กสอ.เผยผลสำรวจเอสเอ็มอีประจำ Q1/2558 พบส่วนใหญ่ห่วงความสามารถในการทำธุรกิจสู้คู่แข่งไม่ได้ ตามด้วยสภาพ ศก.ชะลอตัว ระบุปัญหาสำคัญที่สุดคือการตลาด
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ.สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อสภาพเศรษฐกิจไตรมาส 1/2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 387 ราย พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นห่วงถึงปัญหาการดำเนินธุรกิจ ในเรื่องความสามารถทางการแข่งขันเป็นอันดับแรก และถือเป็นปัญหาสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ที่มีค่าแรงต่ำกว่าไทย หรือมีเทคโนโลยีสูงกว่า รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ทั้งแง่ต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน เทคโนโลยี และการขนส่ง
รองลงมาคือ สถานการณ์เศรษฐกิจ ยอดขาย ตลาด และลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่า ยอดขายลดลงตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ จะลดการจ้างงานลงตามไปด้วย
สำหรับปัญหาในการประกอบการนั้น ส่วนใหญ่มองว่าปัญหาการตลาดสำคัญที่สุด และมีคู่แข่งมากขึ้น รองลงมาเป็นปัญหาด้านการผลิต ที่เห็นว่ามีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมทั้งยังขาดเทคโนโลยีในการผลิต ขาดการวิจัยและพัฒนา ด้านปัญหาแรงงาน ซึ่งแทบทุกรายระบุตรงกันว่า ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และแรงงานทักษะ
ส่วนประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุด คือ การพัฒนาสถานประกอบการ โดยเฉพาะให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต พัฒนาบรรจุภัณฑ์ องค์ความรู้ เครื่องจักร สนับสนุนงานวิจัยการพัฒนาคุณภาพของสินค้า และพัฒนาองค์ความรู้ให้บุคลากรภายในองค์กร เสริมสร้างทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่ม รองลงมาเป็นเรื่องส่งเสริมการตลาด ที่ต้องการความช่วยเหลือช่องทางการตลาดในต่างประเทศ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การออกบูทต่างประเทศ และออกงานแสดงสินค้าต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือด้านการเงิน โดยผู้ประกอบการต้องการให้รัฐจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้เสนอแนะแนวทางพัฒนาประเทศ โดยด้านเศรษฐกิจ เห็นว่ารัฐบาลต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย รณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทย กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและอัดฉีดสภาพคล่องในระบบ ด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอี ต้องการให้รัฐบาลวางนโยบายพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างเป็นระบบ และดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น นอกจากนี้ ต้องเร่งพัฒนา และแก้ปัญหาภาคการเกษตร ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *