กระทรวงแรงงาน ให้ อนุฯค่าจ้างจังหวัดกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมติบอร์ดค่าจ้าง ทั่วประเทศมีขั้นต่ำไม่เท่ากัน ให้กำหนดตามความเหมาะสมสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ก่อนนำเข้าพิจารณาในบอร์ด ต.ค. นี้ ไม่ฟันธงปี 59 เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ เผยเร่งศึกษาระบบค่าจ้างแบบลอยตัว
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการสัมมนากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 และกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน ว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ยังคงมีมติกำหนดให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วทั้งประเทศ ไปจนถึงสิ้นปี 2558 ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 ยังไม่มีการพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่มติบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2557 ให้ปรับวิธีกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้แบบเดิมคือ การกำหนดตามพื้นที่จังหวัด โดยจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยต้องคำนึงถึงค่าครองชีพแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้กระทรวงกำลังดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้ระบบค่าจ้างแบบลอยตัวทั่วประเทศ โดยการศึกษาเปรียบเทียบค่าจ้างลอยตัว และวิเคราะห์แนวทางการกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับใช้กับประเทศไทย ทั้งนี้ ระบบค่าจ้างแบบลอยตัวจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยทุกอาชีพแรงงานจะได้รับการการันตีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่บางอาชีพที่ใช้ฝีมือมาก ก็อาจมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับค่าแรงและสภาพเศรษฐกิจในท้องที่ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามค่าครองชีพ
“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการจ้างงาน สร้างความเป็นอยู่ที่ดี และลดความแตกต่างด้านรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ยังมีผลต่อสภาพการจ้างงานในตลาดแรงงานด้วย ดังนั้น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันปรับยุทธศาสตร์ของหน่วยงานให้เข้ากับสถานการณ์ และให้ความสำคัญกับผลิตภาพแรงงานมากขึ้น อีกทั้งในอนาคตของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมองหาแรงงานที่มีคุณภาพรองรับโครงสร้างการผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น ส่วนฝ่ายลูกจ้าง จะต้องมองถึงการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ที่เป็นตัวกำหนดค่าจ้างและรายได้ตามความสามารถที่แตกต่างกัน การที่แรงงานมีผลิตภาพสูงย่อมมีโอกาสจะได้ค่าจ้างและรายได้สูงกว่าแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำกว่า” นายนคร กล่าว
นายนคร กล่าวว่า ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราค่าจ้างปี 2559 นั้น จึงได้ให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดไปศึกษาและส่งค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดมา ซึ่งจะนำเข้ามาพิจารณาในการประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งใหญ่ใน ต.ค. นี้ โดยการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้ทุกจังหวัดได้รับทราบถึงแนวทางและข้อเสนอแนะถึงค่าจ้างทุกจังหวัดควรเป็นเช่นไร ซึ่งการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีความสำคัญอย่างมาก หากกำหนดสูงเกินไปก็จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจต่อการลงทุน และอาจทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อได้ แต่หากกำหนดอัตราค่าจ้างต่ำเกินไปก็จะไม่มีหลักประกันค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงาน สำหรับในปี 2559 จะวางแนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นมาตรฐานและสามารถที่จะใช้ในปีต่อไปได้ อีกทั้งการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่เป็นปรับขึ้นในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่และเป็นธรรม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่