รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลไทยประกาศอนุมัติงบช่วยเหลือจำนวน 1.8 พันล้านดอลลาร์ แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และได้ประกาศขึ้น 4 จังหวัด รวมถึง แพร่ ตาก ชลบุรี และปทุมธานี เป็น “เขตพิบัติภัยแล้ง”นอกจากนี้เกือบ 1 ใน 3 ของประเทศใช้วิธีปันน้ำแก้ปัญหาความขาดแคลน ในขณะที่ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ได้ออกมาเตือนว่า ในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้า หากยังไม่มีฝนตกมาเพิ่มอาจถึงขึ้นวิกฤตโดยเฉพาะในเดือนสิงหาและกันยายนที่จะถึงนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ดร.สมิทธเคยเตือนว่า ปรากฎกาณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อไทยที่ทำให้ต้องพบกับภัยแล้งครั้งร้ายแรงมากที่สุดในรอบ 12 ปี
รอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้(13)ว่า กระทรวงการคลังได้แถลงในวันจันทร์(13)ว่า รัฐบาลไทยภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีประยุทธ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหาร มีนโยบายต้องการอัดฉีดเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรไทยที่ประสบปัญหาจากภัยแล้ง และทำให้รัฐบาลไทยจากการรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัว สื่อจีน ประกาศว่าไทยได้ขึ้นบัญชี 4 จังหวัดเป็นเขตภัยพิบัติแล้งจัดทางภาคกลาง จ.ปทุมธานี ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี และภาคเหนือ 2 จังหวัดคือ จ.ตาก และจ.แพร่
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าในขณะนี้ไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน แต่ทว่าฝนกลับไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลทำให้ 7 จังหวัดจาก 76 จังหวัด โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแถลง และเสริมต่อว่า เกือบ 1 ใน 3ของประเทศต้องใช้วิธีปันน้ำเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน
นอกจากนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส.ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐได้อนุมัติเงินกู้สำหรับเกษตรจำนวน 1 ล้านคน หลังจากก่อนหน้านี้มีการประชุมกระทรวงการคลังที่มีรัฐมนตรีการคลังนั่งเป็นหัวโต๊ะ
และรอยเตอร์ยังรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเม็ดเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรไทยประกอบไปด้วย กองทุนช่วยเหลือระยะสั้นสำหรับป้อนเม็ดเงินความช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้กับชาวนาที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และกองทุนช่วยเหลือระยะยาวในการให้ความช่วยเหลือชาวนาสำหรับการเพาะปลูกพร้อมเงื่อนไขการจ่ายหนี้คืนในระยะเวลาตั้งแต่ 1-10ปี
และสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ยังคงมีหนี้สินค้างชำระ แต่ไม่สามารถจ่ายคืนได้ทันทีเนื่องมาจากประสบปัญหาภัยแล้ง ทางรัฐบาลไทยอนุญาตให้ชาวนากลุ่มนี้สามารถยืดอายุหนี้ต่อไปได้ แต่จำกัดการอายุไม่เกิน 1ปีเท่านั้น
ทั้งนี้สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีการคลังของไทยชี้แจงว่า “ชาวนาที่ประสบปัญหาจากภัยแล้งจะได้เงินกู้ก้อนนี้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งในการจ่ายคืนหนี้เก่า และเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน” โดยเงินกู้ก้อนใหม่ที่ให้เกษตรกรไทยจะช่วยให้ชาวนาสามารถฟื้นตัวจากปัญหาไม่มีน้ำทำการเกษตรได้ รวมไปถึงสนับสนุนการมีงานทำ และเพิ่มกำลังการผลิต สมหายกล่าวต่อ
และนอกจากนี้รัฐมนตรีการคลังไทยยังยืนยันข่าวที่ว่า ปัญหาภัยแล้งจะทำให้ GDP ของไทยต้องลดลงไปถึง 0.5 % ถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2015จะมีการเติบโต 3% ก็ตาม
“หากในปีนี้ไทยยังสามารถโตได้ถึง 3% ก็ไม่น่าจะเลวร้ายเท่าใด” สมหมายให้ความเห็น และให้เหตุผลว่า “เพราะ 3% ของการเติบโตตัวเลข GDP จะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศอื่นๆ”
แต่ทว่าในความจริงแล้ว รอยเตอร์ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมาไทยเห็นตัวเลข GDP โตเพียงแค่ 0.9% เท่านั้น ผลจากการทำรัฐประหารในไทยได้ฉุดเศรษฐกิจถดถอยในช่วง6 เดือนแรกของปี 2014
และธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดได้ปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยประจำปี 2015 ลงจาก 3.8 % เหลือ 3.0 %
ในขณะที่ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยา และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ออกโรงเตือนวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ว่า “อย่าประมาท” และคาดว่าภัยแล้งในปีนี้จะสาหัสมากที่สุดในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2015 เป็นเพราะ “ช่วงนี้ไทยจะไม่มีพายุจรพัดเข้า และจะไม่ทำให้ฝนตก” จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ไทยภาคภาษาอังกฤษ บางกอกโพสต์ และสื่อไทยอื่นๆ
โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพยากรณ์อากาศและสึนามิของไทยอธิบายต่อว่า ไทยจะถึงขั้นวิกฤตหากในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ฝนไม่ตกเลย หรือตกลงมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และชี้ว่าภัยแล้งครั้งล่าสุดในไทยอาจต้องลากยาวไปจนถึงปี 2015 เนื่องมาจากฝนที่ตกในไทยเกิดจาก(1)อิทธิพลร่องฝน และ (2)พายุเป็นหลัก
และดร.สมิทธยังเสริมต่ออีกว่า ภัยแล้งที่ว่าอาจต้องลากยาวไปจนถึงปลายปีนี้เป็นเพราะ การมีพายุคลื่นลมแรงในทะเลจีนใต้ พัดร่องฝนขึ้นไปจีนทั้งหมด ทำให้ฝนไม่ากลับมาตกในภาคเหนือและภาคกลางของไทย ประกอบกับสภาพอากาศแห้งแล้งทำให้ไม่สามารถทำฝนเทียมได้มากนัก
และดร.สมิทธยังชี้ว่า ปัญหาภัยแล้งสาหัสในไทยครั้งนี้เกิดจากภัยธรรมชาติเอลนีโญและรวมไปถึงปัญหาโลกร้อนที่ทั่วโลกประสบ ซึ่งทางประธานมูลนิธิศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติชี้เปรียบเทียบกับปัญหาคลื่นความร้อนในอินเดียและปากีสถาน รวมไปถึงสหรัฐฯที่ทำให้มีประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต
นอกจากนี้ ดร.สมิทธยังแนะให้เกษตรกรไทยแก้ปัญหาโดยการเร่งขุดบ่อกักเก็บน้ำสำรอง และประชาชนทั่วไปควรหาแทงก์น้ำ หรือภาชนะกักเก็บสำรองไว้ใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคในกรณีที่ขาดแคลนน้ำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนในภาครัฐ ดร.สมิธเห็นควรให้ศึกษาการรับมือวิกฤตภัยแล้งจากรัฐบาลเวียดนาม และเตือนให้เร่งทำโครงการผันน้ำในแม่น้ำโขงมาก่อนช่วงฤดูฝน
และเป็นที่น่าทึ่งว่า สภาพภัยแล้งที่สาหัสที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น ดร.สมิทธได้เคยออกมาเคยเตือนแล้วในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากการรายงานของสำนักข่าวไทยในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014 ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตุนิยมวิทยาของไทยได้เคยออกมาเตือนประชาชนไทยให้รับมือกับวิกฤตภัยเอลนีโญครั้งรายแรงที่สุดซึ่งจะเกิดขึ้นในเอเชียและโดยเฉพาะกับไทย
โดยในขณะนั้นทางดร.สมิธกล่าวระบุว่า “ปีนี้ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย จะแล้งจัดในรอบ 12 ปี จากปรากฏการณ์เอลนีโญ และจะมีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส”
นอกจากที่ไทยกำลังประสบปัญหาในขณะนี้ที่ดร.สมิทธได้คาดการณ์ถูกต้องแล้ว เมื่อพิจารณาถึงในส่วนของสิ่งที่เกิดขึ้นในเอเชีย พบว่าการทำนายของดร.สมิทธในส่วนของเอเชียเป็นจริงด้วยเช่นกัน
เพราะในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ประเทศในแถบเอเชียใต้ประสบปัญหากับเอลนีโญ โดยในขณะนั้นสำนักข่าวเอเจนซีส์ต่างประเทศรายงานว่า วิกฤตคลื่นความร้อนในอินเดียและปากีสถานที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในส่วนอินเดียมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 2,500 คน จากการรายงานของรอยเตอร์ในวันที่ 3 มิถุนายน 2015 และในส่วนของปากีสถานในวันที่ 27 มิถุนายน 2015 อัลญาซีเราะฮ์ สื่อกาตาร์ รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนไม่ต่ำกว่า 1,200 คน และอุณหภูมิได้ทะลุถึง 45 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภัยแล้งในวันนี้ในไทยนั้น มีรายงานล่าสุดถึงวิกฤตน้ำขาดแคลนในลพบุรี และปทุมธานีได้คลี่คลายในบางส่วนโดยสื่อไทย ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานในวันนี้(14)ว่า สถานการณ์น้ำประปาในลพบุรีเริ่มดีขึ้น หลังมวลน้ำที่สำนักงานชลประทานสูบจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูน้ำมโนรมย์ ชัยนาท เดินทางถึงประตูน้ำโคกกะเทียม ลพบุรี แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เตือนประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เช่นเดียวกับปัญหาขาดแคลนน้ำประปาที่ปทุมธานี เริ่มคลี่คลายลงแล้วเช่นกัน ส่วนอ่างทอง ยังแล้งหนัก ส่งผลนกปากห่างอพยพหากินตามทุ่งนา ชาวนาเผยช่วยกำจัดศัตรูข้าว
ด้าน พงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยถึงสถานการณ์การขาดแคลนน้ำประปาของชาวธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ว่า ได้คลี่คลายลงแล้ว ซึ่งได้กำชับ กปภ.ธัญบุรี ให้เฝ้าระวังเรื่องระดับน้ำ และต้องเตือนประชาชนให้ทราบเร็วกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำ
ส่วนน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้จะใช้ได้นานเท่าไหร่นั้นส่วนหนึ่งมาจากผู้ใช้น้ำที่อยู่ทางเหนือของสถานีสูบน้ำ ในการนำน้ำเข้าพื้นที่เกษตร จึงขอชะลอออกไปก่อนในช่วงนี้ พร้อมประสานไปยังกรมชลประทาน รวมถึงผู้ว่าจังหวัดที่ใกล้เคียง ไม่ให้เกษตรกรสูบน้ำไปใช้ในการเกษตรด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาจจะทำให้น้ำมาไม่ถึง ส่วนการผลิตน้ำประปายังผลิตตามมาตรฐานเดิม ซึ่งหากประชาชนไม่มั่นใจก็สามารถนำมาต้มก่อนบริโภคได้
ความขาดแคลนน้ำประปาเป็นเรื่องที่เคยมีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วจากปัญหาบกพร่องจากการจัดเก็บน้ำโดยเฉพาะในกรณีน้ำท่วมจากฝนตกหนัก
ในการรายงานของรอยเตอร์ในวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง ได้คาดการณ์ในขณะนั้นว่า ชาวเมืองหลวงอาจมีน้ำประปาใช้ต่อได้แค่ 30 วันหากไม่มีฝนตกลงมาเพื่มให้ทางการประปาสามารถมีน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาได้
และธนศักดิ์ยังเคยได้สรุปถึงปัญหาการผลิตน้ำประปาในไทยว่า เป็นเพราะไทยยังไม่สามารถนำน้ำฝนที่ตกลงมาทั้งปีเพื่อกักเก็บ และผลิตเป็นน้ำประปาได้ ตลอดจนถึงน้ำที่ท่วมทุกปีในไทยเกิดสูญเปล่าไปกับความพยายามในการต้อนน้ำลงสู่มหาสมุทร แทนที่จะนำน้ำที่ท่วมเหล่านั้นมาเก็บกักสำรองสำหรับการผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคและบริโภค
ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ในไทย ที่ด้านหนึ่งของประเทศ ปัญหาภัยแล้งหนักสาหัสจนถึงกับต้องปันน้ำเพื่อการยังชีพ แต่ทว่าที่จ.นครราชสีมาในเช้าวันอังคาร(14)กลับเกิดน้ำท่วมใหญ่จากฝนที่ตกหนักลงมาในเขต อ.เมืองนครราชสีมานานกว่า 4 ชั่วโมงตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา
และฝนที่ตกหนักส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนหลายจุดในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาเกิดน้ำท่วมขังสูงบนถนนหลายสาย และน้ำไหลทะลักเข้าท่วมร้านค้า บ้านเรือนประชาชนได้รับความเดือดร้อนทรัพย์สินเปียกน้ำเสียหายเป็นจำนวน เช่น ตลาดเซฟวัน ถ.มิตรภาพ, ตลาดไนท์วัดบูรณ์, แยกห้างฯ ไอทีพลาซ่า, จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ต.หัวทะเล, สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ 1 และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมระดับสูงที่บริเวณชั้นใต้ดินของห้างฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้าต่างๆ จำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้าต้องเร่งเก็บสินค้า ทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ หนีน้ำกันอย่างโกลาหล
โดยสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครราชสีมารายงานว่า ปริมาณน้ำฝนรวม 24 ชั่วโมง เขต อ.เมืองนครราชสีมา วัดได้ 104.3 มม. อ.ปากช่อง พื้นที่เหนือเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว วัดได้ 6.7 มม. และ อ.โชคชัย วัดปริมาณน้ำฝนได้ 43.1 มม
และการให้สัมภาษณ์ของผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีม ชิตชนก สมประเสริฐ สอดคล้องกับการยืนยันของธนศักดิ์ที่ว่า “ปัญหาขาดแคลนน้ำของไทยคือ การขาดประสิทธิภาพในการจัดการน้ำ” เมื่อชิตชนกยอมรับว่า “ปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองโคราชที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ ระบบระบายน้ำในเขตเทศบาลนครนครราชสีมามีปัญหาจึงเกิดน้ำท่วมขังในหลายจุด แต่ขณะที่ระดับน้ำในลำน้ำสาธารณะยังต่ำมาก” และเสริมต่อว่า “ขณะนี้มีน้ำไหลลงสู่ลำน้ำลำตะคองและลำบริบูรณ์น้อยมาก”
จากการรายงานพบว่า นอกจากน้ำในระบบน้ำสาธารณะของจ.นครราชสีมาที่ได้รับบน้ำท่วมไหลงไปไม่มากนัก แต่ในทางกลับกันบริเวณเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ได้รับผลดีจากฝนที่ตกลงมาในครั้งนี้ โดยปริมาณน้ำฝนรวมวัดได้ 44.6 มม. มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร