เอเอฟพี - อุณหภูมิในสเปนและโปรตุเกสพุ่งเหนือ 40 องศาเซลเซียสเมื่อวันจันทร์(29มิ.ย.) กระพือความกังวลทางสุขภาพ ท่ามกลางความเตือนว่าสภาพอากาศที่ร้อนระอุเช่นนี้จะเคลื่อนไปทางเหนือสู่ฝรั่งเศสและอังกฤษในช่วงกลางสัปดาห์
ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติของสเปนยกระดับเตือนภัยในแคว้นกอร์โดบนสู่สีแดง ถือเป็นขั้นสูงสุด ซึ่งหมายถึงสภาพอากาศก่อความเสี่ยงอย่างสูงแก่สุขภาพ ท่ามกลางความคาดหมายว่าในแถบชนบทของแคว้นแห่งนี้ จะพุ่งแตะ 44 องศาเซลเซียส
ชาวสเปนต่างหลั่งไหลกันไปยังชายหาด โดยเจ้าหน้าที่เรียกร้องพวกเขาหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และขอให้ดื่มน้ำมากๆ ขณะคลื่นความร้อนยังเป็นผลให้ต้องมีการประกาศเตือนภัยสีส้ม ขั้นสูงสุดอันดับ 2 ใน 43 จังหวัดจากทั้งหมด 50 จังหวัดของประเทศ
คาสเตโล บรังโกและปอร์ตาเลเกร 2 เมืองของโปรตุเกส ก็เผชิญกับอากาศร้อนระอุเช่นกัน ด้วยอุณหภูมิพุ่งแตะ 41 องศาเซลเซียส ขณะที่ฝรั่งเศส ก็ต้องเตรียมรับมือกับอุณหภูมิระดับ 39 องศาเซลเซียสในช่วงกลางสัปดาห์ ส่วนอังกฤษ ดีกว่าหน่อยเพราะคาดหมายว่าอากาศน่าจะอยู่ราวๆ 35 องศาเซลเซียส
"มันเป็นปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่ไม่ปกติ มันมีความสาหัสเป็นพิเศษและมีความเสี่ยงต่อพลเรือนในระดับที่สูงลิ่ว" โฆษกของสำนักงานพยากรณ์อากาศสเปนกล่าว
ในเซบีญา เมืองเอกของแคว้นอันดาลูซีอา อุณหภูมิพุ่งทะยานถึง 42 องซาเซลเซียส ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องหาทางคลายร้อนด้วยการลงเล่นน้ำที่น้ำพุของเมือง ขณะที่บางส่วนก็เลือกไปกระโดดจากสะพานลงแม่น้ำกวาดัลกีบีร์ ส่วนศาลากลางกรุงมาดริด ออกคำเตือนถึงประชาชนให้เติมน้ำแก่ร่างกายตลอดทั้งวัน ด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยๆ 3 ลิตรต่อวันและหลีกเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์
ชายหาดต่างๆตามแถบชายฝั่งทางใต้ของสเปนแออัดไปด้วยผู้คน เนื่องจากคลื่นความร้อนดันมาพร้อมๆกับช่วงเริ่มต้นฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่เจ้าหน้าที่ทั้งในสเปนและโปรตุเกส ออกคำเตือนคล้ายกันว่าด้วยอุณหภูมิที่ร้อนระอุ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า
ท่ามกลางความคาดหมายว่าคลื่นความร้อนจะเคลื่อนขึ้นไปทางเหนือสู่ฝรั่งเศสและอังกฤษในช่วงกลางสัปดาห์ ทำให้หนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งพยากรณ์ว่าประเทศแห่งนี้อาจต้องเผชิญสภาพอากาศที่สาหัสราว 36 องศาเซลเซียสในวันพุธ(1ก.ค.) ซึ่งหากเป็นไปตามคำทำนาย นั่นเท่ากับว่ามันจะกลายเป็นอุณหภูมิสูงสุดตลอดกาลของศึกเทนนิสแกรนด์ สแลม วิมเบิลดัน ที่กำลังแข่งขันกันอยู่ทางใต้ของลอนดอน
คำพยากรณ์ดังกล่าวยังกระพือความกังวลในฝรั่งเศส ดินแดนที่เคยได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดของภัยคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติและไม่คาดฝันในยุโรปปี 2003 ซึ่งคร่าผู้คนมากถึง 30,000 ศพ โดยในนั้นเกือบ 20,000 คนเป็นเหยื่อผู้เสียชีวิตในแดนน้ำหอม และส่วนใหญ่เป็นคนชรา
ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสจึงรุดติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามสถานที่สาธาณะต่างๆเพื่อให้ประชาชนได้คลายร้อน "ฉันไม่คิดว่าคลื่นความร้อนนี้จะก่อผลลัพธ์แบบเดียวกับเมื่อครั้งปี 2003 เพราะว่าตอนนั้นเราไม่ได้เตรียมการใดๆ" เซโกลีน โรยาล รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมกล่าว ท่ามกลางความคาดหมายว่าอุณหภูมิที่ร้อนระอุนี้จะลากยาวไปถึงช่วงสุดสัปดาห์