(1)
ช่วงนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ใช้น้ำประปาของการประปานครหลวงในการอุปโภคบริโภค เวลาบ้วนปากเพื่อแปรงฟันจะรู้สึกว่าน้ำประปามีรสชาติกร่อย ออกแนวรสเค็ม อีกทั้งเมื่อนำไปต้มก็จะมีคราบเกลือติดอยู่
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปานั้น ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับช่วงนี้บ้านเราอยู่ในช่วงภัยแล้ง น้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนหลักๆ มีปริมาณน้อยมาก
ลองนึกภาพดูจะพบว่า แม่น้ำเจ้าพระยามีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำ 4 สายหลัก สมทบกับอีก 1 สายที่กลางทาง ส่วนใหญ่อาศัยการปล่อยน้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลักๆ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เขื่อนแต่ละแห่งส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนน้อยมาก ทำให้ต้องปล่อยน้ำท้ายเขื่อนน้อยลงตามไปด้วย กระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปรับลดการใช้น้ำจากเดิมรวมกันวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร
เน้นส่งน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น!
ตลอดระยะทาง 372 กิโลเมตรตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา แม้ภาครัฐขอร้องเกษตรกรงดสูบน้ำทำนา แต่ก็ไม่ได้งดสูบน้ำเพื่อผลิตประปา เพราะฉะนั้นน้ำดิบก็ถูกสูบในหลายจังหวัดภาคกลาง กว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ ก็ลดน้อยลงแล้ว
เมื่อน้ำทะเลหนุนสูง ตามช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ทำให้น้ำเค็มมาผสมกับน้ำจืด กลายเป็นน้ำกร่อย และเมื่อน้ำจืดที่ปล่อยมาจาก 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้อยมาก ทำให้น้ำเค็มค่อยๆ รุกคืบไปเรื่อยๆ
ปัจจุบัน กรมชลประทานได้รายงานค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประจำทุกวัน โดยจุดตรวจวัดหลักๆ อยู่ที่ หน้ากรมชลประทาน สามเสน (กม.60) ท่าน้ำนนทบุรี (กม. 67) และสถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี (กม. 96)
วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ค่าความเค็มสำหรับทำการเกษตร คือไม่ทำให้พืชผลหรือพันธุ์ไม้ต่างๆ แห้งตาย ต้องไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร แต่ถ้าจะนำน้ำจากแม่น้ำไปผลิตน้ำประปา ค่าความเค็มต้องไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร
เท่าที่ดูรายงานสถานการณ์ค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา (17 ก.ค.) พบว่าปริมาณน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนเจ้าพระยา 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่สถานีประปาสำแล จุดสูบน้ำดิบเข้าคลองประปา ค่าความเค็มอยู่ที่ 1 กรัมต่อลิตร
เกินมาตรฐานสำหรับผลิตน้ำประปา เราถึงได้ใช้น้ำอุปโภค-บริโภคที่มีรสกร่อยแบบนี้
ลงไปดูท่าน้ำนนทบุรี ค่าความเค็มอยู่ที่ 6.42 กรัมต่อลิตร หน้ากรมชลประทาน สามเสน 8.53 กรัมต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ถ้าเอาไปรดต้นไม้ ใบพืช จะเริ่มเหี่ยวเฉา ขอบใบแห้งไหม้ ม้วนงอขึ้น ก้านใบและรอยต่อระหว่างก้านใบจะแห้ง
ส่วนรากจะมีผลกระทบกับรากฝอยและปลายหมวกราก ส่งผลให้ใบพืชแสดงอาการขาดน้ำ หากอากาศร้อนจัดและแห้ง เมื่อพืชได้รับน้ำเค็มก็จะเหี่ยว แห้ง ทิ้งใบ ถ้ารุนแรงต้นพืชก็จะยืนต้นตายได้
เพราะฉะนั้นเกษตรกรในพื้นที่นนทบุรี (ที่ยังไม่ขายที่ดินให้นายทุนไปทำบ้านจัดสรร) เช่น พื้นที่ท่าอิฐ บางพลับ อ้อมเกร็ด และเกาะเกร็ด โดยเฉพาะผู้ปลูกทุเรียนเมืองนนท์ที่มีชื่อเสียง เจอแบบนี้ก็เสียหายหลายแสนไปแล้ว
ที่ผ่านมาวิธีแก้ปัญหาของพวกเขาก็ต้องแก้กันแบบตามมีตามเกิด ใครไม่อยากให้ต้นทุเรียนยืนต้นตาย บางแห่งลงทุนน้ำประปาใส่ร่องสวนทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้น้ำปรับสภาพ ทำให้ค่าน้ำบางเดือนทะลุสูงถึง 3 พันบาท แต่ก็ต้องจำยอม
จะว่าไปแล้ว คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะนนทบุรี สมุทรปราการ ที่ใช้น้ำจากการประปานครหลวง ยังนับว่าโชคดีกว่าที่อื่นที่น้ำประปาไม่ขาดแคลน เพราะมีโรงผลิตน้ำขนาดใหญ่ที่ผลิตน้ำได้อย่างต่อเนื่อง
จังหวัดที่อยู่ติดกันอย่างปทุมธานี อยู่ในความดูแลของการประปาส่วนภูมิภาค หากเป็นพื้นที่ปทุมธานี ลาดหลุมแก้ว สามโคก คลองหลวง ถึงคลอง 5 จะใช้น้ำที่ผลิตโดยบริษัทประปาปทุมธานี สูบจาก ต.บ้านปทุม อ.สามโคก
แต่ถ้าเป็นพื้นที่คลอง 5 ถึงคลอง 15 จะเป็นเขตการประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี ที่ใช้น้ำจากคลอง 13 หรือ คลองระพีพัฒน์ ซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำป่าสักที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา มาสูบผลิตน้ำประปาเป็นของเขาเอง
เมื่อเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลดการปล่อยน้ำ น้ำในคลองระพีพัฒน์ก็ถูกสูบจนเริ่มแห้งลงเรื่อยๆ กระทั่งไม่มีน้ำเหลือให้ผลิตน้ำประปา ต้องออกประกาศงดจ่ายน้ำ ทำเอาชาวบ้านกว่า 5 หมื่นครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านจัดสรรได้รับความเดือดร้อน
เรื่องภัยแล้งคนกรุงเทพฯ เชื่อมาโดยตลอดว่าไม่มีผลกระทบ เพราะน้ำประปายังไหลตามปกติ อีกทั้งลำคลองส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการระบายน้ำในฤดูฝน มีสภาพเน่าเสีย อุปโภคบริโภคไม่ได้ ก็เลยปล่อยเลยตามเลย เฉยๆ กับเรื่องประหยัดน้ำ
แต่ปัญหาน้ำประปารสเค็ม รสกร่อยอย่างคาดไม่ถึง จะทำให้คนกรุงเทพฯ รู้ซึ้งถึงคำว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา
ภาพจากเฟซบุ๊ก "การประปานครหลวง กปน. (Metropolitan Waterworks Authority - MWA)"
(2)
น้ำประปาในกรุงเทพมหานครที่เราใช้กันอยู่นี้ ในปัจจุบันได้มาจากแหล่งน้ำอยู่ 2 แห่งใหญ่ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำแม่กลอง แต่ก็ใช่ว่าจะใช้ร่วมกันได้ทั้งหมด เพราะความที่เป็นเมืองอกแตก แยกส่วนระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี
น้ำดิบที่นำมาผลิตเป็นน้ำประปานั้น สูบมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ สถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี ไหลมาตามคลองประปา ระยะทาง 31 กิโลเมตร ขุดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ระหว่างทางผ่านไป 18 กิโลเมตร น้ำดิบส่วนหนึ่งจะถูกดึงไปยัง โรงงานผลิตน้ำบางเขน ถนนประชาชื่น เป็นโรงงานผลิตน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีกำลังการผลิตสูงถึงวันละ 3.9 ล้านลูกบาศก์เมตร
น้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำประปาบางเขน ให้บริการในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมทั้งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านอุโมงค์สี่พระยา-ท่าพระ ไปยังพื้นที่บางกอกใหญ่ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง และ พระประแดง
อาจเรียกได้ว่า น้ำประปากรุงเทพฯ ที่เราอุปโภคบริโภคในขณะนี้ ส่วนใหญ่มาจากโรงผลิตน้ำบางเขนนั่นเอง
ผ่านไป 27 กิโลเมตร น้ำดิบส่วนหนึ่งจะถูกสูบที่โรงสูบน้ำดิบบางซื่อ ลงท่อขนาด 0.9 เมตร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถึง โรงงานผลิตน้ำธนบุรี ถนนจรัญสนิทวงศ์ กำลังการผลิตวันละ 1.7 แสนลูกบาศก์เมตร ให้บริการในพื้นที่บางกอกน้อย บางพลัด
เมื่อมาถึงปลายคลองประปา 31 กิโลเมตร น้ำดิบจะถูกส่ง โรงงานผลิตน้ำสามเสน โรงผลิตน้ำประปาแห่งแรก จัดตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตวันละ 7 แสนลูกบาศก์เมตร ให้บริการในพื้นที่พญาไท ดุสิต พระนคร และราชเทวี
สมัยก่อนฝั่งธนบุรีใช่ว่าจะมีน้ำใช้เต็มที่ เพราะลำพังโรงผลิตน้ำธนบุรี อุโมงค์สี่พระยา-ท่าพระ และท่อส่งน้ำดิบคลองสาน-ราษฎร์บูรณะ ก็ยังไม่เพียงพอ จะดีกว่าก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่อประปาสะพานพุทธถูกทำลาย ก็ต้องใช้น้ำบาดาล
กระทั่งการประปานครหลวงเริ่มก่อสร้าง โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนมกราคม 2537 และเริ่มทำการทดลองเปิดจ่ายน้ำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2539
พร้อมกับขุดคลองประปาสายใหม่ รับน้ำจากเขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ก่อนไหลลงอุโมงค์ลอดแม่น้ำท่าจีน ผ่านเข้าสถานีสูบน้ำดิบบางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม ถึงโรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์ ระยะทาง 107 กิโลเมตร
โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ (ภาพจากเว็บไซต์การประปานครหลวง)
ปัจจุบัน โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ มีกำลังการผลิตสูงสุดวันละ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าโรงผลิตน้ำสามเสนเท่าตัว ทำให้ฝั่งธนบุรีและนนทบุรีฝั่งตะวันตก ซึ่งเดิมประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้มีน้ำประปาใช้อย่างเพียงพอ
โดยเฉพาะถนนกาญจนาภิเษก บางบัวทอง ไทรน้อย บางใหญ่ บางกรวย นนทบุรี ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ หนองแขม และ บางขุนเทียน ส่วนท่าพระ บางกอกใหญ่ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง ส่วนใหญ่ยังใช้น้ำจากโรงงานผลิตน้ำประปาบางเขน
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาการประปานครหลวงต้องใช้วิธีลดการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองประปา ในช่วงที่ค่าคลอไรด์สูง รอจนกว่าลิ่มความเค็มจะลดต่ำลง จึงจะสูบน้ำตามปกติ
ส่งผลทำให้ต้องลดกำลังการผลิตและจ่ายน้ำประปาที่โรงงานผลิตน้ำบางเขนลง เหลือ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่งผลให้น้ำประปาไหลอ่อนลงกว่าเดิมในบางช่วงเวลา
หากสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มได้ จำเป็นต้องใช้วิธีผลิตน้ำประปารสกร่อย รสชาติที่ต่างไปจากเดิม รู้สึกปะแล่ม ไม่คุ้นเคย บางคนอาจไม่รับรู้ แต่ผู้ที่มีประสาทการรับรู้รสไว อาจรับรู้รสได้ง่าย
พูดง่ายๆ ก็คือ แม้น้ำประปากรุงเทพฯ จะไหลเป็นปกติ แต่จะได้รับน้ำประปารสกร่อย ออกแนวเค็มๆ มาแทน
แต่สำหรับพื้นที่ฝั่งธนบุรี ที่รับน้ำประปาจากโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์จะไม่มีปัญหา เพราะแหล่งน้ำอยู่ห่างจากทะเลไกลถึง 130 กิโลเมตร อีกทั้งเป็นน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี
การประปานครหลวงมีแผนลงทุนปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 (2559-2565) โดยขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์อีก 8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้ผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
รวมทั้งก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีกแห่ง ก่อสร้างสถานีสูบจ่ายน้ำแห่งใหม่ บริเวณตอนล่างทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขยายถังเก็บน้ำใสที่สถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง บางพลี มีนบุรี ลาดพร้าว และสำโรง
ผู้ว่าการการประปานครหลวง ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ อธิบายว่า ที่ผ่านมาการประปานครหลวงได้หลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบในช่วงที่ค่าความเค็มในน้ำดิบเกิน 0.5 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าที่สามารถรับรู้รสกร่อยได้
แต่เนื่องจากภาวะน้ำทะเลหนุนครั้งนี้สูงต่อเนื่องหลายวัน จึงจำเป็นต้องสูบน้ำดิบที่มีลิ่มความเค็มดังกล่าวมาผลิตน้ำประปาด้วย อาจส่งผลให้น้ำประปาในช่วงนี้มีรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงน้ำขึ้น
โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สำนักงานประปาสาขาสุขุมวิท พระโขนง สมุทรปราการ แม้นศรี ทุ่งมหาเมฆ ลาดพร้าว พญาไท มีนบุรี สุวรรณภูมิ ประชาชื่น และ บางเขน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการการประปานครหลวง ย้ำว่า คุณภาพน้ำประปาในด้านอื่นๆ ยังได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ทุกประการ และสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ การประปานครหลวงยังได้แนะนำเว็บไซต์ตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาออนไลน์ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ http://twqonline.mwa.co.th โดยจะเปลี่ยนแปลงค่าทุก 2 นาที
จากการสังเกตของผู้เขียน คือ น้ำประปาที่มีรสชาติปกติ ค่าความเค็มในน้ำประปาจะอยู่ระหว่าง 0.08-0.10 กรัมต่อลิตร แต่ถ้ามากกว่า 0.50 กรัมต่อลิตรขึ้นไปจะเป็นค่าที่สามารถรับรู้รสกร่อยได้
หรืออีกอย่างหนึ่ง คือค่าความนำไฟฟ้าในน้ำประปา มีหน่วยเป็น โมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร (µs/cm) หากมีรสชาติปกติค่านำไฟฟ้าจะอยู่ระหว่าง 150-200 หน่วย แต่หากเกินกว่า 1,200 หน่วย จะส่งผลให้รับรู้รสกร่อยในน้ำประปาได้
ซึ่งความเค็มและความกร่อยในน้ำประปา ถ้าใช้อุปโภคในชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ ซักผ้า ล้างจาน ทำความสะอาดจะไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากผ่านกระบวนการผลิต เติมปูนขาว คลอรีน สารส้ม ตกตะกอน ก่อนทำการกรองน้ำแบบเร็ว
แต่ถ้าใช้บริโภคแม้จะผ่านการต้ม น้ำจะยังมีรสกร่อยและค่าคลอไรด์สูงอยู่ คนปกติดื่มได้แต่จะรู้สึกว่ายังกระหายน้ำ เว้นแต่ผู้ป่วยโรคไตห้ามบริโภคเด็ดขาด ต้องซื้อน้ำดื่มที่ผ่านเครื่องกรองระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส (อาร์โอ) มาดื่มแทน
(3)
ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อน้ำประปามีรสชาติกร่อย หากในชีวิตประจำวันบริโภคน้ำดื่มโดยใช้เครื่องกรองน้ำ ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ หรือต้มน้ำก็ยังมีรสเค็ม เว้นแต่ไปเติมน้ำหยอดเหรียญละแวกฝั่งธนบุรีที่ไม่ได้รับผลกระทบ
มีรายงานว่าช่วงภัยแล้ง ในพื้นที่รังสิต ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ยอดขายน้ำดื่มบรรจุขวดพุ่งสูงขึ้น 30–50% เนื่องจากบางพื้นที่มีการหยุดจ่ายน้ำประปา หลายคนจึงซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไปกักตุนไว้
ถึงกระนั้น กรมการค้าภายในตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ เช่น ตราช้าง สิงห์ เนสท์เล่เพียวไลฟ์ น้ำทิพย์ คริสตัล ฯลฯ ได้รับการยืนยันว่าปัญหาภัยแล้งไม่กระทบต่อกระบวนการผลิตน้ำดื่ม เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้น้ำใต้ดินในการผลิต
ภาพจากแฟ้ม
ปัจจุบันราคาน้ำดื่ม ขวดพลาสติกใสขนาด 500-600 มิลลิลิตร ไม่แช่เย็น จำหน่ายไม่เกินขวดละ 7 บาท และแช่เย็นจำหน่ายไม่เกินขวดละ 10 บาท และที่ผ่านมาผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึงร้อยละ 60
สถานการณ์น้ำประปาที่มีรสชาติกร่อยแบบนี้ มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งจะหันมาบริโภคน้ำดื่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบบรรจุขวด หรือน้ำดื่มบรรจุถังที่มีบริการส่งตามบ้านและสำนักงานมากขึ้น แม้จะแพงกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องกรองน้ำ
จากการสำรวจราคาน้ำดื่มบรรจุขวดในห้างค้าปลีก 3 แห่ง ขนาด 1.5 ลิตร แพ็ค 6 ขวด พบว่าหากเป็นยี่ห้อเฮ้าส์แบรนด์ ที่ห้างค้าปลีกสั่งมาจำหน่ายราคาจะอยู่ที่ 46-59 บาท หากเป็นยี่ห้อที่นิยมตามท้องตลาด ราคาจะอยู่ที่ 49-72 บาท
ส่วนน้ำดื่มขนาด 6 ลิตร พบว่าหากเป็นยี่ห้อเฮ้าส์แบรนด์ราคาจะอยู่ที่ 27-29 บาท แต่ยี่ห้อที่นิยมตามท้องตลาด ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ประมาณ 3 แบรนด์ ได้แก่ สิงห์ เนสท์เล่เพียวไลฟ์ และตราช้าง ราคาจะอยู่ที่ 39-43 บาท
สำหรับน้ำดื่มบรรจุถังขนาด 18.9 ลิตร จัดส่งสัปดาห์ละครั้ง พบว่าอยู่ที่ราคา 60-70 บาทต่อถัง หากซื้อคูปองจำนวนมากราคาจะลดลง แต่หากไม่เคยสั่งน้ำดื่มมาก่อน จะมีค่ามัดจำถัง (ได้รับเงินคืนเมื่อยกเลิก) ขั้นต่ำ 3 ถัง ตั้งแต่ 550-900 บาท
ถึงกระนั้นความนิยมของน้ำดื่มบรรจุขวดจะเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง หากเห็นว่าน้ำประปามีคุณภาพปกติแล้ว การซื้อน้ำดื่มสิ้นเปลือง ในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัว ผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องกรองน้ำ หรือตู้กดน้ำดื่มตามเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวดจะมีมากขึ้นในช่วงภัยแล้ง แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะบางแบรนด์มีโรงงานในต่างจังหวัดที่ไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ทำให้มีสินค้าไม่ขาดแคลน
ปัญหาน้ำประปารสชาติกร่อย คงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของคนกรุงเทพฯ ต่อจากมหาอุทกภัยในปี 2554 เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศเฉกเช่นจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ย่อมทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องยอมรับสภาพ
น่าคิดว่า คนกรุงเทพฯ นอกเหนือจากต้องรับมือกับน้ำท่วม จากฝนตกหนักและน้ำท่า แผ่นดินทรุดตัว น้ำเน่าเสียแล้ว ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อชาวนา ยังส่งผลกระทบต่อระบบประปา ที่ใช้อุปโภคบริโภคร่วมกันนับสิบล้านคน
ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องสรุปบทเรียนถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำ ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้งอย่างยั่งยืนกันเสียที ก่อนที่ในวันข้างหน้าจะต้องประสบปัญหาเช่นนี้ และต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไม่รู้จักจบสิ้น.