ASTVผู้จัดการรายวัน - ภัยแล้งพ่นพิษ ปทุมธานีวิกฤต หนักสุดในรอบ 30 ปี ต้องประกาศภัยพิบัติ 3 อำเภอ หยุดจ่ายน้ำประปารวม 50,000 กว่าครัวเรือน เผยขาดน้ำดิบ ส่วนชาวนาอยุธยาลุ้นระทึกข้าว 3 อำเภอกว่า 2 แสนไร่ตั้งท้องแล้ว ผู้ว่าฯ สั่งนายอำเภอคุมเข้มแย่งสูบน้ำ ขณะที่ลพบุรีน้ำขอดคลองชัยนาท-ป่าสัก ไม่พอผลิตประปา ขณะที่น้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง รอฝนตกอาจหมดหวัง กรมอุตุนิยมชี้ร่องมรสุมมีกำลังอ่อนลง
วานนี้ (12 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดปทุมธานีเริ่มวิกฤตหนัก โดยขณะนี้ทางการประปาภูมิภาคสาขาธัญบุรี ได้หยุดจ่ายน้ำประปาให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.ธัญบุรี ตั้งแต่คลอง 5 ถึงคลอง 15 อ.ลำลูกกาและอำเภอหนองเสือทั้งอำเภอแล้ว เนื่องจากไม่มีน้ำจากคลอง 13 มาเป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ กว่า 50,000 ครัวเรือน
ทั้งนี้ การประปาภูมิภาคสาขาธัญบุรีได้พยายามประสานชลประทานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่เนื่องจากน้ำในคลองรพีพัฒน์แห้งคอดทำให้น้ำในคลอง 13 ไม่มีและไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาผลิตน้ำประปาจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทั้งนี้ก็จะเหลือน้ำที่สำรองไว้ก็จะหมดภายในวันนี้ ทางการประปาภูมิภาคสาขาธัญบุรีได้ประสานขอความช่วยเหลือ จากเทศบาลและองค์การบริหารท้องถิ่นในพื้นเพื่อนำรถมาแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน
นายพงศธร สัจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีกล่าวว่าได้รับแจ้งจากผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี คลอง 13 ว่า บัดนี้น้ำดิบสำหรับทำประปาในคลอง 13 หมดแล้ว และจังหวัดได้ประสานขอผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาเติมให้โดยมีการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ลงคลองหนึ่งเพื่อให้มีน้ำไหลไปยังคลอง 13 เพื่อรักษาระดับน้ำให้การประปาผลิตน้ำดิบได้ จึงแจ้งเตือนประชาชน ให้ได้ทราบและหาอุปกรณ์สำรองน้ำไว้ใช้ และได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมรถน้ำไปรับน้ำสะอาดมาแจกจ่ายประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
โดยจังหวัดปทุมธานีได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินภัยแล้งแล้ว 3 อำเภอ คือ อ.หนองเสือ อ.ธัญบุรีและอ.ลำลูกกา เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการ เพื่อที่จะสามารถนำงบประมาณไปให้การช่วยเหลือประชาชนทันทีและเร่งด่วน โดยได้สั่งการให้ท้องถิ่นในพื้นที่นำรถดับเพลิงและรถน้ำไปล้างถังน้ำและล้างหัวจ่ายน้ำเพื่อความสะอาดเพื่อไปรับน้ำสะอาดมาแจกจ่ายในการใช้อุปโภค บริโภคให้กับประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน โดยในปีนี้จังหวัดปทุมธานี ถือว่าประสบภัยพิบัติแล้งหนักที่สุดในรอบกว่า 30 ปี หลังจากที่ปริมาณน้ำตามแม่น้ำสายหลักและสายรอง ได้แห้งขอดจนหมด และสิ่งที่กำลังวิตกในขณะนี้ถ้าฝนไม่ตกมาเราจะต้องบริหารจัดการน้ำให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน โดยประสานไปยังสระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองหลวง อำเภอธัญบุรี เพื่อขอสูบน้ำมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
นางฐิตินันท์ เจริญอาจ ปลัดเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ กล่าวว่า การประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี ไม่สามารถผลิตน้ำประปาให้กับประชาชนได้ใช้นั้น ทางเทศบาลจึงได้เตรียมรถดับเพลิงและรถน้ำและได้สำรวจหาแหล่งน้ำดินเพื่อให้ ประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลได้มีน้ำไว้ใช้ ซึ่งตอนนี้มีแหล่งน้ำที่เคยเป็นบ่อดินเก่าประมาณ 10 ไร่ มีน้ำอยู่เต็มลึกกว่า20เมตร และได้ประสานขอกับทางเจ้าของบ่อไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วง ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกถ้าเกิดสถานการณ์น้ำประปาขาดหรือไม่เพียงพอ
ส่วนพื้นที่เขตชุมชน อ.เมือง ปทุมธานี อ.สามโคก และเขตพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดปทุมธานี ยังคงมีน้ำประปาใช้อยู่ เนื่องจากสถานีผลิตน้ำประปาในเขตยังสามารถใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ จึงไม่ได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจถนนริมคลอง 26 หมู่ 1 ต.วังน้อย และหมู่ 1-2 ต.พยอม อ.วังน้อย ซึ่งเป็นถนนลาดยางเลียบคลองชลประทาน พบว่าถนนทรุดตัวเป็นระยะ หลังจากเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้น้ำในคลองลดลง รถทุกชนิดสัญจรด้วยความยากลำบาก โดยเจ้าหน้าที่ได้นำป้ายห้ามรถวิ่งผ่านาตอดตั้งไว้แล้ว เนื่องจากกลัวจะเกิดอันตราย
นายไวย ทัดดอกแก้ว อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 4 หมู่ 1 ต.วังน้อย กล่าวว่า ถนนที่ทรุดตัวลงเกิดจากน้ำในคลอง 26 ลดลง จึงมีแรงดันของน้ำ ทำให้ถนนทรุดตัวมานานนับเดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขเบื้องต้น และติดตั้งป้ายเตือน ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวชาวบ้านใช้สัญจรประจำ เมื่อถนนทรุดจึงทำให้การเดินทางลำบากมากขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยมาแก้ปัญหาให้ด้วย
ด้านนายอภิชาติ โตลิดกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่สำรวจแม่น้ำน้อยในเขตอ.เสนา และประตูระบายน้ำ ที่รับน้ำจากแม่น้ำน้อยเข้าคลองสายต่างๆ ในอ.บางบาล อ.ผักไห่ และอ.เสนา พบว่าระดับน้ำในคลองสาขามีน้ำเหลือน้อยมาก เกษตรกร 3 อำเภอที่ปลูกข้าวก่อนที่กรมชลประทานจะประกาศให้ชะลอการปลูกไปก่อนมีกว่า 2 แสนไร่ ส่วนใหญ่กำลังตั้งท้อง ทำให้ชาวนาต้องแย่งกันสูบน้ำ จึงสั่งการให้นายอำเภอเข้าควบคุมดูแลการสูบน้ำด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้กลายเป็นการแย่งน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ปลายน้ำได้รับน้ำอย่างเท่าเทียมกัน และลดความเสี่ยงจากการสูญเสียข้าวที่กำลังตั้งท้อง
นายสมจิต มงคลหมู่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.รางจระเข้ อ.เสนา กล่าวว่า ปีนี้คลองชลประทานแห้งที่สุด ไม่สามารถส่งน้ำต่อไปยังคลองสาขาได้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ภายใน 7 วันหากยังไม่มีน้ำเพิ่ม หรือฝนยังไม่ตกคงเสียหายทั้งหมด
ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในจ.ลพบุรี กำลังเข้าขั้นวิกฤตหนัก หลังจากแม่น้ำสายหลักหลายสายที่เป็นแม่น้ำสาขาแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งขอดลงเป็นช่วงๆ เช่น แม่น้ำบางขาม และล่าสุดคลองชัยนาท-ป่าสัก ระยะทางกว่า 132 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นแม่น้ำสายหลักของจ.ลพบุรี แห้งขอดลงเป็นทางยาวจากอ.บ้านหมี่ ถึงอ.เมือง กระทบต่อน้ำดิบที่จะมาผลิตน้ำประปาอ.บ้านหมี่ อ.เมือง จ.ลพบุรี อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี และอ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้ขาดน้ำอุปโภคเกือบ 2 แสนครัวเรือน
โดยเฉพาะ จ.ลพบุรี มีผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำประปาไม่ไหลเกือบ 1 แสนครัวเรือน ในต.เขาพระงาม ต.เขาสามยอด ต.ท่าศาลา ต.กกโก และต.นิคมสร้างตนเอง จนนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ต้องประสานงานไปยังกรมชลประทาน ช่วยเพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้าแรงดันสูงเพื่อเพิ่มประมาณน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก จากวันละ 5-6 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที เป็น 10 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงจะมีน้ำเลี้ยงคลอง และเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาจ่ายให้กับชาวบ้าน
***น้ำในเขื่อนลดลงตามลำดับ
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ล่าสุดมีน้ำใช้การได้ประมาณ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือร้อยละ 20 เป็นน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 8,558 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 18 สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 606 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 3 เท่านั้น
ทั้งนี้ กรมชลประทานยังระบายน้ำจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง ให้แก่พื้นที่ในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด วันละ 28 ล้านลบ.ม. แต่หากปริมาณน้ำฝนยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจต้องลดการระบายน้ำลง เพื่อยืดระยะเวลาการใช้น้ำในเขื่อนหลักออกไปให้เกินสิ้นเดือนก.ค.นี้
***อุตุฯ ดับฝันฝนตกเหตุมรสุมอ่อนกำลัง
วันเดียวกัน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศประกาศเตือนภัย ลักษณะอากาศคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ฉบับที่ 11 ว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 17 ก.ค.
อนึ่ง ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลงในระยะนี้สำหรับพายุไต้ฝุ่น “จันหอม” อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว และเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัวไปยังประเทศเกาหลีเหนือ พายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย