xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงชนบทเร่งซ่อมถนนคันคลองทรุด ร่วมมือท้องถิ่นรักษาระดับน้ำแก้ปัญหาระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมทางหลวงชนบทแจงเหตุถนนคันคลองชลประทานทรุดตัวจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้แรงดันของน้ำหายไป เร่งแก้ไขและป้องกันการทรุดตัวของถนนคันคลองชลประทาน และร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่บริหารจัดการเพื่อรักษาระดับน้ำรักษาเสถียรภาพของคันทาง และเข้มงวดน้ำหนักรถบรรทุกเหลือ 18 ตัน

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยถึงสาเหตุการทรุดตัวของถนนคันคลองตามที่ปรากฏในภาพข่าวในช่วงว่า ถนนคันคลองทรงตัวอยู่ได้เนื่องจากแรงต้านของดินคันคลอง (P1) และแรงดันของน้ำในคลองชลประทาน (P2) ช่วยกันรับน้ำหนักคันทาง (W) ดังภาพที่ 1 แต่เมื่อเกิดภัยแล้งน้ำแห้งขอดแรงดันของน้ำ (P2) ที่เคยพยุงถนนคันคลองหายไป ทำให้บางจุดมีแรงต้านของดิน (P1) ไม่เพียงพอ เกิดการทรุดตัวของถนนดังภาพที่ 2 โดยถนนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงดังกล่าวมีทั้งถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมชลประทาน อบจ. อบต. เทศบาล ซึ่งถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบทได้สำรวจแล้วมีการทรุดตัวรวมประมาณ 5.2 กิโลเมตร คิดเป็น 0.20% ของความยาวทั้งหมด

โดยการแก้ไขกรณีถนนทรุดตัวเสียหายแล้ว กรมทางหลวงชนบทได้ติดตั้งป้ายเตือน กรวย แบริเออร์คอนกรีต พร้อมติดไฟกะพริบเพื่อความปลอดภัยทั้งกลางวันและกลางคืน จากนั้นดำเนินการเร่งคืนผิวจราจรเป็นการชั่วคราวให้แก่ประชาชนภายใน 7-10 วัน โดยทำการขุดลอกถนนส่วนที่เสียหายออก 2-3 เมตรเพื่อลดน้ำหนักกดทับที่อาจทำให้ถนนทรุดตัวเพิ่มขึ้นได้ จากนั้นจึงปูผิวชั่วคราว ตลอดจนเร่งคืนผิวจราจรเป็นการถาวร โดยการเจาะสำรวจดินเพื่อนำมาออกแบบปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ถนนมีความมั่นคงแข็งแรงถาวร เช่น การใช้เสาเข็มเป็นการถ่ายน้ำหนักลงสู่ชั้นดินแข็งหรือใช้วิธีอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

สำหรับการป้องกันกรณีถนนที่ยังไม่เกิดการทรุดตัว ดังนี้
- ออกประกาศลดน้ำหนักรถบรรทุก 10 ล้อที่วิ่งผ่านคันคลองชลประทานจากเดิม 25 ตัน เหลือ 18 ตัน
- เร่งเจาะสำรวจดินของถนนที่อยู่ในความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นทุกสาย เพื่อออกแบบปรับปรุงป้องกันการเคลื่อนตัวของคันทาง
- ทำแผนปรับปรุงถนนต่างๆ เหล่านี้ โดยจัดลำดับความเร่งด่วนตามความเสี่ยง พร้อมขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล
- บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน อำเภอ จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีการบริหารจัดการเรื่องการขุดลอกคลองและการรักษาระดับน้ำในคลอง เพื่อรักษาเสถียรภาพของคันทาง

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงชนบทขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยตามคันคลองชลประทานช่วยกันสอดส่องดูแลถนนเหล่านี้ว่ามีการแตกร้าวตามไหล่ทางหรือไม่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ถนนอาจจะทรุดตัวได้ รวมถึงเป็นหูเป็นตาในเรื่องของรถบรรทุกหนักให้เป็นไปตามประกาศของกรมทางหลวงชนบท โดยโปรดแจ้งมาที่สายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146 นอกจากนี้ ขอให้ท่านระมัดระวังในการเดินทางบนถนนที่เกิดการทรุดตัว โดยให้สังเกตป้ายเตือนต่างๆ ที่ติดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง

กำลังโหลดความคิดเห็น