พระนครศรีอยุธยา - ชาวบ้านในพื้นที่ 2 ตำบลของอำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา เดือดร้อนหนัก หลังถนนริมคลอง 26 ทรุดตัวมานานนับเดือน ทำให้เดินทางลำบาก หลังน้ำในคลองลดลง ด้านลพบุรีภัยแล้งวิกฤตหนักหลังคลองชัยนาท-ป่าสักแห้งขอด ชาวบ้านเกือบ 2 แสนครัวเรือนได้รับผลกระทบขาดน้ำอุปโภค บริโภค
วันนี้ (12 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจถนนริมคลอง 26 ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลวังน้อย ยาวไปถึงหมู่ 1-2 ตำบลพยอม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นถนนลาดยางคันคลองชลประทาน พบว่า ถนนได้เกิดการทรุดตัวเป็นระยะยาวหลายเมตร หลังจากเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนักทำให้น้ำในคลองลดลง จนทำให้ถนนทรุดตังลงเป็นทางยาวจนรถทุกชนิดสันจรไปมาอย่างยากลำบาก และพบว่าเจ้าหน้าที่ได้นำป้ายบอกทางมาติดตั้งไว้ห้ามรถวิ่งผ่าน เนื่องจากกลัวจะเกิดอันตราย
นายไวย ทัดดอกแก้ว อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 4 หมู่ 1 ตำบลวังน้อย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ถนนที่ทรุดตัวลงนั้นเกิดจากน้ำในคลอง 26 ลดลง และแห้งไม่มีแรงดันของน้ำทำให้ถนนทรุดตังลงมานานนับเดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูก็แก้ไขในเบื้องต้น และนำป้ายมาปักเตือน ซึ่งถนนดังกล่าวชาวบ้านใช้สัญจรประจำ เมื่อถนนทรุดจึงทำให้ต้องเดินทางลำบากมากขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยมาแก้ไขปัญหาให้ด้วย
ด้านสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ จ.ลพบุรี กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตหนัก หลังจากที่แม่น้ำสายหลักหลายสายที่เป็นแม่น้ำสาขาจากแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งขอดลงเป็นช่วงๆ เช่น แม่น้ำบางขาม และล่าสุดน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่มีระยะทางกว่า 132 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นแม่น้ำสายหลักและหัวใจหลักของ จ.ลพบุรี ได้แห้งขอดลงเป็นทางยาวจาก อ.บ้านหมี่ ถึง อ.เมืองลพบุรี
ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบที่จะมาผลิตน้ำประปาของ อ.บ้านหมี่ อ.เมืองลพบุรี และ อ.พระพุทธบาท ของ จ.สระบุรี อ.ท่าเรือ ของ จ.พระนครศรีอยุธยา และปริมณฑลจาก จ.ลพบุรี ส่งผลให้ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำในการอุปโภค บริโภค และการนำน้ำมาผลิตประปาจำนวนเกือบ 2 แสนครัวเรือน
โดยเฉพาะในพื้นที่ของ จ.ลพบุรี จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำประปาไม่ไหลเกือบ 1 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ ต.เขาพระงาม ต.เขาสามยอด ต.ท่าศาลา ต.กกดก และ ต.นิคมสร้างตนเอง และขณะนี้บางพื้นที่ได้หยุดจ่ายน้ำประปาบ้างแล้วเพราะขาดน้ำดิบ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ประสานงานไปยังกรมชลประทานเพื่อช่วยเพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสักเพิ่ม พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้าแรงดันสูงเพื่อเพิ่มประมาณน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสักเพิ่มจากวันละ 5-6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันละ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงจะมีน้ำเลี้ยงคลองและพอสำหรับในการนำน้ำดิบมาผลิตน้ำประปาจ่ายให้กับชาวบ้าน