ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อกรมชลประทานโหนกระแสภัยแล้ง เตรียมเสนอรัฐบาลทหารเดินหน้าโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ผลักดันอีกครั้ง หลังติดขัดไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากถูกพลังมวลชนขวางเสียก่อน เพราะผลกระทบอันใหญ่หลวงด้านสิ่งแวดล้อมที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติเห็นพ้องต้องกันว่า หากมีการเดินหน้าโครงการนี้ขึ้นเมื่อใด เท่ากับเป็นการสร้างตรายางทำลายระบบนิเวศน์อย่างชอบธรรม
แน่นอนว่า ในประเด็นนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับนักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้ออกมาคัดค้านด้วยการเดินรณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อปลายปี 2556 ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ได้สัมภาษณ์พิเศษ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ปลุกพลังประชาชนจนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ด้วยหลักวิชาการและเหตุผล เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกจากโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งจะมาไขคำตอบที่สังคมเคลือบแคลง ทฤษฎีการสร้างเขื่อนแก้ปัญหาภัยแล้งได้จริงหรือไม่? แต่สิ่งที่ประชาชนใคร่อยากรู้มากกว่าในตอนนี้คือสร้างเขื่อนแล้วจะเอาน้ำมาจากไหน?
กรมชลประทาน ให้เหตุผลหนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่าจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม
แก้ได้บางส่วนครับ จะบอกไม่จริงก็ไม่ได้มันคือเรื่องจริง แต่ว่าน้ำท่วมตัวเลขจาก EIA (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) มันลดได้ประมาณ 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าจากน้ำท่วม 10 วันก็เป็น 7 วัน ส่วนภัยแล้ง ในหน้าฝนซึ่งมีน้ำพอสมควรอยู่แล้ว น้ำก็จะได้สัก 3 แสนไร่ หน้าแล้งจริงๆ ก็ได้ 1แสนไร่ แถวนั้นก็ประมาณสัก 2 ตำบล เขื่อนมันมีประโยชน์ของมันอยู่แล้ว ผมไม่เคยปฏิเสธประโยชน์ของเขื่อน เพียงแต่ว่า..เมื่อเราพูดว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้ม ก็ประเมินกันยาก เราอยู่ในฝ่ายที่อยากรักษาป่าไว้ เราก็มองว่าน่าจะมีทางเลือกอื่นน่าจะดีกว่า
เสนอแนวทางต่อกรมชลฯ อย่างไรบ้าง
เราก็เสนอทางไปว่าแทนที่จะกั้นเขื่อนใหญ่แถวๆ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เราก็มาทำฝายชะลอน้ำกับทำเขื่อนเล็กๆ ถัดออกมา 20 - 30 ก.ม. แต่เป็นระยะๆ แล้วก็กระจายบ่อน้ำขนาดเล็กไปให้ทั่วตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง แถวนั้นเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชลประทาน เขาก็ทำบ่อน้ำกระจายไปทั่ว ปีนี้ยิ่งแล้งเขื่อนยิ่งไม่มีน้ำ แต่ถ้าตรงไหนที่มี พอจะมีบ่อน้ำอยู่ได้ฝนมันตกซู่หนึ่งมันก็ได้น้ำแล้ว
แล้วข้อเสนอในส่วนนี้ มีการรับไปดำเนินการหรือยัง
รู้สึกกรมชลฯ ก็เอาไปศึกษาตามที่เราเสนอไปอยู่นะครับ จริงๆ มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดไง คือสิ่งที่เราเสนอไปเราไม่ได้ปฏิเสธประโยชน์ของเขื่อน เพียงแต่ว่าเราอยากจะหาโมเดลใหม่ให้กรมชลฯ คือกรมชลฯ เขาก็อ้างว่าการไปโฟกัสขนาดเล็กๆ เขาไม่มีระเบียบจะทำ พอทำปั๊บจะไม่คุ้มเพราะว่าเขาดูแลยากไม่เหมือนเขื่อนตัวเดียว ก็เป็นวัฒนธรรมเป็นวิธีคิดตามประเพณีนิยมของเขา เพียงแต่ว่าคราวนี้ติด! อย่างแก่งเสือเต้นทำไมสร้างไม่ได้ มันก็ติดเรื่องป่า เรื่องชุมชน อีกหลายพื้นที่อย่างเช่น แม่ขาน, แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เองมันก็ติดที่ต้องย้ายชุมชนออก มันมีตั้งหลายที่ที่ไม่ควรไปสร้างเพราะว่ามันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
สิ่งที่ผมเสนอก็คือว่าไม่ได้ปฏิเสธประโยชน์ของเขื่อน เพียงแต่ว่ามันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกรมชลฯ ดังนั้น กรมชลฯ น่าจะหาโมเดลแก้ระเบียบตัวเองเสีย ไปทำโครงการขนาดเล็ก สร้างบุคลากรที่สามารถเข้าไปบริหารจัดการโครงการขนาดเล็กให้ได้ด้วย ผมทะเลาะกับกรมชลฯ แต่ผมก็ยังมั่นใจว่ากรมชลฯ เป็นมืออาชีพ ฉะนั้น ถ้ากรมชลฯ มีโมเดลอีกโมเดลหนึ่งทำให้ชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ของตัวเองไปควบคุมดูแลฝายเล็กแต่เชื่อมประสานกัน ก็ได้อาวุธชิ้นใหม่ ไม่ต้องมาปะทะกับคน ไม่ต้องมาดู EIA อะไรเลย เพราะว่าเขื่อนใหญ่ๆ เรามี 30 - 40 เขื่อนมันก็พออยู่แล้วไง เขื่อนย่อยๆ มีอีกเป็นพันเขื่อน ทีนี้ก็เติมอาวุธย่อยๆ อีกชิ้นหนึ่งไป ที่ไม่ใช่เขื่อนก็คือการกระจายแหล่งน้ำขนาดเล็ก แล้วก็ ฝายชะลอน้ำฝายทดน้ำผสมผสานกัน อย่างที่ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ก็เป็นการ จัดการ น้ำทางเลือกที่กรมชลฯ ยังไม่มี ก็น่าจะลองพัฒนาดู แล้วเราก็ไม่ต้องทะเลาะกันมา ช่วยกันวางแผน ช่วยกันทำงาน คือผมไม่ชอบสไตล์ทะเลาะอยู่แล้วไง ถ้ามีโอกาสทำอะไรด้วยกันเราก็ยินดี แต่ของอย่างนี้ไปบอกชุมชนไม่ได้นะ ชุมชนที่เขาจะได้ประโยชน์จากเขื่อน จนคิดว่าเสียป่านิดเดียวได้เขื่อน ก็คิดว่า โอ๊ย! ทำอย่างที่ อ.ศศิน บอกมันยุ่งยาก สู้เอาเขื่อนตัวเดียวจบ
โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์มีการผลักดันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2525
มันมีประโยชน์ไง คือน้ำมันต้องมีเครื่องมือในการจัดการบ้าง เพราะเราไม่ได้อยู่ กันตามธรรมชาติ ถ้าเราปลูกข้าวปีละครั้งเดียวไม่ต้องมีเขื่อน แต่ถ้าปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง อยากจะปลูกข้าวปีละ 3 ครั้ง มันต้องมีเก็บน้ำไว้ใช้ เช่น หน้าฝนหมดเดือน ต.ค. เดือน พ.ย. เขาก็เริ่มทำรอบ 2 แล้ว ก็ต้องมีเขื่อนเก็บน้ำเอาไว้ปลูก
แต่ปี 2525 ตัวเขื่อนมันไม่อยู่ตรงนี้นะมันอยู่ตรงเขาอีกลูกหนึ่งที่อยู่ถัดมาอีก 10 กว่า กม. แต่เดิมมันไม่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแต่ว่าตอนหลังเขาก็สร้างไม่ได้ สร้างไม่ได้เพราะว่า เอ่อ..ผมเข้าใจว่ามันมีคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองไปจับจองอยู่ตรงนั้น แล้วก็สร้างข้อมูลชุดหนึ่งขึ้นมาว่า รากฐานของเขื่อนที่จะสร้างเดิมมันไม่แข็งแรงซึ่งมันไม่จริง แล้วให้เขยิบออกไปสร้างที่อื่น ผู้มีอิทธิพลก็จะได้ประโยชน์ด้วยเพราะเขื่อนไปอยู่หลังที่ตัวเอง น้ำมาตัวเองก็ได้ใช้ก่อน
การสร้างเขื่อนไม่เพียงได้ประโยชน์ตามทฤษฎี แต่มีผลประโยชน์ในประเด็นอื่นแฝงอยู่ด้วย
เรื่องผลประโยชน์โดยทฤษฎีจากเขื่อนมันก็มีเยอะอยู่แล้วว่ามีเราไม่ได้ปฏิเสธ แต่ถ้าถามถึงผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นักการเมืองที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้รับเหมากันทั้งนั้น ท่านอดีต ส.ส. นครสวรรค์ พอจะมีเขื่อนแม่วงก์ ท่านก็ไปขอธนบัตรระเบิดหิน เขาผาแรด อยู่ตรงลานสัก จ.อุทัยธานี อยู่ไม่ไกลเขื่อนแม่วงก์มากนัก ก็ไปขอไว้แล้ว เหตุผลก็คือต้องการมาทำวัสดุก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ส่วนใหญ่เขาก็เป็นกลุ่มแกนนำทำเขื่อนแม่วงก์ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้รับเหมาใหญ่ของ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ทั้งนั้น พวนนี้ก็จะมีส่วนในการแบ่งกันเยอะแยะ
ตัวเขื่อนแม่วงก์ ผลประโยชน์มันไม่ใช่เฉพาะเขื่อน เขามองกันที่คลองส่งน้ำ อย่างงบ 1.3 หมื่นล้าน ตัวเขื่อน แค่ 3 พันล้าน แต่อีก 1หมื่นล้าน มันเป็นคลองส่งน้ำแล้วคลองส่งน้ำมีถนนตัดไปด้วย แล้วถนนตัดไปที่ที่ใครใครก็ขึ้นมันมีผล 2 เด้ง คนก็อยากได้
ชาวบ้านเขาเล่ากันว่าพื้นที่ชลประทานตรงนี้เปลี่ยนมือกันหมดแล้ว ชาวบ้านจริงๆ ขายกันหมดแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์เปลี่ยนมือไปอยู่ที่นายทุน กลายเป็นว่าที่ดินราคาขึ้น มันไม่ใช่เรื่องน้ำอย่างเดียวหรอก อีกเรื่องจริงเท็จอย่างไรไม่รู้นะ วัดธรรมกายเองก็ไปซื้อที่ไว้ ที่เขื่อนแม่วงก์ นักการเมืองระดับอดีตนายกฯ ญาติอดีตนายกฯ ก็ไปซื้อที่แถวนั้น
อสังหาริมทรัพย์มันก็ขยับตัว คนที่เป็นนักเก็งกำไร คนที่อ้างตัวเป็นนักวิชาการ ที่แย้งๆ ผมเรื่องแม่วงก์เยอะๆ ก็เป็นนักเก็งกำไรที่ดิน อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างว่าเขาก็ชอบเขื่อน เพราะว่ามันทำให้ราคาที่ดินมันเพิ่มสูงขึ้น นอกจากผลประโยชน์ที่ได้จากน้ำแล้ว มันไม่ได้ คิดมุมเดียวหรอกมันมี 2 - 3เด้ง ทั้งเรื่องใครจะได้ประโยชน์จาการก่อสร้าง ยังไม่นับไม้อีกที่จะมีคนได้ประโยชน์ เพราะเราไม่เคยทำเขื่อนในป่ามาประมาณ 30 ปีแล้ว กรมชลฯ เขาทำทุกปีแหละแต่ใช้วิธีเวนคืน อย่างไร่มันแถวๆ ภาคตะวันออก ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบอะไรแล้วก็จ่ายค่าชดเชยไปในราคาที่เจ้าของที่ดินพอใจ แต่มันไม่ได้ไม้นะ แต่ถ้าเกิดสร้างเขื่อนแม่วงก์กับแก่งเสือเต้นมันจะได้ไม้ มันก็จะมีคนที่ได้ธุรกิจทำผลประโยชน์จากไม้รออยู่
ดร.โสภณ พรโชคชัย นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ดูจะเป็นตัวตั้งตัวตีให้ในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และพยายามท้าดีเบตอาจารย์
ผมไม่เอาหรอก ผมก็ทำไปตามวิถีของผม ผมไม่คุยกับแกหรอก! คือเราทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมานาน ผมเองไม่ใช่นักนิเวศวิทยาก็จริง แต่ผมอาสาเข้ามาทำงานมูลนิธิสืบฯ ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ เราก็ยืนอยู่บนข้อมูลวิชาการ ผมไม่ได้เข้าไปสำรวจเสือสำรวจช้างเอง ผมก็ใช้ข้อมูลของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านสัตว์ป่า อย่าง ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จบด้านสัตว์ป่ามาโดยตรง ดร.รุ้งนภา พูลจำปาเป็นนักวิชาการด้านสัตว์ป่า กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เราพูดกันบนข้อเท็จจริงทางงานวิชาการที่เขาสำรวจ การวัดประชากรสัตว์ป่า Camera tap (ติดตั้งกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่า) ดังนั้นเราจะไปดีเบตทำไม? เพราะมันมีงานวิชาการมันก็จบแล้ว มันไม่ต้องดีเบตว่ามันมีจริงหรือไม่มีจริงคุณเข้าไปดูเหรอ? ผมจะไปดีเบตเรื่องแบบนี้ทำไม
ถ้าไม่ประสาทกินจริงๆ ไม่ต้องเถียงกันหรอก คือถ้ามันมีงานวิชาการรองรับแบบนี้ แล้วกรมอุทยานฯ ตอนหลังเขามาช่วยทำตั้งเยอะ มือดีที่สุดของกรมอุทยานฯ นักวิชาการสัตว์ป่าที่เก่งที่สุด ผมก็เข้าใจว่าคือสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ห้วยขาแข้ง ก็เอาทีมลงไปสำรวจที่แม่วงก์ก็พบสัตว์สปีชี่ใหม่ พบนกเยอะแยะ พบสัตว์อะไรที่มันน่าตื่นตาตื่นใจมาก เราจะไปดีเบตทำไม?
บางกลุ่มอาจมองว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นแนวทางพัฒนาประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องเสียสละพื้นที่จำนวนหนึ่ง
เสียไป 1,000 เขื่อนแล้วไง ก็พอแล้ว พัฒนามาได้เยอะแล้ว เขื่อนแม่วงก์มีผลระดับจังหวัด แค่ 2-3 ตำบล แต่ถามว่ามันต้องช่วยประชาชนไหม? ผมว่ากรมชลฯ ต้องรับผิดชอบ บางทีผมรู้สึกว่าเขาก็ปล่อยให้ประชาชนมีปัญหา ไม่ทำไม่แก้อะไรง่ายๆ เร็วๆ ไม่ทำ แต่ว่ารอไปทำโครงการใหญ่เลย ดันรอประชาชนเดือดร้อน
แต่ผมคิดว่าถ้าผมเป็นนายกฯ ผมไม่เอา ผมว่ามาตรา 44 มันเอาไว้ทำอย่างอื่น เพราะว่าอย่าลืม ประเทศไทยเรื่องของสิ่งแวดล้อมเมื่อก่อนอยากทำอะไรอะไรก็ทำ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไม่ต้องทำ EIA มั้ง เพราะว่าบ้านเมืองตอนนั้นสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ไง ทีนี้พอมันผ่านการพัฒนามา 10 - 20 ปี มันปรากฏว่าของดีๆ มันก็หมดไปหมดอย่างเช่น ป่าที่ราบต่ำที่เป็นที่อยู่ของนกแต้วแร้วท้องดำหมด นกแต้วแร้วท้องดำก็สูญพันธุ์ เราก็ไม่รู้อะไรมันสูญพันธุ์ไปกี่ชนิดแล้ว จากการทำเขื่อนจากการไปสร้างอ่างเก็บน้ำในป่าที่ราบต่ำคราวนี้มันก็มีผลกระทบไง พอมันมีผลกระทบปั๊บมันก็มีระบบที่ต้องตรวจสอบ ทำ EIA, EHIA (ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) มันก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่เหรอ? จะทำโรงไฟฟ้ามีผลกระทบบ้างไม่มีผลกระทบมันก็ต้องทำ EIA, EHIA มันก็ดีแล้วนี่ มันก็เป็นกระบวนการถ่วงดุลไง การพัฒนามันไม่ได้เลวร้ายมันดี แต่มันต้องมีการถ่วงดุล
ทีนี้ถ้าเป็นมาตร า44 ก็เท่ากับข้ามกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้ออกไป ผมคิดว่าเรื่องการบวนการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อมมันคือการพัฒนา เรามีความรู้เรามีองค์ความรู้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มันคือประเทศพัฒนาแล้ว ถ้าคุณกลับไปใช้อำนาจเผด็จการตามที่คุณจะทำอะไรตามใจของผู้นำ คุณก็กลับไปสู่ความเป็นเผด็จการไม่ใช้วิชาการตรวจสอบ ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มันไม่ใช่ภาวะที่เราจำเป็นต้องไปทำเรื่องนั้น ไปทำอย่างอื่นเถอะ
เมื่อเดือน มิ.ย. ระหว่างฟังบรรยายเรื่องการจัดการน้ำ จ.เชียงใหม่ พล.อ ประยุทธ์ ถามอธิบดีกรมชลฯ ถึงเรื่องการสร้างต้นน้ำแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ตรงนี้รบกวนอาจารย์ช่วย อธิบายเพิ่มเติม
เรื่องสร้างต้นน้ำไปดุกรมชลฯ เขาไม่ถูกหรอกคุณประยุทธ์ คุณต้องไปดุกรมป่าไม้ นู้น
เรื่องต้นน้ำ หลักๆ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ ต้องเข้าใจ ต้นน้ำมี 2กรมที่ดูแล กรมอุทยานฯ กับ กรมป่าไม้ พื้นที่ป่าประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ คือ 1ใน 3 ของประเทศเป็นป่ากระจายอยู่ทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์อยู่ภายใต้กรมอุทยานฯ ซึ่งวันนี้ป่าไม่โดนทำลายนะ ถ้าป่าในเขตอุทยานหรือเขตรักษาพันธ์สัตว์โอกาสที่ใครไปทำลายไถ่ภูเขาครึ่งลูกไม่มีหรอก ถ้าแอบฟัน 5 ไร่ 10 ไร่ ชุมชนทำเองก็ดำเนินการแก้ไขกันอยู่
แต่ป่าที่มันหมดไปคือ ป่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของกรมป่าไม้ ป่าที่หมดไปคือป่าในความดูแลของกรมป่าไม้ฯ เอาอธิบดีมือดีที่สุดมาทำวันนี้ก็ได้แล้วเก่งอยู่แล้ว ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ ในสายตาผมหาดีกว่านี้ยาก ทีนี้ รัฐบาลก็ต้องเติมไปที่กรมป่าไม้ให้เต็มที่ วันนี้มันก็มีเรื่องของหน่วยป้องกันรักษาป่าที่แทบจะไม่เห็นการทำงานเลย เข้าไปดูก็ไม่เห็นจะมีคน ก็ต้องไปกำชับตรงนี้ ถ้าใครทำไมได้ก็ต้องย้ายไล่ออกไป ให้อำนาจอธิบดีกรมป่าไม้ เพราะว่าอธิบดีกรมป่าไม้เดินเข้าไปเนี้ย ต่อสู้ภายในไม่ได้หรอก ต่อสู้โครงสร้างที่มันอยู่กันมานานไม่ได้ ที่ผ่านมามีแต่เรื่องการรับเคลียร์เรื่องของป่า, เก็บภาษีเถื่อน ฯลฯ รัฐบาลต้องให้ดาบให้มีดไปปรับโครงสร้างใหญ่ของกรมป่าไม้ ให้งบประมาณไปเติมบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามา ต้องแก้ให้ถูกจุด ส่วนกรมอุทยานฯ เขาอยู่ได้อยู่แล้ว
ถ้าคุณต้องการพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ต้นน้ำมาที่ไหน? มาที่แม่น้ำน่านเพราะมัน 70 เปอร์เซ็นต์ มันไหลลงเจ้าพระยา ที่คนกรุงเทพฯใช้ คนภาคกลางผลิตทั้งอุตสาหกรรม ทั้งอาหาร คุณก็ต้องไปจัดการที่แม่น้ำน่าน แม่น้ำน่านเนี่ยบุกรุกป่าเยอะ คุณจะทำอย่างไรที่ แม่น้ำน่าน ถ้าเป็นผม หัวหน้าป่าสงวนฯ ที่ จ.น่าน จะเป็นมือดีที่สุดของกรมป่าไม้ ที่สามารถจะทวงคืนผืนป่าก็ว่ากันไป อีกที่ก็ จ.เพชรบูรณ์ ต้นน้ำป่าสักเพราะมารวมกับ เจ้าพระยา เราใช้น้ำมหาศาลจากป่าสัก มือดีที่สุดต้องถูกส่งไปที่ จ.เพชรบูรณ์ ด้วย ที่นี้มีปลูกข้าวโพดเยอะ รัฐก็ต้องดิวกับซีพีว่าจะมาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างไร ผู้ว่าฯ จ.น่าน กับผู้ว่าฯ จ.เพชรบูรณ์ ก็ต้องเป็นผู้ว่าหัวใจสีเขียวที่เข้าใจตรงนี้ เพื่อไปประสานป่าไม้ทั้งหมด จ.น่าน กับ จ.เพชรบูรณ์ ต้องเป็นมือดีที่สุด เข้าขากันสร้างเป็นวอลลูม ไปรักษาป่าทีมีอยู่ อันไหนถูกรุกไปแล้วมันจะฟื้นมาได้อย่างไร แล้วไปดูตรงไหนเขารุกหลังมติ ครม. ปี 45 ก็ไปจัดการเสีย
พื้นที่ป่าของประเทศไทยหายไปตั้ง 10 เปอร์เซ็นต์นะ ถ้าทวงคืนมาได้มันได้อยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่สำคัญจะทำอย่างไรไม่ให้มันเป็นพืชเชิงเดียว แล้วทำอย่างไรให้ประชาชนช่วยกันปลูกพืชผสมผสานให้เป็น ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างที่เขาว่าๆ กัน หรือว่าให้เป็นสวนป่าที่เป็นสวนสมรมที่เป็นต้นน้ำฟังก์ชั่นเสมือนป่า รัฐก็ต้องสนับสนุน ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นสวนผสม ทั้งปุ๋ย ให้ความรู้ ให้เงินกองทุนกู้ยืม เงินช่วยดำรงชีพ ฯลฯ
ใครจะบุกรุกไม่ต้องไปสนใจหรอก สนใจแค่ว่ากรมป่าไม้ทำงานหรือเปล่า? ถ้ากรมป่าไม้ทำงานใครจะบุกรุกก็จบ
สมมุติ รัฐบาลนำมาตรา 44 มาดำเนินการโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ อาจารย์เตรียมการอย่างไรบ้าง
ไม่ว่าจะมาตราไหนเราก็ต้องค้านอยู่แล้ว เราไม่มีทางเลือก เราค้านมาขนาดนี้แล้วเราจะเลิกค้านได้ยังไง เดี๋ยวก็เป็นเหมือนที่อีกสายหนึ่งเขาหาว่าผมเลียตีนทหาร ชอบโพสต์เฟซบุ๊กว่ากับทหารไม่กล้า ดันไปค้านเขื่อนแม่วงก์ คือขบวนการที่เป็นจุดเริ่มต้น กปปส. ซึ่งไม่เกี่ยว (มีคนพยายามโยงอาจารย์ไปเกี่ยวข้องกับการเมือง?) ใช่ อะไรแบบนี้แหละ ส่วนการเมืองผมจะชอบแต่ผมไม่ได้ไปขึ้นเวทีอะไรกับเขานี่ เคยไปสังเกตการณ์ม็อบยังไม่กล้าห้อยนกหวีดเลย คนที่ไปด้วยเขามีนกหวีดผมไปดูผมไปเฉยๆ
การที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ตามด้วยภัยแล้ง มันสะท้อนเรื่องการ บริหารจัดการที่ไร้เสถียรภาพหรือเปล่า
มันก็ท่วมบ้างแล้งบ้างเป็นธรรมชาติ มนุษย์ก็ต้องเจอภัยแล้งมีท่วมสลับแล้ง น้ำมัน ก็ขึ้นๆ ลงๆ มันสลับมีน้ำมากน้ำน้อย มันไม่ได้มาเสมอกันทุกปีหรอก เขื่อนมันก็ช่วยทำ ให้ กราฟมันสมูทขึ้นเป็นเส้นตรงมากขึ้น ตรงไหนน้ำท่วมเขื่อนมันก็ชะลอไว้ ตรงไหนน้ำ แล้งเขื่อนมันก็มาเติม ตามธรรมชาติมันก็ต้องมี แต่ประเภทท่วมมากอย่างปี 2554 มันไม่ได้มาบ่อย ประมาณ 20 ปีมันมาสักที จากน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 มาถึงปี 2554 มันก็ 16 ปี มาเสียที มันก็เป็นเรื่องปกติก็เตรียมรับมันไว้ซะ เห็นมันไม่ท่วมมาหลายปีเดี๋ยวมันก็ท่วม ก็เหมือนกันแล้งมันไม่แล้งหนักๆ มาหลายปีมันก็จะแล้ง มันก็ต้องมีการเตรียมความพร้อม
ร่องมรสุมที่เคลื่อนตัวเข้าประเทศช่วงนี้ไทย เรียกว่าเข้ามากู้วิกฤติภัยแล้งได้หรือเปล่า
มันเป็นธรรมชาติ มันมาน้อยนะ แต่ทั้งหมดต้องดูหลังเข้าพรรษา ร่องมรสุมมันมาตามธรรมชาติของมันอยู่แล้วไง ก.ค. มันเป็นช่วงแล้ง คือร่องมรสุมที่ทำให้ฝนตกจะมาช่วง พ.ค. มิ.ย. แต่มันมาจากภาคใต้ทางอันดามันก่อน ฝนตกแล้วมันค่อยๆ เลื่อนขึ้นมา สแกนผ่านภาคกลางขึ้นไปภาคเหนือ แล้วมันจะไปสุดที่ภาคใต้ของประเทศจีน ที่เลยยูนานเหนือประเทศไทยขึ้นไป แล้วมันจะไปค้างอยู่ตรงจีน 1 เดือน ก.ค.
มันจะใช้เวลาสแกนผ่านภาคใต้ ทั้งประเทศไทย พ.ค. - มิ.ย. ช่วงนี้ก็จะทำให้ฝนตกเริ่มฤดู แล้วพอ มิ.ย. ร่องมรสุมมันขึ้นไปอยู่ที่จีน มันก็จะทำให้ ก.ค. ส่วนใหญ่ฝนทิ้งช่วง ซึ่งถ้าโดยธรรมชาติมันก็ไม่มีปัญหาอะไร พ.ค. - มิ.ย. มันตก น้ำมันก็เก็บอยู่ในคลองอยู่ ใน นาพอสมควรแล้ว ข้าวก็ยังไม่ต้องใช้น้ำอะไรมาก แต่บังเอิญ พ.ค. - มิ.ย. มันไม่มาตามนัด ร่องมรสุมมันมาแต่ฝนมันไม่มา (หัวเราะ) มันมาเฉพาะภาคใต้อันดามันกับภาคตะวันออก พอร่องมรสุมมันไม่มาปั๊บ กรมอุตุฯ ไปประกาศ ว่าเข้าหน้าฝนชาวนาปลูกข้าว น้ำในเขื่อนที่มันเหลือน้อยอยู่แล้ว ปีนี้มันเหลือเท่าๆ ปี 2557 นั้นแหละ เขื่อนมันก็ต้องปล่อยออกมาเยอะหรือน้อยก็ไม่รู้ แต่ว่ามันหมด ตอนนี้มันปล่อยออกมาหมดมันก็เลยมีปัญหา
หลังเข้าพรรษา ร่องมรสุมมันมาอีกรอบแต่มันเหมือน พ.ค. - มิ.ย. ที่มาน้องผิดปกติ จะเพราะเอลนีโญหรือป่าไม่หมดก็ช่าง เถียงกันไปก็ไม่มีประโยชน์ มันมีประโยชน์แค่ฝนจะมาหรือไม่มาเท่านั้นเอง (ยิ้ม) มันก็จะเดือดร้อนกันไปทั่ว อันนี้มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องไม่มีเขื่อนจะใส่น้ำ มันไม่มีน้ำจะใส่เขื่อน เขื่อนมันรออยู่แล้วตั้งเยอะตั้งแยะ จะรีบไปสร้าง ทำไม ล่ะ ทำไมกรมชลฯ ไม่แก้ภัยแล้งเฉพาะหน้า จะไปทำเขื่อนทำไม? แทนที่จะเร่งทำแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มันกระจายไปทั่วทุกพื้นที่
เขื่อนแม่วงก์เป็นเขื่อนกระจิ๊ดเดียวใช้ 2- 3 ตำบล แถวนั้นก็หมดแล้ว มันไม่ต้องมาคิดถึงแก้ภัยแล้งภาคกลางหรอก แก้ภัยแล้งภาคกลางมันต้องเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก เขื่อนแม่วงก์มันเขื่อนระดับตำบลไม่ได้มีผลอะไร
มีข่าวลือว่ากรมชลฯ รับใช้กลุ่มการเมือง ตรงนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลควรสยบไหม
แน่นอน เพราะว่าพรรคการเมืองขนาดกลางพรรคหนึ่งเขาก็คุมกรมชลฯ มาตลอด 20 - 30ปี สายต่างๆ มันก็ไปเอื้อต่อกันทั้งนั้นแหละ เขาก็ว่ากันผมไม่รู้นะ ท่านนายกฯ รู้ก็ไปจัดการเสียสิ ข่าวลือขนาดนี้!
ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ. ป่าไม้ - สัตว์ป่า ล่าสุด หลายท่านเห็นตรงกันว่าเปิดช่องว่างให้กลุ่มทุนเข้าไปหาผลประโยชน์
มันไม่ยอมร่างใหม่ มันเป็นร่างที่อยากจะให้นายทุนตั้งแต่สมัย รัฐบาล 10 ปีที่แล้ว มันเป็นเรื่องจะแปลงทรัพย์สินเป็นทุน สมัยนั้นคือ ทักษิณ ชินวัตร แกเก่งนะ แกเป็นคนทำงานเก่งมาก แล้วแกมองขาดในมุมของแก ซึ่งเราอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แกเป็นนายกฯ ที่มองยุทธศาสตร์ประเทศพัฒนาไปหมดแล้ว เหลือป่าอุทยานฯ ดังนั้น จะเอามาทำอะไรให้มันเกิดแปลงเป็นทุน ก็พวกบ้านพักอุทยานทำให้เป็นเขตบริการซะ ให้นายทุนเข้าไปสร้างรีสอร์ตเก็บผลประโยชน์ คือง่ายๆ แง่ดีมันก็มี แต่มันจะเอื้อต่อใครบางคนมันก็เยอะ กฎหมายนี้มันถูกดองไว้ พอขึ้นมาปุ๊บก็มีกระแสก็ไม่ควรทำ เห็นว่าเขาก็จะเอาออกนะ ต้องดูในราชกฤษฎีกาอีกทีว่ามีใครเอาเข้าไปอีกหรือเปล่า
รอบปีที่ผ่านๆ มา มีภาพข่าวเจ้าหน้าที่รัฐบุกไล่รื้อรีสอร์ตรุกพื้นที่ป่า ตรงนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการทวงคืนผืนป่าไหม
ไม่ได้ป่าคืนมาในระดับที่มีผลอะไร แต่ว่ามันมีผลในการป้องปรามไม่ให้คนรุกไม่กล้าซื้อที่มือเปล่าโดยไม่มีการตรวจสอบ มันมีผลดีตรงนั้น เจ้าหน้าที่เองก็ได้ทำหน้าที่รักษากฎหมาย แต่ที่สำคัญก็คือปล่อยปละละเลยมาได้อย่างไรตั้งนานแล้ว ก็ต้องไปไล่บี้ราชการเอามาลงโทษด้วย
ประเด็นสิ่งแวดล้อมช่วงนี้อาจารย์สนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า
ส่วนตัวผมสนใจประเด็นกัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในสายตาผมวันนี้ เพราะว่ามันเกิดแฟชั่นเอาหินไปถมหาดทรายโดยอ้างว่าเกิดการกัดเซาะ ทั้งๆ ที่จุดเริ่มมันเกิดจากโครงการของกรมเจ้าท่าเป็นหลัก ที่ไปสร้างเขื่อนกันทรายปากคลอง ซึ่งมีผลดีกับการให้เรือประมงชาวบ้านเข้าได้ แต่มันไปกั้นกระแสน้ำ กั้นตะกอนที่เอามาถมชายหาดประจำทุกๆ ฤดูกาล ก็ทำให้เกิดการกัดเซาะ อีกอันหนึ่งก็คือพวกการรุกที่ของโรงแรมของบ้านพักที่รุกที่เข้าไปในพื้นที่ที่เป็นหาดทราย แล้วไปสร้างกำแพงกั้นคลื่น เพราะว่าหน้ามรสุมคลื่นมันก็ต้องทับเข้ามา ก็เอาหินไปกั้นสู้พอทำปุ๊บทรายก็จะถูกขุด คลื่นที่ปะทะกำแพงที่สร้างมันก็จะแรงขึ้น แล้วมันก็จะลามเซาะเลี้ยวเบนไปเซาะอันที่ไม่ทำ ผลที่สุดก็ต้องทำหมด ที่นี้มันเซาะไล่ๆ ไปก็ไปโดนบ้านคน
ในที่สุดก็เอื้อประโยชน์ให้กรมเจ้าท่าไปทำโครงการระเบิดหินมาถม อันนี้ก็เป็นทั่วไปหมดตั้งแต่ จ.ตราด ไปยัน จ.นราธิวาส อันดามันที่ไม่มีเรื่องกัดเซาะเลยก็กำลังเป็นแฟชั่นหาเรื่องให้กัดเซาะ ทำโครงสร้างยืนออกไปให้มันถูกกัดเซาะ ตรงนี้กรมชายฝั่งฯ ต้องเข้ามาดูแลบ้าง เรื่องใหญ่ไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องความโง่ ใครอยากทำโง่ๆ ก็ทำ หาผลประโยชน์กันง่ายๆ ไม่รู้ ไม่มีใครสนใจ!
ภาพโดย : สันติ เต๊ะเปีย