xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯเบรกขึ้นค่าแรง-ส.อ.ท.หนุนเลิกประชานิยมคิดรายจังหวัดคงขั้นต่ำ300บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ประยุทธ์" เบรกขึ้นค่าแรง ระบุ 300 บาท ก็เป็นอุปสรรคนักลงทุนแล้ว ยังทำให้ต่างด้าวเข้าประเทศเยอะ ส.อ.ท.หนุนนโยบายกระทรวงแรงงานยกเลิกประชานิยมค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศยุค"ยิ่งลักษณ์" กลับมาใช้แนวทางเดิมให้แต่ละจังหวัดพิจารณายึดเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆและความสามารถการจ่ายของผู้ประกอบการโดยยังคงยึดฐานเริ่มต้นขั้นต่ำ 300 บ./วัน คาดสรุปปลายต.ค.เพื่อประกาศใช้ 1 ม.ค.59 ขณะที่ก.แรงงานย้ำไม่ได้เลิก 300บ./วัน ขณะที่ "ประยุทธ์" เบรกขึ้นค่าแรง ระบุ 300 บาท ก็เป็นอุปสรรคนักลงทุนแล้ว ยังทำให้ต่างด้าวเข้าประเทศมามาก "ก.แรงงาน"ปี 59 ไม่ยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่ให้อนุฯจังหวัดทำข้อเสนอค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละอาชีพ พิจารณาจากค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ แต่ไม่ต่ำกว่า 300 บาท ส่วนระบบค่าจ้างลอยตัวแค่ศึกษาความเป็นไปได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการค่าจ้างเตรียมพิจารณาโครงสร้างค่าจ้างใหม่ว่า ตอนนี้หาเงินจากตรงไหนได้ที่จะมาขึ้นค่าแรง ขอถามซิ เรียกร้องอะไรกันมาบ้าง ค่าแรง ค่ารักษาพยาบาล การศึกษา แล้วรายได้เรามีหรือไม่ มีเพิ่มขึ้นหรือยัง เราต้องให้เวลาในการสร้างความเข้มแข็งตรงนี้ก่อน ตนบอกแล้วว่า ใครอยากจะขึ้นค่าแรงต้องไปที่กระทรวงแรงงาน ในการไปทดสอบเรียนรู้ที่จะได้ค่าแรงตามคุณวุฒิ ถ้าค่าแรงเหมาจ่ายทั้งหมดมันไปกันไม่ได้ เพราะ 1. ไม่มีเงิน 2. ไม่มีใครเขาจ้าง แล้วจะทำอย่างไร ตอนนี้ค่าแรง 300 บาท ส่วนใหญ่ใครเป็นคนได้ แรงงานต่างด้าวใช่หรือไม่ ถ้าขึ้นมาต้องขึ้นให้เขาด้วยหรือไม่ หรือไม่ต้องขึ้น ขึ้นแค่คนไทยอย่างเดียว รู้หรือไม่ว่าเป็นอย่างไร ต้องขึ้นทั้งประเทศ เท่ากับว่าเราให้คนต่างชาติเยอะแล้ว เขาจะมามากขึ้น เพราะคนไทยไม่ทำ อีกทั้งเขาจะเข้ามาประเทศไทย เพราะค่างแรงขั้นต่ำที่บ้านเขาอยู่ที่เพียง 100-150 บาท ไม่เกิน 200 บาท คิดแบบที่ตนคิดบ้าง ถ้ารวยเท่าไหร่ ตนก็ให้ได้ แต่อย่าปลุกระดมออกมา มันจนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแรงงาน จะเอาอะไรกันนักหนา ก็รู้อยู่ว่าเรากำลังสร้างความเข้มแข็ง กำลังให้คนเข้ามาลงทุน แค่ 300 บาท ก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว ที่เขาจะไม่ลงทุน ซึ่งเรื่องนี้ ไม่ใช่ความผิดของตน หรือของใคร แต่ไปถามซิว่า ใครทำมา มันควรจะมาทีละขั้นตอนหรือไม่ แต่ถ้าจะก้าวกระโดดขึ้นไปอีก ตนให้ไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน

ส.อ.ท.หนุนคิดค่าแรงรายจังหวัด เริ่มต้น300บ./วันเลิกประชานิยม

นายวัลลภวิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวภาคเอกชนสนับสนุนแนวนโยบายของกระทรวงแรงงาน ที่ล่าสุดได้ประกาศยกเลิกนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบประชานิยมของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้กำหนดอัตราแบบเท่ากันทั่วประเทศและกำหนดขั้นต่ำไว้เท่ากันที่ ระดับ 300 บาทอต่อวัน ด้วยการเตรียมพิจารณากลับไปใช้ระบบเดิมที่ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดและความสามารถของผู้ประกอบการในจังหวัดนั้นๆ โดยอัตราค่าจ้างใหม่จะมีการพิจารณาประกาศอย่างเป็นทางการปลายต.ค.นี้และมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.59

" ที่หารือกับเอกชนกระทรวงแรงงานไม่ได้เลิก 300 บาทต่อวัน โดยฐานนี้จะยังคงอยู่แต่จะไม่ใช้วิธีพิจารณาจากส่วนกลางแล้วกำหนดให้เท่ากันทั่วประเทศ จากนี้ขั้นตอนคือให้แต่ละจังหวัดไปพิจารณามาแล้วมาเข้าคณะกรรมการไตรภาคีส่วนกลางโดยกระทรวงแรงงานก็จะประกาศ "นายวัลลภกล่าว

นอกจากนี้ทางคณะทำงานของกระทรวงแรงงานยังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่าจะเป็นแบบลอยตัวหรือไม่โดยแนวทางลอยตัวอาจเริ่มต้นที่ 300 บาทต่อวัน ซึ่งการศึกษาคาดว่าคงจะไม่สามารถสรุปได้ทันปลายเดือนต.ค.นี้ดังนั้นการใช้รูปแบบพิจารณาค่าแรงแบบเดิมคงจะมีโอกาสสูงกว่า

นายอารักษ์ พรหมมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ยืนยันไม่มีการยกเลิกการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแน่นอน ส่วนในปี 59 ค่าจ้างขั้นต่ำจะคงใช้ฐาน 300 บาทเป็นเกณฑ์ ไม่มีต่ำกว่านี้ ส่วนแต่ละจังหวัดจะเป็นอัตราเท่าไหร่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ขณะที่การกำหนดอัตราค่าจ้างลอยตัวนั้นยังอยู่ระหว่างศึกษา และยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด

นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หากบอร์ดคณะกรรมการค่าจ้างให้ยกเลิกค่าจ้าง 300 บาทเปลี่ยนมาใช้การลอยตัวค่าจ้างแรงงานว่า จะเกิดปัญหาและสร้างผลกระทบกับผู้ใช้แรงงานอย่างแน่นอน เพราะแต่ละภาค แต่ละจังหวัดยังไม่มีสหภาพแรงงาน จึงไม่มีอำนาจต่อรองค่าแรงในอัตราที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ได้ ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะออกมาคัดค้านเรื่องนี้แน่นอน โดยจะเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติดังกล่าว

ให้อนุฯจังหวัดทำข้อเสนอค่าจ้างขั้นต่ำ

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ไม่เคยมีมติยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแต่อย่างใด ยังคงใช้ฐาน 300 บาทต่อวันเป็นเกณฑ์ ไม่มีน้อยกว่านี้ ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะใช้ในปี 2559 จะเป็นอย่างไรนั้น บอร์ดค่าจ้างได้ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัด ซึ่งมีโครงสร้างมาจากไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเสนอเข้ามายังบอร์ดค่าจ้างพิจารณา ซึ่งจะได้ข้อสรุปประมาณปลาย ต.ค.นี้ โดยข้อเสนอของคณะอนุฯจะให้พิจารณาจากข้อมูล ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเมื่อเสนอเข้ามาแล้วจะมีคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัจจัยต่างๆ ก่อนเสนอบอร์ดค่าจ้างพิจารณา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแต่ละจังหวัดจะมีข้อเสนอซึ่งมีองค์ประกอบค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่บางจังหวัดก็อาจมีข้อเสนอเพิ่มเติมแตกต่างมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่อำนาจคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดที่จะพิจารณาปรับได้ตามอำเภอใจ ส่วนระบบค่าจ้างแบบลอยตัวนั้นเป็นเพียงการศึกษาข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร แต่บอร์ดค่าจ้างยังไม่มีมติที่จะนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น