คล้ายภาพเดิมๆ ฉายซ้ำ กับภาพที่ประชาชนพากันกักตุนน้ำดื่มตามที่สื่อต่างๆ พากันนำเสนออยู่ในขณะนี้ ชั้นสิ้นค้าที่เคยเรียงรายไปด้วยขวดบรรจุน้ำดื่มกลับว่างเปล่า ชายบางคนแบกถังน้ำขนาดใหญ่กว่าตัวขึ้นหลังเดินลับไป หญิงชราเดินไกลมาจากบ้านเพียงเพื่อนำขวดน้ำพลาสติกมารองน้ำกลับไปไว้กินใช้... สื่อๆ ต่างๆ พากันนำเสนอภาพซ้ำด้านตรงข้ามกับเหตุการณ์ปี 54 ที่ครั้งนั้นประชาชนกักตุนน้ำดื่มเพราะปัญหาอุทกภัย หากสี่ปีต่อมา ครั้งนี้กลับกลายเป็นวิกฤตภัยแล้ง!
น้ำดื่มยังมี หลายฝ่ายเตือน อย่าตื่นตระหนก!
“อย่าตื่นตระหนกกันมากไป!” คือถ้อยคำล่าสุดจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ที่ได้ออกมากล่าวเตือนประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนกจนถึงขั้นพากันกักตุนน้ำดื่ม หากฟังดูขัดแย้งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดลพบุรี ประชาชนต่างพากันซื้อถังน้ำตระเตรียมไว้ รวมถึงน้ำดื่มบรรจุขวดก็ถูกซื้อไปจนขาดตลาดในบางพื้นที่ หลังจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาลพบุรี ประกาศหยุดจ่ายน้ำ และจะจ่ายน้ำเป็นเวลาในบางพื้นที่ ประกอบกับภาพจากโลกออนไลน์ที่แสดงให้เห็นถึงภาพชั้นสิ้นค้าที่เคยอัดแน่นไปด้วยขวดน้ำดื่ม ที่บัดนี้กลับว่างเปล่า ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความรุนแรงของวิกฤตน้ำในครั้งนี้ หากความจริงแล้วข้อมูลที่ได้จากภาครัฐหลายๆ ฝ่ายก็สะท้อนอีกด้านเช่นกัน
กระแสข่าวที่ว่า จ.ปทุมธานี จะขาดแคลนน้ำประปา เพราะน้ำไม่พอผลิต จนมีประชาชนพากันกักตุนน้ำดื่ม จนชั้นสินค้าในห้างสะดวกซื้อต่างๆ ว่างเปล่า ไม่ต่างจากปี 54 นั้น รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า “ความจริงแล้วไม่ได้วิกฤตอย่างที่เป็นข่าว เพราะมีการปล่อยน้ำลงคลองปกติเหมือนเช่นเดิมในวันนี้ จึงสามารถผลิตน้ำประปาได้ตามปกติแล้ว ส่วนตัวไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกกังวลเกินไป ว่าจะไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค และไม่จำเป็นต้องกักตุนน้ำดื่มแต่อย่างใด” รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในทำการลงพื้นที่ติดตามการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยเฉพาะน้ำดื่มที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง พร้อมเตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก กักตุนน้ำดื่มจากเหตุภัยแล้งจนเกินพอดี
ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้กล่าวถึงกระแสข่าว เรื่องที่ประชาชนเริ่มพากันกักตุนน้ำ จนน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อหนึ่งถึงกับขาดตลาดว่า “ตอนนี้ได้สั่งการให้สำนักงานการค้าภายในจังหวัดติดตามสถานการณ์น้ำดื่ม เพื่อการบริโภคอย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ของราคา และปริมาณความต้องการ แต่เท่าที่ได้รับรายงานยังไม่พบการขาดแคลน และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกักตุนน้ำดื่ม ยืนยันว่าน้ำดื่มบรรจุขวดยังมีอยู่อย่างเพียงพอ แต่หากประชาชนวิตกซื้อเก็บไว้ ก็อาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนได้”
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ยังเผยถึงกรณีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ให้ตรวจสอบการจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดในห้างโมเดิร์นเทรด ย่านถนนรามอินทรา รัตนาธิเบศร์ และอีกหลายพื้นที่ที่พบว่ามีการปรับขึ้นราคาถึง 6-7 บาท ต่อแพ็ก โดยขนาด 1.5 ลิตร ขึ้นมาเป็นแพ็ก (6 ขวด) ละ 54-55 บาท จากเดิมแพ็กละ 48-49 บาท โดยพบว่ามีบางยี่ห้อที่ปรับขึ้นสูงสุดถึงแพ็กละ 62 บาท ส่วนขนาดแกลลอนปรับขึ้นจาก 32-33 บาท เป็น 39-40 บาท หรือปรับขึ้น 6-7 บาท
“กรมจะเข้าไปตรวจสอบกรณีการร้องเรียนเรื่องน้ำดื่มบรรจุขวดปรับราคา เนื่องจากสินค้าน้ำดื่มบรรจุขวดได้มีมาตรการออกราคาแนะนำ โดยน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกใส (PET) ขนาดไม่เกิน 600 มิลลิลิตร (มล.) ราคาแนะนำกำหนดให้จำหน่ายขวดละ 7 บาท สำหรับน้ำดื่มไม่แช่เย็น และจำหน่ายไม่เกิน 10 บาท สำหรับน้ำดื่มที่แช่เย็น แต่จะไม่รวมน้ำดื่มที่จำหน่ายภายในร้านอาหาร ซึ่งถือเป็นบริการพิเศษ โดยหากมีการขายเกินราคา เราจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ หากขายเกินราคาจะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ อธิบดีกรมการค้าภายในยังกล่าวย้ำถึงเรื่องที่มีน้ำดื่มยี่ห้อหนึ่งขาดตลาดว่า จากการติดตามของกรมการค้าภายใน ยังไม่พบว่ามีการขาดแคลน แต่เป็นไปได้ในบางพื้นที่อาจมีปัญหาการขนส่ง และมีเหตุจำเป็น “ยังไม่เกิดภาวะขาดแคลนถึงขั้นนั้น จากการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวงสอบตามห้างสะดวกซื้อ หรือ โมเดิร์นเทรดต่างๆ พบว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นขายดีขึ้น บางยี่ห้ออาจไม่มีบนชั้น แต่ก็เป็นเฉพาะบางสาขาเท่านั้น ยืนยันว่าการหยุดจ่ายน้ำประปาในบางพื้นที่ของ จ.ปทุมธานี จะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำดื่มบรรจุขวดในตลาดอย่างแน่นอน” พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ภาพที่เสนอทางสื่อนั้นดูน่าตื่นตระหนกเกินจริง “เท่าที่ทราบมาตอนนี้ปทุมธานีไม่ได้วิกฤตขนาดที่เป็นข่าว และขณะนี้มีการปล่อยน้ำลงคลองให้ไปผลิตน้ำประปาแล้ว”
เหล่านี้คือถ้อยคำยืนยันจากฝ่ายต่างๆ ที่ออกโรงเตือนไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก หากเมื่อมาอัปเดตดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ล่าสุดในวันนี้ ก็ทำให้ยากจะเชื่อว่าทุกอย่างกำลังจะคลี่คลาย โดยเมื่อดูสถานการณ์น้ำจากทั้ง 4 เขื่อน พบว่ามีปริมาณรวม 566 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งนับเป็นปริมาณที่น้อยจนน่าใจหาย!
โดยกรมชลประทานคาดว่าจากปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก หากไม่มีปริมาณน้ำมาเพิ่มเติม จะเหลือใช้ได้ประมาณเพียง 20-30 วัน! ดังนั้นยังเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่น่าไว้วางใจ หากมองจากตัวเลขดังกล่าว
หลายเขื่อนหลักยังวิกฤต ลุ้นฝนถึง 20 ก.ค.
สถานการณ์ล่าสุดตามเขื่อนหลักๆ ยังวิกฤต โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมากล่าวว่า เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องลุ้นให้ฝนตกไปจนถึง 20 ก.ค. เนื่องจากเขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยายังคงมีปริมาณน้ำที่น้อยมาก คือเหลือน้ำสำรองใช้ เพียง20-30 วัน เช่นเดียวกับเขื่อนในแถบอีสาน โดยข้อมูลล่าสุดของเขื่อนภูมิพล มีปริมาณใช้การได้จริง 152 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2 % ส่วนปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.98 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบายได้ 8 ล้าน ลบ.ม./วัน เท่ากับเหลือจำนวนวันที่เหลือน้ำใช้อยู่ 19 วัน ทางด้านเขื่อนสิริกิติ์ ก็ประสบภาวะวิกฤตไม่ต่างกันมากนัก โดยมีปริมาณใช้การได้จริง 318 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5 % ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 5.79 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 17.03 ล้าน ลบ.ม./วัน เท่ากับมีปริมาณน้ำสำรองใช้ได้อีก 18 วัน
ส่วนเขื่อนอื่นๆ เช่น เขื่อนแควน้อยฯ มีปริมาณใช้การได้จริง 56 ล้าน ลบ.ม. หรือ 6 % ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.76 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 1.73 ล้าน ลบ.ม./วัน และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณใช้การได้จริง 40 ล้าน ลบ.ม. หรือ 4 % ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.52 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 1.28 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยทั้งสองเขื่อนมีปริมาณน้ำเหลือใช้ได้อีกราว 31 วัน
ล่าสุดทางกรมชลประทาน ได้ทำการพร่องน้ำจากคลอง 13 ได้สำเร็จ ทำให้มีน้ำดิบเพียงพอที่จะส่งมายังสถานีผลิตน้ำประปา สาขาธัญบุรี คลอง 13 พร้อมกับแจ้งว่าจะสามารถจ่ายน้ำได้ในเวลา 20.00 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการสำรวจตรวจสอบล่าสุด ในพื้นที่คลอง 5 ถึง คลอง 15 กลับมามีน้ำประปาใช้ตามปกติ แม้ว่าจะยังคงไหลช้าและมีแรงดันน้ำระดับพื้นดิน ส่วนบริเวณปลายท่อส่งน้ำ ช่วงคลอง 5-7 และช่วงรอยต่อ อ.คลองหลวง พบว่าบางพื้นที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้อยู่ หรือไหลช้ามากกว่าปกติ แต่โดยรวมแล้วพื้นที่ที่เคยประสบภัยนั้น มีน้ำประปาไว้ใช้แล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะได้เร่งสำรวจว่าพื้นที่ใดยังคงได้รับความเดือดร้อนน้ำประปายังไหลไม่ถึง และจะได้เร่งดำเนินการเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
การประปานครหลวงยัน น้ำไม่หยุดไหลแน่นอน
ด้าน นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ได้เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ากรุงเทพฯ จะมีน้ำประปาใช้ได้อีกแค่ 30 วัน ทำให้ประชาชนมีการกักตุนน้ำดื่มกันจนเกินความจำเป็น รวมไปถึงที่ในบางพื้นที่มีน้ำประปาไม่ไหล แต่ก็เป็นเพียงเวลาสั้นๆ ก่อนที่น้ำจะไหลตามปกติ “ยังขอยืนยันว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นเรื่องจริง ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นวิตกกังวล เพราะจากที่ประเมินสถานการณ์น้ำล่าสุด ปริมาณน้ำในเขื่อนที่สามารถใช้ในตอนนี้มีประมาณ 600 ลบ.ม โดยทางกรมชลประทานปล่อยลงมาวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการประปานครหลวงนำมาผลิตน้ำวันละ 3,700,000 ลบ.ม คาดว่าจะสามารถใช้ได้ 24 วัน ถ้าหากฝนยังไม่ตกลงมา แต่จากที่ติดตามสถานการณ์ขณะนี้เริ่มมีฝนตกลงมาแล้ว เพราะปกติทุกๆ ปีน้ำจะได้เข้าสู่เขื่อนช่วงเดือนสิงหาคม จึงยืนยันว่า การประปานครหลวงจะมีน้ำที่ใช้ในการผลิตให้ประชาชนใช้อย่างเพียงพอไปจนถึงฤดูฝนนี้ แต่ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าด้วยเช่นกัน
ส่วนปัญหาจากน้ำทะเลหนุน ที่อาจจะส่งผลทำให้น้ำของการประปาเค็มนั้น ไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นเรื่องปกติ ที่ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงอยู่ทุกวันประมาณ 1-2 ชั่วโมง และจะลดลงไปเอง ซึ่งช่วงเวลาระหว่างที่น้ำทะเลหนุนนั้น ทางการประปานครหลวงจะปิดระบบสูบน้ำชั่วคราว ซึ่งยืนยันว่าไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน
ไม่แก้ที่ต้นเหตุ ภาพเดิมๆ จะถูกฉายซ้ำ!
ทีมข่าวได้สอบถามความคิดเห็นของ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยนายหาญณรงค์ ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า “ภาพที่ประชาชนพากันไปกักตุนน้ำ จนเกลี้ยงชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ดูแล้วไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ ใกล้สุดก็เมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 เพียงแต่ต่างกันที่สาเหตุ ครั้งนั้นท่วม ครั้งนี้แล้ง สำหรับครั้งนี้ ภาครัฐมีส่วนในการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด และไม่ครบถ้วนแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนมีการเตรียมพร้อมรับมือไม่ถูกต้อง คือมีการชี้แจงปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อน แต่ละลุ่มน้ำ ที่ไม่สัมพันธ์กันจนเกิดการตีความเข้าใจไปผิดๆ จนประชาชนตื่นตระหนกถึงขั้นต้องกักตุนน้ำ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเพราะระบบบริหารน้ำของเราผิดพลาด รวมถึงกลไกกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำนั้นก็ขาดประสิทธิภาพ กรรมการลุ่มน้ำได้รับชุดข้อมูลจากส่วนราชการฝ่ายเดียว หากจ้างบริษัทที่ปรึกษาก็มักจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนทั้งสิ้น ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่ออกมาจึงมีแต่การสร้างเขื่อน ฝาย ประตูระบายน้ำ ฯลฯ”
“หากเราไม่แก้ที่ต้นเหตุ ภาพเก่าๆ จะฉายซ้ำอยู่แบบนี้ ทุกครั้งที่มีวิกฤตเกี่ยวกับน้ำก็ต้องเห็นภาพเดิมๆ แบบนี้ ทุกวันนี้เรารู้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ในแต่ละลุ่มน้ำ แต่เราก็ยังไม่มีการวางแผนที่ดีพอและเหมาะสม ยังคงมีการใช้น้ำเกินกว่าปริมาณของลุ่มน้ำนั้นๆ นี่คือปัญหาสำคัญ แต่ประเทศไทยยังโชคดีกว่าอีกหลายๆ ประเทศ เพราะความจริงแล้วเรามีน้ำใช้กันเหลือเฟือด้วยซ้ำในภาวะปกติ สามารถทำนาได้ถึง 3 ครั้งต่อปี หากในทางกลับกัน การสนับสนุนให้ทำนาแบบนี้ย่อมหมายถึงการใช้น้ำที่มากขึ้นด้วย”
นายหาญณรงค์ ยังกล่าวเสริมว่า “ตามหลักการแล้ว น้ำในครั้งที่ 3 ควรจะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่ใช่เพื่อการเกษตรแต่อย่างใด เราควรแยกการใช้น้ำให้ชัดเจนว่า อันดับ 1.เพื่อการอุปโภคบริโภค 2.เพื่อการเกษตร 3.เพื่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม”
ประเทศไทยมีการบริหารจัดการน้ำแบบอยู่ในเขื่อนทั้งหมด ซ้ำยังไม่ยอมปล่อยออกมา ซึ่งเป็นหลักการที่ผิด โดยภาวะปกติแล้วจะต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อรักษาระดับท้ายเขื่อนไว้ “อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา จะแล้งขนาดไหนก็จะต้องมีน้ำไหล 100 ลบ.ม. ต่อวินาที หรือลุ่มน้ำสะแกกรังก็ต้องมีน้ำไหลอย่างน้อย 50 ลบ.ม. ต่อวินาที นี่คือระดับน้ำที่ต้องรักษาไว้ ไม่ใช่ปิดทั้งหมด”
“หากเราต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ฝนตกน้อยก็เป็นเพราะภาวะโลกร้อน และเอลนินโญ่ โดยมนุษย์มีส่วนในการกระทำทั้งสิ้น” นายหาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
แน่นอนว่า ผลจากวิกฤตแล้งในครั้งนี้ ย่อมมีส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากผลของการกระทำของเราเองทุกคน ทั้งโดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
มนุษย์อาจมองตัวเองยิ่งใหญ่ หากความจริงแล้วเราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เพียงขาดน้ำก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้...
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754