่งเชื่อว่าสมาชิกจะใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ เพราะเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มาจาก สปช. ขณะที่คณะกมธ.ยกร่างฯได้พยายามร่างรัฐธรรมนูญ ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดแล้ว
ส่วนกรณีที่มี สปช. บางกลุ่มนำประเด็น ที่มานายกรัฐมนตรี มาเป็นข้ออ้างในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่าเป็นบุคคลกลุ่มเดิมที่แสดงตนว่า จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น โดยสื่อมวลชน นำข้อคิดเห็นของบุคคลกลุ่มนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่า สปช.จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะตัวชี้วัดว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลกลุ่มเดียว
ส่วน ข้อเสนอที่จะให้มีการปฏิรูปไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนการเลือกตั้งนั้น ยืนยันว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนจะต้องปฏิบัติกรอบระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม หากจะมีการขยายระยะเวลาออกไปก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)ก่อน ซึ่งถ้าพิจารณาจากช่องทางในขณะนี้ก็จะต้องมีการประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน จากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการส่งเรื่องมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้ไขกรอบระยะเวลาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต่อไป

**เล็งหาบทลงโทษแก๊งปล่อยข่าวคว่ำรธน.

นายอลงกรณ์ พลบุตร วิปสปช. แถลงว่า ในวันนี้ (5ส.ค.) จะมีการประชุมเพื่อจัดวาระการประชุมในชุดสุดท้ายที่เหลืออยู่ ไม่จะเป็นวาระ ปฏิรูปตำรวจ วาระปฏิรูปองค์กรมหาชน และ วาระปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมวิถีอิสลาม เป็นต้น โดยในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ถือว่าเป็นการเสร็จภารกิจการพิจารณารายงานวาระปฏิรูปต่างๆ
นอกจากนี้ วิปสปช.จะมีการพิจารณากำหนดวันที่แน่นอน สำหรับลงมติให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนประเด็นเรื่องคำถามของสปช. เพื่อไปทำประชามตินั้น ขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกเสนอคำถามแต่อย่างใด เบื้องต้น จะต้องมีการกำหนดการประชุมเป็นวาระพิเศษ เพื่อให้สมาชิกแสดงความเห็นว่า จะให้มีคำถามของ สปช. แนบไปกับการทำประชามติหรือไม่
ส่วนกรณี นายวันชัย สอนศิริ สปช. ออกมาปล่อยข่าวเรื่องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ทางวิปสปช.ได้เคยขอความร่วมมือหลายครั้งแล้ว ซึ่งหลายคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีสมาชิกบางคนยังให้ความเห็น ปล่อยข่าวชี้นำอยู่ โดยในการประชุมวิป สปช. ในวันนี้ จะมีการหารือในเรื่องดังกล่าว เพื่อขอความร่วมมือเป็นครั้งสุดท้าย เพราะขณะนี้ มีสมาชิกบางคนเริ่มไม่พอใจ และอยากนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาหารือกันในที่ประชุมวิปสปช. ด้วย เช่นเดียวกับการล่ารายชื่อสมาชิกในกรณีต่างๆ ด้วย ดังนั้น จึงอยากให้สมาชิกทุกคนตระหนักถึงการให้เกียรติ องค์กร สปช. และสมาชิกคนอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว วิปสปช.จะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น