xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มหาภัยพิบัติเอลนีโญ่ ชัตดาวน์ 355 สถานีสูบน้ำ ทิ้งภาคเกษตร แก้วิกฤตน้ำกินน้ำใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 อ่างเก็บน้ำพระราม 9
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วิกฤตภัยแล้งปี 2558 ไม่กระทบเพียงภาคเกษตรกรรมส่งผลให้ชาวไร่ชาวนาเดือดเนื้อร้อนใจ แต่ลามถึงน้ำอุปโภคบริโภคสะเทือนคนเมืองให้ตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก เพราะสถานการณ์ขาดแคลนน้ำดิบมาผลิตน้ำประปาในพื้นที่ปริมณฑลอย่าง อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เข้าประชิดจวนตัว งานนี้ตลาดแตกทำเอาชาวบ้านชาวเมืองเฮโลกักตุนน้ำกันอลหม่าน

ทั้งนี้ทั้งนั้น วิกฤติการณ์ภัยแล้งเป็นผลพวงจากการแทรกแซงการบริหารจัดการน้ำของ กรมชลประทาน ของฝ่ายการเมืองรัฐบาลปูแดง ในปี 2555 กระทบมาจนถึงปัจจุบัน บวกกับฝนทิ้งช่วงนาน ฝนตกนอกเขื่อน ไม่มีน้ำเติมเข้าเขื่อน ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนประสบภาวะแห้งแล้งเกิดการแย่งชิงน้ำกินน้ำใช้ และปัญหาถนนทรุด ฯลฯ

ด้านผู้กุมบังเหียนประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืดอกสามศอกยอมรับว่าสถานการณ์ภัยแล้งกำลังลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ส่งผลให้บางจังหวัดไม่มีต้นทุนมาผลิตน้ำประปา โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งที่กำลังคุกคามประเทศ

“เราแก้ปัญหาทุกวัน เมื่อคืนที่ผ่านมาก็ไม่ได้หลับได้นอน เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนทำประปา และถูกประชาชนกักไว้ทำการเกษตร”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตน้ำต้นทุนในการทำน้ำประปา เพราะถูกประชาชนกักไว้ทำการเกษตร สร้างทำนบกั้นน้ำแล้วสูบเข้าที่นา ส่งผลให้น้ำที่ถูกลำเลียงมาตามแม่น้ำคูคลองเพื่อจะนำมาผลิตน้ำประปา ระหว่างทางถูกชาวบ้านสูบไปใช้ในการเกษตร ส่งผลให้น้ำไม่มีผลิตน้ำประปา

เห็นได้ชัดจากกรณีวิกฤตภัยแล้งของชาวปทุมธานี เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ซึ่งทางทางสถานีผลิตน้ำการประปาธัญบุรี ให้เหตุผลที่น้ำประปาไม่ไหลว่าไม่สามารถสูบน้ำจากคลองระ พีพัฒน์ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ซึ่งรับน้ำมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ไหลผ่านเข้าสู่ อ.หนองแค จ.สระบุรี มีปริมาณน้ำลดจนแห้งสนิทสืบเนื่องจากไม่มีน้ำไหลผ่านประกอบกับฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวรับผลกระทบจากน้ำประปาไม่ไหล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ปทุมธานี “ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และพื้นที่ที่มีปัญหา เข้าไปเจรจา ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดี ตอนนี้ก็มีการทลายที่กั้นน้ำหมดแล้ว เดี๋ยวต้องให้เวลาน้ำวิ่งมาอีกจะกี่วันถึงจะผลิตน้ำประปาได้ยังไม่รู้เลย

“ฉะนั้น การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนและเสียหายร้ายแรงแบบนี้ มันแก้วันเดียวไม่สำเร็จ ต้องแก้ไปแต่จะทำอย่างไรถึงจะบรรเทาความเดือดร้อน วันนี้เราให้เบ็ดตกปลาอย่างเดียวไม่ได้ หรือสอนอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องให้ปลาไปกินบ้างเพื่อให้เขาประทังชีวิต"

หลังมีการออกมาประกาศเตือนพื้นที่ขาดแคลนน้ำ บริเวณ อ.ธัญบุรี, อ.ลำลูกกา, อ.หนองเสือ และ อ.คลองหลวง จะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่แห่ซื้อน้ำดื่มไปกักตุนเกลี้ยง ทั้งตามตู้กดน้ำและชั้นวางจำหน่ายหลังทราบว่าน้ำประปาขาดแคลน

ขณะที่ชาวกรุงเทพฯ ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จ่อประชิด ประชาชนแห่กักตุนน้ำดื่มบรรจุขวด และถังน้ำ สำรองไว้เพื่ออุปโภคบริโภค ส่งผลให้ยอดขายน้ำเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ และขาดสต๊อกในหลายแห่ง ขณะเดียวกัน มีการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน (สายด่วน1569) เพราะผู้ค่าบางรายฉวยโอกาสขึ้นราคา อาทิ ขนาดขวด 1.5 ลิตร เดิมที่แพ็กละ (6ขวด) 48 - 49 บาท ปรับขึ้น54 - 55 บาท บางยี่ห้อปรับขึ้นสูงสุดถึงแพ็กละ 62 บาท ส่วนขนาดแกลลอนปรับขึ้นจาก 32 - 33 บาท เป็น 39 - 40 บาท โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องร้องเรียนเปิดเผยว่า หลังจากมีประแสข่าวขาดแคลนน้ำประปาในบางพื้นที่ ประชาชนเกิดความวิตกกังวลว่าน้ำดื่มบรรจุขวดจะขาดแคลนอันกระทบมาจากภัยแล้ง

ด้าน บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า น้ำดื่มบรรจุขวดไม่มีปัญหาการขาดแคลน เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ สัดส่วน 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่าการผลิตอยู่ในภาวะปกติ เพราะแหล่งน้ำที่ผลิตน้ำดื่มมาจากน้ำบาดาลไม่ใช้น้ำประปา ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลเร่งกักตุน เพราะจะทำเอื้อประโยชน์แก่ผู้ค้าบางรายฉวยโอกาสขึ้นราคา

อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนจากการหยุดจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ของ จ.ปทุมธานี เนื่องสถานการณ์ภัยแล้งครั้งนี้ ส่งผลให้น้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในการอุปโภคบริโภคมีปริมาณไม่เพียงพอ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยราษฎร พระราชทานน้ำประปาที่ผลิตจากพระตำหนักบ้านสวนปทุมให้นำไปใช้บรรเทาสถานการณ์ พร้อมพระราชทานให้นำน้ำจากสระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ตั้งอยู่ระหว่างคลองระบายน้ำรังสิต 5 และ 6 ต.คลองหลวง อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี) ไปบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวปทุมธานี วันละ 7,200 ลบ.ม. เบื้องต้นเป็นเวลา 30 วัน หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็จะพระราชทานเพิ่มเติม

ตามที่กล่าวในข้างต้น ปัญหาหนึ่งที่ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปานั้น เกิดจากการที่ประชาชนบางส่วนนำน้ำไปใช้ในการเกษตร โดย จิรชัย มูลทองโร่ย คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ได้ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่คลอง 13 จ.ปทุมธานี ก่อนการลำเลียงน้ำดิบจากสระเก็บน้ำพระราม 9สู่ระบบประปาสาขาธัญบุรี

ด้านพ่อเมืองปทุมธานี พงศธร สัจจชลพันธ์ เปิดเผยต่อว่า เจ้าหน้าที่สามารถเปิดทางน้ำ ในคลองระพีพัฒน์ได้แล้ว โดยทำลายคันกั้นน้ำและสันดอนที่ชาวบ้านกักไว้สำหรับหาปลา พร้อมขอความร่วมมือชาวบ้านริมคลองระพีพัฒน์ว่าอย่าเพิ่งสูบน้ำเข้าไร่นาในช่วง 2-3 วันหลังพื้นที่ จ.ปทุมธานีประสบปัญหา เพื่อให้น้ำดิบเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปาจ่ายสู่ บ้านเรือน ประชาชน

ภาคเกษตรกรรมเดือนร้อนอย่างหนักจากวิกฤติการณ์ภัยแล้ง หากไม่มีการจัดการที่ดีอาจเปิดศึกแย่งน้ำระหว่างเกษตรกรแย่งสูบน้ำเข้าที่นาตนเอง วิกฤตภัยแล้งรุนแรงที่ส่งผลทั้งภาคเกษตรและอุปโภคบริโภค ได้มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ว่ามีความจำเป็นต้องลดปริมาณการปล่อยน้ำในการเกษตรให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อน้ำอุปโภค พร้อมๆ กับรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยส่งทหารคุม เกษตรกรเพื่อมิให้มีการลักลอบสูบน้ำ

ทว่า รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบอื่นเป็นการทดแทน เบื้องต้นอาจจะเป็นวงเงินช่วยเหลือ โดย ครม.เห็นชอบวงเงินรวมกว่า 60,000 ล้านบาท ยืดเวลาชำระหนี้ ปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 30,000 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเพาะปลูก อายุสินเชื่อ 3 ปี เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรประมาณ 1 ล้านคน พร้อมวิงวอนเกษตรกรอย่าเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล

ในวันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. มีมติตามที่กรมชลประทานเสนอลดการปล่อยน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากเดิมปล่อยน้ำรวมกันวันละ 28 ล้านลบ.ม. ก็จะต้องลดลงเหลือ 18 ล้านลบ.ม. โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จะเริ่มลดปริมาณตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. พร้อมเผยว่ารัฐบาลมีแผนบริหารระยะยาวรับมือ เช่น การดึงน้ำจากแม่น้ำโขง ที่ต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศ ฯลฯ แต่ขณะนี้ขอดูแลเฉพาะเรื่องน้ำดื่มอุปโภคบริโภคก่อน

นอกจากนี้ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำรวจน้ำประปาหมู่บ้านทั่วประเทศ 61,601 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้จะใช้สำหรับอุปโภคบริโภคไปถึงกลาง ส.ค.นี้ 55,000 หมู่บ้าน ส่วนอีก 5,000 หมู่บ้านจะมีน้ำพอใช้ถึงปลายเดือน ก.ค.นี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ว่าฯต้องหาวิธีรับมือ

“เรื่องการประหยัดน้ำ คนไทยต้องตระหนัก และคน กทม. ก็ต้องใช้น้ำอย่างระวัง ทั้ง การอุปโภคและบริโภค ทุกคนต้องประหยัดหมด ทั้งคนที่มีประปาหมู่บ้าน ประปานครหลวง หรือบางจุดประปาใช้ระบบชลประทาน เพราะในต่างประเทศที่ออสเตรเลียเคยแล้งยาวนาน 5 - 7 ปี ขนาดการล้างรถยังผิดกฎหมาย แต่ของเราก็ไม่อยากให้ตื่นตระหนกแบบนั้น” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกผู้บริหารสำนักการการบริหาร จัดการน้ำ สำนักชลประทานในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานเข้ารับฟังแผนรับมือวิกฤตแล้ง พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันดูแลพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤต

ทั้งนี้ เนื่องจากจะมีการลดการระบายน้ำตั้งแต่คืนวันที่ 16 ก.ค. จาก 28 ล้านลบ.ม. เหลือ 18 ล้านลบ.ม. นั้น จะใช้เพื่ออุปโภคบริโภค 8 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 5 ล้านลบ.ม. ที่เหลือ 5 ล้านลบ.ม. นั้นพบว่าบางส่วนสูญหายอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะถูกดึงไปใช้เพื่อการเกษตร

ดังนั้นการระบายน้ำตั้งแต่คืนวันที่ 16 ก.ค. เป็นต้นไป กรมชลประทานจะปิดสถานีสูบน้ำไฟฟ้าทั้งหมด 355 สถานี เป็นการชัตดาวน์ระบบ 1-2 วัน เพื่อให้น้ำเดินทาง ไปสู่เป้าหมายอย่างแท้จริงเพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ

ขณะที่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก เร่งทำฝนเทียม โดยเร่งออกปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ให้ความช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตรที่กำลังประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำอย่างหนัก พร้อมกับเร่งเติมน้ำเข้าเขื่อนเพื่อรักษาสมดุลของเขื่อน

ด้าน วราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำต่างๆ มีแนวโน้มน้ำเริ่มไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น แต่ปริมาณฝนแม้เป็นไปตามเป้าหมายก็ยังไม่เพียงพอ แต่ปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย และ กำแพงเพชร

ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวถึง สถานการณ์ฝน บริเวณพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกเขตชลประทานต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 58) มีฝนตกในหลายพื้นที่ ลักษณะเกิดจากร่องความกดอากาศต่ำขนาดเล็ก อิทธิพลจากพายุในประเทศจีน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีแสดงถึงกระบวนการเกิดฝนตามฤดูกาล

ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งคือ หย่อมความกดอากาศต่ำในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีโอกาสที่จะ ก่อ ตัวเป็นพายุได้มีจำนวนกระจายตัวอยู่ค่อนข้างมาก ผศ.ดร.อานนท์ แสดงความเชื่อมั่นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกน่าจะมีพายุ ใต้ฝุ่น หรือพายุโซนร้อนเกิดขึ้นได้หลายลูก ประจวบกับร่องความกดอากาศสูงในประเทศจีนก็จะทำให้มีโอกาสให้เกิดพายุเข้าใกล้ประเทศไทย ส่งผลให้ตั้งแต่กลาง ก.ค. เป็นต้นไปจะมีฝนกระจายเป็นระยะๆ เป็นผลดีต่อพื้นที่เกษตรที่จะได้น้ำกระจายกันออกไป แต่โชคไม่เข้าข้างประเทศไทยนัก เพราะฝนไม่ได้เข้าอ่างเก็บน้ำ แต่ในช่วงเดือน ส.ค. จะมีร่องมรสุมลงมาจากประเทศจีน ซึ่งจะเป็นนำที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ

โดยปริมาณน้ำคาดไว้ในสิ้นฤดูฝนจะต้องมีน้ำอย่างน้อย 3,500 ล้านลบ.ม. เพื่อเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง

“ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือภาวะเอลนีโญเริ่มทวีความรุนแรง ซึ่งขณะนี้เราก็อยู่ในภาวะดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในภาวะเอลนีโญ ฝนก็ยังมา แต่มันจะค่อย ๆ ทวีกำลังแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าจะถึงสูงสุด แล้งที่สุด ซึ่งดูจากอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนของไทย เพราะฉะนั้นอาจมีผลส่งให้ฤดูฝนหมดเร็วกว่ากำหนด ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรซึ่งอยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยว ก็ต้องมีการเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับปลายฤดูฝนซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของ กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) ที่สำคัญคือ อาจส่งผลกระทบไปถึงฤดูแล้งของปี 2559 ซึ่งน่าจะมีความแห้งแล้งอย่างรุนแรง การทำการเกษตรในปีหน้าอาจเรียกว่าแทบจะมีความเป็นไปไม่ได้และไม่ควรทำอย่างยิ่ง” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว

ด้าน ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่อจากนี้ประเทศ ไทยจะประสบกับภาวะภัยแล้งอย่างแน่นอน เพราะแบบจำลองปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่ นักวิทยาศาสตร์ได้จัดทำขึ้น เพื่อประเมินสถานการณ์จำลองทุกๆ 6 เดือน พบว่าภาวะภัยแล้งจะเกิดขึ้นอย่างหนักตั้งแต่เดือนพ.ย.58 - ม.ค.59 เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในปี 52 ถือว่าปี 58-59 จะรุนแรงกว่าพอสมควร ค่าเฉลี่ยของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นประมาณ 6 เดือน-1 ปีครึ่ง ฉะนั้นข้อมูล จากการสังเกตการณ์และสถิติต่างๆ ที่จัด ทำขึ้น จึงเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 50 ปีที่รัฐบาลประกาศให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานชะลอการทำนา ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้เราพ้นจากภาวะวิกฤตของภัยแล้งและทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศน้อยที่สุด

แต่ตอนนี้ ประชาชนชาวไทยคงต้องเผชิญวิกฤติภัยแล้งกันไปก่อน เพราะ 'พิษปู' เมื่อครั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังรีดไม่หมด รายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ เรื่องการระบายน้ำจาก เขื่อนในปลายปี 2554 เปิดเผยว่า มีความสัมพันธ์กับการเมือง ยืนยันจากคำกล่าวของอธิบดีกรมชลประทาน เมื่อ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ออกมายอมรับว่า ในปี 2555 ฝ่ายการเมืองสั่งการ ให้กรมชลฯ ระบายน้ำในเขื่อนทุกเขื่อนลงเหลือ 45 เปอร์เซ็นต์ ของความจุเขื่อน จนปริมาณน้ำลดต่ำจวบจนปัจจุบัน เพราะไม่ต้องการให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนในปี 2554

ขณะที่ กรมชลฯ พยายามคัดค้าน ประวิงเวลาในการระบายน้ำเนื่องจากการระบายน้ำไม่ว่าปริมาณมากหรือน้อยต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ท้ายเขื่อน แม้สุดท้ายฝ่ายการเมืองจะยอมรับฟังเหตุผลแต่ก็มีการระบายออกแล้วมากถึง 14,000 ล้านลบ.ม. เป็นปริมาณการระบายน้ำออกที่มากที่สุดในรอบ 15 ปี

ยกตัวอย่าง ปริมาณในเขื่อนใหญ่ อาทิ เขื่อนภูมิพลระดับน้ำเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2 เปอร์เซ็นต์ หรือเขื่อนสิริกิติ์เหลือ 34 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 5 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ

การแทรกแซงการบริการจัดการน้ำของกรมชลฯ โดยฝ่ายการเมืองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เอื้อ ประโยชน์ต่อโครงการรับจำนำข้าวในเวลานั้น เพราะหาเสียงไว้ว่าจะรับซื้อตันละ 15,000 บาท ทว่า ราคาตลาดอยู่ที่ 8,000 - 9,000 บาท การสนับสนุนเร่งให้มีการระบายน้ำเพื่อ สนับสนุนการเพาะปลูกตามโครงการฯ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดน้อยลงอย่างมาก ฝืน ราคาตลาดสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ บวกกับภาวะฝนทิ้งช่วง ขณะที่เขื่อนระบายน้ำ ออกทุกวัน ล้วนเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤติภัยแล้งในปี 2558

งานนี้บิ๊กตู่แอบตัดพ้อว่า หากสมัยก่อนถ้าขุดสถานที่เก็บน้ำไว้คงไม่มีปัญหาถึงวันนี้ ที่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่หาสถานที่กักเก็บ ที่ระบายน้ำ และที่ส่งน้ำใหม่

“ถ้าถามว่า มันแล้งจะทำอย่างไร ก็มันแล้งไง เข้าใจคำว่าแล้งไหม เราต้องทำให้คนอยู่ได้ก่อน ประทังชีวิตและการเกษตรไปก่อน เมื่อเราประทังการเกษตรไม่ไหว ก็ต้องยอมรับ เพราะคนเดือดร้อนสำคัญกว่า ก็ต้องเลือก หรือแบ่งขั้นตอนช่วงที่แล้วทำมาได้ก็ทำมา รักษาทั้งสองส่วน พอวันนี้เริ่มเดือดร้อนการประปาก็ต้องดูการเกษตร ว่าจะเอาอย่างไร ต้องชั่งน้ำหนัก ฉะนั้นการเกษตรเนี่ย ผม ก็อยากบอกว่าผมไม่ได้ไปรังเกียจรังงอน ผมสงสารท่านมากกว่า แต่มันจนใจจริงๆ ถ้าท่านจะทำก็ต้องรอน้ำฝน ไม่เช่นนั้นท่านลงทุนไปแล้วมันก็เสียหาย ไม่ได้ประโยชน์ ก็ไปหากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีใครเดือดร้อน ก็บอกมา ท่านต้องเป็นกลุ่มให้ได้ว่าตรงนี้ เดือดร้อน" พล.อ.ประยุทธ์ โอดครวญ

ฟังถ้อยคำจาก พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ต้องบอกว่า ภัยแล้งคือโจทย์หนักของรัฐบาลทหาร ครั้นจะคอยฟ้าคอยฝนมากเติมน้ำเหนือเขื่อนอย่าง เดียวคงไม่ได้ หากแต่ต้องใช้ฝีมือในการบริหารจัดการ เพราะต้องไม่ลืมว่าพิษของภัยแล้งนั้นกระทบกับชาวนาถึง 3.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะส่งกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศเป็นลูกโซ่ ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมปรับลดประมาณการตัวเลขจีดีพีของประเทศไทยต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์แล้ว



ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล
ลำตะคองวิกฤติหนัก
ชาวบ้าน จาก 3 ตำบลในอำเภอหนองเสือ รวมตัวปิดกั้นตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงนาในสามตำบล ที่บริเวณใต้สะพานคลอง 7
กำลังโหลดความคิดเห็น