ครม.สั่งเด้ง!อธิบดีทรัพยากรน้ำเซ่นภัยแล้ง พร้อมสั่งลดการระบาย 4 เขื่อนอีก 10 ล้านลบ.ม. ยื้อให้ถึงกลางส.ค. จาก 28 ล้านลบ.ม. เหลือ 18 ล้านลบ.ม. ทยอยเริ่ม16 ก.ค.นี้ หวังใช้อุปโภค-บริโภค สั่งห้ามสูบน้ำทำการเกษตรในช่วงนี้อย่างเด็ดขาด ชี้ฝนจะทิ้งช่วง ไปตกกลางเดือนสิงหา หากน้ำไม่เต็มเขื่อนกระทบถึงปี59แน่ “ตู่”จวกสมัยก่อนขุดที่เก็บน้ำคงไม่มีปัญหา กรมชลประทานเผย 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำใช้ 587 ล้านคิว “คนลพบุรี-ธัญบุรี”พ้นวิกฤตน้ำดิบมาถึงแล้ว เขื่อนแม่กวงเชียงใหม่อาการหนัก น้ำต่ำสุดรอบ 21 ปี ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ชี้ระบายได้อีกแค่ 20 วัน “อีสท์วอเตอร์”ยันตะวันออกไม่มีปัญหา ผู้ว่าฯกทม.ขอช่วยกันภาวนาให้ฝนตก ชาวบ้านร้องน้ำดื่มบรรจุขวดห้างย่านรัตนาธิเบศร์ขึ้นราคา
วานนี้ (14 ก.ค.) วานนี้(14 ก.ค.)ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมมีมติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง 5 ราย ดังนี้ 1.นายวิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวง ตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 2.นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 3.น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 4.นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง และ 5.นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวง ตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการย้ายนายปราณีต อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ คาดว่าน่าจะมาจากสาเหตุการแก้ปัญหาภัยแล้ง
***ครม.สั่งลดปล่อยน้ำ4เขื่อนใหญ่เหลือ18 ล้าน ลบ.ม./วัน
เมื่อเวลา 14.25น. วานนี้ ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมครม. ที่มีมติสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ครม.มีการหารือเรื่องปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดน้อย เนื่องจากฝนไม่สมารถเพิ่มน้ำได้ และในขณะนี้ได้ปล่อยน้ำในเขื่อนลุ่มเจ้าพระยาเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค แต่ด้วยขณะนี้น้ำลดลงมาก ประกอบกับพิจารณาปริมาณที่ฝนจะตกในเดือนสิงหาคม(ส.ค.) ทำให้ตั้งแต่วันนี้จนถึงกลางเดือนส.ค.จะต้องมีการบริหารอย่างไรให้น้ำอุปโภคฯ และรักษาระบบนิเวศน์ คือการผลักดันดันน้ำทะเล และการเกษตร
**ห้ามสูบน้ำทำการเกษตรเด็ดขาด
ดังนั้นที่ประชุม ครม.จึงมีมติตามที่กรมชลประทานเสนอ โดยการลดปริมาณการปล่อยน้ำ ใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ ที่เดิม 4 เขื่อนปล่อยน้ำรวมกัน 28 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ก็จะต้องลดลงเหลือ 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยจะเริ่มลดตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะไม่ได้ลดพรวดเดียว แต่จะค่อยๆ ลดลง ซึ่งจะเป็นการปล่อยน้ำให้ถึงปลายน้ำ โดยจะไม่สามารถทำการเกษตรได้เลยในการระบายช่วงดังกล่าว
"จึงขอเรียนสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยว่า ไม่สามารถปล่อยน้ำช่วยการเกษตรได้เลย ถึงจะให้ ก็ไม่เพียงพอ เพราะตอนนี้รัฐบาลต้องดูแลน้ำอุปโภคและบริโภคเท่านั้น และขอร้องว่า ท่านสูบน้ำไม่ได้ ยังไงก็สูบไม่ได้ เพราะน้ำไม่พอ เพราะอาจจะมีวิกฤติช่วงปลายก.ค.ได้ " พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
**ชลประทานเผย4 เขื่อนเหลือน้ำ587ล้านคิว
ข่าวแจ้งว่า ส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ประกาศ สถานการณ์น้ำเจ้าพระยา เรื่อง วอนใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักยังน้อยมาก โดยระบุว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาวันที่ 13 ก.ค. เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 3,959 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 29 ของความจุอ่าง ใช้การได้ 159 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,180 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ใช้การได้ 330 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11 ใช้การได้ 57 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 44 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 5 ใช้การได้ 41 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้ 587 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก คงเหลือน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น
**“ตู่”จวกสมัยก่อนขุดที่เก็บน้ำคงไม่มีปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ คือ 1. ทำอย่างไรจึงจะลดความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด วันนี้กล่าวได้ว่ามันเป็นความเดือดร้อนของคนทั้งประเทศ มีผลกระทบ 3 อย่างด้วย ทั้งน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร วันนี้ต้องขอร้องกันว่าน้ำเพื่อการเกษตรมีปัญหาแน่นอน ต้องขอเตือนกันไว้ การปล่อยน้ำในวันนี้ต้องลดลง หรืออาจจะจ่ายไม่ได้เลย เพราะไม่เช่นนั้นเราคงอยู่ไม่ถึงแน่ เดือนส.ค.ที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกลงมาเป็นเพียงประมาณการณ์ไว้ ถ้าฝนไม่ตกจะยิ่งหนักขึ้นไปใหญ่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลขุดแหล่งเก็บน้ำไว้จำนวนมาก สื่อโซเชียลและอดีตนักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องฟังด้วย และขอให้ดูว่าที่ทำมาแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง สมัยก่อนถ้าขุดสถานที่เก็บน้ำไว้คงไม่มีปัญหาถึงวันนี้ ที่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่หาสถานที่กักเก็บ ที่ระบายน้ำ และที่ส่งน้ำใหม่
**บอกปัดกระทรวงน้ำเอาของเดิมให้ดีก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวคิดการตั้งกระทรวงน้ำมีความเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่พูดถึงเรื่องนี้ เอาแค่ของเดิมที่มีอยู่ อนาคตอาจจะเกิดกระทรวงนี้ขึ้นมาก็เป็นเรื่องของอนาคต
**ขุดอุโมงค์ยังอีกไกลเพราะไร้งบ-ไม่อยากทำ
เมื่อถามว่า ระยะยาวมีแผนที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูแล้ว และตนก็ชี้แจงไปแล้วว่า น้ำมี 2 ส่วน คือ ถ้ามีฝนตกตามปกติก็ไหลลงสู่แม่น้ำ บางส่วนก็ไหลออกนอกประเทศบ้าง แต่ถ้าเป็นน้ำตามปกติก็วางแผนว่าจะนำน้ำมาใช้อย่างไร โดยเฉพาะน้ำจากแม่น้ำสายหลัก แต่วันนี้อย่าลืมว่าน้ำในแม่น้ำต่างๆก็ลดลงทั้งหมด ทั้งเจ้าพระยา สาละวิน แม่น้ำโขง ก็ต้องมาพึ่งแม่น้ำในประเทศเราอย่างเดียว ก็กำลังศึกษากันอยู่ แต่ก็คงไม่ทัน ทำไมรัฐบาลที่ผ่านๆมาจึงไม่ทำกัน วันนี้ตนจึงได้มีการศึกษาและเตรียมการไว้ในอนาคต ถ้าไม่ทำอีก 3-4 ปีข้างหน้าไปไม่ได้ จำเป็นต้องศึกษา วางท่อขุดอุโมงค์ซึ่งคงไม่ใช่แค่ 3 วันจะเสร็จ
“ไม่ใช่ผมคิดไม่เป็น ผมคิดเป็น ข้อมูลมีอยู่แล้ว เพียงแต่มันยังทำไม่ได้ เพราะ 1. ไม่มีงบประมาณ 2. ไม่อยากจะทำ”
**เร่งสูบน้ำเจ้าพระยาเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก
สำหรับพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบผลิตน้ำประปา โดยเฉพาะใน จ.ลพบุรี เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ต่ำกว่าระดับปากคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ทำให้น้ำไม่สามารถไหลเข้าคลองได้ สำนักชลประทานที่ 10 จึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก พร้อมระดมเครื่องจักรเปิดทางน้ำให้น้ำไหลเข้าคลองส่งน้ำสะดวกมากขึ้น พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือจากพื้นที่ต้นคลองให้งดสูบน้ำ เพื่อให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ให้สามารถสูบน้ำผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ และขอวอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อฝ่าวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ไปด้วยดี
**”ลพบุรี”โล่งน้ำดิบมาถึง-สถานการณ์ดีขึ้น
นายอรรถพร ปัญญาโฉม ผู้อำนวยการจัดสรรน้ำ สำนักชลประทานที่ 10 จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 14 ก.ค. มวลน้ำที่สูบจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านประตูน้ำมโนรมย์ จ.ชัยนาท มาถึงประตูน้ำโคกกะเทียม จ.ลพบุรี ปริมาณน้ำสูงขึ้น 34 เซนติเมตร เมื่อเทียบกับเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 5.86 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือประมาณ 400,000 ลบ.ม.ต่อวัน ทำให้สถานการณ์ของจ.ลพบุรี เริ่มดีขึ้น
นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า หลังมวลน้ำมาถึงแล้ว ทำให้การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)มีน้ำดิบเพิ่ม เร่งสูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักเข้าโรงสูบน้ำดิบของกปภ.โคกกะเทียม จาก 1,200 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง เป็น 1,700 ลบ.ม. เพื่อเร่งผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้ชาวบ้าน 40,000 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบน้ำประปาไม่ไหลก่อน
**เขื่อนเจ้าพระยาระบายเพิ่ม10คิว/วินาที
นายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท กล่าวว่า เขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนจากเดิมวันละ 70 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 80 ลบ.ม. เพื่อผลักดันน้ำเค็ม หลังค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี มีค่าสูงเกินมาตรฐาน เนื่องจากตลอดทางแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนลงไป มีการสูบน้ำขึ้นไปใช้ทำการเกษตรเกือบตลอดทาง ทำให้ปริมาณน้ำ 70 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดปริมาณลง ไม่เพียงพอผลักดัน ล่าสุดระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา เพิ่มขึ้น 6 เซนติเมตร ส่วนเหนือเขื่อนลดลง 4 เซนติเมตร
**”ธัญบุรี”พ้นวิกฤต-15ก.ค.จ่ายเต็มพื้นที่
จ.ปทุมธานี น้ำดิบที่ผันมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มาถึงสถานีสูบน้ำคลอง 13 แล้ว ก่อนที่สถานีสูบน้ำธัญบุรี จะทำการเริ่มแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้แล้วตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา และวันที่ 14 ก.ค. คาดว่าระบบการจ่ายน้ำจะเป็นปกติทั้ง 60,000 ครัวเรือน
นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ปัญหาของชาวอ.ธัญบุรี คลี่คลายลงแล้ว ซึ่งได้กำชับกปภ.ธัญบุรี ให้เฝ้าระวังระดับน้ำ และหากมีปัญหาให้เตือนประชาชนทราบโดยเร็ว ส่วนน้ำที่มีอยู่จะใช้ได้นานแค่ไหน ก็อยู่ที่ผู้ใช้น้ำทางเหนือสถานีสูบน้ำที่สูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร จึงขอให้ชะลอออกไปก่อน
นายชโยดม กาญจโนมัย ผู้อำนวยการกปภ. เขต 2 รับผิดชอบการบริการจ.สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท กล่าวว่า หลายพื้นที่ของจ.ปทุมธานี ขณะนี้ปัญหาคลี่คลายลงมากแล้ว โดยกปภ.เขต 2 คาดว่าวันที่ 15 ก.ค. จะมีน้ำได้ครบทุกพื้นที่
นายประทีป บริบูรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธรณภัยจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ถนนทรุดเนื่องจากน้ำในคลองแห้งขอดมากที่สุดในอ.หนองเสือ และอ.คลองหลวง เนื่องจากเป็นถนนเลียบคลอง ตั้งแต่คลอง 1 - 14 หลายแห่ง และยังมีรอยแตกร้าวจำนวนมาก
**คนราชสถิตย์ดิ้นหนีตายตั้งเครื่องสูบเอง
นายจิรทีปต์ ทวีสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ราชสถิตย์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง พร้อมชาวนาได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 3 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือวนาข้าวกว่า 2,000 ไร่ที่กำลังแห้งเหี่ยว โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาในหมู่บ้านแบ่งปันน้ำกัน เพื่อป้องกันปัญหาแย่งน้ำ
**ถนนเลียบคลองอยุธยายังทรุดต่อเนื่อง
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอลาดบัวหลวง พื้นที่ติดตามสถานการณ์ถนนทรุดอีก 1 จุด บริเวณหมู่ 7 ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง ซึ่งเป็นถนนเลียบคลองสาน แยกจากคลองพระยาบันลือ เข้ามาในหมู่บ้านเสียหายยาวเกือบ 200 เมตร กว้าง 6 เมตร และทรุดตัวลึกลงไปเกือบ 3 เมตร ส่งผลให้ รถยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถสัญจรได้
นายอภิชาติ กล่าวว่า ถนนที่ทรุดตัวครั้งนี้เป็นถนนเส้นที่ 4 ของจังหวัดแล้วในเวลาไม่ถึงครึ่งเดือน โดยถนนเส้นนี้อยู่ในความของอบต.ลาดบัวหลวง สร้างมากว่า 5 ปี เชื่อมต่อไปยังอ.เสนา สาเหตุก็เช่นเดียวกับถนนเส้นอื่น คือระดับน้ำในคลองลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ดินสไลด์ตัวลงคลอง
**เขื่อนแม่กวง”วิกฤต! น้ำต่ำสุดรอบ21ปี
รายงานจากจ.เชียงใหม่ แจ้งว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่มีน้ำที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่ 2 แห่งค่อนข้างน้อย ทั้งเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยแม่กวงอุดมธาราพบว่ายังคงวิกฤติ มีน้ำเหลือน้อยที่สุดในรอบ 21 ปี ประมาณ 32 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 12 ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตน้ำประปา และรักษาระบบนิเวศลุ่มน้ำแม่กวง โดยฝนที่ตกลงมีน้ำไหลลงสู่เขื่อนเพียง 560,000 ลบ.ม. ทำให้ต้องขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด
**ผอ.เขื่อนสิริกิติ์บอกเหลือใช้แค่20วัน
ส่วนที่ภาคเหนือ นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ กล่าวว่า สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง ฝนไม่ตกไปจนถึงต้นเดือนส.ค.คงต้องลดการระบายน้ำ เพราะทุกวันนี้ระบายน้ำวันละ 17.03 ล้านลบ.ม. หากยังรักษาระดบนี้ไว้โดยที่ฝนไม่ตกเหนือเขื่อน จะระบายน้ำได้อีกเพียง 20 วันเท่านั้น เพราะขณะนี้น้ำในอ่าง มีพร้อมใช้งานเพียง 318.07 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 4.78% ทุกวันนี้จะมีน้ำไหลเข้าอ่าง 5.79 ล้านลบ.ม. ซึ่งถือว่าน้อยมาก และถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต
**อีสท์วอเตอร์ยันภาคตะวันออกมีน้ำพอใช้
นายเจริญสุข วรพรรณโสภาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า แม้จ.ระยอง และจ.ชลบุรี อยู่ในเกณฑ์แล้ง แต่บริษัทได้มีการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 58 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่จ.ระยอง มีปริมาณน้ำอยู่ 107 ล้านลบ.ม. หรือ้อยละ 39 เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ เนื่องจากสามารถสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างอื่นได้ ทำให้มั่นใจว่าไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำในปีนี้
ส่วนอ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำ 25 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 25 ถือว่าวิกฤตเมื่อเทียบกับจ.ระยอง เนื่องจากฝนไม่ตกเลย คาดว่าเพียงพอต่อความต้องใช้เพียง 2เดือนเท่านั้น หากฝนไม่ตก ก็จะนำน้ำสำรองจากบ่อดินของบริษัทที่มีอยู่ 10 ล้านลบ.ม.มาใช้ ทำให้มั่นใจว่าจ.ชลบุรี จะมีน้ำใช้จนถึงเดือนก.ย. ซึ่งถือว่าปีนี้วิกฤตน้ำแล้งในรอบ 10ปี
“ส่วนฉะเชิงเทราอีสท์วอเตอร์ส่งน้ำไปช่วยกปภ.บางปะกง และกปภ.ฉะเชิงเทรามาตั้งแต่เดือนเม.ย. ยืนยันว่าจะสามารถป้อนน้ำให้จ.ฉะเชิงเทราถึงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้”
**ผู้ว่าฯกทม.ขอช่วยกันภาวนาให้ฝนตก
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า นอกจากภัยแล้งยังมีปัญหาถนนเลียบคลองทรุดตัว ซึ่งปีที่แล้วเขตหนองจอกมีถนนทรุดตัว 14 เส้นทาง แต่ในปีนี้เหลือ 8 เส้นทาง ทางสำนักงานเขตได้ซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
“ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่ถ้าอีก 2 สัปดาห์ฝนยังไม่ตกคงจะหนัก เพราะน้ำจากต้นน้ำยังไม่มา หนองจอกคงไม่มีน้ำเหลือ จึงขอให้ช่วยกันภาวนาให้ฝนตกลงมา แต่ตอนนี้ยืนยันว่ายังไม่วิกฤติ ไม่ต้องไปตื่นตระหนก ไม่อยากให้รู้สึกว่าน้ำจะหมดในวันพรุ่งนี้ แต่อยากให้ช่วยใช้น้ำอย่างระมัดระวัง”
**ร้องน้ำดื่มห้างย่านรัตนาธิเบศร์ขึ้นราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากระทรวงพาณิชย์ว่า มีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ขอให้ตรวจสอบการจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ย่านรัตนาธิเบศร์ หลังเข้าไปซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพบว่ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยขนาด 1.5 ลิตร ปรับขึ้นมาเป็นแพ็ก(6 ขวด)ละ 54-55 บาท จากเดิม 48-49 บาท หรือปรับขึ้น 6-7 บาท และยังพบว่าบางยี่ห้อได้ปรับขึ้นสูงสุดถึงแพ็กละ 62 บาท ขนาดแกลลอนปรับขึ้นจาก 32-33 บาท เป็น 39-40 บาท หรือปรับขึ้น 6-7 บาทเช่นกัน
**ค้าภายในยันไม่ขาด-คาดแค่เลิกโปรโมชั่น
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า น้ำดื่มบรรจุขวดขณะนี้ ไม่ได้ขาดแคลน เพราะผู้ผลิตน้ำดื่มแบรนด์ใหญ่ 6-7 ราย มีสัดส่วนตลาดรวมกัน 60-70% ยืนยันว่าการผลิตยังอยู่ในภาวะปกติ เพราะมีแหล่งน้ำ
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับราคาจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดยังไม่พบว่าปรับตัวสูงเกินกว่าระดับเพดานที่กำหนด ซึ่งมองว่าการที่ปรับขึ้นอาจเป็นการยกเลิกโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีการปรับลดราคาแข่งขันกัน ช่วงนี้บางแบรนด์อาจกลับมาขายราคาปกติ แต่ไม่ได้สูงเกินควร เพราะหากเป็นฉวยโอกาสไม่สมเหตุสมผล จะใช้กฎหมายจัดการแน่นอน