ส.อ.ท.หนุนนโยบายกระทรวงแรงงานยกเลิกประชานิยมค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศยุค “ยิ่งลักษณ์” กลับมาใช้แนวทางเดิมให้แต่ละจังหวัดพิจารณายึดเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ และความสามารถการจ่ายของผู้ประกอบการ โดยยังคงยึดฐานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน คาดสรุปปลาย ต.ค.เพื่อประกาศใช้ 1 ม.ค. 59 ขณะที่กระทรวงแรงงานย้ำไม่ได้เลิก 300 บาท/วัน
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนสนับสนุนแนวนโยบายของกระทรวงแรงงานที่ล่าสุดได้ประกาศยกเลิกนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบประชานิยมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ได้กำหนดอัตราแบบเท่ากันทั่วประเทศและกำหนดขั้นต่ำไว้เท่ากันที่ระดับ 300 บาทต่อวัน ด้วยการเตรียมพิจารณากลับไปใช้ระบบเดิมที่ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดและความสามารถของผู้ประกอบการในจังหวัดนั้นๆ โดยอัตราค่าจ้างใหม่จะมีการพิจารณาประกาศอย่างเป็นทางการปลาย ต.ค.นี้ และมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 59
“ที่หารือกับเอกชนกระทรวงแรงงานไม่ได้เลิก 300 บาทต่อวัน โดยฐานนี้จะยังคงอยู่แต่จะไม่ใช้วิธีพิจารณาจากส่วนกลางแล้วกำหนดให้เท่ากันทั่วประเทศ จากนี้ขั้นตอนคือให้แต่ละจังหวัดไปพิจารณามาแล้วมาเข้าคณะกรรมการไตรภาคีส่วนกลางโดยกระทรวงแรงงานก็จะประกาศ” นายวัลลภกล่าว
นอกจากนี้ ทางคณะทำงานของกระทรวงแรงงานยังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่าจะเป็นแบบลอยตัวหรือไม่ โดยแนวทางลอยตัวอาจเริ่มต้นที่ 300 บาทต่อวัน ซึ่งการศึกษาคาดว่าคงจะไม่สามารถสรุปได้ทันปลายเดือน ต.ค.นี้ ดังนั้นการใช้รูปแบบพิจารณาค่าแรงแบบเดิมคงจะมีโอกาสสูงกว่า
นายอารักษ์ พรหมมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ยืนยันไม่มีการยกเลิกการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแน่นอน ส่วนในปี 59 ค่าจ้างขั้นต่ำจะคงใช้ฐาน 300 บาทเป็นเกณฑ์ ไม่มีต่ำกว่านี้ ส่วนแต่ละจังหวัดจะเป็นอัตราเท่าไหร่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ขณะที่การกำหนดอัตราค่าจ้างลอยตัวนั้นยังอยู่ระหว่างศึกษา และยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หากบอร์ดคณะกรรมการค่าจ้างให้ยกเลิกค่าจ้าง 300 บาทเปลี่ยนมาใช้การลอยตัวค่าจ้างแรงงานจะเกิดปัญหาและสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอย่างแน่นอน เพราะแต่ละภาค แต่ละจังหวัดยังไม่มีสหภาพแรงงาน จึงไม่มีอำนาจต่อรองค่าแรงในอัตราที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ได้ ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะออกมาคัดค้านเรื่องนี้แน่นอน โดยจะเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติดังกล่าว