xs
xsm
sm
md
lg

คสรท. ลั่นปี59ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำ โวยค่าครองชีพพุ่งไม่เกี่ยวขึ้นค่าจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึง กรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติคงค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไปจนถึงปลายปี 2558 โดยเสนอการปรับรูปแบบค่าจ้าง 5 รูปแบบ เพื่อพิจารณาในเดือนพ.ค.นี้ ว่า หากจะมัดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทไปจนถึงปลายปี 2558 ซึ่งถือเป็นเวลา 3 ปี ที่ไม่มีการปรับค่าจ้างเลยนั้น มองว่าในปี 2559 จะต้องมีการปรับ แต่จะปรับในรูปแบบไหนนั้น ก็ต้องมาพิจารณาพูดคุยกัน ไม่ใช่ไม่ฟังเหตุผลของลูกจ้างเลย เพราะที่ผ่านมาค่าครองชีพสูงขึ้นมาก แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับเท่าเดิม ทั้งที่สถานประกอบการหลายแห่ง มีศักยภาพในการขึ้นค่าแรงได้
ทั้งนี้ ช่วง พ.ค.-ต.ค. 58 จะต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ในการขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. ค่าแรงขั้นต่ำแรกเข้า ซึ่งจะต้องเหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และ 2. โครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของอายุการทำงาน และฝีมือการทำงานด้วย เพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสมองว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้นตามไปด้วยอีก น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ขอร้องว่าอย่าโยนความผิดให้ลูกจ้าง หรือคนงาน ขอให้ดูข้อมูลย้อนหลังว่า ช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ที่คงค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทนั้น มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าแก๊สต่างๆ ล้วนเพิ่มขึ้นหมด ทั้งที่ลูกจ้างยังได้ค่าแรงเท่าเดิม พอจะมาปรับค่าจ้าง ก็กลายเป็นว่าเราเป็นจำเลยของสังคม ที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ทั้งที่จริงไม่ใช่ เพราะไม่ปรับค่าจ้าง แต่ค่าครองชีพก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นอยู่ดี
ข้อเท็จจริงคือ ต้องมามองว่าอะไรแพงขึ้น ทั้งที่ค่าจ้างเท่าเดิม นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการ ไม่ใช่ความผิดลูกจ้างที่เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำแล้วข้าวของแพงขึ้น รัฐต้องมีประสิทธิภาพจัดการเรื่องเหล่านี้ เพราะหากไม่ขึ้นค่าจ้างเลย ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ ต้องปรับให้เหมาะสมและเป็นธรรม นอกจากนี้ การที่ลูกจ้างได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ทำให้มีกำลังซื้อ หรือจับจ่ายใช้สอยก็จะกลายเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางด้วย

"ยอมรับว่า การขึ้นค่าแรงอาจทำให้มีผลกระทบบ้างกับสถานประกอบการ ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่อยากให้สถานประกอบการทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม เราไม่ได้บีบคอว่าจะต้องขึ้นค่าจ้างเลย แต่อย่างน้อยมาพูดคุย พิจารณาร่วมกัน ว่าขึ้นค่าจ้างอย่างไรถึงจะเหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม พวกเราก็มองตามความเป็นจริงของสถานประกอบการด้วย อย่างธุรกิจเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถขึ้นค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ อย่างน้อยก็ควรมีสวัสดิการอย่างอื่นมารองรับ เช่น ที่พัก อาหาร ให้ลูกจ้างสามารถอยู่ได้ ซึ่งจากการสอบถามลูกจ้างจำนวนมาก บางแห่งก็ไม่ได้ค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ แต่มีสวัสดิการอื่นๆ รองรับก็พอที่จะอยู่ได้ แต่จริงๆ แล้วก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายในการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะลูกจ้างเองก็แสวงหาที่ที่ทำให้เขาอยู่ได้" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น