xs
xsm
sm
md
lg

ซัมซุงเลิกจ้าง คนตกงาน-ค่าแรง 300 บาทคือจำเลย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แบงก์สีแดงในมือของเขายื่นส่งไป ก่อนได้รับคืนกลับมาเป็นแบงก์สีเขียว 2 ใบ และเหรียญที่มีมูลค่าห้าบาทหนึ่งเหรียญ เดินออกจากร้านข้าว เขานึกถึงค่าใช้จ่าย อื่นๆ ทั้งรายจ่ายประจำวัน-เดือน ค่ารถ ค่าบัตรเติมเงินที่นานๆ เติมที ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าจิปาถะต่างๆ ฯลฯ ช่างมากมายจนเขาไม่อยากจะนึกถึงมัน และเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำที่เขาได้รับนั้นก็แทบจะไม่อนุญาติให้เขาใช้ชีวิต “ปกติ” ได้ในเมืองนี้ และ 300 บาท นั้น คือค่าแรงขั้นต่ำในประเทศนี้! ในประเทศที่แต่ละปีมีอัตราเงินเฟ้อเติบโตเร็วกว่ารายได้ของผู้คนสามัญที่เดินตามท้องถนนอย่างเทียบไม่ติด ประกอบกับก่อนหน้าที่กระทรวงแรงงานได้มีมติยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และหันมากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่แทน ยิ่งทำให้เขากังวลไปกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเปลี่ยนไป ว่าจะมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าเดิม! นี่อาจเป็นหนึ่งตัวอย่างชีวิตของผู้คนปกติในสังคมที่ต้องดำรงชีพอยู่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในยุคนี้ ไม่ต่างไปจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่แสดงถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศ

ล่าสุด บ.ซัมซุง ที่จังหวัดนครราชสีมาปิดตัวลง ปลดพนักงานกว่า 1,400 คน กลายเป็นพาดหัวและประเด็นเล่นงานรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนหนึ่งพูดกันว่าเพราะเจอพิษกับการแบกภาระของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไม่ไหว และรัฐบาลก็ให้ข้อมูลเช่นนั้น แต่เมื่อเราลองมองลงไปให้ลึกกว่า กว้างกว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำนี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่แท้จริง และเมื่อมองอย่างรอบด้านการเลิกจ้างครั้งนี้สะท้อนถึงปัญหาในหลายแง่มุม ทั้งยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงในพื้นที่โดยตรงเช่นกัน

คนแห่ขึ้นทะเบียนว่างงาน หลังซัมซุงเลิกจ้าง!
บรรยากาศหน้าหอพัก และร้านรวงต่างๆ ด้านหน้าบริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จังหวัดนครราชสีมา จำกัด ภายหลังเลิกจ้างพนักงานเกือบ 2,000 คน เพราะพิษเศรษฐกิจ เป็นไปด้วยความเงียบเหงา ความคึกคักที่เคยมีหายไป ภาพพนักงานโรงงานออกมาจับจ่ายซื้อของกันอย่างคึกคักกลายเป็นอดีต ป้ายข้อความหน้าหอพักที่เคยเต็มไปด้วยผู้พักอาศัย วันนี้กลับต้องติดประกาศว่า “มีห้องว่างให้เช่า” พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกันแทบทุกหอพัก

โดยเจ้าของหอพักรายหนึ่งหน้าบริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีพนักงานบริษัทซัมซุงมาเช่าอยู่เต็มตลอด แต่ภายหลังจากที่มีการเลิกจ้างพนักงาน มีผู้เช่ามาขอเลิกเช่าห้องและย้ายออกไปแล้วเกินกว่า 10 ห้อง ภายในระยะเวลาแค่สัปดาห์เดียว! จากทั้งหมด 25 ห้อง และยังคงทยอยออกไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งที่มีค่าเช่าต่อเดือนไม่ถึง 2,000 บาท “หากผู้เช่าทยอยย้ายออกไปทั้งหมดก็จะทำให้สูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก และก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป” เจ้าของหอพักกล่าว

เช่นเดียวกับร้านอาหารหน้าบริษัทซัมซุงฯ ที่มีอยู่ประมาณ 10 ร้าน ต้องปิดกิจการเกือบทั้งหมดและประกาศให้เช่าร้านต่อ เพราะลูกค้าลดลงจนไม่สามารถอยู่ได้ เหลือเพียงร้านอาหารอีสานร้านเดียวเท่านั้นที่ยังเปิดขายอยู่ โดยนางสมบัติ หมวดใหม่ เจ้าของร้านเพียงหนึ่งเดียวที่ยังเปิดขายอยู่ ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่บริษัทซัมซุงฯ ได้เลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก เดิมทีพนักงานเหล่านี้ถือเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของร้าน จึงทำให้ร้านเงียบเหงาลงไปมาก จากเดิมช่วงเย็นหลังเลิกงาน จะมีพนักงานมานั่งจนเต็มทั้ง 12 โต๊ะ ปัจจุบันหายไปเกือบหมด เหลือลูกค้าอยู่เพียง 3-4 โต๊ะ ซึ่งล้วนมาจากบริษัทใกล้เคียงในละแวกนี้ จึงทำให้ร้านอาหารที่ตั้งเรียงรายอยู่หน้าบริษัทซัมซุงฯ ประมาณ 10 ร้าน ต้องปิดกิจการเกือบทั้งหมดและประกาศให้เช่าร้านต่อ เพราะอยู่ไม่ได้

ด้านที่สำนักงานจัดหางาน จังหวัดนครราชสีมา พนักงานซัมซุงกว่า 300 คนแห่ขึ้นทะเบียนว่างงานภายในวันเดียว โดยเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดเตรียมสถานที่และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งคอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มายื่นแบบฟอร์มรายงานตัวเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานจาก บริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ภายหลังจากที่บริษัทได้มีการประกาศปิดกิจการ และเริ่มมีการทยอยเลิกจ้างพนักงาน ด้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างอดีตพนักงานของบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ที่มาขึ้นทะเบียนว่างงานในครั้งนี้ ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานมียอดการสั่งผลิตลดลงเกือบทั้งหมด ทำให้ทางผู้บริหารโรงงานประกาศปิดกิจการ และมีการลดจำนวนพนักงานลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยตนทำงานที่โรงงานแห่งนี้มานานกว่า 8 ปีแล้ว มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ดังนั้นเมื่อถูกเลิกจ้าง หลังจากนี้คงจะต้องไปหาสมัครงานกับบริษัทอื่นๆ ต่อไป และเหล่านี่คือตัวอย่างของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงภายหลังจากการเลิกจ้างของบริษัทซัมซุงในครั้งนี้ !

เศรษฐกิจโลกถดถอย หรือเศรษฐกิจไทยย่ำแย่
ข่าวบริษัท ซัมซุงในโคราชปิดกิจการ สร้างเสียงสะท้อนจากหล่ายฝ่ายถึงมูลเหตุแท้จริงของการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในครั้งนี้ หลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่ามูลเหตุของการปิดตัวลงของบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ว่า เป็นเพราะไม่สามารถแบกรับภาวะต้นทุนด้านแรงงาน กับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทได้ เนื่องจากเมื่อหันไปมองยังประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทยแล้ว ล้วนมีต้นทุนทางด้านแรงงานที่ถูกกว่า แต่มีบางฝ่ายที่ออกมาแย้ง ด้วยข้อมูลอีกชุดว่าเหตุผลหลักนั้นน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมถึงนโยบายการถอนตัวออกจากธุรกิจ ผลิตฮาร์ดดิสก์ HDD ไปเป็น SSD หรือ Solid-state Drive อันเป็นเทคโนโลยีที่มาแทนที่ HDD ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการที่ลดน้อยลงมาก และเมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่า ไม่ใช่เพียงโรงงานแห่งนี้เท่านั้น หากก่อนหน้านี้ยังมีหลายโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กภายใน จ.นครราชสีมา หลายแห่งได้ปิดกิจการไปก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การส่งออกลดลง รวมถึงมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ นายวิทยา โยธารินทร์ รองประธานชมรมบริหารแรงงานและพัฒนาอุตสาหกรรม จังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวถึงกรณีโรงงานของบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด ปิดกิจการ โดยเปิดเผยข้อมูลกับเราว่า “ตนมองว่า สาเหตุหลักนั้นน่าจะเกิดจากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ประเทศลาว พม่าและที่สำคัญคือเวียดนาม นั้นมีค่าแรงถูกกว่าของไทย โดยนับจากไทยได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาเป็น 300 บาท ได้ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านกันมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งเราคงต้องยอมรับว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างแน่นอน และการปิดโรงงานซัมซุงครั้งนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ หากมองในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจมีผลดีต่อตลาดแรงงาน เพราะจะทำให้ตลาดแรงงานมีโอกาสเลือกคนเพิ่มมากขึ้น”

ทั้งนี้ บริษัทซัมซุง ได้ย้ายสายการผลิตโทรทัศน์ ไปยังเวียดนาม และอินโดนีเซีย เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้แรงงานในการประกอบสูง ส่วนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ทักษะฝีมือแรงงาน ยังคงรักษาฐานการผลิตไว้ในไทย ซึ่งเมื่อดูไปถึงบริษัทแม่ คือบริษัทซัมซุงในเกาหลีใต้ พบว่าในปี 2015 ได้มีการประกาศแช่แข็งค่าแรงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี! อันเนื่องมาจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ มีกำไรลดลง เพราะเสียส่วนแบ่งทางการตลาดโดยในตลาดบนถูกแอปเปิลแบ่งไปมากขึ้น ส่วนในตลาดล่างก็เสียส่วนแบ่งให้กับค่ายมือถือจากประเทศจีน ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวมการเลิกจ้างของซัมซุงในไทยครั้งนี้ อาจสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกและของไทยเอง อันเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการวิเคราะห์ของนักวิชาการหลายท่าน

โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เปิดเผยข้อมูลและวิเคราะห์เหตุการณ์ครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไม่ว่า บ.ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จะปิดกิจการหรือเป็นแค่การเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนตัวเชื่อว่า เป็นคนละเรื่องกับการย้ายแผนหรือย้ายฐานการผลิต เพราะเมื่อดูแล้วพบว่าออเดอร์สั่งสินค้าลดน้อยลงมาก อันเป็นผลมาจากตลาดเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยมากกว่า นอกจากนั้นเงื่อนไขระบอบการเมืองภายในไทยและการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลก็มีผลเช่นกัน ที่ส่วนมากพูดกันว่าเป็นเพราะค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ตนมองว่าไม่ใช่ปัจจัยหลักที่นำไปสู่การปิดกิจการหรือเลิกจ้างอย่างแน่นอน”

และเมื่อเรามองถึงปัจจัยอื่นรอบด้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิด AEC ก็มีส่วนเช่นกัน เพราะจากเดิมไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความต้องการในสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงมาก บริษัทต่างๆ จึงเลือกมาเปิดฐานการผลิตที่ไทย เนื่องจากจะได้ไม่ต้องเสียภาษี แต่ภายหลังการเปิด AEC อัตราภาษีนำเข้าส่งออกจะลดลงอย่างมาก หลายบริษัทจึงเลือกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า รวมถึงกฎระเบียบที่เอื้อต่อทุนต่างชาติมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องยอมรับเช่นกัน

“หลายคนมองว่าเป็นเพราะค่าแรงไทยแพงกว่า แน่นอนอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่อยากให้ดูว่า เมื่อมองจากค่าครองชีพของไทยแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำนั้นแทบจะไม่พอกับการครองชีพอย่างมีคุณภาพเสียด้วยซ้ำ” ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าว อันสอดคล้องกับที่ผู้บริหารของ บ.แอลจี ท่านหนึ่ง ที่ได้เคยให้ทรรศนะไว้ว่า เอาจริงๆ แล้ว แม้ค่าแรงไทยจะแพงกว่าเพื่อนบ้านก็จริง แต่สุดท้ายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ช่องว่างด้านค่าแรงของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ก็จะแทบไม่ต่างกันเลย

ค่าแรง 300 อาจเป็นเพียงจำเลยรับบาป?
ในภาวะค่าครองชีพของไทยในปัจจุบันที่เงิน 100 บาท ไม่สามารถกินข้าวได้สามมื้อ การมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 เป็นสาเหตุหลักของการเลิกจ้างในครั้งนี้จึงเป็นส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ใช่ปัจจัยหลัก โดยล่าสุดกระทรวงแรงงาน ได้ยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยจะเริ่มในปี 2559 แล้วหันมากำหนดตามอัตราค่าครองชีพ ตามความเหมาะสมของอัตราในแต่ละพื้นที่แทน ซึ่งอาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 300 บาท ตามความเหมาะสม กรรมการบอร์ดค่าจ้างพิจารณาแต่ละจังหวัดนำเข้าประชุมใหญ่ตุลาคมนี้ โดยคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ยังคงมีมติกำหนดให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วทั้งประเทศไปจนถึงสิ้นปี 2558

โดยนักวิชาการ จากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้ว่า “จริงๆ แล้ว ปัจจัยสำคัญของแรงงาน คือ การย้ายฐานเพื่อเพิ่มกำลังผลิตมากกว่า เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยปัจจุบันนั้นมีกำลังการผลิตที่น้อยเกินกว่าที่บริษัทต่างชาติต้องการ เพราะอย่าลืมว่าบัณฑิตประเทศนี้ก้าวไปไกลเกินกว่าจะรับได้กับงานที่ค่าแรงขั้นต่ำ 300 แล้ว จำนวนคนที่จะรับได้กับการมาทำงานจำพวกนี้จึงมีน้อยลงไปทุกวัน ดังนั้น หากยิ่งไม่มีการประกันค่าแรง หลายบริษัทจะยิ่งลดค่าจ้างขั้นต่ำลงไปน้อยกว่า 300 บาท ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานเข้าไปอีก เพราะแม้ปัจจุบัน ในภาพความจริงนั้นกำลังคนที่จะใช้ในการผลิตก็แทบจะไม่เพียงพออยู่แล้ว”

เมื่อมองไปถึงอัตราเงินเดือนที่พนักงาน บ.ซัมซุง ซึ่งถูกเลิกจ้างได้รับ ก็พบว่าพนักงานที่ถูก บ.ซัมซุง เลิกจ้างส่วนใหญ่ ก็ล้วนมีรายได้เกินค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มานานแล้วทั้งสิ้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ และอีกประเด็นหนึ่งที่มักไม่พูดถึงกันนั่นก็คือ การที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น แต่การเก็บภาษีนิติบุคคลนั้นก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้นหลายฝ่ายจึงมองว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นส่งผลต่อธุรกิจขนาดเล็กๆ หรือ sme มากกว่าที่จะส่งผลต่อโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และแม้ค่าแรงจะคิดเป็นต้นทุนไม่เกิน 25 % ของธุรกิจโรงงานทั่วไป แต่การแข่งขันในด้านความถูกของแรงงานนั้นไม่ใช่วิสัยทัศน์ที่เหมาะสมเป็นแน่ เพราะค่าจ้างที่ถูก ย่อมเป็นการกีดกันและส่งผลให้แรงงานฝีมือเลือกออกไปทำงานยังต่างประเทศที่มีค่าแรงแพงกว่ามากขึ้น เรื่องค่าแรง 300 จึงอาจเป็นเพียงจำเลยรับบาปของทุกเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน

“สมมติผมไม่มีทางเลือกจริงๆ โอกาสการศึกษาก็สู้เขาไม่ได้ เส้นก็ไม่มี จบ ป.6 มา แล้วถ้าเข้าโรงงานได้ค่าแรง 200 ผมคงเลือกไปควงกะขับแท็กซี่มากกว่า ตรงนี้ ต้องถามว่า ผู้บริหารเศรษฐกิจไทยที่ดีกว่า ฉลาดกว่า ประเสริฐกว่าชาวบ้านเขาเนี่ย เขามองเห็นและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานไทยแบบนี้หรือยัง? หรือเอาแต่โทษค่าแรง 300 อย่างเดียว” บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้ข้อมูลปิดท้ายอย่างกระแทกใจ

แน่นอนว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ไม่ใช่จำนวนเงินที่มากเลย เมื่อเทียบกับภาวะค่าครองชีพในทุกวันนี้ การดำรงชีพด้วยเงิน 300 บาทอย่างมีคุณภาพเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ แน่นอนมันอนุญาตให้คุณใช้ชีวิตอย่างประทังชีวิตไปวันๆ ก็เท่านั้น

การกล่าวโทษแต่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จึงอาจไม่ต่างไปจาก hate speech ของสังคมไทย ในทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและแรงงานเช่นที่ผ่านมา...




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น