นครศรีธรรมราช - สภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช คว่ำโครงการยักษ์ประเคนระบบประปาให้เอกชนเข้าผูกขาดขายน้ำให้แก่ระบบประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 30 ปี มูลค่า 6 พันล้าน ชำแหละเป็นทางเลือกที่ยิ่งเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน ฟุ้งต้องอยู่ครบ 2 สมัย
วันนี้ (13 พ.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช สมัยสามัญสมัยที่ 2 ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นการประชุมที่ถูกติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก นายเชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้จัดทำญัตติขอรับความเห็นชอบให้เอกชนเข้ามาดำเนินการพัฒนาระบบประปา และจำหน่ายน้ำประปา และขอความเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่า 1 ปีงบประมาณ ซึ่งเป็นโครงการที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องให้เอกชนเข้ามาผูกขาดในการจัดการน้ำ และจำหน่ายน้ำให้แก่เทศบาลเป็นเวลาถึง 30 ปี มูลค่าโครงการสูงกว่า 5.8 พันล้าน ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดนับแต่มีการก่อตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนี้เกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราช
โดยการเสนอญัตตินั้น นายเชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้อ้างถึงความเดือดร้อนของประชาชนในการขาดแคลนน้ำประปาในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ประกอบกับมีการขยายตัวของเมืองนครศรีธรรมราช อย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุผลสำคัญ โดยเอกสารประกอบญัตติที่ลงนามโดย นายเชาวน์วัศ เสนพงศ์ ได้แนบทีโออาร์ของโครงการนี้มาให้สภาประกอบการพิจารณา
ขณะที่การอภิรายนั้นได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการเสนอทางเลือกอีกหลายทางก่อนหน้า แต่ไม่ได้รับความสนใจกลับมุ่งเน้นแต่โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และยังหยิบยกถึงรายได้ของการประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราชต่อเดือนที่มีรายรับราว 6 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อมาคิดรายจ่ายที่เทศบาลจะต้องซื้อน้ำอย่างต่อจากบริษัทเอกชนที่บังคับซื้อปริมาณ 48,000 ลบ.ม.ต่อวัน จะต้องมีค่าน้ำสูงถึงวันละเกือบ 4 แสนบาท และต้องแพงขึ้นไปแบบขั้นบันไดตลอด 30 ปี และใน 1 เดือนนั้นจะต้องจ่ายค่าน้ำสูงถึงราวกว่า 10 ล้าน ดังนั้นภาระของการใช้น้ำแพงจะตกอยู่ที่ประชาชนใช่หรือไม่
นอกจากนั้น การลงทุนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มูลค่านับร้อยล้านบาทในการแก้ไขปัญหาน้ำประปาของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะการเช่าบ่อน้ำของเอกชน การจัดวางระบบท่อ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณที่สูงมากกลับไม่สามารถนำมาใช้ได้เลย และมีข้อสังเกตอีกว่า ในการจะวางท่อ และเช่าบ่อน้ำจากตำบลนาทราย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มายังโรงกรองผลิตของเทศบาลนั้นเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับโครงการนี้หรือไม่
ประกอบกับโครงการที่มีการนำเสนอนี้เป็นที่น่าสังเกตถึงการเอื้อให้เอกชนสามารถเช่าที่ในการจัดทำโครงการเป็นเวลา 30 ปี โดยต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 400 ล้าน และบังคับต้องโอนกิจการให้แก่เทศบาลหลังจากครบสัญญา จึงเกิดคำถามว่า หากครบสัญญาแล้ว และเอกชนครบสัญญาเช่าที่จะเอากิจการที่ไหนมาโอนให้แก่เทศบาล เพราะที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจะตกเป็นของคู่สัญญาระหว่างเอกชนกับเจ้าของที่ดิน และโครงการที่มีภาระยาวนานถึง 30 ปี และมีมูลสูงถึงราว 6 พันล้าน กลับมีคณะกรรมการจัดทำทีโอร์อาร์แค่ 7 คน ที่ล้วนเป็นข้าราชการประจำ รวมทั้งโครงการนี้กลับไปละม้ายคล้ายคลึงกับโครงการในจังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังถูก ป.ป.ช.สอบสวน
ขณะที่ นายเชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้ขึ้นชี้แจงด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่เคร่งเครียดบางช่วงบางตอนว่า โครงการนี้เป็นการทำเพื่อประชาชนไม่มีนอกมีใน และระบุในทำนองว่า มีผู้ที่ไม่ต้องการให้เขาเป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ในสมัยที่ 2 ซึ่งเป็นพวกที่มีอคติ และเป็นเรื่องของการเมือง ทั้งยังกล่าวว่า คสช.จะต่ออายุการดำรงตำแหน่งไปอีก 5 ปี อย่างแน่นอน จะอยู่ในการดำรงตำแหน่งรวมถึง 9 ปี และหากไม่ยาวถึงขนาดนั้นมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนก็จะต้องอยู่อีก 1 สมัย เพราะยังไม่ครบ 2 สมัย
“สำหรับโครงการนี้เป็นการแก้ไขระบบน้ำของการประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่กล้าลงทุน เป็นมืออาชีพไม่ใช่บริษัทป๊อกแป๊ก หรือบริษัทสิบนิ้ว ซึ่งเอกชนจะนำผู้บริหาร สภา หัวหน้าส่วนไปดูงานในที่ที่เขาผลิต และจำหน่ายน้ำอยู่แล้วเช่นที่ชลบุรี ภูเก็ต และเกาะสมุย” นายเชาวน์วัศ ชี้แจงในช่วงสำคัญ
ต่อมา ได้มีการอภิปรายเพิ่มเติมจากสมาชิกสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ลุกขึ้นตั้งคำถามทำนองว่า หากรู้ว่าเอกชนทำอยู่ที่ไหนบ้างแสดงว่ารู้ใช่หรือไม่ว่าบริษัทไหนจะเข้ามาเป็นผู้ขายน้ำให้แก่เทศบาล และการวางท่อโครงการหลายสิบล้านที่ผ่านมา ทำเพื่อรองรับโครงการ หรือบริษัทนี้ใช่หรือไม่ หลังจากนั้น ที่ประชุมได้เรียกร้องให้เลื่อนญัตติ หรือถอนออกไปก่อนเพื่อศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน รับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้ใช้น้ำ แต่นายเชาวน์วัศ ยืนยันไม่ถอนญัตติ และต้องการให้สภาโหวตโครงการนี้
ต่อมา เมื่อนายวิฑูรย์ อิสระพิทักษ์กุล รองประธานสภาทำหน้าที่ประธานสภา ได้ลงจากบัลลังก์ นายเคารพ อิสระไพบูลย์ ประธานสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ขึ้นทำหน้าที และให้มีการโหวตแบบขานชื่อจากสมาชิกสภาเทศบาลที่เหลืออยู่จำนวน 23 คน ปรากฏว่า มีผู้ลงคะแนนเห็นด้วย 10 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ขณะที่ นายเคารพ อิสระไพบูลย์ ประธานสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ใช้อำนาจประธานสภาชี้ขาดไม่เห็นด้วย ทำให้ญัตตินี้ต้องตกไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีกระแสข่าวว่า มีผู้มากบารมีนอกเทศบาลนครนครศรีธรรมราช พยายามติดต่อกับสมาชิกสภาเทศบาลที่ติดตาม และตรวจสอบโครงการนี้อย่างเข้มข้นโน้มน้าวให้สนับสนุนโครงการด้วยข้อแลกเปลี่ยนถึง 6 หลัก แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถดำเนินการได้