xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานค้าน “ระบบค่าจ้างลอยตัว” ชี้ไร้อำนาจต่อรอง-ย้อนยุคสมัยไร้ 300 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แรงงานค้านสุดตัว “ระบบค่าจ้างลอยตัว” ชี้ย้อนกลับไปเหมือนสมัยไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ลูกจ้างไร้อำนาจต่อรองค่าจ้างในคณะอนุฯจังหวัด เหตุไม่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ยันคงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ปรับตามค่าครองชีพแต่ละจังหวัด ฝีมือและอายุการทำงาน

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการศึกษาวิจัยความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้ระบบค่าจ้างแบบลอยตัวทั่วประเทศ ในการปรับโครงสร้างค่าจ้างปี 2559 หลังคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติให้กลับไปใช้วิธีกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม คือ การกำหนดตามพื้นที่จังหวัด ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะเป็นการกลับไปสู่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม แม้ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงานจะบอกว่าแม้จะใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำแบบลอยตัว แต่ยังการันตีว่าทุกอาชีพยังได้ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย 300 บาท ก็ตาม เพราะที่สุดแล้วเมื่อการกำหนดค่าจ้างอำนาจไปอยู่ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ลูกจ้างแต่ละอาชีพก็ไม่มีสิทธิต่อรองค่าจ้างให้แก่ตนเองอยู่ดี เพราะลูกจ้างไม่มีความรู้  ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ รวมไปถึงเรื่องกฎหมาย เพื่อเจรจาต่อรองค่าจ้างให้แก่ตนเอง

“ค่าจ้างแบบลอยตัวพวกเราไม่เห็นด้วยเด็ดขาด เพราะลูกจ้างไม่มีอำนาจในการต่อรองค่าจ้าง บางอาชีพถ้ามีอำนาจต่อรองก็ดีไป แต่บางอาชีพไม่มีเขาก็เสียประโยชน์ นั่นเป็นเพราะแต่ละจังหวัดไม่ได้มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่จะช่วยเรียกร้องค่าจ้างที่เหมาะสมของแต่ละอาชีพได้ ประกอบกับในคณะอนุฯก็มีตัวแทนจากกลุ่มนายจ้างเข้ามาด้วย หากจะใช้ระบบนี้ก็จำเป็นต้องมีการสนับสนุนในการให้ความรู้แรงงานในการเข้าไปต่อรองเจรจาเสียก่อน”

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวและว่า คสรท. ขอยืนยันในข้อเสนอเรื่องค่าจ้าง 2 ข้อ คือ ให้คงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเอาไว้ แต่ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด และให้พิจารณาโครงสร้างค่าจ้างด้วยอายุการทำงานและฝีมือในการทำงาน เพราะผู้ที่มีฝีมือในการทำงานมาก มีประสบการณ์มากก็ไม่ควรได้ค่าแรงเท่ากัน ตรงนี้ก็ควรนำมาพิจารณาด้วย
 
 
ติดตาม  Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น