xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเบรกค่าแรง 360 บาท/วัน ชี้สูงไประวังซ้ำเติม ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอกชนมึนหลังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยส่งสัญญาณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาทต่อวัน เผยเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคีที่ต้องเคาะสิ้นปีนี้เพื่อกำหนดค่าแรงปี 2559 ชี้ตัวเลข 360 บาทต่อวันสูงถึง 20% เตือนคิดให้รอบคอบหวั่นซ้ำรอยธุรกิจเจ๊ง
 

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศจากวันละ 300 บาทเป็นวันละ 360 บาทเนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้นนั้น คงจะต้องเป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะมีการพิจารณาในช่วงสิ้นปีนี้เพื่อกำหนดค่าแรงในปี 2559 ใหม่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เสนอมีการปรับขึ้นถึง 20% ซึ่งเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป

“การพิจารณาควรจะต้องสะท้อนเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มาเฉลี่ยซึ่งเห็นว่าสูตรคิดเดิมนั้นจะมีความเหมาะสมไม่ใช่คิดแบบกรณีการขึ้นทันทีทั่วประเทศ 300 บาทต่อวันที่บางพื้นที่ขึ้นทันที 80% ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีช่วงนั้นต้องปิดกิจการไปจำนวนมากซึ่งเอกชนเองก็เคยเตือนแล้ว” นายวัลลภกล่าว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศมีกำหนดที่จะต้องมีการพิจารณาอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้เพื่อประกาศใช้ในปี 2559 ซึ่งเห็นว่าคณะกรรมการไตรภาคีจะต้องพิจารณาแนวทางให้รอบคอบ ซึ่งหากจะต้องขึ้นไปถึง 360 บาทต่อวันจริงก็จะมีผลกระทบต่อธุรกิจที่เพิ่งปรับตัวรับมือค่าแรง 300 บาทต่อวันก่อนหน้านั้นอีกครั้งได้ และกลุ่มนี้ที่ไม่ได้มีกำไรมากก็จะเสี่ยงต่อการขาดทุนและปิดกิจการได้อีกครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจปัจจุบันการบริโภคภายในประเทศเองก็ยังไม่ดี ขณะที่การส่งออกทั้งปีประเมินว่าจะไม่โต

นายวัลลภกล่าวว่า ค่าแรง 300 บาทต่อวันในขณะนี้ของไทยถือว่าเป็นระดับค่าแรงที่อยู่ระดับแพงเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าแถบประเทศเพื่อนบ้านที่ผ่านมา จึงทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นต่างทยอยปรับตัวด้วยการหันไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านแทน ดังนั้น หากการขึ้นค่าแรงที่สูงเกินไปนั้นจะยิ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องหันไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นอีก

“แม้ว่ารัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนเพื่อรองรับการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากมีการขึ้นค่าแรง การเข้าไปลงทุนแม้จะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็จะต้องคิดถึงต้นทุนภาพรวมว่าสูงคุ้มกับสิทธิประโยชน์เหล่านั้นหรือไม่” นายวัลลภกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น