ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงเวลานี้ทีมเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นหัวเรือใหญ่ ยังไม่สามารถทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยโงหัวขึ้นมาได้
ถามว่า แล้วโอกาสฟื้นมีไหม? คำตอบคือ มี แต่อย่างห่างไกลถ้าหากว่ารัฐบาลยังเชื่องช้าไม่ชัดเจนอยู่เช่นนี้ และโอกาสที่จะเกิดอย่างกรณีซัมซุงที่ทยอยลดคน ย้ายฐานการผลิต ปิดกิจการ ก็คงจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่สายป่านสั้น
อย่าลืมว่า ถึงจะมีฝนโปรยปรายลงมาบ้างแล้ว แต่วิกฤตภัยแล้งก็ยังไม่ผ่านพ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลัก ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยังตกต่ำ กำลังการผลิตของบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมลดลง เพราะไม่มีออเดอร์เข้ามา โอทีถูกตัด ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังอยู่ในสภาพเป็ดง่อย แบงก์เองก็เข้มงวดปล่อยสินเชื่อพร้อมเตรียมรับมือกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
สารพัดสารพันปัญหา ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ หนี้ครัวเรือนก็พุ่ง เมื่อเงินในกระเป๋าร่อยหรอทุกคนก็ต้องรัดเข็มขัด ฉุดกำลังซื้อตกต่ำลงต่อเนื่อง สะเทือนไปถึงการจัดเก็บภาษีของรัฐพลาดเป้า โครงการลงทุนของภาครัฐก็ชะลอตัว
ดูท่าการสู้ศึกเศรษฐกิจซบเซาที่มีเก้าอี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นเดิมพันครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก แต่ครั้นจะมองไปยังผู้มาใหม่ที่ร่ำลือกันหลายรอบแล้วว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. จะมานำทีมเอง ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย เพราะคณะทีมงานเศรษฐกิจ คสช. เวลานี้ รู้ๆ กันอยู่ว่ามาจาก “เซ็นคาร์เบียลคอนเนกชัน” ที่มีพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม แบ็คอัพอยู่เบื้องหลังนั้น ทำให้ “บิ๊กตู่” ขยับอะไรไม่ถนัดจริงๆ
แถมวันดีคืนดี “หม่อมอุ๋ย” ยังถูกปล่อยคลิปเด็ดว่าไปนินทานายกรัฐมนตรี ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ ในที่ประชุมสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จนหม่อมอุ๋ย ร้อนรนต้องออกมาแก้ตัวพัลวัล ไม่จริ๊ง ไม่จริง มีคนใส่ร้ายจ้องทำลายผม
“บ้าเหรอ ผมจะไปพูดอย่างนั้นได้อย่างไร ผมไม่เคยพูดว่านายกฯ ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจเลย แหม ท่านนายกฯ รู้เรื่องเศรษฐกิจจะตาย ผมจะไปพูดอย่างนั้นได้อย่างไร เรื่องที่ผมพูดคุยกับสมาคมธนาคารไทย เป็นการไปเล่าให้เขาฟังในสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ และไปขอความร่วมมือในการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ผมมั่นใจว่าข่าวนี้มันเป็นกระบวนการปล่อยข่าว ที่คอยเล่นงาน คอยเลื่อยขาผมอยู่เรื่อย ปัดโธ่! ผมจะหาเรื่องทำไม แค่นี้ก็จะตายอยู่แล้ว” ม.ร.ว. ปรีดิยาธร โอดครวญ
แต่งานนี้ ไม่จบง่าย บรรดาแมงเมาท์ร่ำลือกันว่า “บิ๊กตู่” สั่งสืบสาวราวเรื่องล่าคลิปเอามาฟังให้จะจะว่าหม่อมอุ๋ยไปพูดอย่างนั้นจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทีมเศรษฐกิจจะเป็นทีมนี้หรือทีมไหนๆ เจอวิกฤตเศรษฐกิจเผาจริงในตอนนี้ก็ต้องบอกว่าถ้าดีแต่โม้ไม่มีฝีมือจริงก็เตรียมพารัฐบาลบิ๊กตู่ม้วนเสื่อกลับบ้านกันได้เลย
ก่อนอื่นมาดูเศรษฐกิจขาลงของไทยจะยาวไปถึงไหนจาก “กรุงเทพโพลล์” ที่เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27 แห่ง จำนวน 63 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-14 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา กันก่อน
ผลสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 28.94 (เต็ม 100) เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 24.03 การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแอเป็นอย่างมาก
เมื่อวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อน พบว่า ปัจจัยที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก ได้แก่ การส่งออกสินค้า (ดัชนีเท่ากับ 4.03) การลงทุนภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 9.02) และการบริโภคภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 13.11)
ขณะที่ปัจจัยด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ เห็นได้จากค่าดัชนีที่อยู่ในระดับ 47.58 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับ 50 เช่นกัน ส่วนการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยเดียวที่ทำงานได้ดี โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 70.97 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนและเป็นระดับที่สูงที่สุดนับจากเดือนมกราคม 2557
เมื่อมองออกไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ที่ 59.51 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา (ค่าดัชนีเท่ากับ 58.41) และเมื่อมองออกไปในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 71.01 ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากเดือนกรกฎาคม 2557 ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนียังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่การดีขึ้นดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและเชื่องช้า
ส่วนประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.1 เห็นว่าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย รองลงมาร้อยละ 14.3 เห็นว่าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และร้อยละ 3.2 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ และไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดเลยที่เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงรุ่งเรือง
เมื่อแบ่งวัฏจักรออกเป็น 2 ฟาก คือ ฟากเศรษฐกิจขยายตัวจนถึงจุดสูงสุด (ร้อยละ 14.3) และ ฟากเศรษฐกิจถดถอยจนถึงจุดต่ำสุด (ร้อยละ 68.3) แล้วเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะพบว่า เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอยหรือชะลอตัว
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า (1) ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 3 ใน 5 ไม่ทำงาน ซึ่งได้แก่ การส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชน (2) แม้เศรษฐกิจข้างหน้าจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่การดีขึ้นดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและเชื่องช้า โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (3) นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วง “เศรษฐกิจถดถอย”
หันมาฟังจากเสียงของสภาองค์การนายจ้างฯ ยิ่งสยองหนัก
เมื่อวันก่อน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย พูดชัดว่า นายจ้างจะหารือกันเรื่องเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2558 เพื่อจะได้บอกกล่าวสภาพความจริงให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างปรับตัวรองรับ เนื่องจากเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ภาคการผลิตครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะรัดเข็มขัดทุกด้านเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ต้องลดต้นทุนทุกด้าน ชะลอการลงทุนใหม่ๆ เพื่อรักษาเงินสดไว้ เพราะตอนนี้แบงก์ล็อกเงินไม่ปล่อยกู้ให้กับการลงทุนใหม่แล้ว
สำหรับปัจจัยที่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะต้องรัดเข็มขัดรอบด้านในครึ่งปีหลัง เนื่องจากจะต้องเจอกับภาวะ 3 เด้ง กล่าวคือ เด้งแรกเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ทำให้ส่งออกทั้งปีมีโอกาสติดลบ 3% ปัจจุบันภาคการผลิตมีอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ย 55% ซึ่งถือเป็นอัตราค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันพบว่าภาคเกษตรของไทยเกิน 50% ก็พึ่งพิงตลาดส่งออกเช่นกัน
ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีค่าทำงานล่วงเวลาหรือโอทีให้พนักงาน ซึ่งเงินพิเศษส่วนนี้มีส่วนสำคัญต่อแรงซื้อในระบบอยู่ไม่น้อยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อทิศทางการส่งออกครึ่งปีหลังยังไม่ดีนักโอทีก็จะไม่มีเช่นกัน การรักษาพนักงานเก่าก็จะต้องพยายามประคองไว้แต่พนักงานใหม่ไม่มีนโยบายรับเพิ่ม ขณะที่รายจ่ายของคนกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นแต่เงินเดือนยังมีการเติบโตแบบชะลอตัวต่อเนื่องมา 2-3 ปี
เด้งที่ 2 แรงซื้อคนไทยครึ่งปีหลังแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง เพราะไม่เพียงผลกระทบจากส่งออกแต่ยังเผชิญกับเศรษฐกิจภายในที่เกิดภาวะภัยแล้งที่กระทบต่อปริมาณพืชผลทางการเกษตรลดต่ำ ภาคเกษตรกรจะยิ่งขาดรายได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อแรงซื้อจากฟากลูกจ้างที่อยู่ในภาคการผลิตรวมกับคนต่างจังหวัดคือเกษตรกรทิศทางครึ่งปีหลังชะลอการจำหน่ายสินค้าก็จะยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า จะมีการลดแลกแจกแถมเพื่อรักษาฐานลูกค้า ทิศทางการขึ้นราคาในสินค้าจากภาคการผลิตจึงยาก
เด้งที่ 3 เมื่อภาคธุรกิจไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็นนั่นย่อมหมายถึงรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่างๆ ของรัฐบาลก็จะลดต่ำลงไปด้วย เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่ายเม็ดเงินในการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงอาจไม่เพียงพอในการดำเนินการ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลพยายามที่จะเร่งผลักดันงบประมาณต่างๆ ให้เร็วขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ออกมาแสดงความห่วงกังวลกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่การบริโภคยังชะลอตัวลดลงเช่นกัน และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นตัวฉุดให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปี 2558 ไม่ขยายตัวตามเป้า โดย ส.อ.ท.มองว่า จีดีพี ปี 2558 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3 ส่วนการส่งออกยังติดลบร้อยละ 2
ส.อ.ท. ยังแถลงผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2558 ว่า อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนพฤษภาคม 2558 ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย และปัญหาภัยแล้งที่ลุกลามหลายพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความกังวลปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย
ประเด็นที่ประธาน ส.อ.ท. ท้วงติงซึ่งรัฐบาลควรสดับตรับฟัง ก็คือ ข้อเสนอของภาคเอกชนที่ควรได้รับการตอบรับจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลให้เร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาข้อเสนอของเอกชนได้รับการตอบสนองที่ล่าช้า โดยเฉพาะการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งในเรื่องของภาษีฯ หรือการขยายวงเงินค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี หรือ บสย. ซึ่งพูดกันมาเป็นปีเพิ่งได้รับการพิจารณาไม่กี่วันนี้เอง
ส่วนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังอยู่ที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจะมีอะไรมากระตุ้นจากปัญหาภัยแล้งที่อาจคุกคามภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและจะกระทบต่อกำลังซื้อประชาชน ซึ่งข้อเสนอของเอกชนที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณทุกเดือนว่าทีมเศรษฐกิจควรจะอุดหนุนหรือดูแลราคาสินค้าให้ภาคการเกษตรบ้างแต่ทีมเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมาในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลเศรษฐกิจมหภาคดีแล้ว แต่ในระดับจุลภาค ไม่มีความชัดเจน ซึ่งขณะนี้ปัญหาระดับไมโครของไทยค่อนข้างรุนแรง
ในสายตาของนายแบงก์อย่างนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ก็ไม่แตกต่างกัน โดยห่วงว่าปัญหาภัยแล้งหากรุนแรงมากกว่านี้อาจทำให้จีดีพีเติบโตต่ำว่า 3%
เศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่มีปัญหาค่อนข้างรุนแรงนั้น ดูจากการหั่นเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้ลงเหลือ 2.05 ล้านคันของกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท. จากเดิมที่ตั้งเป้า 2.15 ล้านคัน โดยหั่นลดลงอีก 1 แสนคัน เนื่องจากยอดขายในประเทศที่ยังคงตกต่ำจากแรงซื้อประชาชนถดถอย และหนี้ครัวเรือนพุ่งทำสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยกู้ซื้อรถ
อีกกรณีที่กำลังจะกลายเป็นโดมิโนหรือไม่ ก็คือ การทยอยปิดตัวของบริษัทห้างร้านโรงงานที่ไม่มีออเดอร์เข้ามา และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ประเทศไทยก้าวไปไม่ทัน หรือมีค่าแรงขั้นต่ำแพงกว่าคู่แข่งขัน ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับบริษัท ซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 1,800 คน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และหากออเดอร์ลดลงอีกก็อาจย้ายฐานส่วนหนึ่งไปเวียดนามที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าแทน
บริษัท ซัมซุงฯประกอบกิจการผลิตฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ มีลูกจ้าง พนักงานประมาณ 2,500 คน แต่ช่วงเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา บริษัทประสบปัญหาคำสั่งซื้อชะลอตัว เนื่องจากฮาร์ด ดีสก์ ไดรฟ์ ได้รับความนิยมลดลง ทำให้ต้องปรับลดพนักงานลง พลอยทำให้ธุรกิจต่อเนื่องที่เกิดขึ้นมารองรับทั้งร้านค้า ห้องเช่า หอพัก ซบเซาไปตามๆ กัน
ไม่แต่เฉพาะซัมซุงเท่านั้น โรงงานในจังหวัดนครราชสีมาที่มีอยู่กว่าสองพันแห่งเริ่มทยอยปิดตัวลง โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ในเดือนมิถุนายน 2558 มีโรงงานอุตสาหกรรมเลิกกิจการไปแล้วประมาณ 20 แห่ง สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ไม่มีคำสั่งซื้อสินค้า อีกทั้งปัญหาค่าเเรงของไทยที่เเพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะเดียวกัน โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมก็เริ่มเห็นการปรับลดพนักงานลงแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ดูแลรับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีอยู่ 5,000 โรงงาน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงตอนนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 3 โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือที่ลดจำนวนพนักงานลง คิดเป็นจำนวนรวมกันราว 800-1,000 คน เหตุผลที่ลดจำนวนพนักงานลงมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้โรงงานต้องปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าบางรายการ เช่น ฮาร์ดดิสก์ให้ตอบสนองต่อตลาดที่มีการใช้แท็บเล็ตเพิ่มขึ้น
วิกฤตเศรษฐกิจของไทยรอบนี้จึงไม่ใช่แค่เปลือกผิวนอกเท่านั้น แต่มีปัญหาลึกลงไปถึงระดับโครงสร้างด้วย โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้เดินมาถึงทางตัน เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ขณะที่ค่าแรงของไทยเพิ่มขึ้น จึงมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่ค่าแรงต่ำกว่า มีสิทธิพิเศษดึง นัก ลงทุนที่จูงใจกว่า
"ติ่งคสช." โปรดส่งใจช่วย "บิ๊กตู่" ล้างอาถรรพ์ รัฐบาลทหารมักตกม้าตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจ