กรมชลประทานเตรียมลดปริมาณปล่อยน้ำภาคกลางอีกรอบวันพฤหัสฯ นี้ เหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร “บิ๊กป๊อก” รับมีข้อเสนอดึง “สระน้ำในมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9” เป็นแหล่งน้ำสำรองเข้าช่วยระบบน้ำดิบพื้นที่ปริมณฑล ระดมกำลังผลิตน้ำประปา “ถังน้ำใสความจุ 10,000 ลิตร” ช่วยชาวบ้าน เผยขุดบ่อบาดาลแล้ว 41 แห่ง ติดตั้งปั๊มสูบ 203 แห่ง ดึงปริมาณน้ำใต้ดินได้ 153,789.60 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
วันนี้ (13 ก.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การประปานครหลวง (กปน.) รวมถึงกรมชลประทาน เข้าหารือถึงการบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวภายหลังว่า ในส่วนของ จ.ปทุมธานี ขณะนี้ทราบแล้วว่าทางกรมชลประทานให้ส่งน้ำดิบไปยังการประปาส่วนภูมิภาค โดยเริ่มผลิตเป็นน้ำประปาที่เรียกว่า “ถังน้ำใสความจุ 10,000 ลิตร” ขณะนี้ได้บรรจุเข้าไปแล้ว 4,000 ลิตร ในช่วงเย็นวันนี้(13 ก.ค.) คาดว่าจะบรรจุได้เต็มความจุ จากนั้นจึงจะปล่อยน้ำออกมาได้ ขณะที่กรมชลประทานยืนยันว่าถ้าไม่มีการสูบน้ำออกจากระบบก็สามารถส่งน้ำได้จนถึงเดือนสิงหาคม คาดว่าสถานการณ์นี้คงไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มในพื้นที่ดังกล่าว เช่น สระน้ำในมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองหลวง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ที่เก็บกักน้ำประมาณ 20,000,000 ลูกบาศก์เมตร และบ่อบาดาลอื่นๆ ในกรณีที่ไม่สามารถส่งน้ำได้ตามเกณฑ์
“ในช่วงกลางวันถึงกลางคืนวันนี้ก็จะใช้ระบบการส่งน้ำ โดยความช่วยเหลือจากทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่น ทหาร รวมไปถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็เตรียมช่วยเหลือกันอยู่ที่จะส่งน้ำให้ได้จนถึงเย็นนี้ เข้าใจว่าภายในคืนนี้จะส่งน้ำได้ตามปกติทั้งระบบ”
ในส่วนของพื้นที่อื่นได้สั่งการให้ กปภ. และ กปน. ประเมินสถานการณ์ ในส่วนของ กปน. และกรมชลประทาน ยืนยันว่าสามารถให้บริการประชาชนได้เต็มพื้นที่ไม่มีปัญหา ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ของ กปภ.ในวันที่ 14 ก.ค.จะส่งข้อมูลมายังตน คาดว่าคงจะไม่มีปัญหาอย่างใด นอกจากบางพื้นที่ของ กปภ.จะต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา ส่วนพื้นที่ประปาหมู่บ้านยังไม่มีปัญหา แต่จะขอข้อมูลอย่างละเอียดในวันที่ 14 ก.ค.เช่นกันว่ามีพื้นที่ใดบ้าง ยืนยันว่าไม่มีปัญหา รวมถึงพื้นที่แล้งซ้ำซาก ถ้ายังมีปัญหาก็จะใช้รถน้ำส่งเข้าไป
ในส่วนการขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้สูบน้ำนั้น เรื่องนี้ทางกรมชลประทานเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 ก.ค. จะมีการเสนอแผนการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.เป็นต้นไป จากเดิมที่วางไว้ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงเหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเกษตรกรจะต้องไม่สูบน้ำไปใช้ในภาคการเกษตร เพราะเป็นส่วนของประชาชนที่จะสำรองใช้ในการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ที่มีการปรับลดปริมาณการส่งน้ำให้ลดลง
เนื่องจากต้องการที่จะสำรองน้ำให้ใช้ได้จนถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อรองรับสถานการณ์ หากฝนไม่ตกตามที่คาดการณ์ไว้ ในส่วนของกรณีที่น้ำทะเลหนุน จะเป็นทางด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากที่ปล่อยน้ำไป 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว ยืนยันว่าสามารถยันน้ำทะเลหนุนได้ ด้าน กปน.ก็ยืนยันเช่นกันว่าสามารถให้บริการด้านประปาได้ไม่มีปัญหา
ด้านนายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โพสต์ล่าสุดว่า “หลังจากที่กรมชลประทานได้ขุดลอกสันดอนและขุดร่องน้ำ จนน้ำไหลผ่านเมื่อ 03.00 น.คืนที่ผ่านมา ระดับน้ำในคลอง 13 บริเวณโรงสูบน้ำได้เพิ่มระดับขึ้นจนการประปาสามารถสูบน้ำไปผลิตน้ำประปาได้เต็มขีดความสามารถ คาดว่าภายในคืนวันนี้ จะแจกจ่ายน้ำเข้าสู่ระบบได้วันนี้ท้องถิ่นต่างๆ ได้ออกแจกจ่ายน้ำสะอาดไปก่อนในช่วงที่น้ำประปายังไม่ไหล รับรายงานจากอำเภอต่างๆ ว่าได้แจกจ่ายไปแล้วประมาณ 20,000 ครัวเรือน และจะแจกจ่ายต่อไปจนสถานการณ์ภัยแล้งสิ้นสุด มีปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายน้ำ ติดต่อที่ว่าการอำเภอครับ”
วันเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลสนั่นรักษ์ ได้นำน้ำใส่รถดับเพลิงมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะหมู่บ้านนริศรา หมู่บ้านกรีนการ์เด้น อ.ธัญบุรี ที่พบว่าน้ำประปาไม่ไหลตั้งแต่ช่วงดึกซึ่งประชาชนได้มารับน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภค
อีกด้านนายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ได้ดำเนินการขุดเจาะและพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งเร่งด่วนในพื้นที่ภาคกลาง 511 แห่ง ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและภาคเหนือตอนล่างประสบภัยแล้ง 15 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวและต้นข้าวกำลังยืนต้นตาย 362 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 70.84 จากแผนทั้งหมด อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการขุดเจาะบ่อ 41 แห่ง และติดตั้งปั๊มสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ไปแล้ว 203 แห่ง สามารถดึงปริมาณน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้153,789.60 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ส่วนบ่อน้ำบาดาลเดิม (บ่อสังเกตการณ์) ที่ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมและติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มน้ำไปแล้ว 185 แห่ง จากทั้งหมด 380 แห่ง สามารถดึงปริมาณน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 27,750 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ ในภาพรวมบ่อน้ำบาดาลทั้งหมด 880 แห่ง มีบ่อที่ขุดและซ่อมแซมเสร็จใช้งานได้แล้ว 547 แห่ง หรือ คิดเป็นร้อยละ 61.39 รวมปริมาณน้ำใต้ดินที่ดึงขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 181,539.60 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 492 แห่ง และ กองบัญชาการกองทัพไทย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 19 แห่ง ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ หากแล้วเสร็จสามารถช่วยเหลือพื้นที่เกษตรมีน้ำใช้ได้ประมาณ 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ 100,000-130,000 ไร่