xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าโครงการซื้อน้ำเอกชน 5.8 พันล้านผ่านสภาท้องถิ่น คนเมืองคอนหนาวแน่ ตัวอย่างยอดแย่มีให้เห็นแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - โล่งไป ผู้เสียภาษีท้องถิ่นชาวเทศบาลนครนครศรีธรรมราช หนาวแน่หากโครงการซื้อน้ำเอกชน 5.8 พันล้านบาท ผ่านสภาท้องถิ่น พบตัวอย่างโผล่ เอกชนบริษัทน้ำยักษ์ใหญ่เจอผูกขาดซื้อน้ำจากเอกชนด้วยกันยังอ้วก 40 ปี 5 พันล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าโครงการจัดซื้อน้ำดิบจากเอกชนแบบผูกขาด 30 ปี มูลค่ากว่า 5.8 พันล้าน ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นอันต้องถูกตีตกไปจากสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ไปเมื่อวันที่ 13 พ.ค.58 ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช สมัยสามัญสมัยที่ 2 ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นการประชุมที่ถูกติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก นายเชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้จัดทำญัตติขอรับความเห็นชอบให้เอกชนเข้ามาดำเนินการพัฒนาระบบประปา และจำหน่ายน้ำประปา และขอความเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่า 1 ปีงบประมาณ ซึ่งเป็นโครงการที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องให้เอกชนเข้ามาผูกขาดในการจัดการน้ำ และจำหน่ายน้ำให้แก่เทศบาลเป็นเวลาถึง 30 ปี มูลค่าโครงการสูงกว่า 5.8 พันล้าน ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดนับแต่มีการก่อตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนี้เกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราช

ส่วนรายละเอียดโดยย่อโครงการนี้คือ เทศบาลจะต้องซื้อน้ำอย่างต่อเนื่องจากบริษัทเอกชนที่บังคับซื้อปริมาณ 48,000 ลบ.ม.ต่อวัน จะต้องมีค่าน้ำสูงถึงวันละเกือบ 4 แสนบาท และต้องแพงขึ้นไปแบบขั้นบันไดตลอด 30 ปี และใน 1 เดือนนั้นจะต้องจ่ายค่าน้ำสูงถึงราวกว่า 10 ล้าน แม้ว่าในปัจจุบัน รายได้ของการประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จะมีเพียง 6 ล้านบาทต่อเดือน ประกอบกับโครงการที่มีการนำเสนอนี้เป็นที่น่าสังเกตถึงการเอื้อให้เอกชนสามารถเช่าที่ในการจัดทำโครงการเป็นเวลา 30 ปี โดยต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 400 ล้าน และบังคับต้องโอนกิจการให้แก่เทศบาลหลังจากครบสัญญา จึงเกิดคำถามว่า หากครบสัญญาแล้ว และเอกชนครบสัญญาเช่าที่จะเอากิจการที่ไหนมาโอนให้แก่เทศบาล เพราะที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจะตกเป็นของคู่สัญญาระหว่างเอกชนกับเจ้าของที่ดิน และโครงการที่มีภาระยาวนานถึง 30 ปี และมีมูลค่าสูงถึงราว 6 พันล้าน

การที่ญัตตินี้ไม่ผ่านสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และมีอันต้องตกไปกลับกลายเป็นผลดีท่ามกลางความโล่งใจของทุกฝ่ายที่เฝ้ามองการแก้ไขปัญหาน้ำประปาของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่อยู่ในภาวะล้มเหลวมาตลอด 4 ปี อย่างไรก็ตาม ได้มีกรณีเทียบเคียงเช่นนี้ในระหว่างเอกชนด้วยกันที่เจอปัญหาการผูกขาดซื้อน้ำมูลค่า 5 พันล้านบาท ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยสำนักข่าวอิสรา ได้นำเรื่องมาเปิดเผยท่ามกลางความตกตะลึง และโล่งใจของข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้องกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราชที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการซื้อน้ำทำนองเดียวกันนี้ เพียงแค่คู่สัญญานั้นเป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช กับเอกชน
 

 
โดยการทำข่าวเชิงสืบสวน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบ ระหว่าง “บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)” หรืออีสท์วอเตอร์ กับ “บริษัท ชลกิจสากล จำกัด” ที่มีลักษณะผูกขาดให้อีสท์วอเตอร์ ต้องซื้อน้ำจากบริษัท ชลกิจสากล จำกัด เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปีเต็ม และในระหว่างอายุสัญญาจะมีการปรับราคาน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ของทุกๆ 5 ปี ด้วย ส่งผลทำให้บริษัท ชลกิจสากลฯ ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5 พันล้านบาท นั้น

สำนักข่าวอิสรา ได้เผยแพร่ข่าวการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.isranews.org สำนักข่าวอิสรา ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.58 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายวิทยา ฉายสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายน้ำดิบฉบับนี้ ได้รับการยืนยันจาก นายวิทยา ว่า บอร์ดอีสท์วอเตอร์ชุดปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เช่นกัน

“สัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นในการบริหารของบอร์ดชุดเก่า ซึ่งหลังจากที่บอร์ดชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลเรื่องนี้ก็รู้สึกประหลาดใจว่าเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีการทำสัญญาเพื่อซื้อน้ำกับบริษัทเอกชนรายเดียวยาวนานถึง 40 ปีแบบนี้ และในช่วงระยะเวลาสัญญายังต้องมีการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำแบบขั้นบันไดไว้อีก ทางบอร์ดจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้”

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ล่าสุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการสอบสวนได้มีการชงเรื่องเสนอให้ที่ประชุมรับทราบ พบว่า สัญญาที่ทำไว้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน หากอีสท์วอเตอร์ ไปสั่งยกเลิกสัญญาโดยทันทีอาจจะถูกฟ้องร้องจากทางบริษัทเอกชนได้ และมีสิทธิแพ้คดีสูง

“พูดกันตามตรงหลังจากที่เห็นสัญญาฉบับนี้เราคิดว่ามันผิดปกติมาก ที่อีสท์วอเตอร์ ต้องไปผูกขาดซื้อน้ำจากเอกชนรายเดียวถึง 40 ปี มันมีที่ไหน ใครเขาทำกันบ้าง แถมวงเงินที่ต้องจ่ายไปก็มีมูลค่าหลายพันล้าน เราอยากจะยกเลิก แต่ถ้าไปยกเลิกเลยมันก็ไม่ได้ เนื่องจากสัญญาที่ทำไว้เป็นไปตามระเบียบ เขาผูกไว้ดีมาก ถ้าไปยกเลิกเลยสู้กัน 3 ศาล เรามีสิทธิแพ้ได้ และที่สำคัญช่วงนี้ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมาก เราจำเป็นต้องใช้น้ำด้วย มันเป็นเงื่อนไขที่บังคับทำให้เรายังยกเลิกสัญญาไม่ได้

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขปัญหานี้ที่ทางบอร์ดตัดสินใจไป คือ การใช้วิธีการเจรจากำหนดข้อตกลงในสัญญาใหม่แทน โดยขอปรับลดระยะเวลาในสัญญาลงจาก 40 ปี เหลือ 30 ปี แทน แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ช่วงแรก 10 ปี ช่วงสอง 10 ปี และช่วงสามอีก 10 ปี โดยในทุกช่วงเวลาเมื่อสิ้นสุด และจะเริ่มต้นช่วงเวลาใหม่ หากบริษัทเอกชนไม่สามารถส่งน้ำได้ครบถ้วนตามสัญญา และคุณภาพน้ำไม่ดี สัญญาการซื้อขายน้ำก็จะถูกยกเลิกทันที ซึ่งการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้ ทำให้ อีสท์วอเตอร์ ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ และช่วยให้ประหยัดงบประมาณลงมาได้เป็นจำนวนเงินพันล้านบาท จากเดิมที่ต้องใช้เงินถึง 5 พันล้านบาท

เมื่อถามว่า ทำไมอีสท์วอเตอร์ต้องทำสัญญาซื้อขายน้ำกับ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด นายวิทยา ตอบว่า “การซื้อน้ำจากเอกชนเป็นหนึ่งในภารกิจของอีสท์วอเตอร์อยู่แล้ว เพราะน้ำในส่วนที่เราได้จากกรมชลประทานมีโควตากำหนดอยู่ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ส่วนทำไมต้องเป็นบริษัท ชลกิจสากล จำกัด และขั้นตอนการคัดเลือกเป็นอย่างไรนั้น ทางบอร์ดได้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเรื่องนี้อยู่ แต่ผมยังไม่ขอพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบ” ประธานอีสท์วอเตอร์ ระบุ โดยสำนักข่าวอิสราได้ทำการสืบสวนในเรื่องนี้ (ที่มา : http://www.isranews.org/isranews-news/item/40029-news02_40029.html)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการซื้อน้ำโดยเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งหากเทียบเคียงกับกรณีของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ปัญหางบประมาณผูกพัน การจัดซื้อน้ำแบบบังคับซื้อ และอีกปัญหาที่ตามมา ซึ่งที่ผ่านมา หากผ่านสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช โอกาสภาวะการเงินการคลังที่ล้มเหลวของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จะเกิดผลกระทบสูงมาก ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของชาวนครศรีธรรมราชในฐานะผู้เสียภาษีท้องถิ่น
 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น