xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ลดปล่อยน้ำ 4 เขื่อนหลักเหลือ 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน - เตือนอย่าสูบน้ำทำการเกษตรช่วงนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติลดการปล่อยน้ำ 4 เขื่อนหลัก “ภูมิพล - สิริกิติ์ - แควน้อย - ป่าสัก” ลงอีก 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามที่กรมชลประทานเสนอ พร้อมเตือนอย่าสูบน้ำทำการเกษตรช่วงนี้ ให้ใช้อุปโภค - บริโภค เท่านั้น แนะคน กทม. ประหยัดน้ำ คาดจะมีฝนอีกครั้งในช่วงต้นและกลางเดือนสิงหาคม แต่หนักใจถ้าตกใต้เขื่อน

วันนี้ (14 ก.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.25 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีมติสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ครม. มีการหารือเรื่องปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดน้อยลง เนื่องจากฝนไม่สามารถเพิ่มน้ำได้ และในขณะนี้ได้ปล่อยน้ำในเขื่อนลุ่มเจ้าพระยาเพื่อการเกษตร การอุปโภค - บริโภค แต่ด้วยขณะนี้น้ำลดลงมาก ประกอบกับพิจารณาปริมาณที่ฝนจะตกในเดือนสิงหาคม ทำให้ตั้งแต่วันนี้จนถึงกลางเดือนสิงหาคมจะต้องมีการบริหารอย่างไรให้น้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ คือ การผลักดันดันน้ำทะเลและการเกษตร ดังนั้น ที่ประชุม ครม. จึงมีมติตามที่กรมชลประทานเสนอโดยการลดปริมาณการปล่อยน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่เดิม 4 เขื่อนปล่อยน้ำรวมกัน 28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็จะต้องลดลงเหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โดยจะเริ่มลดตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งจะไม่ได้ลดพรวดเดียว แต่จะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งจะเป็นการปล่อยน้ำให้ถึงปลายน้ำ โดยจะไม่สามารถทำการเกษตรได้เลยในการระบายช่วงดังกล่าว จึงขอเรียนสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยว่าไม่สามารถปล่อยน้ำช่วยการเกษตรได้เลย ถึงจะให้ก็ไม่เพียงพอ เพราะตอนนี้รัฐบาลต้องดูแลน้ำอุปโภคและบริโภคเท่านั้น และขอร้องว่าท่านสูบน้ำไม่ได้ ยังไงก็สูบไม่ได้ เพราะน้ำไม่พอ เพราะอาจจะมีวิกฤตช่วงปลายเดือนกรกฎาคมได้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนระยะยาว รัฐบาลมีแผนบริหารจัดการระยะยาวอยู่แล้ว และในภาพรวมก็ทำอยู่แล้ว แต่มันเป็นแผนระยะยาวมาก เช่น การดึงน้ำจากแม่น้ำโขง ที่ต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศยืดยาว แต่ละโครงการมีมูลค่าสูงมากเป็นหมื่นล้านบาท หรือล้านล้านบาท และต้องมาคุยกันว่าทำได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ขอดูปัจจุบัน เฉพาะน้ำดื่มอุปโภคบริโภคก่อน และขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แม้ว่าจะอยู่ภาวะเอลนีโญที่รุนแรงมาก แต่ช่วงเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน จะมีฝน แต่ก็ต้องมาดูว่าฝนถ้าตกเหนือเขื่อนก็เบาใจ ถ้าตกใต้เขื่อนก็หนักใจ เพราะเมษายนปีหน้าจะอยู่อย่างไร

“เรื่องการประหยัดน้ำ คนไทยต้องตระหนัก และคน กทม. ก็ต้องใช้น้ำอย่างระวัง ทั้งการอุปโภคและบริโภค ทุกคนต้องประหยัดหมด ทั้งคนที่มีประปาหมู่บ้าน ประปานครหลวง หรือบางจุดประปาใช้ระบบชลประทาน เพราะในต่างประเทศที่ออสเตรเลียเคยแล้งยาวนาน 5 - 7 ปี ขนาดการล้างรถยังผิดกฎหมาย แต่ของเราก็ไม่อยากให้ตื่นตระหนกแบบนั้น” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การประปานครหลวง (กปน.) จะให้บริการน้ำกับเขตนครหลวงจนถึงเดือนสิงหาคม ส่วนการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บางพื้นที่อาจจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย ก็ต้องหาแหล่งน้ำอื่นมาเสริม แต่โดยรวมถือว่ามีปัญหาน้อยไม่มีผลกระทบมาก ส่วนประปาหมู่บ้านกระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่แล้ว และส่วนที่ไม่มีประปาหมู่บ้านหรือเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซากก็จะมีการดูแลบางส่วน ในการนำน้ำไปส่งให้เหมือนทุกปี

“ส่วนปัญหาการกักตุนน้ำ จะมีการดูแลเช่นกัน แต่ทั้งนี้ในประปาบางพื้นหรือประปา 9 สาขา ที่จะต้องปล่อยน้ำเป็นบางเวลา และอีกส่วนจะปล่อยน้ำเบาลง และยืนยันว่าจะอยู่ได้ถึงสิงหาคมโดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อถัง และขอให้ช่วยกันประหยัด อย่าใช้น้ำฟุ่มเฟือยนัก ขอให้ใช้ที่เท่าจำเป็น รวมทั้งเรื่องการดูแลการขึ้นราคาน้ำดื่มผมก็เห็นด้วย ก็อยากให้อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อย่าเอาเปรียบกันเพราะไม่เกิดมงคลกับชีวิต” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจำนวนมากก็ไม่ได้มีการดูแลอะไร เพราะภาคอุตสาหกรรมน้ำเป็นระบบสำรองเขาก็อยู่ได้ แต่เขาต้องดูแลตัวเอง และต้องอยู่ด้วยแหล่งน้ำของตัวเอง ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลจะต้องดูแลให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคให้อยู่ได้ถึงกลางเดือนสิงหาคมนี้ก่อน ฉะนั้น การเกษตรในลุ่มเจ้าพระยาจะไม่สามารถส่งน้ำให้ได้ ต้องขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ให้ร่วมมือกับฝ่ายทหาร ตำรวจและส่วนอื่น ๆ ช่วยชี้แจงประชาชนว่าจะต้องไม่นำน้ำในระบบชลประทานไปใช้ในการเกษตรเพื่อให้น้ำเป็นน้ำอุปโภคบริโภคได้

ทั้งนี้ ก็ต้องขอความร่วมมือ เพราะคณะกรรมการคาดว่ากลางเดือนนี้จะมีฝน และทิ้งช่วงในปลายเดือนกรกฎาคม และจะมีฝนอีกครั้งในช่วงต้นและกลางเดือนสิงหาคมที่เป็นช่วงวิกฤตของลุ่มน้ำ นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้มีมาตรการเตรียมการช่วยประชาชน เกษตรกร ให้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายทหารต้องเดินสำรวจ่ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่นา ไร่ ประมง สภาพเป็นอย่างไร และมีการประเมินไว้อย่างไร และน้ำที่เราปล่อยเมื่อถึงสิงหาคมจะเป็นอย่างไร ต้องดูผลกระทบของการปล่อยน้ำและฝนว่าจะเป็นอย่างไรด้วย

ด้าน นายปีติพงษ์ กล่าวถึงการลดการระบายน้ำ ว่า เรื่องแรกที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ปล่อยน้ำก็ไม่ได้ ถ้าไม่ปล่อยเทือกสวนไร่นาที่ใกล้ปากอ่าวที่มีมูลค่าสูงจะเสียหมดและน้ำที่ กทม. ใช้อยู่ ส่วนใหญ่จะมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าปล่อยให้แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดความเค็มเกินขนาดจะมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคใน กทม. และในส่วนของปริมณฑล เนื่องจากน้ำมีน้อยมาก ส่วนที่มีความขัดข้องก็ได้ดูแลใกล้ชิดมากขึ้น ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นบ้างแต่น้อยมาก และการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้เป็นการบริหารในเวลาที่วิกฤต ฉะนั้น การวางการบริหารจัดการน้ำต้องคิดถึงสภาพน้ำที่มีและฝนที่จะตก เพราะตอนนี้เกิดจากสมมติฐานว่าฝนจะตกตอนเดือนสิงหาคม ถ้าเหตุการณ์ไม่ดีกว่านี้ก็ตองหามาตรการต่อไปว่าเราไม่สามารถควบคุมดินฟ้าอากาศได้

ขณะที่ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า สถานการณ์ฝน โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกเขตชลประทานต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ความเข้าใจและแนวโน้มของฝนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในปัจจุบันประเทศไทยมีฝนตกกระจายในหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ถึงเที่ยงคืนวันนี้จะเห็นว่ามีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่กรุงเทพฯ จะมีฝนตกน้อย แต่จังหวัดนครราชสีมา บางส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร ชัยภูมิ ลุ่มน้ำป่าสัก ทางลำปาง ก็จะมีฝนตกลงมา และ ณ วันนี้ซึ่งดูจากภาพทางภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่เที่ยงวัน ก็จะเห็นว่ามีฝนตกหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งฝนที่ตกอยู่ในลักษณะนี้เกิดจากร่องความกดอากาศต่ำขนาดเล็ก ซึ่งถูกเหนี่ยวนำจากพายุที่มีอยู่ในประเทศจีน สามารถเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ เป็นปกติ

ทั้งนี้ ลักษณะแบบนี้เป็นสัญญาณที่ดี แสดงว่า กระบวนการเกิดฝนตามฤดูกาลมาแล้ว ก่อนหน้านี้ ยังไม่มีซึ่งเป็นเรื่องที่เราเป็นห่วง ฝนลักษณะนี้คงมีต่อเนื่องไปอีก 2 - 3 วัน หลังจากนั้น อาจหายไปช่วงหนึ่ง แต่ก็คงจะไม่นาน เพราะว่าในขณะนี้สัญญาณภาพรวมของภูมิภาคที่เป็นตัวบอกว่ากระบวนการการเกิดฝนเข้าสู่ภาวะค่อนข้างจะปกติ เนื่องจากความกดอากาศสูงในประเทศจีนเริ่มเห็นชัดเจน อาจจะยังไม่ต่อเนื่องแต่ก็เห็นมาหลายวัน โดยเฉพาะในวันที่มีฝนตกหนักก็จะเห็นมวลกดอากาศสูงในประเทศจีนก่อตัวขึ้นแล้ว ซึ่งก็น่าจะพัฒนาก่อต่อไปเรื่อย ๆ ตามฤดูกาล

โดยตัวชี้วัดที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ หย่อมความกดอากาศต่ำในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีโอกาสที่จะก่อตัวเป็นพายุได้มีจำนวนกระจายตัวอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งเราพอจะเชื่อมั่นได้มากว่าในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกน่าจะมีพายุ ใต้ฝุ่น หรือพายุโซนร้อนเกิดขึ้นได้หลายลูก และเมื่อประจวบกับร่องความกดอากาศสูงในประเทศจีนก็จะทำให้มีโอกาสให้เกิดพายุเข้าใกล้ประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นว่าพายุจะต้องผ่านเข้ามาไทย เพียงแค่อยู่ใกล้ก็มีโอกาสที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดฝนตกได้ หมายความว่า ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปถึงปลายเดือน จะมีฝนตกกระจายเป็นระยะ ๆ ซึ่งดีต่อพื้นที่การเกษตรที่จะได้น้ำกระจายกันออกไป แต่จะไม่ได้ฝนที่จะเข้าอ่างเก็บน้ำ โดยน้ำที่จะเข้าอ่างเก็บน้ำจะเกิดจากร่องฝนขนาดใหญ่ หรือเรียกว่าร่องมรสุมที่จะลงมาจากประเทศจีน ราวกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป แล้วก็จะนำฝนจำนวนมากมายตามที่มันควรจะเป็น ซึ่งอันนี้จะเป็นช่วงเวลาที่เราจะเก็บกักน้ำไว้สำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึงอีกทีนึง ปกติก็จะเอามาใช้งานด้านการเกษตรด้วย แต่การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนมาเพื่อการเกษตรคงจะไม่มีหรือมีแต่น้อยมาก เพราะฉะนั้นปริมาณน้ำที่เราจะคาดหวังไว้ว่าสิ้นฤดูฝนจะต้องมีน้ำอย่างน้อยคือ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้อยู่สูง หากได้น้ำมากกว่านั้นก็ยิ่งดี โดยปกติทุก ๆ ปี เราก็ได้น้ำมากกว่า 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตรอยู่แล้ว โดยกระจายอยู่ในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ

“ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือภาวะเอลนีโญเริ่มทวีความรุนแรง ซึ่งขณะนี้เราก็อยู่ในภาวะดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในภาวะเอลนีโญ ฝนก็ยังมา แต่มันจะค่อย ๆ ทวีกำลังแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าจะถึงสูงสุด แล้งที่สุด ซึ่งดูจากอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนของไทย เพราะฉะนั้นอาจมีผลส่งให้ฤดูฝนหมดเร็วกว่ากำหนด ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรซึ่งอยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยว ก็ต้องมีการเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับปลายฤดูฝนซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของ กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) ที่สำคัญคือ อาจส่งผลกระทบไปถึงฤดูแล่งของปี 2559 ซึ่งน่าจะมีความแห้งแล้งอย่างรุนแรง การทำการเกษตรในปีหน้าอาจเรียกว่าแทบจะมีความเป็นไปไม่ได้และไม่ควรทำอย่างยิ่ง” นายอานนท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม มาจนถึงปัจจุบัน มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งมีอยู่เพียง 1 - 2 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20 ล้านไร่ แต่การเกษตรกลุ่มนี้ไม่เป็นปัญหาเพราะเป็นการปลูกตามฤดูกาล แต่อาจมีความเสี่ยงจากฝนทิ้งช่วงบ้าง ซึ่งไม่น่าจะมีความรุนแรงมากนัก ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ พื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคกลางเป็นหลัก ซึ่งทำการเกษตรอยู่เกือบ 5 ล้านไร่ ซึ่งปลูกมาแล้ว บางส่วนก็ใกล้เก็บเกี่ยว บางส่วนก็เริ่มปลูกได้ไม่นาน เรามีพื้นที่หลักจากที่ได้ประกาศห้ามเพาะปลูกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ที่ปลูกใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง เพราะจะต้องพึ่งพาฝน ซึ่งก็เชื่อว่าคงมีฝนอยู่บ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น